กัณฑ์ที่ ๔๓๖       ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

 

วันบวช

 

 

 

วันนี้เป็นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เราจำได้ดีเพราะเป็นวันที่เราบวช  บวชเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ บวชมา ๓๗ ปีแล้ว บวชที่วัดบวรนิเวศฯ ก่อนที่จะบวชก็ได้ลาออกจากงานตอนสิ้นปี ๒๕๑๖ คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ ทำงานได้ ๖ เดือน ระหว่างทำงานได้หนังสือธรรมะมาอ่าน ก็เลยได้ศึกษาธรรมะเป็นครั้งแรกในชีวิต ช่วงกรกฎาคมหรือสิงหาคม ได้อ่านหนังสือแล้วก็สนใจ ก็เขียนไปขอและซื้อหนังสือมาเพิ่ม ได้หนังสือสติปัฏฐานมา ได้แนวทางปฏิบัติ ก็ลองปฏิบัติดู ท่านสอนพระภิกษุให้นั่งสมาธิก่อน ให้ไปหาที่สงบตามโคนไม้ แล้วก็ให้นั่งขัดสมาธิหลับตา ตั้งสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ดูลมหายใจเข้าออกไป อ่านหนังสืออยู่ ๒ – ๓ เดือน ก็เกิดเอะใจขึ้นมาว่า ยังไม่ได้ปฏิบัติสักที มีแต่อ่านอย่างเดียว ก็เลยนั่งตอนนั้นเลย  

 

นั่งไปตอนต้นก็ฟุ้งซ่าน ก็เลยท่องพระมหาสติปัฏฐานสูตรไปก่อน ท่องไปประมาณสัก ๔๐ นาที ก็หายฟุ้งซ่าน จึงนั่งดูลมต่อไปได้ จิตก็ค่อยสงบลงไป ในช่วงแรกๆก็นั่งแบบนี้  ก่อนที่จะดูลมก็จะท่องพระสูตรมหาสติปัฏฐานสูตรไปก่อน แล้วก็ดูลมต่อ จิตก็จะสงบเย็นสบาย ไม่ลงลึก แต่ไม่ฟุ้งซ่าน จะลงลึกก็ตอนที่นั่งไปแล้วเจ็บปวด ตอนนั้นก็นึกขึ้นมาเองว่าต้องบริกรรม ก็เลยบริกรรมอนิจจังๆไป บริกรรมไปไม่นานความเจ็บก็หายไป จิตก็นิ่งสงบ เกิดความมหัศจรรย์ใจขึ้นมาว่า จิตเปลี่ยนไปได้อย่างนี้ ด้วยการบริกรรมนี่เอง เวลาเจ็บจะทรมานใจ จะอยากหนีจากความเจ็บ อยากจะให้ความเจ็บหายไป ตอนนั้นถ้าไม่มีอะไรควบคุมความอยากไว้ จะทนนั่งต่อไปไม่ได้ ก็เลยต้องใช้การบริกรรม พอบริกรรมไปเดี๋ยวเดียวก็หายไปเลยความเจ็บ จิตมันนิ่งสงบ สบาย ทำให้เกิดมีฉันทะวิริยะที่อยากจะปฏิบัติให้มากขึ้น

 

ระหว่างที่ทำงานก็สังเกตเห็นว่า ใจจะวุ่นวายจะเครียดพอสมควรกับเรื่องงาน ก็เลยเห็นว่าการทำงานกับการปฏิบัติไปด้วยกันไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจ ไปบอกเจ้าของกิจการว่า จะขอลาออกจากงานภายในสิ้นปี ภายในเดือนหน้า ตอนนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายน บอกล่วงหน้าหนึ่งเดือน จะออกจากงาน ๓๑ ธันวาคม พอออกแล้ววันที่ ๑ ก็เริ่มต้นขังตัวเองอยู่ในบ้าน ตอนนั้นอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่ด้วย เป็นห้องแถวอยู่ในตลาดนาเกลือ ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็จะนั่งสมาธิ ท่องพระสูตรไปก่อน แล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมา ล้างหน้าล้างตาทำกิจอย่างอื่น ลงมาเดินจงกรม อ่านหนังสือธรรมะ สลับกับนั่งสมาธิ ตอนนั้นก็กินอาหารวันละมื้อ แล้วก็ถือศีล ๘ ไม่ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่ก็ไม่เคยไปวัด ปฏิบัติตามหนังสือ

 

ตั้งใจจะลองปฏิบัติสักปีหนึ่ง ดูว่าจะไปถึงไหน พอครบเวลาปีหนึ่ง ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เพราะเสบียงคือเงินที่มีไว้สำหรับใช้จ่ายค่าอาหารก็จะหมด ถ้าอยากจะปฏิบัติต่อก็ต้องไปบวช ถ้าบวชจะมีเวลาปฏิบัติได้เต็มที่ ถ้าไม่บวชก็จะไม่ได้ปฏิบัติ ต้องไปทำงาน ใจหนึ่งก็ไม่อยากจะบวช กิเลสยังหวงความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ความเป็นอิสรภาพที่จะไปไหนมาไหน เพราะคิดว่าการบวชเหมือนกับถูกจับเข้าขังอยู่ในกรง ก็เลยยังกล้าๆกลัวๆ ตอนนั้นก็ทรมานใจพอสมควร ตอนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ แต่พอตัดสินใจได้แล้ว ก็โล่งอกไปเลย เบาใจ บวชก็บวช ก็เลยไปกราบปรึกษาพระที่อยู่วัดใกล้บ้าน เป็นวัดที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นวัดที่ชาวบ้านนับถือเลื่อมใส ชื่อวัดช่องลมนาเกลือ ไปกราบท่านเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย กราบเรียนว่าอยากจะบวช แต่ไม่อยากจะทำพิธีกรรมต่างๆ อยากจะภาวนา เพราะกำลังปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ อยู่

 

ท่านก็บอกว่า วัดของท่านมีพิธีกรรม มีกิจนิมนต์ ถ้าบวชกับท่านก็ต้องอยู่จำพรรษากับท่าน ๕ พรรษาตามพระธรรมวินัย ท่านแนะนำว่า ถ้าอยากจะบวชแล้วภาวนา ให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณสังวรฯที่วัดบวรฯ ถ้าอยากจะไปภาวนาไปปฏิบัติ ท่านจะอนุญาตให้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของหลวงปู่มั่น เพราะตอนที่ปฏิบัตินั้น อาศัยหนังสือที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา เป็นหนังสือที่คัดมาจากพระสูตร เป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยไม่ทราบว่าพระปฏิบัติในประเทศไทย มีอยู่ที่ไหนบ้าง ก็เลยมุ่งไปที่วัดบวรนิเวศฯ ก็ไม่รู้จักสมเด็จพระญาณสังวรฯ แต่ทราบว่าที่นั่นมีพระชาวต่างประเทศพำนักอยู่ ก็เลยไปหาพระชาวต่างประเทศรูปหนึ่ง ท่านเป็นชาวอังกฤษบวชมาได้ ๑๐ พรรษา ก็สนทนาธรรมกับท่าน เล่าให้ท่านฟังเป็นภาษาอังกฤษ ท่านฟังแล้วท่านก็อาสาว่า จะไปกราบทูลสมเด็จพระญาณฯให้ เรื่องที่จะขอบวช

 

พอไปกราบทูลเสร็จ สมเด็จฯก็รับสั่งให้ไปเฝ้า ท่านก็ถามคำสองคำว่า รู้จักใครในวัดนี้ไหม ตอบท่านว่าไม่รู้จักใครเลย เพราะเพิ่งมาครั้งแรก ท่านก็ถามว่ามีพ่อมีแม่หรือเปล่า ตอบว่ามี ท่านก็บอกให้พามาพบหน่อย ก็เลยนัดวันพบ แล้วก็กลับไปบอกคุณพ่อคุณแม่ คุณแม่ก็เลยให้พามากราบท่านสมเด็จฯ ท่านก็กำหนดวันบวชให้ เป็นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ให้บวชคู่กับอีกคนหนึ่งที่บวชชั่วคราว บวชประมาณ ๑๕ วัน เขาพึ่งจบมาจากสหรัฐฯ จบปริญญาโท เป็นลูกนายพล เวลาบวชเขาก็มีแขกมาเยอะร่วม ๑๐๐ คน แต่เรามีเพียง ๔ คน มีพ่อมีแม่มีน้องสาวแล้วก็ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่ง เพราะไม่ได้บอกใคร ชอบทำอะไรเงียบๆ ตอนที่ลาออกจากงานก็ไม่ได้บอกใคร ตอนที่อยู่บ้านปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้บอกใคร เพราะไม่รู้จะบอกทำไม ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องบอก เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง บวชแล้วก็ไม่มีใครตามมายุ่ง ก็มีคนหนึ่งรู้ เขาต้องการให้เราไปทำงาน ก็ส่งโทรเลขมาตาม

 

พออยู่ที่วัดบวรฯ ก็ทราบวิธีที่จะไปวัดป่าบ้านตาด ตอนนั้นก็ไม่รู้จักวัดป่าบ้านตาด มีพระต่างประเทศจะไปที่นั่นบอกว่า เวลาไปวัดป่าบ้านตาด ต้องเขียนจดหมายไปขออนุญาตจากท่านอาจารย์ปัญญาก่อน ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ พวกชาวต่างชาติจะติดต่อทางวัดผ่านท่านอาจารย์ปัญญา ท่านจะไปกราบเรียนหลวงตาอีกทีหนึ่ง หลวงตาก็จะอนุญาต เราก็เลยเขียนจดหมายไปหาท่านอาจารย์ปัญญา เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็เลยไม่รู้ว่าเราเป็นคนชาติไหน ใช้ชื่ออภิชาโตภิกขุ ท่านก็ไปกราบเรียนหลวงตาๆก็บอกว่าไปได้ พอถึงเวลาเราก็ไป บวชวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ แล้วก็อยู่ที่วัดบวรฯประมาณเดือนครึ่ง ประมาณต้นเดือนเมษายน จำได้ว่าก่อนวันจักรี ก็นั่งรถไฟขึ้นไป รถไฟออกตอนเย็นไปถึงนั่นก็เช้ามืด ทางวัดก็เมตตามีญาติโยมอุปัฏฐากที่อยู่อุดรฯ มารับไปส่งที่วัดเลย

 

ก็พอดีใกล้จะออกบิณฑบาต หลวงตาท่านก็พึ่งลงมา ก็เลยไปกราบท่าน ท่านก็พูดว่า อยู่ไม่ได้นะ อยู่ได้ชั่วคราว กุฏิไม่ว่าง เสร็จแล้วท่านก็ไม่พูดอะไร ต้องรีบเตรียมตัวบิณฑบาต ก็อยู่ไปเรื่อยๆจนประมาณสัก ๑ เดือนก่อนจะเข้าพรรษา ท่านก็จะบอกพระที่มาขออยู่จำพรรษาว่า องค์ไหนอยู่ได้ องค์ไหนอยู่ไม่ได้ พอมาถึงเราท่านก็บอกว่า ท่านจำได้ไหมว่าวันที่ท่านมานี้ ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ชั่วคราว ดังนั้นท่านก็อยู่ไม่ได้นะ หลวงตาท่านพูดอย่างนั้น เสร็จแล้วหลวงตาก็แสดงธรรม เกือบ ๒ ชั่วโมงก็จะเลิกประชุม ก็ลุกขึ้นมากราบพระพร้อมๆกัน ท่านก็พูดว่าท่านที่มาจากวัดบวรฯ ท่านจะอยู่ก็อยู่นะ ก็เลยได้อยู่ต่อ อยู่ที่นั่นก็มีกติกาว่า ถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษาก็จะไม่ให้ไปไหน นอกจากมีเหตุคอขาดบาดตาย มีธุระจำเป็นที่จะต้องไปทำ แต่ถ้าจะไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ท่านจะไม่ให้ไป ให้อยู่ให้ได้ ๕ พรรษาก่อน ถ้าได้ ๕ พรรษาแล้ว ถ้าท่านยังเห็นว่าไม่ได้เรื่อง ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ จะขอลาไปธุดงค์ ท่านก็จะไม่ให้ไป จะต้องให้ท่านอนุญาตก่อนว่าสมควรไปได้แล้วถึงจะไปได้

 

พออยู่ได้ ๕ พรรษา ก็ขอกราบลาท่านมาเยี่ยมบ้าน ท่านก็อนุญาตให้กลับมา พักได้ประมาณ ๒ อาทิตย์ก็กลับ ตอนกลับก็แวะไปภาวนาที่เขื่อนจุฬาภรณ์ ตอนนั้นเป็นเดือนเมษายน ๒๕๒๓ อยู่ภาวนาได้ประมาณ ๑ อาทิตย์ ก็ได้ข่าวเครื่องบินตก เครื่องบินที่ครูบาอาจารย์ ๕ รูปโดยสาร ท่านมรณภาพ ก็เลยอยากจะกลับไปวัด ไม่ทราบว่าต้องช่วยทำอะไรบ้าง พอไปถึงวัดก็ทราบว่าท่านไม่ให้พระเณรไปช่วยทำอะไร ท่านต้องการให้พระเณรภาวนา เพราะงานข้างนอกเป็นงานหยาบ งานข้างในเป็นงานละเอียด ถ้ากำลังทำงานข้างในแล้วออกไปทำงานข้างนอก ก็จะทำให้งานข้างในเสียได้ ท่านเลยไม่ให้พระเณรไป มีแต่ท่านกับพระเถระรูปสองรูปไปดูแลงานของครูบาอาจารย์ที่มรณภาพไป นี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เราไม่ค่อยได้ไปไหนเท่าไหร่ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมานี้ ก็ไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับงานต่างๆ ตั้งแต่ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน หนังสือก็บอกให้เข้าข้างใน ปฏิบัติเข้าข้างในอยู่ตลอด ไม่มีเหตุดึงให้เราไปข้างนอก เราก็เป็นคนนอกศาสนาด้วย ไม่ได้อยู่ในบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนา ที่ไปวัดเป็นประจำ ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ งานบุญต่างๆ ก็เลยไม่มีความผูกพันกับพิธีกรรมและงานบุญต่างๆ

 

พอมาสัมผัสรับรู้เรื่องของพระศาสนา ก็มารู้เรื่องการภาวนาเลย ก็เลยไม่ต้องผ่านเรื่องพิธีกรรมเรื่องการทำบุญต่างๆ พอเริ่มปฏิบัติแล้ว ก็จะเอาแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิเท่านั้น ไปอยู่วัดของหลวงตาท่านก็ให้ทำอย่างนั้น ท่านไม่ให้ไปไหน ไม่ให้ทำงานอื่น ท่านเข้มงวดมากเรื่องงานภายนอกสำหรับพระเณร ถ้าจะทำก็ทำเท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่นทำไม้กวาด ปีหนึ่งก็จะต้องไปตัดกิ่งไผ่กัน ต้องใช้กบไสแก่นขนุนไว้สำหรับซักย้อมจีวร ทุก ๑๕ วันจะซักย้อมจีวรกันครั้งหนึ่ง จะทำพร้อมกันทั้งวัด นอกจากนั้นก็จะทำข้อวัตรต่างๆ คือบิณฑบาต ปัดกวาด ทำความสะอาดศาลา ตอนเช้าฉันเสร็จก็ช่วยกันกวาดถูศาลา ตอนบ่ายก็ฉันน้ำปานะ ปัดกวาด แล้วก็สรงน้ำ จากนั้นก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ วันที่มีประชุมก็จะไปรวมกันที่ศาลาตอนก่อนค่ำ

 

สมัยนั้นหลวงตาจะเรียกประชุมประมาณอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ตอนนั้นร่างกายท่านยังแข็งแรง ไม่มีญาติโยมไปมาก ช่วงเสาร์อาทิตย์จะมีญาติโยมจากอุดรฯมาสัก ๒ - ๓ เจ้า มาใส่บาตร ส่วนใหญ่จะได้อาหารจากบิณฑบาต เสริมด้วยอาหารจากโรงครัว และผลไม้ที่ปลูกไว้ในวัด พวกกล้วยมะละกอสับปะรดมะม่วง แล้วแต่ฤดู ไม่มีภารกิจมาก ฉันเสร็จเร็ว แยกกันกลับไปที่พักเร็ว มุ่งไปที่การภาวนาอย่างเดียว เดินจงกรมนั่งสมาธิ เวลาพระออกมาเพ่นพ่านก็จะถูกไล่ไปภาวนา ถ้าออกมาเพ่นพ่านบ่อยๆก็ไล่ออกจากวัดเลย ถ้าภาวนาไม่เป็นจะเครียด เพราะไม่มีอะไรให้ทำ ถ้าภาวนาเป็นก็จะได้ประโยชน์มาก ได้ภาวนาอย่างเต็มที่ งานภายนอกท่านไม่ส่งเสริม เวลาจะสร้างกุฏิแต่ละครั้ง ท่านต้องพิจารณาว่าจำเป็นจริงๆ ถึงจะให้สร้าง ท่านต้องการให้มีเวลาภาวนามากๆ พระเณรท่านก็ไม่รับมากเกินไป เพราะว่า ๑. ถ้ามีมากก็ต้องสร้างที่อยู่เพิ่ม ๒. มีมากก็จะควบคุมอย่างใกล้ชิดไม่ได้ สมัยที่เราไปตอนแรกท่านรับพระประมาณ ๑๖ หรือ ๑๗ รูป ต่อมาท่านก็รับเพิ่มเป็น ๑๘ – ๑๙ เนื่องจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ได้มรณภาพไปตามลำดับ พระเณรจึงมุ่งมาที่วัดป่าบ้านตาดมากขึ้น ท่านก็เลยเมตตารับมากขึ้น ปีที่เราออกมาก็รับประมาณ ๒๕ รูป

 

อยู่ที่นั่นได้ ๙ พรรษา พอได้ ๕ พรรษาก็ลากลับมาเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง พอออกพรรษา ๘ ก็ขอลาออกมาภาวนาแล้วก็มาเยี่ยมบ้านด้วย เป็นปลายปี ๒๕๒๕ มาแวะเยี่ยมบ้านก่อน แล้วก็มาที่วัดญาณฯ มาเป็นครั้งแรก ได้ยินว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯเป็นผู้สร้างวัดนี้ หลวงปู่เจี๊ยะเคยมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ก็เลยมาดูว่าเป็นอย่างไร พักอยู่ได้ประมาณ ๒ อาทิตย์ แล้วก็กลับไปพักอยู่ที่สวนของวัดช่องลมประมาณ ๓ เดือน แล้วก็เดินทางกลับไปวัดป่าบ้านตาด กลับไปจำพรรษาปี ๒๕๒๖ เป็นพรรษาที่ ๙ ออกพรรษาทางบ้านก็ส่งข่าวมาว่าพ่อไม่สบาย ก็เลยขอลาท่านออกมา เพื่อจะมาอยู่ใกล้พ่อดูแลพ่อ มาพักอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา ก่อนจะเข้าพรรษาพ่อก็ถึงแก่กรรม ก็เลยไม่ได้กลับ ออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ก็มาอยู่ที่วัดญาณฯในปลายปี ๒๕๒๗

 

พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา พรรษา ๑ ถึง ๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด พรรษา ๑๑ ถึง ๓๗ อยู่ที่วัดญาณฯ มาอยู่ที่วัดญาณฯตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๗ ตอนต้นก็พักอยู่ข้างล่าง พอปี ๒๕๓๐ ก็ย้ายขึ้นมาอยู่บนเขาชีโอน ช่วงนั้นหลวงตาท่านก็มาพักอยู่ที่สวนของวัดช่องลม ท่านก็จะแวะมาดู มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านมาปลีกวิเวก โรคหัวใจกำเริบ ท่านอยากจะหาที่สงบ ท่านมาตอนช่วงบ่ายๆ มาองค์เดียว ท่านบอกว่าจะมาพักบนเขา พอลงจากรถท่านก็ชี้มาที่ศาลาหลังนี้และบอกว่าจะพักที่นี่ ก็เลยจัดให้ท่านพักบนศาลานี้ ท่านบอกว่าพรุ่งนี้ท่านจะไม่ฉัน ท่านต้องการความสงบอย่างเดียว วันรุ่งขึ้นก็มีญาติโยมมารับท่านกลับไป เวลาท่านผ่านมาทางนี้ ท่านก็จะแวะมาอยู่เรื่อยๆ ปีสองปีท่านก็แวะมาครั้งหนึ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่งทราบว่าท่านจะมาพักที่สวนของวัดช่องลม ก็เลยไปรอรับท่านและกราบท่านที่นั่น ตั้งแต่ออกมาก็ได้พบได้กราบท่านอยู่เรื่อยๆ ก็เลยไม่ได้กลับไปที่วัดป่าบ้านตาดอีกเลย ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๖ มานี่ ยังไม่เคยกลับไปที่วัดป่าบ้านตาดเลย ความสำคัญของวัดป่าบ้านตาด อยู่ตรงที่เป็นสถานที่ที่สงบ มีครูบาอาจารย์คอยสอน คอยแก้ปัญหาต่างๆให้ ถ้าอยู่ที่ไหนที่สงบก็เหมือนกับอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด นี่ก็เป็นนิทานเล่าให้ฟัง พอดีตรงกับวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์

 

การปฏิบัตินี้ ถ้ามีสถานที่ดี มีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางนี้ มีความพากเพียรที่จะปฏิบัติตามคำสอน ผลจะต้องปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะผลเกิดจากเหตุ เหตุก็คือความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ต้องมีครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วคอยสอน ถึงจะมีความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียร เข้มแข็ง อดทน กล้าหาญ แล้วก็มีสถานที่ๆเหมาะต่อการปฏิบัติ ไม่มีอะไรต่างๆมาดึงใจไปจากการภาวนา เช่นงานก่อสร้างต่างๆ งานบุญงานกุศลต่างๆ ได้เดินจงกรม ได้นั่งสมาธิ ได้ปลีกวิเวก ได้รับอุบายต่างๆ จากผู้ที่ได้รับผลมาแล้ว ก็จะได้ผลอย่างรวดเร็ว อุบายที่ได้จากการไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ก็คือการอดอาหาร ตอนที่ศึกษาและปฏิบัติเองนี้ ยังไม่เคยทราบเรื่องการอดอาหาร แต่พอไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดแล้ว ใหม่ๆก็ไม่รู้ว่าพระท่านอดอาหารกัน บางวันพระบางรูปอยู่ๆท่านก็หายไป คิดว่าท่านลาไปธุระ พอถามท่านก็บอกว่าไปอดอาหาร

 

เวลาที่อดอาหารไม่ต้องออกมาทำกิจร่วมกับหมู่คณะ ไม่ต้องมาทำกิจกรรมบนศาลา ไม่ต้องออกไปบิณฑบาต แม้แต่การปัดกวาดของส่วนรวมก็ไม่ต้องทำ ทำแต่เฉพาะส่วนของตน ท่านเน้นให้ปลีกวิเวก ไม่ให้มาคลุกคลีกัน ไม่ให้มาสัมผัสรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ถ้าอดอาหารก็ให้ภาวนาอย่างเดียว เวลาอดอาหารนี้ จะสร้างภาวะกดดันขึ้นมา คือสร้างความทุกข์ขึ้นมา คือความหิว ถ้าหิวแล้วก็มีวิธีแก้อยู่ ๒ วิธี คือ ๑. ต้องหาอาหารมารับประทาน ๒. ต้องดับความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ ถ้าอดอาหารก็จะไม่หาอาหารมาดับความหิว ก็มีอยู่ทางเดียวคือ ต้องดับความหิวด้วยการภาวนา ทำใจให้สงบ เพราะความหิว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ออกมาจากใจ ไม่ได้ออกจากร่างกาย ความหิวของร่างกายมีน้ำหนักเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนี้มีน้ำหนัก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ถ้านึกถึงอาหาร น้ำลายก็จะไหลแล้ว

 

ดังนั้นเวลาอดอาหาร ก็เหมือนกับขึ้นเวทีแล้ว ไม่ได้ชกกระสอบทรายแล้ว ชกกับกิเลสตัณหาแล้ว จะอยู่แบบสบายๆไม่ได้ ต้องเข้มงวดกวดขันกับการนั่งสมาธิเดินจงกรม ถ้านั่งแล้วเมื่อยก็เดินจงกรม เดินจงกรมแล้วเมื่อยก็กลับไปนั่งต่อ ก็เลยเป็นการบังคับให้ทำความเพียรไปในตัว เหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีแล้ว จะยืนเก้ๆกังๆไม่ได้ จะต้องใช้ความสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ เวลาอดอาหารก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา คือความหิว ก็ต้องภาวนาเท่านั้น พอจิตสงบความหิวก็จะหายไป ออกมาเดินจงกรมได้สบาย พอเดินไปได้สักระยะหนึ่งกำลังของสมาธิก็จะหมดไป ความคิดปรุงแต่งก็จะคิดถึงอาหารอีกแล้ว ก็ต้องกลับไปนั่งสมาธิใหม่ พอจิตสงบความหิวก็หายไปอีก พอนั่งแล้วเมื่อยก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมต่อ ทำอย่างนี้สลับกันไป ทั้งวันทั้งคืน ก็เลยได้ภาวนาอย่างต่อเนื่อง จิตถูกควบคุมด้วยสติด้วยปัญญาอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ต้องพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร เวลาคิดถึงอาหารที่อยู่ในจาน ก็ต้องนึกถึงอาหารที่อยู่ในปาก อยู่ในท้อง เวลาออกมาจากร่างกาย ก็จะหยุดความคิดปรุงแต่งเรื่องอาหารได้เป็นพักๆ พอคิดถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ปั๊บ ก็ต้องนึกถึงเวลาอยู่ในปากอยู่ในท้อง และเวลาออกมาจากร่างกาย แล้วความอยากที่จะรับประทานอาหารก็จะหายไป

 

เราจึงต้องสร้างภาวะที่กดดันจิตใจ เพื่อเราจะได้ผลิตธรรมะออกมาต่อสู้ ผลิตปัญญา ผลิตสมาธิ ผลิตสติ ถ้าอยู่ในสภาพที่สบายๆ กิเลสจะออกมาเพ่นพ่าน วันที่ฉันอาหาร เวลากลับมาถึงกุฏิจะง่วงเลย จะหาหมอนก่อน ไม่อยากเดินจงกรมนั่งสมาธิ ถ้านั่งก็นั่งได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็คอพับ ถ้าได้ผลดีจากการอดอาหาร ก็จะใช้การอดอาหารเป็นเครื่องมือสนับสนุนความเพียรไป อดบ้างฉันบ้างสลับกันไป อดทีละ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้างแล้วก็กลับมาฉัน ๒ วัน แล้วก็กลับไปอดใหม่ ท่านเตือนให้สังเกตดูธาตุขันธ์ด้วย ว่าเสียหายหรือเปล่า ถ้าอดมากเกินไปก็จะทำให้ท้องเสียได้ ต้องคอยสังเกตดู บางครั้งก็ลองดูว่าจะอดไปได้สักกี่วัน ก็ได้ ๗ วันบ้าง ๙ วันบ้าง มากไปกว่านั้นจะไม่ได้ผล เพราะไม่ได้ภาวนา จะนอนมากกว่า ตอนนั้นไม่หิวมาก จะหิวมากช่วง ๓ วันแรก หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย อดครั้งละ ๕ วันนี้กำลังดี ๓ วันแรกจะทรมานหน่อย เพราะช่วง ๓ วันแรกจะหิวมาก พอผ่าน ๓ วันไปแล้วความหิวจะเบาลง

 

ตอนอดอาหารท่านก็อนุญาตให้ฉันนมได้บ้าง สมัยนั้นไม่มีนมกล่อง มีนมข้นชงกับโอวัลติน ก็ฉันวันละถ้วย ก็ช่วยทำให้ไม่อ่อนเพลียมากเกินไป ตอนบ่ายก็ฉันน้ำปานะ บางครั้งหลวงตามีช็อกโกแลตมาแจก ท่านมักจะแจกให้กับพระที่อดอาหาร พระที่ไม่อดจะไม่ค่อยได้ ใครอยากจะฉันช็อกโกแลตก็ต้องอดอาหาร เวลาอดอาหารก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปเจอเสือที่บนศาลา เวลาไปฉันแต่ละวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะ ต้องขึ้นศาลาไปเจอเสือ ถ้าไม่อยากเจอเสือก็ต้องอดอาหาร พระเณรจึงอดอาหารกันมาก อดกันบ่อย ในช่วงเข้าพรรษานี้บางทีหายไปทีครึ่งวัด ถ้าไม่อดออกมาฉันจะโดนเสือคำราม หลวงตาท่านต้องการให้พระภาวนากัน

 

ถาม  กลางคืนเสือเดินตรวจหรือไม่คะ

 

ตอบ  ท่านเดินเงียบๆ ถ้าจะแอบไปคุยกันต้องซ่อนรองเท้าไว้ ถ้าท่านเห็นมีรองเท้าหลายคู่ ท่านก็รู้ว่ามีพระมาคุยกัน มาสังสรรค์กัน

 

ส่วนใหญ่เราจะไม่ไปคุยกับใคร เพราะติดภาวนา จะคุยบ้างก็ช่วงตอนปัดกวาด ตอนสรงน้ำ คุยกันนิดหน่อย เสร็จกิจแล้วก็แยกกัน แต่จะไม่ไปนั่งคุยที่กุฏิ เพราะติดพันกับการภาวนา แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะของท่าน อ่านหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นและปฏิปทาฯ ความรู้จากหนังสือก็มาเสริมกับความรู้ที่ท่านเทศน์ อ่านวันละชั่วโมง เวลาอ่านนี้ก็นั่งขัดสมาธิอ่าน ก็เหมือนกับนั่งฟังเทศน์ สมัยนั้นในวัดยังไม่มีเครื่องเล่นเทป ก็ใช้อ่านหนังสือเอา อ่านไปจิตก็เย็นสบาย เกิดปัญญาด้วย เกิดความเข้าอกเข้าใจ ในวิธีการปฏิบัติข้อธุดงควัตรต่างๆ เข้าใจว่าทำไมต้องถือธุดงควัตร ก็เพราะเป็นเครื่องมือปราบกิเลสและเสริมความเพียร เช่นการฉันมื้อเดียวนี้ เป็นการตัดกิเลสคือกามฉันทะ ความอยากในรสในกลิ่นในรูปของอาหาร ให้ฉันอาหารเหมือนกับฉันยา ถ้าติดในรสในกลิ่นในรูปของอาหาร ท่านก็ให้เอาอาหารรวมกันแล้วก็คลุกกันในบาตร ให้คิดว่าต่อไปก็จะต้องลงไปรวมกันในท้อง ไม่ให้มีอารมณ์กับอาหาร ฉันแบบฉันยา ให้อิ่มท้องก็ใช้ได้แล้ว จะเป็นอาหารชนิดใดก็ไม่สำคัญ ถ้าไม่ทำให้ท้องเสียเจ็บไข้ได้ป่วย การฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร เป็นเครื่องมือปราบกิเลส ที่เกี่ยวกับการฉันอาหาร

 

การถือผ้าบังสุกุล ก็ให้ยินดีตามมีตามเกิด สมัยพุทธกาลไม่มีผ้าเป็นผืน ต้องไปเก็บเศษผ้าที่ทิ้งตามป่าช้า เรียกว่าผ้าบังสุกุล มาสะสมไว้ พอได้จำนวนพอกับการตัดเย็บจีวรก็เอามาตัดเย็บ ไม่ต้องเป็นผ้าใหม่ ให้เอามาเพื่อปกปิดอวัยวะของร่างกาย และป้องกันร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีเพียง ๓ ผืนก็พอแล้ว คือมีผ้านุ่งเรียกว่าสบง ผ้าห่มเรียกว่าจีวร ผ้าห่มกันหนาวเรียกว่าสังฆาฏิ รวมกันเรียกว่าผ้าไตร เป็นผ้าที่จะต้องรักษา ไปไหนก็จะต้องเอาติดตัวไปด้วย สมัยก่อนถ้าไปตากหรือไปวางไว้ที่ห่างจากสายตา ก็อาจจะหายได้ เพราะผ้าเป็นของหายาก อาจจะถูกขโมยไป ก็เลยต้องรักษาผ้าให้อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา

 

ถ้าไม่ได้อยู่ศึกษากับผู้ที่ได้ผ่านมานี้ จะไม่รู้คุณค่าของข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็จะปฏิบัติไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรา ซึ่งเป็นความรู้สึกของกิเลสนั่นเอง ถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วไปปฏิบัติตามลำพัง ส่วนใหญ่จะหลงทางกัน ถ้าไม่หลงก็จะเสียเวลามาก แต่จะหันกลับมาได้ เพราะมีปัญญา อย่างพระพุทธเจ้าก็หลงเหมือนกัน เพราะไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน ก็เลยปฏิบัติแบบสุดโต่ง อดอาหารก็อดจนเกินความพอดี ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่ท่านฉลาด พอรู้ว่าไปทางนี้เป็นทางตัน ไม่ใช่ทาง ท่านก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเสวยพระกระยาหาร พวกปัญจวัคคีย์ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็เสื่อมศรัทธา คิดว่ายอมแพ้ ไม่พากเพียรต่อไป ไม่ยอมตาย กลัวตาย ต้องกลับมาเสวยพระกระยาหาร แต่ความจริงพระองค์ไม่กลัวตาย

 

ทรงเห็นว่าความตายของร่างกาย ไม่ได้ฆ่ากิเลส ไม่ได้ทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรม เห็นอริยสัจ ๔ ธรรมที่จะดับความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไปจากใจ การอดอาหารโดยไม่ได้ภาวนานี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร การอดอาหารเป็นอุบายสนับสนุนการภาวนา ถ้าอดอาหารเฉยๆ เหมือนพวกอดอาหารประท้วงทางการเมืองนี้ จะไม่ได้บรรลุธรรม อดอาหารแต่ไม่ได้ภาวนา ไม่เกิดประโยชน์อะไร การอดอาหารนี้ก็เพื่อสนับสนุนการภาวนา อย่างที่ถือศีล ๘ นี้ก็เป็นการอดอาหารแบบเบาๆ คือจากการเคยรับประทาน ๓ มื้อก็ลดลงเหลือ ๒ มื้อ หรือ ๑ มื้อ คือไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว เป็นการตัดกำลังของกามฉันทะ คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสของอาหาร รับประทาน ๒ หรือ ๑ มื้อก็ยังมากเกินไป ต้องอดสัก ๓ วัน ๕ วันถึงจะดี ถึงจะขยันหมั่นเพียรจริงๆ เพราะเหมือนเข้าสนามรบแล้ว จะนั่งๆนอนๆไม่ได้ เพราะกิเลสต่อยเราอยู่ทุกขณะเลย ปรุงแต่งเรื่องอาหารชนิดนั้นอาหารชนิดนี้ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

 

ถ้าไม่ภาวนาก็จะอดอาหารไม่ได้ ก็เลยต้องภาวนาควบคุมความคิดปรุงแต่ง หรือต้องย้อนความคิดปรุงแต่ง ถ้าคิดถึงอาหาร ก็ต้องคิดถึงอาหารในอีกรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่อยู่ในปาก เวลาเคี้ยวผสมกับน้ำลาย ถ้าคายออกมาจะตักเข้าไปในปากใหม่ได้หรือไม่ หรือเวลาที่อยู่ในท้องแล้วอาเจียนออกมา ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว การอดอาหารจะไม่เป็นปัญหา เพราะมียาแก้กัน ถ้าไม่มียาแก้ จะอดไม่ได้ จะฟุ้งซ่านทนไม่ได้ แสดงว่าไม่ถูกกับจริต ความจริงไม่ถูกกับความสามารถมากกว่า ไม่สามารถผลิตธรรมโอสถ คือยาแก้ความหิวนี้ได้ ถ้าสามารถพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารได้ เวลาคิดถึงอาหารต่างๆ ก็จะลบภาพอาหารที่เอร็ดอร่อยได้ พอนึกถึงอาหารที่อยู่ในปากในท้อง ความอยากรับประทานก็จะหายไป จิตก็จะสงบตัวลง พอทำบ่อยๆก็จะสงบอย่างต่อเนื่อง นั่งเฉยๆก็สงบ ไม่ต้องพุทโธ ความสงบจะคืบเข้ามาเอง เหมือนกับหมอกที่คืบเข้ามา เพราะเคยสงบมาแล้ว

 

การมีอุบายวิธีจะช่วยเร่งความเพียร จะเร่งให้ผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าปฏิบัติแบบสบายๆ ก็เหมือนกับนั่งรถธรรมดา จอดทุกสถานี แต่ถ้านั่งรถด่วนจะจอดเพียงไม่กี่สถานี จะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็ว ผู้ปรารถนาความหลุดพ้นอย่างรวดเร็วต้องกล้าหาญ ที่จะใช้อุบายต่างๆ มาเสริมในการภาวนา ต้องสร้างสนามสอบขึ้นมา อย่ารอให้สนามสอบมาหา เพราะกว่าจะมาหาจะนานเกินไป เช่นรอให้ความตายมาหา อาจจะอีกหลายปี ต้องไปหาความตาย ต้องไปหาสถานที่ที่ท้าทายต่อความเป็นความตาย เพื่อจะได้พิสูจน์ดูว่า จะดับความกลัวตายได้หรือเปล่า ความกลัวตายก็เกิดจากความอยากอยู่ ความหลงว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ต้องตายไปในที่สุด ช้าหรือเร็ว ถ้าอยากจะอยู่อย่างสบายไม่กลัวตาย ก็ต้องแก้ปัญหานี้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริง ต้องไปหาที่ๆน่ากลัว ไปหาที่ๆทำให้เกิดความกลัวสุดขีด แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาปล่อยวางร่างกาย พิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ร่างกายเกิดมาแล้วก็ต้องตายอย่างแน่นอน ถ้าตอนนี้ร่างกายจะตายก็ให้ตายไป พอยอมตายปั๊บความกลัวตายก็จะหายไป ที่พระไปอยู่ในป่าในเขากัน ก็เพื่อที่จะหาสนามสอบ ถ้าปฏิบัติอยู่ในวัดค่อนข้างจะปลอดภัย แต่วัดป่าบางวัดตอนกลางคืนก็น่ากลัวเหมือนกัน ออกมาเดินตอนกลางคืนไม่ต้องฉายไฟ เพื่อพิสูจน์ว่ากลัวหรือไม่กลัวก็ได้

 

นอกจากรู้ขั้นตอนของการปฏิบัติแล้ว เช่นรู้ว่าต้องภาวนา ต้องเจริญสติ ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรมแล้ว ก็ต้องหามาตรการเข้มข้นมาเสริม ปฏิบัติอยู่ที่บ้านกับการปฏิบัติในป่านี้ ภาวะเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน ฉันตามปกติ กับการอดอาหารก็ต่างกัน นั่งให้เจ็บแล้วปล่อยให้หายไปเอง ไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถก็เช่นกัน อยากจะได้ผลดี ก็ต้องลุย ต้องสู้ เจ็บแล้วอย่าลุก นั่งต่อไป ใช้อุบายของสมาธิ หรือใช้ปัญญาพิจารณา ให้ปล่อยวางความเจ็บ ไม่ให้ใจวุ่นวายกับความเจ็บ ปล่อยวางความเจ็บ เหมือนกับปล่อยวางคนนั้นคนนี้ ไม่ไปยุ่งกับเขา ถ้าไม่ไปยุ่งก็จะไม่วุ่นวายใจ ที่วุ่นวายเพราะไปยุ่งกับเขา ความเจ็บของร่างกายก็เหมือนกับคนที่เราไปยุ่งด้วย ถ้าไม่ไปยุ่งกับเขา เขาจะทำอะไรก็ปล่อยให้เขาทำไป ปล่อยให้เขาด่าให้เขาชมไป ถ้าไม่ถือสาก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าถือสาก็จะวุ่นวายใจ เวทนาก็เหมือนกัน เหมือนคนด่าคนชม เวทนามีทั้งสุขมีทั้งทุกข์ ถ้ารับสุขได้ทำไมรับทุกข์ไม่ได้ เป็นเวทนาเหมือนกัน เหมือนกับเสียงด่ากับเสียงชมนี้ รับเสียงชมได้ทำไมรับเสียงด่าไม่ได้ เป็นเสียงเหมือนกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขา แต่อยู่ที่เรา ไปรักไปชังเขา ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ ความเจ็บกับความสุขของร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าไม่ไปรักไปชังก็จะไม่เป็นปัญหา

 

ปัญหาคือความทุกข์อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่เวทนา เราจะทุกข์หรือไม่ อยู่ที่เรา ถ้าไปรักไปชังก็จะทุกข์ เวลาเสียสิ่งที่รักไปก็จะทุกข์ ถ้าพบกับสิ่งที่ชังก็จะทุกข์ ถ้าไม่รักไม่ชังเวลาเจอก็จะไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นอย่าไปรักสุขเวทนา อย่าไปชังทุกขเวทนา ให้สลับกัน ให้ชังสุขเวทนา ให้รักทุกขเวทนา ใจจะได้อยู่ตรงกลาง รู้เฉยๆ ทุกข์ก็ได้สุขก็ได้ ด่าก็ได้ชมก็ได้ เพราะเป็นเสียงเท่านั้นเอง เวทนาก็เป็นโผฏฐัพพะ เวลาร่างกายสัมผัสกับของแข็งนานๆ ก็แสดงอาการเจ็บออกมา ก็รับรู้ไป ถ้าไม่ไปรักไปชัง ใจจะไม่กระเพื่อม ใจจะสบาย แต่ต้องมีฐานคือมีสมาธิ ถ้าไม่มีเวลาสัมผัสอะไรนิดอะไรหน่อยจะกระเพื่อมทันที เพราะไม่มีความหนักแน่น ไม่เป็นอุเบกขา ต้องทำใจให้หนักแน่น เป็นอุเบกขาก่อน ด้วยการทำสมาธิ พอใจสงบแล้ว จะมีความหนักแน่น มีอุเบกขานิ่งเฉย พอสอนให้ใจนิ่งเฉยกับอะไร ก็จะนิ่งเฉยได้ ให้นิ่งเฉยกับคำด่าก็นิ่งได้ ให้นิ่งเฉยกับความเจ็บปวดของร่างกายก็นิ่งได้ สมาธิจึงเป็นธรรมที่สำคัญมากต่อการเจริญปัญญา

 

เจริญปัญญาก็เพื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ ปล่อยวางขันธ์ ปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางร่างกาย เวลาเผชิญความตายก็สอนให้ใจนิ่งๆได้ ปล่อยให้ร่างกายตายไป เราไม่ได้เป็นร่างกาย ไม่ต้องกลัว ถ้าใจไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิใจจะกระโดด พอเจออะไรน่ากลัวก็จะวิ่งอ้าวไปเลย ความกลัวมีพลังมาก ถ้ามีสมาธิก็จะหยุดความกลัวได้ ถ้าปัญญาสั่งให้ปล่อยวาง ก็จะปล่อยได้ ถ้าไม่ปล่อยก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ ถ้าจะใช้ปัญญาให้ได้ผลต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิถึงแม้จะรู้ว่าความตายเป็นธรรมดา ก็ทำใจไม่ได้ ความเจ็บเป็นธรรมดาก็ทำใจไม่ได้ เพราะใจไม่หนักแน่นไม่นิ่งพอ ต้องทำใจให้นิ่งก่อน สมัยนี้จะหลงผิดกัน คิดว่าไม่ต้องมีสมาธิ ใช้ปัญญาเลย แล้วมีใครบรรลุกันบ้างหรือเปล่า พวกที่ใช้ปัญญาอย่างนี้ ถ้านั่งสมาธิไม่ได้แล้วจะไปเจริญปัญญาเลยนี่ ทำไม่ได้หรอก เหมือนคนที่เดินไม่ได้ จะวิ่งได้อย่างไร ก่อนจะเดินได้ ก็ต้องยืนก่อน

 

ก่อนจะมีสมาธิได้ ก็ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติจะทำให้ใจสงบไม่ได้ ถ้าใจไม่สงบไม่นิ่งไม่หนักแน่น จะสอนใจให้ปล่อยวางก็ปล่อยไม่ได้ พอสัมผัสรับรู้อะไร จะรักจะชังจะอยากขึ้นมาทันที ถ้าสัมผัสของชอบก็อยากได้ทันที ถ้าสัมผัสของเกลียดก็อยากจะหนีทันที แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะสอนใจได้ สอนว่าอย่าไปรักอย่าไปชัง อย่าไปชอบอย่าไปเกลียด เพราะจะทำให้ใจกระเพื่อม ไม่สงบ จะทุกข์ ถ้าจะรักษาความสงบสุขของใจก็ต้องปล่อยวาง ใครจะด่าก็ปล่อยให้ด่าไป ใครจะชมก็ปล่อยให้ชมไป ใครอยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป ไม่ต้องไปห้าม ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำตามที่เราต้องการ ความสุขของใจอยู่ที่การไม่อยากได้อะไร นี่เป็นหน้าที่ของปัญญา จะได้ผลก็ต้องมีสมาธิก่อน

 

ใจต้องมีความสงบหนักแน่นก่อน ถ้ายังไม่มีสมาธิใจจะเป็นเหมือนสปริง จะเด้งทันที พอสัมผัสอะไรปั๊บนี้จะเด้งทันที ต้องทำให้สปริงไม่เด้งเสียก่อน พอสัมผัสอะไร เห็นอะไรแล้วกระเพื่อม ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปล่อยวาง ก็จะปล่อยทันที พอปล่อยแล้วก็จะกลับสู่ความสงบทันที ต่อไปจะไม่ยึดติดกับอะไร ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิดไป อะไรจะดับก็ปล่อยให้ดับไป เป็นเรื่องปกติของโลก มีเจริญมีเสื่อม ในลาภยศสรรเสริญ ในความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่สามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้ และไม่ควรด้วย เพราะการอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นการสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ การปล่อยวาง การยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น ตลอดทุกเวลานาที จะรักษาใจให้อยู่อย่างสงบ ร่มเย็นเป็นสุขไปตลอด

 

เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือการปล่อยวาง เพื่อใจจะได้หลุดพ้นจากความวุ่นวายต่างๆ ใจไปวุ่นวายกับเขาเอง เขาเป็นอย่างนี้ก็อยากจะให้เขาเป็นอย่างนั้น เขาเป็นอย่างนั้นก็อยากจะให้เขาเป็นอย่างนี้ เพราะไม่รู้ว่าไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เขาเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา ที่จะไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ถ้าอยากจะให้ใจมีความสุขตลอดเวลา ก็ต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นทุกข์ทั้งนั้น ทุกวันนี้เราทุกข์กับอะไร ก็ทุกข์กับเรื่องต่างๆ สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ นับตั้งแต่ร่างกายของเราออกไป ร่างกายก็เป็นกองทุกข์กองหนึ่งแล้ว แล้วก็ไปเอาสามีภรรยามาเป็นกองทุกข์อีกกองหนึ่ง แล้วก็เอาลูกมาเป็นกองทุกข์ เอาหลานมาเป็นกองทุกข์ เอาสมบัติข้าวของเงินทองมาเป็นกองทุกข์ เอารูปเสียงกลิ่นรสมาเป็นกองทุกข์ เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น อยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสอนก็จะไม่รู้ จะติดอยู่กับความทุกข์ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ตายไปก็กลับมาหากองทุกข์ใหม่ กลับมาเกิดใหม่ แต่ถ้าได้พบกับพระพุทธเจ้า ได้พบกับพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาได้ปฏิบัติแล้ว ก็จะพบกับความร่มเย็น พบกับความสงบ พบกับความสุข ก็จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆทันที จะพยายามใช้สติสมาธิปัญญาตัดให้หมด ชอบก็ต้องตัด ชังก็ต้องตัด ตัดจนไม่มีชอบและชังหลงเหลืออยู่ในใจเลย ก็จะหมดงาน วุสิตัง พรหมจริยัง

 

ขอให้พวกเรารีบขวนขวายกัน เพราะเวลาของเราไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะมีเหลืออีกสักกี่วันกี่ปีกี่เดือน ไม่รู้ว่ากลับมาเกิดคราวหน้าจะได้มาพบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ ถ้าไม่พบก็คงจะต้องเป็นเวลาอีกยาวนาน กว่าจะมีพระพุทธศาสนามาปรากฏใหม่ ให้เป็นที่พึ่งของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้อย่าไปเสียดายกับสิ่งต่างๆในโลกนี้เลย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ทิ้งไปเสียแต่วันนี้จะดีกว่า ไปอยู่วัดกัน ไปบวชชีบวชพระกัน จะได้ของดีของวิเศษ อย่าประมาทในความสามารถของเรา อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้ อย่าไปมองคนที่เรียนจบแล้ว เราอยู่ ป. ๑ ก็ทำหน้าที่ของเราไป อย่าไปคิดว่าไม่มีบุญที่จะเรียนถึงขั้นปริญญา  เวลาอยู่ ป. ๑ ก็คิดอย่างนี้กันทุกคน เพราะรู้สึกว่าสุดเอื้อม ขอให้เรียนไปเถิด ตอนนี้อยู่ ป. ๑ ก็เรียน ป. ๑ ไป เรียนเพื่อขยับขึ้น ป. ๒ อย่าเรียนซ้ำชั้น ต้องเลื่อนขึ้นไป จากทานก็ไปศีล จากศีลก็ไปภาวนา ไปเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ก็จะหลุดพ้นได้ เรียนมาหลายปีแล้ว ก็ยังทำแต่ทาน ไปงานบุญนั้นไปงานบุญนี้ ไม่ถือศีลปลีกวิเวกกันบ้างเลย ก็เลยไปไม่ถึงไหน

 

ถ้าพวกเราไม่ผลักดันตัวเราเอง จะไม่มีใครผลักดันนะ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนแล้ว แต่ท่านลากผลักดันเราไม่ได้ เราต้องผลักดันเอง ให้ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ จะได้กระตุ้นความเพียร ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ อย่าประมาทนอนใจ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกอยู่เรื่อยๆ ดูท่านเป็นตัวอย่าง ท่านก็เป็นเหมือนเรา ท่านก็เกิดมาอยู่กับลาภยศสรรเสริญ อยู่กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่ทำไมท่านเล็ดลอดออกมาได้ เพราะท่านมีความพากเพียร มีปัญญา พวกเราคงไม่มีปัญญา จึงไม่เห็นโทษของลาภยศสรรเสริญ ของความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นเหมือนปลาที่ติดเหยื่อปลายเบ็ด แล้วก็ต้องถูกเบ็ดเกี่ยวปากไว้ เวลาจะเอาเบ็ดออกก็กลัวเจ็บ เวลาจะออกจากลาภยศสรรเสริญสุขก็กลัวจะทุกข์ทรมานใจ ไปอยู่วัดก็กลัวความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ก็จะเป็นนักโทษในเรือนจำของการเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ

 

ต้องยอมเจ็บบ้าง ยอมไปปลีกวิเวกอยู่ตามวัดที่สงบ ไม่มีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็บังคับตนให้ภาวนา ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติอยู่เรื่อยๆ ไม่นานก็จะก้าวไปได้เอง พอธรรมเริ่มหมุนแล้ว ก็จะภาวนาอย่างมีความสุขเพลิดเพลิน ถึงแม้จะทุกข์บ้าง เพราะต้องต่อสู้กับกิเลส แต่จะเป็นทุกข์ที่มีคุณค่า เพราะเวลากิเลสตายไปแต่ละครั้ง จะเบาอกเบาใจ สบายใจ และภูมิใจ ที่สามารถผ่านกิเลสไปได้ เป็นรางวัลที่คุ้มค่ามาก ความเหน็ดเหนื่อยจะหายไปหมดเลย เหลือแต่ความสุขความสบาย ขอให้พยายามปฏิบัติให้มาก อย่าเรียนซ้ำชั้น พยายามก้าวขึ้นไป จะได้เรียนจบ

 

ถาม  ที่ว่าฆ่ากิเลส ไม่ทราบว่าฆ่าตัวไหนก่อนคะ

 

ตอบ ตัวไหนมาก่อนก็ฆ่ามันก่อน โดยหลักตัวหยาบจะมาก่อน ตามมาด้วยตัวกลางและตัวละเอียด ตัวหยาบก็คือลาภยศสรรเสริญสุข ไปชอปปิ้ง กินขนมนมเนย ไปเที่ยว ดูหนังฟังเพลง แล้วก็ค่อยมาที่ตัวกลาง คือร่างกาย กลัวเจ็บกลัวตาย กลัวเหงา นอนคนเดียวไม่ได้ ต้องนอนกับแฟน ตัวละเอียดจะอยู่ในใจ ต้องทำลายตัวหยาบก่อน ต้องสละสมบัติ สละความสุขของฆราวาสก่อน แล้วถึงมาต่อสู้กับกิเลสที่ยึดติดกับขันธ์ ๕ มาปล่อยขันธ์ ๕ แล้วก็ไปฆ่ากิเลสที่อยู่ในใจ ฆ่าอวิชชา มานะ รูปราคะ อรูปราคะ ที่เป็นกิเลสที่ละเอียด ถ้ายังไม่ผ่านตัวหยาบและตัวกลางจะไม่เห็นตัวละเอียด เพราะตัวหยาบตัวกลางจะบังไว้ เหมือนกับเวลากรองทราย ถ้าใช้ตาข่ายกว้างก็จะกรองขนาดใหญ่ก่อน ขนาดเล็กกว่าตาข่ายก็จะเล็ดลอดออกไป ต้องเปลี่ยนตาข่าย จากขนาดใหญ่มาสู่ขนาดกลาง และขนาดละเอียด ถึงจะได้ทรายละเอียด ต้องกรองเป็นขั้นๆไป

 

จะทำข้ามขั้นไม่ได้ เพราะความยากง่ายต่างกัน การปล่อยวางคนอื่นง่ายกว่าปล่อยวางร่างกายของเรา ให้คนอื่นตายกับเราตายนี้ จะให้ใครตายก่อน ร่างกายของเราๆก็ต้องปล่อย แต่ไม่ได้ให้ฆ่าตัวตาย เพียงแต่ไม่ให้หวงไม่ให้ห่วง ไม่ให้อยากอยู่เกินเวลา ถึงเวลาจะไปก็ให้ไป เพราะต้องไป เรามีหน้าที่รับรู้เฉยๆ เราเป็นเจ้าของชั่วคราว ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์ สักวันหนึ่งก็ต้องเสีย จะขับไม่ได้ จะใช้ไม่ได้ ถึงเวลานั้นก็ต้องปล่อยไป ขณะที่อยู่ด้วยกันก็อย่าไปกังวล อย่าไปคิดว่าเป็นของเรา ให้คิดว่าเป็นของยืมมา

 

ถาม  เข้าใจว่ากิเลสหลายตัวนี้คือโลภโกรธหลง

 

ตอบ กิเลส ๓ ตัวนี้จะไปด้วยกันเป็นทีม เริ่มจากความหลง หลงว่าเสื้อผ้าชุดนี้สวย ก็อยากจะได้แล้ว เกิดความโลภขึ้นมา พอสามีบอกเดือนนี้เงินไม่พอใช้ อย่าซื้อเลยก็โกรธ กิเลสไปเป็นทีม ต้องใช้ปัญญาแก้ เราก็มีเสื้อผ้าเยอะแยะแล้ว เอามาทำไม ชุดเก่าๆยังใส่ไม่หมดเลย จะเอาชุดใหม่มาทำไม ไม่ได้มาก็ไม่ตาย พอคิดอย่างนี้ก็ตัดความโลภได้ ต้องใช้ปัญญา

 

ถาม  ช่วยอธิบายเรื่องสัจจบารมี เวลาตั้งใจจะทำอะไร แล้วไม่ได้ทำตามนั้น ถือว่าผิดสัจจะไหมคะ

 

ตอบ ผิด

 

ถาม  เวลานึกคิดอะไรก็ต้องระวังใช่ไหมคะ

 

ตอบ ถ้านึกคิดว่าจะทำอะไรก็ต้องระวัง เช่นคิดว่าจะมาที่นี่วันนี้ ก็ต้องคิดก่อนว่าจะมาจริงๆหรือไม่  ถ้าคิดว่าจะต้องมาให้ได้  ก็ต้องตั้งสัจจอธิษฐาน เพื่อจะได้บังคับตัวเราให้ทำตามความปรารถนา ถ้าไม่ได้มาก็จะเสียสัจจะ เวลาตั้งใจทำอะไรนี้ จะตั้งเงื่อนไขกำกับไว้ด้วยก็ได้ อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงตั้งเงื่อนไขไว้ว่า จะนั่งอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์นี้จนกว่าจะตรัสรู้ ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ถึงแม้เลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไปก็จะไม่ลุก จะรักษาได้ไม่ได้ก็อยู่ที่สัจจะ ถ้ามีสัจจะก็จะรักษาได้ สัจจะเป็นเหมือนการให้คำมั่นสัญญากับตัวเองหรือกับผู้อื่น เช่นนัดกันว่าจะมาที่นี่ด้วยกัน พอถึงเวลาก็เบี้ยว อย่างนี้ไม่มีสัจจะ ถ้าไม่มีสัจจะแล้วจะตั้งใจทำอะไร ก็จะไม่สำเร็จ ถ้ารู้ว่าเราไม่มีสัจจะก็อย่าไปตั้ง เปิดไว้กว้างๆ จะทำเท่าที่ทำได้ จะได้ไม่โกหกตัวเอง

 

ถาม  ทำแบบไม่คาดหวังหรือคะ

 

ตอบ  ไม่ใช่ ทำโดยไม่กำหนดขอบเขต ว่าจะทำกี่ชั่วโมง เช่นนั่งไปเรื่อยๆ นั่งเท่าที่จะนั่งได้ จะได้ไม่เสียสัจจะ บางคนต้องกำหนดว่า จะนั่งไปจนกว่าเทียนเล่มนี้ จะไหม้ไปหมดถึงจะเลิก ถ้าเทียนยังไหม้ไม่หมดก็จะไม่เลิก แล้วแต่จริต

 

ถาม  คิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ ถือเป็นสัจจะไหมคะ

 

ตอบ เป็น ถ้าไม่ทำไปเรื่อยๆก็ถือว่าเสียสัจจะ

 

ถาม  คนที่ตั้งสัจจะแล้วไม่สามารถทำตามสัจจะได้ จะเป็นอย่างไรคะ

 

ตอบ  เป็นคนที่ไม่มีสัจจะ ไม่มีใครเชื่อถือ ไม่เชื่อตนเอง อย่าไปตั้งดีกว่าถ้าตั้งแล้วทำไม่ได้

 

ถาม  หนูมีความทุกข์เกี่ยวกับญาติผู้ใหญ่ อายุมากแล้ว เจ็บป่วยทรมาน หนูไม่สามารถช่วยได้ ก็พยายามทำใจให้ปล่อยวาง คิดว่าเป็นวิบากของท่าน ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา แต่ก็อดเศร้าใจไม่ได้ หนูควรจะทำอย่างไร

 

ตอบ  สติและสมาธิมีกำลังไม่พอ ที่จะหยุดใจไม่ให้เศร้าได้ สู้กิเลสไม่ได้ กิเลสมีกำลังมากกว่า ต้องเจริญสติให้มาก นั่งสมาธิให้มาก เรารู้ว่าต้องทำใจ แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังหยุดกิเลส พวกเรามีปัญญากันทั้งนั้น แต่เป็นปัญญาชนิดท่วมหัวเอาตัวไม่รอด พวกเราก็รู้กันว่า การเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ปัญญาของเราไม่มีสมาธิสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถรับความจริงนี้ได้ กิเลสยังค้านอยู่ ยังอยากไม่แก่เจ็บตาย ยังอยากสบาย อยากอยู่ต่อ เป็นปัญหาของใจ ไม่ได้เป็นปัญหาของร่างกาย จึงต้องทำสมาธิ จะทำสมาธิได้ก็ต้องมีสติ ต้องบริกรรมพุทโธๆไปทั้งวันเลย อย่าไปคิดถึงใครเลย ให้อยู่กับพุทโธๆไป พอมีเวลาว่างก็นั่งหลับตาทำใจให้สงบให้ได้ ถ้าใจสงบก็จะมีกำลังหยุดความอยาก ที่จะให้ร่างกายหายป่วย ใจจะเป็นอุเบกขา ปล่อยวางได้ จะดีขึ้นหรือเลวลงก็เป็นเรื่องของร่างกาย แต่ใจจะไม่ทุกข์ ใจจะเฉยๆ ตอนนี้ยังทำใจเฉยไม่ได้ ใจยังแกว่งไปแกว่งมา แกว่งไปหาความรักความชัง หาความอยากความไม่อยาก ไม่อยู่ตรงกลาง ต้องใช้สติและสมาธิดึงใจให้อยู่ตรงกลาง ถ้ามีสติดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน เวลานั่งดูลมหายใจเข้าออก ใจก็จะสงบ จะเป็นกลาง

 

ปัญหาของนักปฏิบัติอยู่ที่การไม่มีสมาธิ ถ้าได้สมาธิแล้วการปฏิบัติจะก้าวหน้า ที่ปฏิบัติไปไม่ถึงไหนกันก็เพราะไม่มีสมาธิ เหมือนกับนักรบที่ไม่มีเสบียง ออกรบได้วัน ๒ วันก็หมดแรงแล้ว นักปฏิบัติถ้าใจไม่มีความสุขจะปฏิบัติไม่ได้ จะหวนกลับไปหารูปเสียงกลิ่นรส หาความสุขจากคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะไม่มีความสุขภายในใจ แต่ถ้าทำใจให้สงบได้แล้ว จะมีความสุขหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่หิวกับความสุขอื่นๆ จะภาวนาได้อย่างสบาย ความสงบคือเสบียงที่เราต้องสะสม ต้องนั่งสมาธิให้มากๆ จะนั่งสมาธิได้ก็ต้องเจริญสติให้มากๆ ต้องหาอุบายเสริม อดข้าวบ้าง ปลีกวิเวก ไปอยู่ไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส จากเรื่องราวต่างๆ เพื่อทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้วมีความสุขแล้ว ก็จะไม่อยากจะกลับไปหาใคร อยากจะเข้าข้างใน อยากให้สงบนานขึ้น จาก ๑๐ นาทีเป็น ๓๐ นาที จาก ๓๐ นาทีเป็นชั่วโมง ออกจากสมาธิมาแล้วก็อยากจะให้สงบต่อ ก็จะใช้ปัญญารักษาต่อไป จนในที่สุดจะสงบทั้งขณะที่นั่งและไม่นั่ง ถ้ามีปัญญาแล้วไม่ต้องนั่งก็สงบได้ เพราะความไม่สงบเกิดจากตัณหา เกิดจากความอยาก พอมีปัญญาก็ตัดความอยากได้ ปัญญาจะบอกว่าสิ่งที่อยากเป็นความทุกข์ อย่าไปอยาก พอไม่อยากก็จะไม่ทุกข์ จะสุขขึ้นมา ตอนนี้เราอยากให้เขาไม่ตาย ไม่ทรมาน ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาว่า เขาเป็นอย่างนี้ เราไปเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ เราไปอยากให้ทุกข์ใจเราทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

ถาม  เห็นเขาเจ็บแล้วก็สงสารค่ะ

 

ตอบ สงสารได้แต่อย่าไปทุกข์ สงสารก็เรื่องของสงสาร แต่อย่าอยากให้เขาหาย ไม่ให้เขาทรมาน จะทำให้เราไม่สบายใจ ต้องหยุดความอยาก ต้องยอมรับว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครช่วยเขาได้ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงสภาพที่เขาเป็นอยู่ในขณะนี้ได้

 

ถาม  เวลาทำบุญ ลูกก็อุทิศส่วนกุศลไปให้เขา

 

ตอบ อุทิศให้เขาไม่ได้หรอก อุทิศได้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น พวกที่เป็นขอทานทางจิตวิญญาณ พวกที่ไม่มีบุญ ไม่มีเสบียงอาหารติดตัวไป เป็นขอทานคอยรับส่วนบุญ เป็นบุญเพียงนิดเดียว เป็นเหมือนอาหารมื้อหนึ่ง พอประทังความหิวไปได้หน่อย บุญต้องทำเอง ต้องทำใจเอง ต้องฝึกนั่งสมาธิ เวลาเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป อย่าไปเกลียดอย่าไปอยากให้ความเจ็บหาย จะได้ไม่ทรมานใจ ถ้ารักความเจ็บจะมีความสุขใจ เวลาได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก จะมีความสุขใจ ถ้าชอบพริกเวลากินพริกจะไม่ทุกข์ ถ้าไม่ชอบพริกเวลากินพริกจะทุกข์ ถ้ารู้ว่าร่างกายต้องเจ็บ ทำไมไม่หัดชอบความเจ็บไว้ล่วงหน้า ซ้อมไว้ก่อน เวลาเจ็บจะได้มีความสุข จะได้ไม่ทุกข์ เช่นเดียวกับความตาย ต้องชอบความตาย เพราะต้องเจอสักวันหนึ่ง เวลาได้พบกับสิ่งที่เราชอบจะดีใจสุขใจ ทำไมพระจึงชอบไปหาเสือ จะได้หัดชอบความตาย พอชอบแล้วความตายก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ชอบความเจ็บแล้ว ความเจ็บก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ทำแทนกันไม่ได้ ถ้าเขาไม่ชอบความเจ็บความตาย เขาก็ต้องทรมานใจ ถ้าชอบก็จะมีความสุข อย่างเวลาครูบาอาจารย์มรณภาพ เราทุกข์แทนท่าน แต่เราไม่รู้ว่าท่านไม่ทุกข์เลย ท่านสบาย

 

เป็นสิ่งที่เราฝึกทำกันได้ แต่เราไม่ทำกัน เพราะเกลียดความเจ็บฝังอยู่ในกระดูกเลย พอเจ็บนิดเดียวก็ถอยแล้ว ไม่กล้าเผชิญ หัดเผชิญดู เวลาเจ็บก็อย่าลุก พุทโธๆให้ถี่ ปล่อยให้เจ็บไป เวลาใจมีอะไรทำ ความเจ็บจะไม่มารบกวนใจ เหมือนเวลาดูหนังนี่ ปวดฉี่ก็ยังทนนั่งดูได้  เพราะมีหนังให้ดู ก็เลยไม่ทรมานใจ พยายามฝึกใจให้เป็นกลางให้ได้ ด้วยการชอบในสิ่งที่ไม่ชอบ เกลียดในสิ่งที่ชอบ ใจจะได้อยู่ตรงกลางได้ ถ้าอยากจะนั่งให้สงบต้องเจริญสติไปก่อน ตื่นขึ้นมาก็พุทโธๆไปภายในใจ อย่าไปคิดอะไร นอกจากเรื่องที่จำเป็นต้องคิด เช่นคิดว่าวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง เสร็จแล้วก็กลับมาบริกรรมพุทโธต่อ อาบน้ำก็พุทโธๆไป แต่งตัวก็พุทโธๆไป ให้มีพุทโธอยู่ในใจทั้งวัน เวลานั่งสมาธิจะสงบง่าย

 

ถาม  เวลาทำกิจต่างๆก็พอทำได้ แต่เวลานั่งจะทำไม่ได้

 

ตอบ ถ้าบริกรรมพุทโธได้ทั้งวัน เวลานั่งจะทำได้ ขอให้มีพุทโธอยู่ในใจไปทั้งวันก่อน แล้วจะสงบได้ ถ้าไม่คิดอะไรก็ให้รู้เฉยๆ ให้รู้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ เช่นกำลังอ่านหนังสือ ก็ให้อยู่กับการอ่านหนังสืออย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอื่น รับประทานอาหาร ก็ให้อยู่กับการรับประทานอาหารอย่างเดียว กำลังทำอะไรก็ให้อยู่กับงานนั้น ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น เวลานั่งจะสงบได้ ถ้าทำอะไรแล้วคิดไปด้วย เวลานั่งสมาธิก็จะเป็นแบบเดียวกัน จะไม่หยุดคิด ถ้าไม่หยุดคิดก็จะสงบไม่ได้ ต้องหยุดความคิดให้ได้ก่อนที่จะนั่ง ต้องตัดกำลังของความคิดไปทั้งวัน เป็นเหมือนกับสิ่งที่ขวางถนนเพื่อกันไม่ให้รถวิ่งเร็ว เวลาวิ่งมาเร็วๆ พอถึงที่กั้นขวางถนน ก็ต้องชะลอ ถ้าไม่ชะลอรถก็จะพัง เราก็ต้องพุทโธๆไปเรื่อยๆ จะได้ชะลอความคิด เวลานั่งสมาธิก็จะสงบง่าย เพราะสติเป็นตัวที่จะทำให้ใจเข้าสู่ความสงบได้ ก่อนจะเดินได้ ต้องยืนให้ได้ก่อน การยืนเป็นเหมือนการเจริญสติ การเดินเป็นเหมือนการทำสมาธิ ส่วนการวิ่งเป็นเหมือนการเจริญปัญญา ตอนนี้กำลังคลานอยู่ จะลุกขึ้นมาเดินมาวิ่งเลยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมายืนก่อน พอยืนได้แล้ว ก็จะเดินได้ ตอนนี้ต้องฝึกสติให้มากๆ พุทโธๆไปทั้งวันเลย ให้ใจอยู่กับปัจจุบันทั้งวันเลย อย่าไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่ในปัจจุบัน อดีตไม่ไป อนาคตไม่ไป ให้อยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ เวลานั่งจะให้อยู่กับลมก็จะอยู่กับลม ให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ จะไม่คิดอะไร

 

ถาม  การปฏิบัติบางช่วงมีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา ไม่ต้องกังวลกับผลใช่ไหมคะ

 

ตอบ ผลเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับไปก่อน ต้องมาแก้ที่เหตุ ที่เสื่อมเพราะเหตุเสื่อม เหตุน้อยลงก็เลยเสื่อม ต้องเพิ่มเหตุให้มีมากขึ้น

 

ถาม  จะไปอยู่วัดค่ะ เวลากลัวนี้ ควรจะอยู่กับพุทโธ หรือควรจะดูความกลัว

 

ตอบ  แล้วแต่เรา ถ้าจะดูความกลัวก็ต้องพิจารณาว่ากลัวอะไร

 

ถาม  กำหนดดูจิตที่กลัวใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถามว่ากลัวอะไร กลัวตายหรือ ร่างกายไม่ตายหรือ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาได้ก็พิจารณาไป ถ้าพิจารณาไม่ได้ กลัวมากๆก็พุทโธๆไป

 

ถาม  บางครั้งขณะที่ใจสบายๆ จะมีภาพบางอย่างเกิดขึ้นในใจ เป็นภาพที่ชัดเจนมาก แล้วต่อมาไม่นานภาพเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริง เราจะพิจารณาภาพนั้นอย่างไร เพื่อให้ธรรมเจริญขึ้น

 

ตอบ ถ้าภาพไม่เกี่ยวกับไตรลักษณ์ ก็จะไม่ทำให้ธรรมเจริญขึ้น ไม่เป็นประโยชน์กับการดับทุกข์ ถ้าเห็นภาพเรานอนตายอย่างนี้ ก็จะเกี่ยวกับไตรลักษณ์ เราก็เอาภาพนั้นมาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ว่าเราต้องนอนตายอย่างแน่นอน จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับความจริงนี้ ต้องซ้อมไว้ก่อน

 

ถาม  ถ้าเป็นภาพเกี่ยวกับโลกๆละคะ

 

ตอบ  ก็อย่าไปสนใจ เพราะจะทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา ไม่ได้ทำให้ปล่อยวาง ไม่ได้ดับความอยากต่างๆ

 

ถาม  แต่ภาพตรงนั้นมีประโยชน์ตรงที่ว่า เราสามารถรู้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้

 

ตอบ  พวกเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ในอนาคตต้องตายด้วยกันทุกคน ไม่ต้องรู้อะไรมากไปกว่านี้เลย ไม่มีอะไรสำคัญกว่านี้ น้ำจะท่วมพายุจะมาหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะอย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี น้ำไม่ท่วมก็ต้องตาย น้ำท่วมก็ต้องตาย พายุจะมาหรือไม่มาก็ต้องตายเหมือนกัน ให้รู้ความตายอย่างเดียวก็พอ

 

ถาม  บางทีเดินสวนกับคนอายุแค่ ๓๐ ปี ก็รู้ว่าคนนี้ใกล้จะตายแล้วนะ ไม่นานก็ตายจริงๆ

 

ตอบ  ตายก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ทำไมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะตายบ้าง

 

ถาม  หนูรู้คนอื่นแต่หนูไม่รู้ตัวหนูเอง มันน่าโมโห

 

ตอบ  ถามตัวเองดูซิ  

 

ถาม  ถามได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ถามได้

 

ถาม  เคยบอกอยู่

 

ตอบ คนอื่นตายไม่สำคัญเท่ากับเราตาย

 

ถาม  มีความรู้สึกว่า อีกนานกว่าจะตาย ยังประมาทอยู่หรือเปล่าอย่างนี้

 

ตอบ จะนานไม่นานไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ปลงได้หรือไม่ ยอมรับความตายได้หรือไม่ ต้องเอาตรงนั้น

 

ถาม  พยายามบอกตัวเองเสมอเวลาออกจากบ้าน ว่าเราอาจจะไม่ได้กลับมา อาจจะตายก็ได้

 

ตอบ  พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้ระลึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก อาจจะตายตอนนี้ก็ได้ พร้อมหรือยัง ปัญหาอยู่ที่ว่าพร้อมหรือยัง ปล่อยให้ร่างกายตายไปเมื่อถึงเวลาได้หรือไม่ จะทุกข์หรือไม่ นี่คือโจทย์ของเรา

 

ถาม  โจทย์ตรงนี้ บางครั้งรู้สึกว่าจะทำได้ค่ะ แต่ถึงเวลาตรงนั้นจริงๆก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่

 

ตอบ ต้องไปทดสอบดู ไปเข้าสนามสอบ พระที่ไปอยู่ในป่าไปเดินหาเสือกันนี้ ท่านไปทดสอบดูว่าท่านทำได้หรือไม่ อย่าไปสนใจกับสิ่งที่เห็นในสมาธิเลย ถ้าไม่เกี่ยวกับไตรลักษณ์ ไม่เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เห็นของสวยของงามก็จะเกิดความอยากได้ขึ้นมา เห็นของไม่สวยไม่งามก็จะเกิดความเกลียดความชังขึ้นมา เห็นความเสื่อมดีกว่า เห็นว่าทุกอย่างจะต้องเสื่อมหมดไป เช่นเห็นกรุงเทพฯน้ำท่วมหมดเลย อยู่ไม่ได้ ต้องอพยพกันหมดเลย เห็นอย่างนี้ดีกว่า จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์

 

นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ เพื่อให้ใจเฉยกับทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ใจเป็นกลาง ไม่รักไม่ชัง ไม่กลัวไม่หลง ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าทำให้ดีได้ก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ เช่นร่างกายเรา เวลาไม่สบายรักษาได้ก็รักษาไป แต่ใจต้องเป็นกลาง หายก็ได้ ไม่หายก็ได้ อย่างนี้ถึงจะเป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ถ้าทุกข์กับการรักษา แสดงว่ายังไม่ปล่อยวาง ยังอยากจะให้หายอยู่ ต้องไม่ทุกข์ รักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ มีคนถามว่า ถ้ารักษาแสดงว่ายังยึดติดกับร่างกาย ก็ไม่แน่เสมอไป คนที่รักษาแต่ไม่ยึดติดก็มี เช่นครูบาอาจารย์ ท่านก็รักษาร่างกายของท่าน เมื่อท่านเห็นว่ายังรักษาได้ ท่านก็รักษาไป แต่ใจของท่านไม่ได้ทุกข์ จะรักษาหรือไม่รักษา ใจท่านก็ไม่ทุกข์ ถ้าไม่แน่ใจว่าปล่อยได้หรือไม่ ก็ให้ดูที่ใจว่าทุกข์หรือไม่ ถ้าทุกข์แสดงว่ายังอยากให้หาย ยังไม่อยากตาย ยังไม่ปล่อย

 

ถาม  กิเลสมันหลอกเรา ให้ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้

 

ตอบ  เพราะไม่มีสติไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา จึงหยุดห่วงไม่ได้ ไม่ฝึกสติกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด เป็นพ่อแม่ของธรรมทั้งหลาย เป็นพ่อแม่ของสมาธิ ของปัญญา ของวิมุตติ ของมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่มีสติ สมาธิจะไม่เกิด ไม่มีสมาธิ ปัญญาจะตัดกิเลสไม่ได้ ถ้าปัญญาตัดกิเลสไม่ได้ วิมุตติก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา ต้องเริ่มที่ ก.ไก่ ข.ไข่ ก่อน

 

ชอบข้ามขั้นกัน ชอบไปขั้นปัญญา พอถึงเวลาก็ใช้ปัญญาตัดกิเลสไม่ได้ ปัญญาตอนนี้เป็นเหมือนมีดที่ยังไม่ได้ลับ ยังไม่คม ฟันอะไรก็ไม่ขาด ต้องลับก่อน ต้องเข้าสมาธิก่อน เพื่อลับปัญญาให้แหลมคม พอมีสมาธิแล้ว เวลาปัญญาว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นกิเลส ก็จะฟันขาดเลย เพราะเห็นว่ากิเลสทำให้ทุกข์ แล้วจะเก็บไว้ทำไม พออยากปั๊บใจก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที จะเห็นทันทีถ้าใจสงบ ทุกข์จะกระเพื่อมขึ้นมา เหมือนปลาที่ผุดขึ้นมาจากในน้ำที่นิ่ง ถ้าน้ำไม่นิ่งมีคลื่นมาก ปลาผุดขึ้นมาก็จะไม่เห็น จะแยกแยะไม่ออก ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส จะเห็นผิดเป็นชอบเห็นกิเลสว่าเป็นธรรม เห็นว่าความอยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เลยอยากกันใหญ่ พออยากแล้วก็ทุกข์กันใหญ่

 

ต้องเริ่มต้นที่สติ เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ของการปฏิบัติ เจริญสติตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับเลย ด้วยการดึงใจให้อยู่กับเนื้อกับตัวก็ได้ ให้อยู่กับพุทโธก็ได้ ถ้าอยู่กับเนื้อกับตัวก็ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังอาบน้ำก็ให้รู้ว่ากำลังอาบน้ำ กำลังรับประทานอาหาร ก็ให้รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร เวลาพระฉันจะไม่คุยกัน ถ้าคุยกันแสดงว่าไม่ได้อยู่กับการฉัน แสดงว่าไม่มีสติแล้ว พอนั่งสมาธิให้ดูลม ก็ดูได้ ๒ วินาที ก็ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ใจจึงไม่สงบ ถ้าให้ดูลมแล้วอยู่กับลมได้อย่างต่อเนื่อง เพียง ๕ นาทีก็สงบได้ ต้องเจริญสติให้ได้ ถ้ามีสติแล้วสมาธิก็จะตามมา พอมีสมาธิแล้ว ปัญญาก็จะตัดกิเลสได้ ก็จะบรรลุธรรมขั้นต่างๆได้อย่างรวดเร็ว