กัณฑ์ที่ ๔๓๕       ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕

 

งานสำคัญที่สุด

 

 

 

งานภาวนานี้เป็นงานสำคัญที่สุด เป็นงานที่แท้จริงของเรา งานอื่นเป็นงานของร่างกาย งานหาอาหาร หาที่อยู่อาศัย หาเครื่องนุ่งห่ม หายารักษาโรค เป็นงานของร่างกาย ที่ไม่ใช่เป็นของเรา แต่เราไม่รู้ เราหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเรา สิ่งที่เป็นของเราที่แท้จริงคือใจ การภาวนานี้ เป็นการให้อาหาร ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรค ให้เครื่องนุ่งห่มกับใจ งานภาวนานี้สำคัญมาก สำคัญกว่าการทำมาหากิน ที่เราทำกันอยู่เป็นประจำ เพื่อหารายได้มาจุนเจือชีวิตคือร่างกายของเรา ซึ่งไม่ใช่ตัวเรา รูปัง อนัตตา พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า ขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่ใช่ตัวเรา สิ่งที่เป็นตัวเราคือใจ คือมโน มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นตัวสำคัญของชีวิตเรา เราออกมาจากใจ ออกมาจากมโน ออกมาจากความหลงของใจ คือออกมาจาก อวิชชา ปัจจยา สังขารา ใจนี่แหละเป็นผู้รับผิดชอบกับการกระทำต่างๆของเรา ถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์กับใจ ถ้าทำผิดก็จะเป็นโทษกับใจ พวกเราที่เป็นมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายนี้ ทำไม่ถูก ทำผิด เพราะความหลง ไม่รู้ว่าใจเป็นตัวที่สำคัญ ที่เราต้องให้ความสำคัญ ที่เราต้องเลี้ยงดูยิ่งกว่าร่างกาย

 

วิธีเลี้ยงดูใจ ก็คือทานศีลภาวนา ถ้าเราทำทานรักษาศีลแล้วก็ภาวนา เราก็จะได้รักษาใจที่สำคัญกว่าร่างกาย เพราะความสุขความทุกข์ของใจนี้ รุนแรงกว่าความสุขความทุกข์ของร่างกาย เหมือนฟ้ากับดิน ถ้าสุขใจแล้วไม่ว่าร่างกายจะทุกข์ขนาดไหน ก็ไม่เป็นปัญหาอย่างไร ถ้าสุขกายแล้วแต่ใจทุกข์ ความสุขของกายก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะความทุกข์ของใจรุนแรงกว่านั่นเอง คนที่ร่ำรวยมีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มีความทุกข์ใจ ความร่ำรวยและสมบัติต่างๆที่เขามีอยู่ จะไม่สามารถดับความทุกข์ใจของเขาได้ แต่คนที่ไม่มีแม้แต่บาทเดียว เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ที่ทุกข์ยากทางร่างกาย อยู่แบบอดอยากขาดแคลน แต่กลับมีความสุขใจมากกว่าคนที่อยู่ในวัง อยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โต ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ แต่ใจไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับอาหาร ที่จะให้เกิดความสุขใจขึ้นมา คือไม่ได้ปฏิบัติทานศีลภาวนา ใจก็เลยมีแต่ความทุกข์อยู่เรื่อยๆ ดังที่เห็นกันในชีวิตของเราเองและของคนอื่น มีมากมีน้อยก็มีความทุกข์เหมือนกัน จะทุกข์มากจะทุกข์น้อยก็อยู่ที่ว่าทำใจได้มากหรือน้อย ภาวนาได้มากหรือน้อย รักษาศีลได้มากหรือน้อย ทำบุญให้ทานได้มากหรือน้อย ถ้าทำได้มากก็จะมีความทุกข์น้อย ถ้าทำได้น้อยก็จะมีความทุกข์มาก

 

นี่คือเรื่องของใจ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ที่จะทุกข์มากหรือสุขมาก ก็คือใจ ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่รู้ว่ามันทุกข์หรือสุข เพราะร่างกายไม่มีความรู้สึก เป็นเหมือนต้นไม้ ที่ไม่รู้ว่ามันสุขหรือทุกข์ เวลาอากาศแห้งแล้ง ใบร่วงไปหมด มันก็ไม่รู้ว่ามันทุกข์ เวลาที่ได้รับน้ำ ใบออกมาเต็มต้น มันก็ไม่รู้ว่ามันสุข เพราะมันไม่มีตัวรู้ ไม่มีความรู้สึก ไม่มีการรับรู้ แต่ใจนี่แหละเป็นตัวที่มีความรับรู้ จะรู้เวลาใจทุกข์ จะรู้เวลาใจสุข แต่ไม่รู้วิธีจัดการ กับความสุขกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีปัญญา ต้องอาศัยคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาสอน พอมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏแล้ว ก็มีคนเรียนรู้จากพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก นำเอาความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน มาจัดการกับความสุขความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจได้ กำจัดความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไป รักษาความสุขให้อยู่กับใจไปตลอดอนันตกาล นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ เพราะได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ที่นานๆจะปรากฏขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง แล้วก็จะอยู่ไปไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า จะอยู่ได้ประมาณ ๕๐๐๐ ปี หลังจากนั้นก็จะเสื่อมหมดไป เพราะจะไม่มีใครสืบทอดความรู้อันประเสริฐนี้ ไม่มีใครสนใจที่จะศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

ทั้งๆที่คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์เป็นอกาลิโก ไม่มีวันเสื่อม แต่จะอยู่กับโลกได้หรือไม่ ก็อยู่ที่สัตว์โลกว่าจะรักษาจะสืบทอด ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการบรรลุได้หรือไม่ ทุกวันนี้พวกเราชาวพุทธเริ่มหลงทางกันแล้ว ด้วยการรักษาถาวรวัตถุต่างๆ สร้างโบสถ์สร้างเจดีย์สร้างพระพุทธรูป เพราะคิดว่าเป็นศาสนา แต่ความจริงเป็นเพียงเปลือกของศาสนา ไม่ใช่เป็นศาสนา ศาสนาอยู่ที่คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะอยู่กับโลกไปได้นานหรือไม่นาน ก็อยู่ที่ว่ามีการศึกษา มีการปฏิบัติ มีการบรรลุธรรมหรือไม่ พวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้ ต้องถือว่ามีโชควาสนาอย่างมาก เพราะอาจจะเป็นครั้งเดียวที่จะได้พบกับพระพุทธศาสนา  เพราะครั้งหน้ากลับมาเกิดใหม่ พระพุทธศาสนาก็อาจจะหายไปจากโลกนี้แล้วก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องรอให้กลับมาพบกับศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ ที่กว่าจะกลับมาปรากฏให้โลกได้สักการะได้ยึดเป็นที่พึ่ง ก็ต้องอีกหลายกัปหลายกัลป์ด้วยกัน พวกเราก็ต้องกลับมาเกิดมาตายอีกไม่รู้กี่แสนกี่ล้านครั้ง กว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีก ชาตินี้จึงถือว่าเป็นชาติที่ดีมาก เพราะได้พบคำสอนที่แท้จริงแล้ว ถ้าไม่ศึกษาและปฏิบัติ ก็ถือว่าเสียชาติเกิด ไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

 

นี่คือเรื่องของศาสนากับเรื่องของพวกเรา พวกเราตอนนี้ก็เหมือนอยู่ในช่วงที่มีน้ำให้ตัก อย่างที่โบราณท่านบอกว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะถ้าน้ำลดลงไปแล้วจะไม่มีน้ำให้ตัก จะไม่มีน้ำให้ใช้ ตอนนี้ถ้าตักเก็บไว้ในตุ่มในถัง ต่อไปเวลาน้ำลดก็จะมีน้ำใช้ ถ้าไม่ตักตอนนี้ ต่อไปอาจจะไม่มีเวลาไม่มีโอกาสที่จะตัก ใจของเราก็จะไม่มีความรู้ ที่จะเป็นที่พึ่งของเรา ความรู้ที่จะสอนให้เรากำจัดความทุกข์ต่างๆ ให้หมดไปจากใจของเรา ความรู้ที่จะสอนให้เรารักษาความสุข ให้อยู่กับเราไปอย่างถาวร ดังนั้นเราอย่าไปเสียเวลากับงานอื่น งานของใจเรานี้สำคัญที่สุด งานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับพุทธศาสนิกชน ก็คือทานศีลภาวนา เป็นงานที่จะดูแลรักษาใจของเรา ให้มีแต่ความสุข ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ พวกเราสามารถทำให้สำเร็จได้ภายในชาตินี้เลย ไม่ต้องเสียเวลาทำเป็นกัปเป็นกัลป์ เหตุที่พระพุทธเจ้าต้องใช้เวลาสะสมบุญบารมีเป็นกัปเป็นกัลป์ เพราะทรงไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ไม่รู้ทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ พระองค์เลยต้องเสียเวลากับการสร้างบุญบารมีต่างๆ จนในที่สุดก็สามารถทำจิตใจของพระองค์ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ บรรลุถึงพระนิพพาน ถึงความสุขที่ถาวรได้

 

สำหรับพระพุทธเจ้าต้องใช้เวลามาก เพราะไม่มีใครสอน แต่สำหรับพวกที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า ได้ยินได้ฟังคำสอนแล้ว ก็สามารถทำให้เสร็จภายในชาตินี้ได้เลย ดังที่ปรากฏในสมัยพระพุทธกาล ที่หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอน ก็ปรากฏมีพระอรหันตสาวก ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพียงระยะเวลา ๗ เดือนแรก ที่ทรงประกาศพระศาสนา คือทรงประกาศในวันเพ็ญเดือน ๘ แล้วต่อมาอีก ๗ เดือน คือวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เรียกว่าวันมาฆบูชา ก็ปรากฏมีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน พระอรหันต์ทั้ง ๑๒๕๐ รูปนี้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทให้ หลังจากที่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ขอบวชในพระพุทธศาสนา บางรูปก็เป็นนักบวชอยู่แล้ว แต่เป็นนักบวชในลัทธิอื่น ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าลัทธิไหนก็ตาม ทุกลัทธิก็มุ่งไปที่พระนิพพานเหมือนกัน แต่ไม่มีลัทธิไหนที่จะสอนให้ไปถึงได้ มีแต่พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่ทรงทำได้ พอพวกที่นับถือลัทธิอื่น ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เกิดศรัทธาขอบวชในบวรพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ โดยเปล่งพระวาจาว่า เอหิ ภิกขุ จงมาเป็นพระภิกษุเถิด

 

สมัยนั้นบวชง่าย โกนหัวห่มผ้าเหลือง แล้วก็มากราบพระพุทธเจ้าขอบวช พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า จงมาเป็นภิกษุเถิด แค่นี้ก็ได้บวชเป็นพระแล้ว ต่อมามีคนอยากจะบวชกันเป็นจำนวนมาก และอยู่ที่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้า ต้องเดินทางมาลำบากลำบน มาขอพระพุทธเจ้าบวช พระพุทธเจ้าก็เลยมอบให้เป็นภาระของสงฆ์ไป คือให้มีพระ ๑๐ รูปเป็นอย่างต่ำ ในเขตที่มีพระจำนวนมาก ก็ให้ใช้พระ ๑๐ รูปบวช ถ้าอยู่ในที่ๆมีพระน้อย ก็อนุโลมให้ใช้ ๕ รูป โดยให้ถือพระรัตนตรัย พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ประกาศตนขอบวชในบวรพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ก็จะทำญัตติกรรม ทำการสอบสัมภาษณ์ผู้ที่มาบวชว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบวชหรือไม่ มีบริขารครบหรือไม่ เมื่อมีคุณสมบัติครบ พระสงฆ์ก็จะลงมติกัน คือรับให้เข้าสู่บวรพระศาสนาได้ นี่คือการบวชในสมัยปัจจุบันนี้ แต่ในสมัยก่อนนั้นบวชกันง่าย พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าให้มาเป็นภิกษุเถิด ก็ได้เป็นพระแล้ว สมัยก่อนบวชแล้วไม่สึกกัน ไม่เหมือนสมัยนี้ บวชเพื่อสึก ไม่ได้บวชเพื่อปฏิบัติให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ได้บวชเพื่อมรรคผลนิพพานกัน ส่วนใหญ่ก็บวชเพื่อทดแทนบุญคุณของบิดามารดา ที่ให้กำเนิดแก่ตน ซึ่งไม่ใช่เป็นจุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงให้บวช

 

ในสมัยพุทธกาลบวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน เพื่อสืบทอดพระศาสนาต่อไป เพราะผู้ที่จะสืบทอดพระศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ก็คือพระอรหันตสาวกทั้งหลายนี่เอง นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนากับพวกเรา พวกเรามาพบพระพุทธศาสนาแล้ว ควรจะได้อะไร ควรได้ความรู้ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ความรู้ที่จะแก้ความหลงของเรา ที่จะทำให้เราไม่ทุกข์กับเรื่องต่างๆ เช่นร่างกายของเรา ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราคือใจ อย่าไปดูแลร่างกายมากจนเกินไป อย่าไปทุกข์กับร่างกายมากจนเกินไป เพราะอย่างไรก็ดูแลไม่ได้ตลอด ร่างกายเป็นสมบัติชั่วคราว จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายไป แต่ใจไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่พวกเราถูกความหลงหลอกให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ กับการดูแลรักษาร่างกาย ไม่ให้สนใจกับการดูแลรักษาใจ

 

ถ้าสนใจดูแลรักษาใจก็ต้องทำงาน ๓ ชิ้นนี้คือ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา ภาวนาก็มี ๒ ขั้นคือ สมาธิและปัญญา สมาธิและปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องมีสติ ต้องเจริญสติก่อน เจริญสติเพื่อควบคุมความคิดปรุงแต่งของใจให้สงบตัวลง ถ้าความคิดปรุงแต่งไม่สงบตัวลง ใจก็จะไม่เป็นสมาธิ จะไม่นิ่ง จะไม่สงบ ดังนั้นถ้าจะภาวนา เรื่องแรกที่ต้องทำก็คือสติ ที่นั่งสมาธิกันแล้วไม่ได้ผลก็เพราะไม่มีสติ เหมือนเด็กที่ยังเดินไม่ได้จะวิ่งได้อย่างไร ก่อนที่จะเดินได้จะวิ่งได้ก็ต้องยืนให้ได้เสียก่อน ตอนนี้กำลังคลานอยู่ ปุถุชนเป็นเหมือนเด็กที่ยังคลานอยู่ ยังทำสมาธิไม่ได้ ยังเดินไม่ได้ ยังวิ่งไม่ได้ ถ้าปัญญานี้ขั้นวิ่งแล้ว ถ้าเดินก็ขั้นสมาธิ ยืนก็คือสติ ดังนั้นก่อนที่จะนั่งสมาธิให้ได้ผลจริงๆ ต้องเจริญสติให้มากๆ ให้สติมีกำลังที่จะดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน ให้หยุดความคิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ ให้รู้อยู่กับการกระทำของร่างกาย ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้รู้ว่ากำลังทำเรื่องนั้นอย่างเดียว ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น กำลังรับประทานอาหาร ก็ให้รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร กำลังอาบน้ำกำลังแต่งตัว กำลังทำงานอะไรก็ตาม ให้รู้อยู่กับงานนั้น ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น ไม่ให้ไปคิดเรื่องใกล้เรื่องไกล เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องอดีตเรื่องอนาคต

 

ถ้ายังห้ามความคิดปรุงแต่งไม่ได้ แสดงว่าสติไม่มีกำลัง ที่จะดึงให้อยู่กับการทำงานของร่างกาย ก็ต้องอาศัยการบริกรรมไป บริกรรมพุทโธๆไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็พุทโธๆไป อย่าไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ยกเว้นถ้าจำเป็นจะต้องคิดจริงๆ เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไร จะต้องไปพบกับใครเวลาใด ก็คิดเตรียมตัวเอาไว้ก่อน ในขณะที่คิดก็ควรจะนั่งเฉยๆ หรือยืนเฉยๆ ไม่ควรทำอะไร ทำทีละอย่าง ให้ใจอยู่กับงานอย่างเดียว ถ้าคิดก็ยืนหรือนั่งเฉยๆ คิดให้พอ พอคิดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กลับมาทำงานที่ต้องทำต่อ เช่นเตรียมตัวไปทำงาน อาบน้ำก็ให้อยู่กับการอาบน้ำ ถ้าไม่ยอมอยู่ก็ต้องบริกรรมพุทโธๆไป แล้วก็อาบน้ำไป พุทโธๆไปอาบน้ำไป แต่งตัวก็พุทโธๆไป รับประทานอาหารก็พุทโธๆไป ออกจากบ้านก็พุทโธๆไป พุทโธๆไปเรื่อยๆ ดึงใจเอาไว้ อย่าแวบไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจะทำให้ใจไม่นิ่ง จะทำให้ใจฟุ้งซ่านได้

 

พอมีเวลาว่างก็หามุมสงบ นั่งหลับตา จะบริกรรมพุทโธหรือจะดูลมหายใจก็ได้ ไม่นานใจก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ พอได้พบกับความสงบแล้ว จะรู้ว่านี่แหละคือความสุขที่แท้จริง อยู่ตรงนี้เอง ไม่ได้อยู่ที่การได้เงินได้ทองมามากมายก่ายกอง ไม่ได้อยู่ที่เป็นใหญ่เป็นโต ไม่ได้อยู่ที่การได้รับการยกย่องสรรเสริญเยินยอ ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ แต่อยู่ที่ความสงบ ที่เกิดจากการเจริญสติ แล้วก็นั่งสมาธินี่เอง ถ้าจิตรวมลงเต็มที่แล้ว ก็จะไม่อยากได้อะไร ออกจากสมาธิมาก็อยากจะได้ความสุขแบบนี้อีก ก็จะเพียรเจริญสติต่อไป แล้วก็เพียรนั่งสมาธิต่อไป จนสามารถนั่งสมาธิได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่อยากจะทำอะไรเลย ก็อาจจะลาออกจากงาน ตัดภารกิจที่ไม่สำคัญไม่จำเป็นออกไป ดูแลเพียงร่างกาย ถ้าบวชได้ก็บวชเลย แล้วก็มาบำเพ็ญภาวนาต่อ ถ้าได้สมาธิแล้วก็จะมีบาทมีฐาน สำหรับการเจริญปัญญาต่อไป เพราะถ้าไม่มีสมาธิแล้วมาเจริญปัญญา จะมีอารมณ์ที่ไม่ดีมาคอยขัดขวาง เพราะการพิจารณาทางปัญญานี้ ต้องพิจารณาเรื่องความแก่ความเจ็บความตาย ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งถ้าใจไม่สงบ จะเกิดอารมณ์หดหู่ ไม่สบายอกไม่สบายใจขึ้นมา จะไม่อยากพิจารณา

 

นี่คืองานของเราที่แท้จริง คืองานภาวนา รักษาศีล ทำบุญให้ทาน เป็นขั้นบันได ข้ามขั้นไม่ได้ ถ้าไม่ทำบุญให้ทานจะรักษาศีลไม่ได้ ถ้ารักษาศีลไม่ได้ การภาวนาก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำบุญให้ทาน เพื่อให้เกิดความเมตตา ปล่อยวางในสมบัติข้าวของเงินทอง ไม่วิตกไม่กังวลไม่ห่วงใย ก็จะรักษาศีลได้ง่าย เพราะมีความเมตตา ไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ ไม่จองเวรจองกรรม สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ  เมื่อไม่มีการทำบาป ใจก็จะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว การทำสมาธิก็จะง่ายกว่าเวลาที่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่สบายใจ วิตกกังวลกับการกระทำบาปต่างๆ ต้องปฏิบัติเป็นขั้นไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องทำทีละขั้น ทำไปพร้อมๆกันก็ได้ ทำทานไปรักษาศีลไปแล้วก็ภาวนาไป ต่อไปก็จะทำทานน้อยลง ศีลก็รักษาเป็นปกติ ศีลนี้รักษาง่ายมาก ไม่ทำอะไรก็มีศีลแล้ว แต่ทานกับภาวนาจะแย่งเวลากัน ถ้าภาวนาแล้ว ก็ไม่ควรกลับไปทำทาน ไม่ควรเสียเวลากับการทำทาน ถ้าจะทำก็ทำแบบง่ายๆ บริจาคเงินไปเป็นก้อนไปเลย ถ้าเป็นนักบวชก็สละหมดเลย มีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย ก็ยกให้คนอื่นไปหมดเลย เป็นการทำทานอย่างเต็มที่เลย ถ้าทำทานแบบนี้แล้วก็ไม่ต้องทำทานอีกต่อไป เพราะไม่มีสมบัติข้าวของเงินทองจะให้ใครอีกแล้ว

 

นักบวชนักภาวนา ถ้าได้สละสมบัติไปหมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำทานแล้ว ควรภาวนาให้มากที่สุด ทุ่มเทเวลากับการภาวนา ไปปลีกวิเวก ไปอยู่ห่างไกลจากสังคม ห่างไกลจากเรื่องวุ่นวายต่างๆ ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการเจริญสติสมาธิและปัญญา ถ้าทำได้ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะบรรลุได้ ทรงพยากรณ์ไว้ว่าไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก ถ้ามีความสามารถมากก็ภายใน ๗ วัน ก็บรรลุได้ ถ้าปฏิบัติอย่างเข้มข้นตั้งแต่ตื่นจนหลับ เจริญสติ นั่งสมาธิ เจริญปัญญา สลับกันไป ไม่นานจิตก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ นี่คือโอกาสอันเลิศอันวิเศษของพวกเรา ที่อาจจะมีครั้งนี้เพียงครั้งเดียว กลับมาเกิดคราวหน้าอาจจะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกแล้ว ก็จะไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก ว่าควรจะทำอะไร ขนาดมียังทำกันไม่ได้เลย ขนาดมีพระพุทธเจ้ามีครูบาอาจารย์คอยสอนอยู่ตลอดเวลา มีหนังสือมากมาย มีซีดีมีเทปให้ฟังเป็นจำนวนมาก แต่การกระทำก็ยังเหมือนเดิม ยังไปยุ่งไปห่วงกับการดูแลรักษาร่างกาย มากกว่าการดูแลรักษาใจ พวกเราจึงเป็นเหมือนทัพพีในหม้อแกง ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น จะไม่ได้ลิ้มรสของแกง จะไม่ได้รับประโยชน์จากแกง ไม่เป็นเหมือนลิ้นกับแกง ถ้าเป็นก็จะได้รับประโยชน์ ได้สัมผัสรับรู้พระธรรมคำสอน ที่เป็นรสที่ชนะรสทั้งปวง ดังที่ทรงตรัสว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

 

ถ้ายังไม่เห็นว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ก็จะปล่อยรสอื่นไม่ได้ ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้ ปล่อยลาภยศสรรเสริญไม่ได้ แต่ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม ที่เกิดจากความสงบเพียงครั้งเดียวแล้ว รับรองได้ว่าจะสละได้ จะมุ่งไปที่รสแห่งธรรมเพียงอย่างเดียว ขอให้พวกเราพยายามภาวนาทำจิตให้สงบให้ได้ ให้รวมให้ได้ ให้ได้เห็นหนังตัวอย่าง ถ้าเห็นหนังตัวอย่างของพระนิพพานแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่อยากได้อะไร จะอยากได้พระนิพพานเพียงอย่างเดียว พยายามศึกษาให้มาก ภาวนาให้มาก เจริญสติให้มาก รักษาศีลทำบุญให้ทานให้มาก แล้วสักวันหนึ่งภายในชาตินี้จะได้พบกับความสุขนี้ เพราะมีผู้ที่ได้พบมาแล้วเป็นจำนวนมาก ที่เรากราบไหว้บูชาเป็นสังฆรัตนะ ก่อนหน้านั้นท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา ยังหลงติดอยู่กับรสของรูปเสียงกลิ่นรส รสของลาภยศสรรเสริญ แต่พอได้สัมผัสกับรสของพระธรรม ได้เห็นหนังตัวอย่าง ก็ติดใจ เกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา เกิดอิทธิบาท ๔ ขึ้นมา ถ้ามีอิทธิบาท ๔ แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน นี่คือทางที่พวกเราจะต้องไปกัน พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ไม่สามารถเดินแทนพวกเราได้ ได้แต่คอยบอกคอยเตือน คอยลากคอยจูง ด้วยการพร่ำสอนเท่านั้น ถ้าพวกเราไม่ทำก็จะไปไม่ถึง ขอให้พวกเราเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง และการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน

 

ถาม  พึ่งเปลี่ยนจากพองหนอยุบหนอมาทำพุทโธ ทำแล้วก็สับสนค่ะ คือตอนแรกก็พยายามพุทโธอย่างเดียวในใจ ตอนทำพองหนอยุบหนอจะกำหนดจิตให้รู้ที่ลิ้นปี่ พอทำพุทโธก็เลยทำพุทโธที่ลิ้นปี่ด้วย ทำไปก็ไม่ค่อยสงบ เรียนถามท่านพระอาจารย์จันเรียน ท่านก็บอกให้กำหนดที่ปลายจมูก หายใจเข้าก็พุทโธๆ หายใจออกก็พุทโธๆไปเรื่อยๆ ก็ทำได้สักครั้งสองครั้ง ก็จะรู้สึกว่ามันแปลกๆ ทำไม่ค่อยได้เจ้าค่ะ

 

ตอบ  เอาพุทโธอย่างเดียว ไม่ต้องไปสนใจกับลมเลย หรือสวดมนต์ไปก่อน สวดมนต์ไปจนรู้สึกเหนื่อยแล้วค่อยบริกรรมพุทโธๆ ตอนต้นก็สวดอะระหังสัมมาฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯไป สวดพระสูตรที่เราจำได้ไปก่อน สวดกลับไปกลับมา ซ้ำแล้วซ้ำอีก สักครึ่งชั่วโมงหรือ ๔๕ นาที จนรู้สึกเหนื่อยหรือเย็นสบายอยากจะหยุดสวด แล้วค่อยพุทโธๆไป ถ้าไม่อยากจะบริกรรมก็ดูลมไปอย่างเดียว ดูที่ปลายจมูก ตอนที่เราเริ่มปฏิบัติเราทำแบบนี้ จะท่องมหาสติปัฏฐานสูตร นั่งขัดสมาธิแล้วก็ท่องคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งกว่าจะจบก็ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที พอท่องจบแล้วใจก็เย็นสบาย ก็ดูลมต่อได้

 

ถาม  ถ้าเดินจงกรมละคะ

 

ตอบ เดินจงกรมจะใช้พุทโธก็ได้ จะใช้ซ้ายขวาก็ได้ จะดูเฉยๆก็ได้ เป้าหมายก็คือ ให้รู้เฉยๆ ไม่ให้คิดปรุงแต่ง ถ้าคิดปรุงแต่งจะสวดมนต์ไปก็ได้ สวดอะระหังสัมมาฯ สวากขาโตฯไปภายในใจก็ได้ ถ้าพุทโธไม่ได้ ก็สวดอะระหังสัมมาฯไป ถ้าซ้ายขวาได้ก็ซ้ายขวาไปก็ได้ ก้าวเท้าซ้ายก็ว่าซ้าย ก้าวเท้าขวาก็ว่าขวาไป ให้จิตมีอะไรยึดไว้ เพื่อจะได้ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 

ถาม  เวลาฟังเทศน์ ก็นั่งสมาธิไปด้วย

 

ตอบ  ไม่ได้ ถ้าฟังเทศน์ต้องฟังอย่างเดียว อย่านั่งสมาธิ เพราะการฟังเป็นการทำสมาธิในตัวอยู่แล้ว อย่างเมื่อกี้นี้นั่งฟัง ก็เหมือนนั่งสมาธิอยู่แล้ว ถ้าฟังแล้วนั่งสมาธิก็จะไม่รู้เรื่อง ก็อย่าไปฟัง นั่งสมาธิไปเลย นอกจากจะอาศัยเสียงธรรมะกล่อมใจ ก็ทำได้ นั่งฟังเสียงไปโดยไม่คิดตาม เพื่อไม่ให้ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่จะไม่ได้ปัญญา ถ้าพิจารณาตามไป ก็จะเกิดปัญญา เกิดความสงบด้วย คือไม่ฟุ้งซ่าน ถ้านั่งเฉยๆ ไม่ภาวนาพุทโธ ไม่ดูลม จะฟุ้งซ่านได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เปิดธรรมะฟังไปก่อนก็ได้

 

ถาม  ก่อนที่จะนั่งสมาธินี้ ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน หรือว่านั่งเลย อย่างไหนจะดีกว่ากันครับ

 

ตอบ อยู่ที่จิตของเรา ว่าหยาบหรือละเอียด ถ้าจิตหยาบคิดมาก นั่งไม่ได้ ก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน เพื่อทำให้จิตละเอียดลงไป ให้ความคิดปรุงแต่งหมุนช้าลง พอคิดน้อยลงไปแล้ว ก็ดูลมได้

 

ถาม  หมายความว่าไม่จำเป็นต้องสวดมนต์มากมายหลายบท

 

ตอบ  ก็อย่างที่บอก แล้วแต่ใจของเราว่า หยาบหรือละเอียด อย่างสมัยที่เราเริ่มนั่งแรกๆนี้ ต้องท่องมหาสติปัฏฐานสูตรไปประมาณ ๔๐ นาทีก่อน ถึงจะดูลมได้ แต่ตอนหลังนี้ไม่ต้องท่องแล้ว เพียงแต่กำหนดสติให้ดูลมปั๊บ มันก็สงบได้ การท่องนี้เพื่อพัฒนาสติ ให้มีกำลังหยุดความคิดปรุงแต่ง พอสติมีกำลังมากๆ ก็เหมือนเบรกที่มีกำลังมาก แตะนิดเดียวก็หยุดกึ๊กเลย ถ้าเบรกไม่ดีนี้ เหยียบจนติดพื้นก็ยังไม่หยุด ถ้ารถวิ่งเร็วมาก ก็จะไม่หยุดง่าย ถ้าภาวนาบ่อยๆ หยุดความคิดปรุงแต่งบ่อยๆ จะเหมือนรถที่วิ่งช้าลงไปเรื่อยๆ เวลาภาวนาให้สงบนี้จะสงบเร็วมาก เพียงกำหนดแป๊บเดียว ไม่ต้องภาวนาพุทโธ เพียงตั้งสติปั๊บ ความคิดปรุงแต่งก็หยุดแล้ว การควบคุมจิตนี้เหมือนกับการขับรถ ตอนเริ่มทำใหม่ๆนี้ เหมือนกับรถที่ไม่มีเบรกและวิ่งเร็ว เหมือนรถวิ่งลงเขา พอสร้างเบรกให้มีกำลังมากขึ้นๆ เจริญสติมากขึ้นๆ ก็จะทำให้วิ่งช้าลง การภาวนาจะง่ายขึ้นๆ สงบเร็วขึ้น สงบได้นานขึ้น ต้องดูตอนจะนั่งว่า ใจของเราเป็นอย่างไร ไม่ฟุ้งซ่านมากก็นั่งง่าย ฟุ้งซ่านมากก็นั่งยาก เพราะชีวิตของฆราวาสยังต้องวุ่นวายกับการงาน ถ้ามีอารมณ์ตกค้างจะนั่งไม่ได้ ดูลมไม่ได้ พุทโธไม่ได้ อย่างนี้ก็สวดมนต์ไปก่อน ถ้าสวดไม่ได้ ก็ฟังเทศน์ไปก่อน ถ้าไม่ได้ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม แล้วก็ซ้ายขวาซ้ายขวาไป เดินให้หมดแรงก่อน ถึงค่อยมานั่ง

 

เป้าหมายของการภาวนา ก็เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่งนี้เอง จะหยุดได้ก็ต้องมีสติคอยเบรกไว้ พอมีสติปั๊บก็รู้ว่ากำลังคิดปรุงแต่ง เผลอแล้ว ถ้าสติดึงไม่อยู่ก็ต้องใช้พุทโธ หรือใช้การสวดมนต์ดึงเอาไว้ สวดไปเรื่อยๆถึงแม้ตอนเริ่มต้นสวดอาจจะแข่งกันก็ได้ จะสวดไปแล้วคิดไปด้วยก็ช่างมัน ให้พุ่งไปที่การสวดอย่างเดียว สวดไปๆ ไม่นานความคิดปรุงแต่งก็ต้องยอมแพ้เราเอง ถ้าเราไม่ยอมแพ้มันๆก็ต้องยอมแพ้เรา เหมือนพวกที่ชักเย่อกัน ๒ ฝ่าย ฝ่ายที่ไม่ยอมแพ้ มีกำลังมากกว่า ก็ต้องชนะได้ ถ้ากำลังน้อยกว่าก็แพ้ นั่งได้ไม่นานก็ทนไม่ไหว เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็ลุกขึ้น แสดงว่าแพ้แล้ว ถ้าสู้ไปเรื่อยๆ พอเขายอมแพ้จะรู้สึกเบาสบายขึ้นมาทันที เพราะแรงต้านหมดไป แรงที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้หมดไป จิตก็สงบตัวลง จะสงบมากสงบน้อยก็อยู่ที่ฐานของจิต ใหม่ๆฐานของจิตจะอยู่ไม่ลึก จะสงบน้อย ถ้าภาวนาไปเรื่อยๆจะลึกลงไปเรื่อยๆ ต่อไปจะรวมได้เต็มที่ จะลงถึงฐานเลย จะว่าง จะสบาย เหมือนลอยอยู่ในอวกาศ

 

ต้องพยายามภาวนากัน ทุกคนต้องเริ่มต้นที่ ก.ไก่ ข.ไข่ เริ่มต้นที่ก้าวที่ ๑ ไป พยายามก้าวไป พยายามทำไป ทำได้มากน้อย ก็ทำไป สติสำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่าสติ ทรงเปรียบสติเหมือนรอยเท้าช้าง ส่วนสมาธิปัญญาเป็นรอยเท้าสัตว์อื่น ถึงแม้จะต้องใช้ปัญญาตัดกิเลส ถ้าไม่มีสติ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เหมือนพระพุทธเจ้านี้ ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ก็เกิดไม่ได้ ต้องมีพ่อแม่ให้กำเนิด ถึงแม้พ่อแม่จะไม่สามารถบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็ตาม แต่พ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้า สติก็เป็นผู้ให้กำเนิดสมาธิและปัญญา ถ้าไม่มีสติ สมาธิและปัญญาก็จะเกิดไม่ได้ การภาวนาต้องเริ่มที่สติก่อน พัฒนาสติก่อน ในสติปัฏฐานสูตรนี้ สอนทั้งการเจริญสติ สอนทั้งการนั่งสมาธิ คืออานาปานสติ แล้วสอนทั้งการเจริญปัญญา คือพิจารณารูปขันธ์นามขันธ์ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาน สอนทั้งสติสอนทั้งสมาธิสอนทั้งปัญญา ที่ประเทศศรีลังกาถือพระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุด ชาวพุทธที่ศรีลังกาจะต้องท่องพระสูตรนี้ให้ได้กัน ถือว่าได้บุญมาก ของไทยเราจะถือมงคลสูตรกันมากกว่า อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา อันนี้ก็เป็นพระสูตรสำคัญ แต่จะไม่ละเอียดไม่ได้พูดถึงการภาวนา จะพูดถึงความเจริญ เริ่มต้นก็ต้อง อะเสวะนา จะ พาลานัง ไม่คบคนพาล คนโง่ คนที่ไม่รู้ธรรมะ ให้คบบัณฑิต คนฉลาดคนที่รู้ธรรม เช่นเข้าหาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นี้ เรียกว่าคบบัณฑิต ถ้าคบกับพวกกินเหล้าเมายาเล่นการพนัน แสดงว่ากำลังคบคนพาล

 

ต้องศึกษาและปฏิบัติก่อน ถึงจะปฏิเวธ ถึงจะบรรลุธรรมได้ ถ้าศึกษาจนรู้แล้วว่าต้องปฏิบัติอะไร ทีนี้ก็ต้องปฏิบัติ หยุดศึกษาไว้ก่อน ปฏิบัติไปจนกว่าจะไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ ก็ศึกษาอีก อย่าศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะเดี๋ยวก็ลืม ศึกษาไปก็เปล่าประโยชน์ เหมือนเรียนหนังสือ อยู่ชั้น ป. ๑ ก็เรียนวิชาของ ป. ๑ ไปก่อน ไม่ใช่เรียนวิชาของ ป. ๑ จนถึงปริญญาตรีเลย ปีแรกก็เรียนชั้น ป. ๑ ไปก่อน ตอนนี้ก็เรียนวิชาการทำบุญให้ทานไปก่อน แล้วนำเอาไปปฏิบัติ ให้ไปให้หมดเลย มีเท่าไหร่ก็ให้ไปให้หมด ถ้าให้หมดแล้วก็เรียนขั้นที่ ๒  เรียนขั้นศีล บวชพระก็เรียนศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้าบวชเป็นภิกษุณีก็ ๓๑๑ ข้อ  ถ้าบวชชีก็รักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ไป แล้วก็ภาวนาไปด้วย ศึกษาการภาวนาว่าต้องทำอย่างไร เจริญสติอย่างไร สมาธิที่ถูกต้องเป็นอย่างไร สมาธิที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร ถ้านั่งแล้วไปรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เรียกว่าไม่ถูกต้อง  ทางศาสนาพุทธไม่ต้องการสมาธิแบบนี้ ต้องการสมาธิที่นิ่งว่างสงบสบาย ใจเป็นอุเบกขา ไม่หิวไม่อยากไม่ต้องการอะไร เพื่อตัดกำลังของกิเลสตัณหา เพื่อเป็นบาทฐานของการเจริญปัญญาต่อไป

 

ถ้าจิตไม่สงบกิเลสไม่ถูกตัดกำลัง เวลาพิจารณาทางปัญญา จะเกิดอารมณ์หดหู่ อารมณ์ไม่ดีตามมาได้ เช่นพิจารณาความตาย หรือพิจารณาอสุภะ ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่อยากพิจารณา ไม่อยากดูซากศพ ไม่อยากดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย แต่ถ้าจิตสงบแล้วจะดูได้ จะพิจารณาได้ จะไม่หดหู่ จะชอบ เพราะดูแล้วทำให้ปลงสังเวชได้ ปลงอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ ถ้าไม่มีสมาธิแล้วไปเจริญปัญญา จิตจะวิปลาสได้ สมัยพระพุทธกาลมีพระภิกษุที่พิจารณาความตายแล้วก็ฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าร่างกายต้องตาย ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็เลยฆ่าตัวตาย พระพุทธเจ้าจึงต้องห้าม ฆ่าไม่ได้ ถ้าคิดจะฆ่าตัวตายก็ต้องหยุดคิดแล้ว ทรงสอนให้เจริญสมถภาวนาก่อน ให้เจริญเมตตาภาวนา ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น เมื่อหลายปีมาแล้วมีข่าวครอบครัวหนึ่ง ที่แขวนคอตายทั้งครอบครัว ปฏิบัติธรรมแล้วจิตวิปลาสไป คิดว่าบรรลุแล้ว ไม่ต้องอยู่ต่อไป คงจะคิดว่าถ้าบรรลุแล้วต้องฆ่าตัวตายได้ แต่ความจริงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น

 

ความจริงต้องยอมรับความตาย ต้องกล้าตาย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องฆ่าตัวตาย ต้องปลงให้ได้ ต้องยอมรับความตายให้ได้ อย่างที่พระภิกษุไปอยู่ในป่านี้ ก็เพื่อไปปลง เพื่อให้พบกับความตาย ไปอยู่ใกล้กับความตาย ที่จะทำให้เกิดความกลัว ซึ่งเป็นกิเลส พอเกิดความกลัวสุดขีดขึ้นมา วิธีที่จะดับได้ วิธีที่จะดึงจิตให้กลับเข้าสู่ความสงบได้ ก็ต้องใช้ปัญญา คือไตรลักษณ์นี้ ต้องพิจารณาว่า เกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไม่ได้ พอยอมรับว่าต้องตายแล้วก็ยอมตาย จิตก็จะสงบ หลังจากนั้นร่างกายจะตายหรือไม่ตาย จะไม่เป็นปัญหา ที่เราต้องการฆ่านี้ไม่ใช่ร่างกาย ต้องการฆ่ากิเลสคือความกลัวตาย ด้วยการยอมตาย เพราะความกลัวตายก็คือวิภวตัณหานี่เอง ความอยากไม่ตาย อยากอยู่ไปนานๆ วิภวตัณหาเป็นตัวที่สร้างความทุกข์ แต่พอยอมตายแล้ว จะไม่กลัวความตาย อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ถ้ายังกลัวอยู่ก็ยังเป็นกิเลส ถ้าอยากตายก็เป็นกิเลส อยากอยู่ก็เป็นกิเลส ต้องเป็นกลางเฉยๆ อยู่ก็ได้ ตายก็ได้ ถึงไม่เป็นกิเลส

 

การปฏิบัติถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ จะหลงกันทุกคน ขั้นสมาธิก็หลง ส่วนใหญ่นั่งสมาธิก็อยากจะเห็นนั่นเห็นนี่กัน เห็นสวรรค์ เห็นนรก เห็นเทพ เห็นพรหม เห็นอะไรต่างๆ ก็เหมือนดูทีวี ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ดับกิเลส ไม่ได้เกิดปัญญา ถ้าจะเห็นต้องเห็นไตรลักษณ์ เช่นเห็นเรานอนตาย เห็นอย่างนี้ใช้ได้ เห็นอสุภะก็ได้ แต่เห็นเพียงเดี๋ยวเดียว ยังไม่พอ ออกจากสมาธิแล้วต้องเอามาเจริญต่อ ต้องเอามาระลึกต่อ ให้เห็นอยู่ทุกเวลาเลย ทุกลมหายใจเข้าออก มองใครนี้มองเห็นเป็นซากศพเลย มองเห็นว่าต่อไปต้องกลายเป็นขี้เถ้า กลายเป็นเศษกระดูก ต้องเห็นอย่างนี้ ถึงจะตัดกิเลสได้ ถ้าเห็นขณะที่อยู่ในสมาธิ พอออกมาไม่เอามาเจริญต่อก็จะลืม เหมือนดูหนังในโรง พอออกจากโรงก็ลืมแล้ว การเห็นอะไรในสมาธิ ไม่ได้หมายความว่าบรรลุแล้ว จะต้องเอามาพิสูจน์ในชีวิตจริง ถ้าเห็นว่านอนตาย ก็ต้องไปพิสูจน์ดูว่า ยอมตายหรือไม่ รับความตายได้หรือไม่ ต้องเข้าสนามสอบ เวลานั่งสมาธิเหมือนทำการบ้าน นอกจากธรรมขั้นละเอียด ถ้าผ่านขั้นร่างกายไปแล้ว จะบรรลุได้ในขณะที่อยู่ในสมาธิ เพราะสนามสอบอยู่ในจิต ถ้ายังเกี่ยวกับร่างกาย ต้องเอาร่างกายเข้าไปในสนามสอบ ต้องไปอยู่ในที่ๆท้าทายต่อความเป็นความตาย ถ้าเกี่ยวกับความเจ็บปวด ก็ต้องนั่งให้เจ็บจนหายไปเอง ใจต้องไม่หวั่นไหว ไม่กลัว ไม่ได้อยากให้ความเจ็บหายไป ต้องชอบความเจ็บ แทนที่จะเกลียดความเจ็บ ต้องชอบความเจ็บ ถ้าชอบอะไรแล้วจะไม่อยากให้จากเราไป ใช่ไหม

 

เวลาภาวนาก็ต้องดูแผนที่บ้าง ถ้ามีหนังสือธรรมะก็ต้องอ่านบ้าง เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ อย่าเอาการวิเคราะห์ของเราเป็นตัวตัดสิน เพราะอาจจะสรุปผิดได้ ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมจากผู้ที่ผ่านมาแล้ว จะดีกว่าอ่านพระไตรปิฎก เพราะมีบางเรื่องในพระไตรปิฎกไม่ได้แสดงไว้ เพราะปัญหามีหลากหลายด้วยกัน แต่ถ้ามีผู้ที่ผ่านมาแล้วนี้ ถ้ามีปัญหาอะไรไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านจะตอบกลับทันที ขอให้พยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมบ้าง สลับกับการภาวนา ทำบุญให้ทานตามวาระ ศีลก็พยายามรักษาให้มากขึ้น จากศีล ๕ ก็พยายามรักษาศีล ๘ ไปให้ได้ ถ้าจะภาวนาต้องมีศีล ๘ ถึงจะมีกำลัง ศีล ๕ ไม่มีกำลัง เหมือนรถยนต์ รถที่จะขึ้นเขาได้ง่ายต้องเป็นรถโฟร์วิลล์ ถ้ารถธรรมดาจะขึ้นไม่ง่าย ศีล ๕ เหมือนรถเก๋ง ไม่มีแรงขึ้นเขา ถ้าจะภาวนาต้องใช้ศีล ๘ เพราะจะได้ตัดกามฉันทะ ตัดความอยากในกามารมณ์ต่างๆ ศีล ๕ ยังตัดไม่ได้ ศีล ๕ ยังดูหนังฟังเพลงได้ ยังกินข้าวเย็นได้ ยังนอนบนฟูกหนาๆได้ ยังร่วมหลับนอนกับคู่ครองของตนได้ แต่พอถือศีล ๘ แล้ว จะทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้แล้ว ก็จะมีเวลามาภาวนา แต่ต้องปลีกวิเวกด้วย ไปหาที่สงบ ถ้าอยู่ที่บ้านก็ทำห้องไว้สำหรับการภาวนา เวลาภาวนาต้องอยู่คนเดียว อย่าอยู่ใกล้คนอื่น เพราะวิถีชีวิตของเขากับของเราไม่เหมือนกัน เขากินข้าวเย็นเราไม่กินข้าวเย็น จะเป็นอุปสรรคได้

 

หนังสือกับซีดีใครต้องการก็มาหยิบไปได้นะ หยิบไปตามความต้องการ อ่านมากๆไม่รู้จะเฟ้อไปหรือเปล่า อ่านก็ได้ประโยชน์ แต่อย่าอ่านอย่างเดียว ต้องอ่านควบคู่กับการปฏิบัติถึงจะดี เพราะหนังสือธรรมะเป็นคู่มือของการปฏิบัติ เหมือนกับคู่มือรถยนต์ ถ้ารถเสียก็ต้องเปิดคู่มือดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าไม่มีช่างก็ต้องดูคู่มือ ต้องแก้เอง  การภาวนาถ้าไม่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ก็ต้องเปิดหนังสือทางปฏิบัติดู จะช่วยได้

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมเจริญสติ แล้วถูกความง่วงครอบงำ ควรจะทำอย่างไร

 

ตอบ ต้องกินอาหารให้น้อยลง กินมื้อเดียว ต้องยอมหิวหน่อย ความจริงไม่ได้หิวที่ร่างกายหรอก แต่หิวที่ใจ ร่างกายกินอาหารเกินความต้องการอยู่แล้ว มีอาหารสะสมอยู่มาก ก็อย่างที่บอก ต้องถือศีล ๘ ให้ได้ อย่างน้อยก็ไม่กินหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว การภาวนาต้องยอมอด ถึงจะได้ผล ถ้าอยากจะมีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส การภาวนาจะมีอุปสรรคมาก ถ้าไม่ง่วงเหงาหาวนอนก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ชอบอดอาหารก็ต้องไปอยู่ที่น่ากลัว ไปนั่งในป่าช้าจะไม่ง่วง

 

ถาม  ขอคติธรรมเพื่อนำไปปฏิบัติง่ายๆ

 

ตอบ นั่งสมาธิสวดมนต์ไหว้พระทุกเช้าเย็น

 

ถาม  สวดแบบทำวัตรเย็น

 

ตอบ การสวดเป็นการทำใจให้สงบในระดับหนึ่ง เป็นระดับอนุบาล ถ้าอยากจะให้สงบมากกว่านั้นก็ต้องนั่งหลับตา แล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้วควรจะนั่งสมาธิต่อ จะสงบมากกว่าการสวดมนต์ บุญที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบของใจ ที่ปฏิบัติกันนี้ก็เพื่อความสงบใจ ทำบุญก็เพื่อความสงบใจ รักษาศีลก็เพื่อความสงบใจ ไหว้พระสวดมนต์ก็เพื่อความสงบใจ แต่ความสงบใจของการกระทำแต่ละอย่างนี้ มีมากน้อยต่างกัน การให้ทานก็ได้ความสงบนิดหนึ่ง รักษาศีลก็สงบมากขึ้น สวดมนต์ไหว้พระก็ยิ่งสงบมากขึ้น นั่งสมาธิก็จะสงบได้เต็มที่แต่ไม่ถาวร ถ้าจะสงบอย่างถาวรก็ต้องเจริญวิปัสสนา ความสงบมีเป็นขั้นๆ ขอให้ญาติโยมทำบุญให้ทานรักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ แล้วก็เจริญปัญญาวิปัสสนา ปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา ปล่อยวาง ให้พิจารณาว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่ใช่ร่างกาย เราคือใจ ใจไม่ตายไปกับร่างกาย ใจไม่ได้ตายไปกับสิ่งต่างๆนะ ใจต้องอย่าไปทุกข์กับสิ่งต่างๆ ถ้าไม่ยึดติดจะไม่ทุกข์ ถ้ายึดติดจะทุกข์

 

อย่าไปยึดติดกับอะไร ถึงเวลาเขาจะไปก็ปล่อยให้เขาไป ร่างกายนี้ถึงเวลาเขาจะไปก็ให้เขาไป เราไม่ได้ไปกับเขา เราไม่ได้ตายไปกับเขา เราไม่ต้องกลัว เราได้ร่างกายมาไม่รู้กี่ล้านร่างแล้ว พอหมดร่างกายนี้ ก็ไปหาร่างกายใหม่ เป็นเหมือนตุ๊กตา เราได้ตุ๊กตามาเล่นตัวหนึ่ง พอมันตายไปเราก็ไปหาตุ๊กตาตัวใหม่มาเล่นใหม่ ถ้าไม่หลงยึดติดว่าเป็นตัวเราของเราจะไม่ทุกข์ ต้องยอมรับความจริงว่าเขาไม่เที่ยง มีเกิดแล้วต้องมีดับไปเป็นธรรมดา มีอย่างเดียวที่ไม่ดับไม่ตายก็คือใจ แต่ใจกลับไปกลัวแทนร่างกาย ร่างกายเขาไม่กลัวหรอก เขาไม่รู้เรื่อง เขาเป็นเขาตายเขาไม่รู้เรื่อง แต่ผู้ที่มาควบคุมมาครอบครองร่างกายคือใจนี้ ไปกลัวแทนไปทุกข์แทนร่างกาย ถ้ามีธรรมะก็จะรู้ทัน จะปล่อยวางได้ จะปล่อยได้ก็ต้องใช้สมาธิปล่อย ตอนนี้เรามีปัญญาแล้ว แต่ไม่มีสมาธิที่จะแยกใจออกจากกายได้ ตอนนี้ใจยังติดกับร่างกายเหมือนกาวตราช้าง ติดกันแน่นมาก ใจยึดติดกับร่างกายแน่นมาก ถ้าอยากจะแยกออกจากกัน ต้องนั่งสมาธิให้มาก เพราะเวลาจิตสงบนี้จะแยกออกจากกันเต็มที่เลย พอแยกได้แล้วก็จะสบาย พอปัญญาสั่งว่าอย่ายึด ก็จะไม่ยึด จะไม่ทุกข์กับความเป็นไปของร่างกาย จะแก่ก็แก่ไป จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็เจ็บไป จะตายก็ตายไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 

ถาม  ถ้าไม่เอาร่างกายละคะ

 

ตอบ ก็อย่ากลับมาเกิด ต้องตัดความอยากทั้งหมด อย่าไปอยากอะไร อย่าไปอยากในรูปเสียงกลิ่นรส อย่าไปอยากมีอยากเป็น อย่าไปอยากไม่มีอยากไม่เป็น อยู่เฉยๆก็มีความสุขได้ ความอยากเป็นตัวที่ดึงใจให้ไปเกิดใหม่ ถ้าเราอิ่มเราก็ไม่ต้องออกนอกบ้าน แต่ถ้าเราหิวเราก็ต้องออกนอกบ้าน ออกนอกบ้านก็ต้องมีรถ ร่างกายก็เป็นเหมือนรถ ถ้ายังอยากดูอยากฟัง ก็ต้องมีตามีหู ต้องมีร่างกาย ถ้าไม่อยากดูอยากฟังแล้ว ใจนิ่งสงบมีความสุขแล้ว ไม่หิวกับรูปเสียงแล้ว ก็ไม่ต้องมีร่างกาย ไม่ต้องเกิดใหม่ ต้องตัดความอยากทั้ง ๓  คือ ๑. กามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  ๒. ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  ๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น