กัณฑ์ที่ ๔๔๐       ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕

 

ทำใจให้สงบ

 

 

ถ้าใจสงบปัญหาภายนอกจะไม่เป็นปัญหา ถ้าใจไม่สงบก็จะเป็นปัญหา เช่นจะยึดติดกับการกินอยู่แบบเดิมๆ เคยสุขเคยสบายอย่างไรก็จะยึดติด ถ้าใจสงบจะตัดได้ จะสละความสุขแบบเดิมๆได้ เพื่อแลกกับสถานที่ที่สงบ เพราะใจที่สงบจะชอบสถานที่ที่สงบ จะไม่ชอบแสงสีเสียง จึงควรพยายามทำใจให้สงบให้ได้ ยิ่งสงบก็ยิ่งอยู่ง่าย อยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นสถานที่ที่สงบ สถานที่ที่มีคนมีเรื่องวุ่นวายจะไม่ชอบอยู่ เพราะจะทำลายความสงบ ใจสงบก็เป็นเหมือนน้ำในสระที่นิ่ง ถ้าไปตักน้ำหรือโยนก้อนหินลงไปในน้ำ น้ำก็จะกระเพื่อม ถ้ามีรูปเสียงกลิ่นรสมากระทบ ใจที่สงบก็จะกระเพื่อมขึ้นมา เพราะยังไม่ได้กำจัดตัวที่ทำให้ใจกระเพื่อม ความจริงรูปเสียงกลิ่นรสไม่ได้ทำให้ใจกระเพื่อม เป็นเพียงชนวน ตัวที่ทำให้ใจกระเพื่อมก็คือกิเลส ตัวโลภโกรธหลง ถ้าไม่มีกิเลสแล้วใจจะไม่กระเพื่อม ไม่ว่าจะสัมผัสรับรู้เรื่องอะไร รูปเสียงกลิ่นรสอะไร จะรับรู้เฉยๆ สำหรับใจที่ยังมีกิเลส เวลาสงบกิเลสจะถูกกดไว้ไม่ให้ทำงาน  แต่พอออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรส มาคิดปรุงแต่ง กิเลสก็จะออกมาแสดงปฏิกิริยาต่อรูปเสียงกลิ่นรส ทำให้ใจกระเพื่อม

 

ความสงบนี้สำคัญมาก ถ้าไม่สงบจะไม่เห็นกิเลส ถ้ามีความสงบ พอไปสัมผัสรับรู้อะไร แล้วใจกระเพื่อมขึ้นมา ก็จะรู้ทันทีว่ากิเลสโผล่ออกมาแล้ว ถ้าไม่กระเพื่อมก็จะรู้ว่ากิเลสไม่ได้ออกมา ใจจะกระเพื่อมถ้ามีความอยากกับสิ่งที่สัมผัสรับรู้ ถ้าไม่มีความอยากก็จะไม่กระเพื่อม ความกระเพื่อมก็คือความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความอยากนี่เอง ความทุกข์ใจมีหลายระดับ ระดับของใจที่ไม่สงบต้องกระเพื่อมแรง หน้าดำคร่ำเครียดร้องห่มร้องไห้ ถึงจะเห็นว่าใจทุกข์ สำหรับใจที่สงบ เพียงแต่คิด เพียงแต่อยากเท่านั้นเอง ก็จะเห็นว่าใจทุกข์แล้ว ถ้าไม่สงบเวลาเกิดความอยากจะไม่รู้ว่ากำลังทุกข์ กำลังกระสับกระส่ายกระวนกระวาย วิตกกังวลแล้ว จะต้องพยายามเอาให้ได้ เพื่อจะได้ดับความรู้สึกเหล่านี้ไป อยากจะได้ตำแหน่งอยากจะได้อะไร ถ้ามีอุปสรรคก็ต้องหาวิธีต่างๆมาแก้ เพื่อให้ได้ตามใจอยาก ไม่รู้ว่าต้นเหตุของความทุกข์ อยู่ที่ความอยากของตน

 

ถ้ามีสมาธิมีความสงบแล้ว พอออกจากความสงบมารับรู้เรื่องต่างๆ แล้วใจเกิดความอยากขึ้นมา ก็จะเห็นเลยว่ากำลังทุกข์เพราะความอยาก ถ้าดูที่ใจ ถ้าไม่ดูที่ใจก็จะไม่เห็น ถ้าใจสงบจะต้องเห็น เพราะจะมีสติอยู่กับใจ และอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสด้วย เวลาเห็นอะไรก็รู้ว่าเห็น พอใจกระเพื่อมก็จะรู้ว่ากระเพื่อม ถ้ามีปัญญาจะรู้ว่า การกระเพื่อมของใจ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย คือความอยาก ถ้าพิจารณาก็จะรู้ว่ากำลังอยากกับอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าอยากจะหยุดความทุกข์ หยุดความกระเพื่อมของใจ ก็ต้องใช้มรรคคือสติปัญญา ต้องพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ในสิ่งที่อยาก เห็นว่าถ้าอยากแล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะทุกข์ ถ้าได้ดังใจก็จะหายทุกข์เพียงเดี๋ยวเดียว พออยากใหม่ก็จะทุกข์อีก เวลาใจหงุดหงิดรำคาญใจ อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็ต้องใช้มรรค คือสติปัญญาพิจารณา ว่าสิ่งที่เราอยากนั้นเป็นไตรลักษณ์ ไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้เสมอไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง สู้อย่าไปสั่งดีกว่า สู้อย่าไปอยากดีกว่า เขาจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา ปล่อยให้เขาเป็นไป ใจก็จะหายกระเพื่อม นี่แหละคือหน้าที่ของปัญญา หลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว ปัญญาต้องคอยทำหน้าที่ แก้การกระเพื่อมของใจ ถ้าไม่กระเพื่อม ก็พิจารณาไตรลักษณ์ในเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไป เช่นความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน ถ้ามีกามารมณ์มารบกวนก็ต้องพิจารณาอสุภะ

 

ปัญญาทำ ๒ หน้าที่คือ แก้ปัญหาในปัจจุบันและในอนาคต ถ้าใจกระเพื่อม ไม่สบายใจกับเรื่องอะไร ก็ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ดู ว่ากำลังอยากกับเรื่องอะไร แล้วก็พิจารณาเรื่องนั้นจนเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาสั่งไม่ได้ เป็นทุกข์ถ้าอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกข์ก็คือการกระเพื่อมของใจนี่เอง เพราะไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา จึงอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอรู้ว่าเป็นอนิจจัง เป็นได้บางครั้งบางคราว เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้เสมอไป ก็จะไม่อยาก จะปล่อยวาง เขาจะพูดจะทำอะไรก็ปล่อยเขาไป ใจก็จะสงบ ไม่กระเพื่อม จะปล่อยวางได้ ต้องเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา ในเรื่องที่อยาก เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก พอเห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ก็จะหยุดอยาก ทุกข์ก็จะหายไป นี่คือเรื่องของการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ความจริงในไตรลักษณ์นี้แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ทุกข์ที่เกิดจากความอยากนี้อยู่ที่ใจ ส่วนอนิจจังอนัตตานี้ เป็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ เช่นร่างกายของพวกเรา เป็นอนิจจัง เกิดแล้วก็ต้องตาย เป็นอนัตตา ห้ามไม่ให้ตายไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ใจเราทุกข์เพราะอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

 

ถ้าได้สมาธิแล้ว ชำนาญในการเข้าออกสมาธิแล้ว ก็ต้องออกทางปัญญา ถ้าไม่ออกก็จะถือว่าติดสมาธิ การปฏิบัติจะไม่คืบหน้า เช่นเวลาออกจากสมาธิมาก็พุทโธๆไป ควบคุมใจต่อไปด้วยสติ การเจริญสตินี้ไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญา สติจะระงับการกระเพื่อมได้ชั่วคราว เช่นเวลาใจกระเพื่อม ก็พุทโธๆไป ไม่สนใจไม่รับรู้เรื่องที่กำลังเกิดขึ้น ก็จะหายกระเพื่อมได้ แต่ไม่หายถาวร เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ราก คือความหลงหรืออวิชชา ที่ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา ในสภาวธรรมทั้งหลาย เช่นลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ความจริงการติดสมาธิ ก็ไม่เสียหายอะไร เพียงแต่ว่าไม่ก้าวหน้า ติดสมาธิตอนที่ได้สมาธิใหม่ๆก็ดี เพราะควรฝึกให้ชำนาญก่อน เข้าออกได้ทุกเวลา อยากจะเข้าสมาธิเมื่อไหร่ก็เข้าได้ ถ้ายังไม่ได้ออกไปทางปัญญา เพราะยังไม่ชำนาญทางสมาธิ ไม่ถือว่าติดสมาธิ ต้องทำจิตให้จิตมั่นคงเหมือนกับหินก่อน พอออกพิจารณาทางปัญญา จะได้พิจารณาเป็นกอบเป็นกำ ไม่ถูกกิเลสมาฉุดลากไป ถ้าสมาธิเป็นแบบเสาปักอยู่ในโคลน ก็จะโยกเยก พิจารณาได้แป๊บเดียว ก็จะถูกกิเลสดึงไป เพราะสมาธิยังไม่ลึกยังไม่แน่น จะพิจารณาไม่ได้นาน ไม่ได้เหตุได้ผล จะกลายเป็นความฟุ้งซ่านไป ถ้าสมาธิหนักแน่นมั่นคง ก็จะพิจารณาไตรลักษณ์ให้ฝังอยู่ในใจ ให้ติดเป็นนิสัยได้ เวลาเกิดความทุกข์ใจ ก็จะงัดออกมาใช้ได้เลย เป็นเหมือนยา การพิจารณาไตรลักษณ์เป็นการสะสมยา คือธรรมโอสถชนิดต่างๆไว้ในใจ เวลาไม่สบายใจจะได้เอายาออกมาใช้ได้เลย เวลาเห็นอะไรแล้วอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะบอกว่าเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา สั่งเขาไม่ได้ เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้

 

จึงต้องทำสมาธิให้ชำนาญ ทำจิตให้แน่นก่อน ให้สงบได้นาน นั่งสมาธิได้เป็นชั่วโมง ก็จะพิจารณาทางปัญญาได้ ถ้าไม่ได้ศึกษามาก่อน ก็จะติดสมาธิได้ เพราะมีความสุข เวลาออกมาจะไม่อยากพิจารณา จะเจริญสติต่อ เช่นบริกรรมพุทโธๆไป ไม่ให้คิดปรุงแต่ง ใจก็จะไม่กระเพื่อม ก็จะติดอยู่ตรงนี้ จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าใช้ปัญญาแก้การกระเพื่อมได้ ใจจะไม่กระเพื่อมกับเรื่องนั้นอีกต่อไป เพราะจะไม่อยากกับเรื่องนั้น เพราะรู้แล้วว่าความอยากเป็นผู้สร้างความทุกข์ สิ่งที่อยากก็ไม่สามารถสั่งเขาได้ อย่าไปสั่งดีกว่า เหมือนกับเราไม่สั่งเรื่องฝนฟ้าอากาศ สั่งพระอาทิตย์พระจันทร์ เขาจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา เช่นเดียวกันกับคนกับข้าวของต่างๆ เราสั่งเขาไม่ได้ แต่เราสั่งใจเราได้ หยุดความอยากเราได้ อย่าไปสั่งเขา เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา ใจของเราก็จะสบาย นี่คือการเจริญปัญญาหลังจากที่ออกมาจากสมาธิแล้ว

 

ถ้าเกิดเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน ใจกระเพื่อมกับเรื่องใดก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาแก้ ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ก็จะปล่อยวางได้ ให้เห็นว่าเป็นของชั่วคราว เดี๋ยวก็ผ่านไป เหมือนกับฟองน้ำ โผล่มาปั๊บเดียวแล้วก็แตกไป ใจก็จะสงบได้ จะไม่ทุกข์กับเรื่องที่สัมผัสรับรู้ ถ้าไม่มีเรื่องมาก่อกวนทำให้ใจกระเพื่อม ก็ต้องพิจารณาเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่นเรื่องแก่เจ็บตาย เรื่องกามารมณ์ ถ้าอยากจะรู้ว่ามีกามารมณ์หรือไม่ ก็ลองนึกถึงภาพหรือเรื่องราวที่ทำให้เกิดกามารมณ์ดู ถ้าเกิดก็ต้องพิจารณาอสุภะเพื่อดับกามารมณ์  ถ้าเห็นอสุภะเห็นความไม่สวยงาม ก็จะดับกามารมณ์ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระ ที่มีปัญหาเรื่องกามารมณ์ ไปดูศพของโสเภณี ที่มีชื่อเสียงว่าสวยงามมาก พอดีเขาตายไป ก็ให้ไปดูของจริง ไปดูคนที่สวยเวลาตายไปแล้วเป็นอย่างไร พอเห็นศพกามารมณ์ก็หายไป นี่เป็นหน้าที่ของปัญญา

 

แต่ก็ต้องมีเวลาพักผ่อน ไม่ได้เจริญปัญญาตลอดเวลา อย่างนั้นก็จะเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ ต้องทำสลับกัน เจริญปัญญาไปจนรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็ต้องหยุด กลับเข้ามาพักในสมาธิ เพราะหมดกำลัง หมดอุเบกขา กิเลสออกมาเพ่นพ่าน มาก่อกวนการพิจารณา ก็ต้องกลับเข้าไปทำใจให้สงบให้เป็นอุเบกขาใหม่ ถ้าชำนาญในสมาธิก็จะเข้าไปได้ทันทีเลย กำหนดปั๊บเดียวก็สงบ พอสงบแล้วก็ปล่อยให้สงบไปจนกว่าจะถอนออกมาเอง พอถอนออกมาแล้วก็กลับมาพิจารณาใหม่ พิจารณาเรื่องที่ยังติดอยู่ เช่นเรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องรูปเสียงกลิ่นรส เรื่องคนนั้นคนนี้ เรื่องร่างกาย เรื่องเวทนา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้จะไปด้วยกัน เราพิจารณาเวทนาตัวเดียวก็พอ เวลามีทุกขเวทนาสัญญาจะเป็นผู้บอก สังขารก็จะปรุงแต่ง อยากให้ทุกขเวทนาหายไป เราก็มาแก้ที่สังขารตัวเดียว หยุดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ไม่ต้องพิจารณาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี่เป็นทางทฤษฎี  ในทางปฏิบัติให้พิจารณาทุกขเวทนา ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อปล่อยวางความเจ็บ

 

จะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป เพราะเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ให้เจ็บไม่ได้ สั่งให้หายไม่ได้ ต้องหยุดตัณหาความอยาก ที่สังขารคิดปรุงแต่งขึ้นมา คิดอยากจะให้หาย อยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหยุดสังขาร ถ้ายังไม่มีปัญญา ก็ใช้สมาธิดับไปก่อน พุทโธๆไป เอาสังขารมาพุทโธ แทนที่จะปล่อยให้สังขารคิดอยากจะลุก อยากจะให้ความเจ็บหายไป ก็เอาสังขารมาคิดพุทโธๆไป พอความอยากที่จะให้ความเจ็บหายไปหยุดทำงาน ความทุกข์ใจก็จะหายไป ความเจ็บของร่างกายอาจจะหายไปด้วย ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร เพราะไม่รุนแรงเท่ากับความเจ็บของใจที่เกิดจากความอยาก พอความเจ็บทางใจหายไปแล้ว ก็จะนั่งต่อไปได้ เพราะใจเป็นอุเบกขาแล้ว ความเจ็บก็จะเป็นเหมือนกับยุงกัด ไม่ได้ทรมานเหมือนกับตอนที่มีความอยาก ตอนที่มีความอยากจะทรมานมาก ถ้าใช้ปัญญาไม่เป็น ก็ต้องใช้สมาธิ บริกรรมพุทโธๆไป ก็จะหยุดความอยากได้ชั่วคราว

 

ถ้าใช้ปัญญาเป็น ก็วิเคราะห์ดูให้เห็นว่า ตอนนี้เราทุกข์เพราะความอยากของเรา สิ่งที่เราอยากให้หายไปเราก็สั่งเขาไม่ได้ ต้องอยู่กับเขาไป ต้องทำใจ พอทำใจได้ก็หายทรมาน เช่นเกลียดคนนี้แต่ต้องอยู่กับเขา อยู่เพราะลูกอยู่เพราะอะไรก็แล้วแต่ จะแยกทางกันก็แยกไม่ได้ เมื่อแยกไม่ได้ก็ต้องอยู่ด้วยกันไป ถ้ายังมีความอยากจะแยกแต่แยกไม่ได้ ก็จะเครียดตลอดเวลา ถ้ายอมอยู่กับเขาก็จะไม่เครียด ต้องอยู่ด้วยกันตอนนี้ก็อยู่ไป เขากับเราไม่เที่ยง สักวันหนึ่งก็ต้องแยกกันอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว แต่ตอนนี้ยังแยกไม่ได้ก็อยู่กันไป อย่าไปอยากแยก ถ้าอยากแล้วจะทุกข์ จะทนไม่ได้ ถ้าหยุดความอยากแยกได้ ก็อยู่ด้วยกันได้ นี่คือเรื่องที่เราต้องพิจารณาด้วยปัญญา เพื่อตัดความทุกข์ความห่วงใย ถ้าทุกข์กับเรื่องเงินทองก็ต้องพิจารณาว่า อยู่แบบไม่ใช้เงินดีกว่า ถ้าใช้เงินก็จะมีปัญหาตามมา เพราะจะไม่พอใช้ พอไม่พอใช้ ก็ต้องหา หาไม่ได้ก็ทุกข์อีก ถ้าต้องใช้เงินก็ต้องรู้จักใช้เงิน ให้ใช้เท่าที่เรามี ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใช้ ถ้าจะต้องตายเพราะไม่มีเงินใช้ก็ยอมตาย เพราะร่างกายเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง ห้ามไม่ให้ตายไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตายอยู่ดี ไม่มีเงินซื้อข้าวมากินก็ตาย มีเงินซื้อข้าวมากินก็ตาย เพียงแต่ตายช้าตายเร็ว ในที่สุดก็ตายเหมือนกัน

 

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้วจะไม่มีอะไรเป็นปัญหา ใช้ไตรลักษณ์เข้าไปแก้ได้หมดเลย เรื่องเงินก็ใช้ปัญญาแก้ เรื่องร่างกายก็ใช้ปัญญาแก้ เงินก็เป็นไตรลักษณ์ ร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์ ทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์หมด ลาภยศสรรเสริญก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่ถาวร เช่นไม่ได้อยู่ตำแหน่งนี้เสมอไป อาจจะมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลง ขึ้นบ้างลงบ้าง ก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน สรรเสริญกับนินทาก็เหมือนกัน บางวันก็มีคนชม บางวันก็มีคนด่า ก็ต้องอยู่กับมันไป อย่าไปอยาก รูปเสียงกลิ่นรสก็เหมือนกัน บางวันก็สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสที่ถูกอกถูกใจ เช่นวันที่ได้ไปเที่ยวนี้จะได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสที่ถูกอกถูกใจ วันที่ต้องอยู่บ้านเพราะไม่สบายไปไหนไม่ได้ ก็จะได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็ต้องอยู่กับมันไป อย่าไปอยาก เพราะมันเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา เราไปสั่งมันไม่ได้ เปลี่ยนมันไม่ได้

 

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จะปล่อยวางได้ ทำใจให้เป็นอุเบกขากับทุกเรื่องได้ จะเป็นอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น จะเจริญลาภหรือเสื่อมลาภก็ได้ เจริญยศหรือเสื่อมยศก็ได้ สรรเสริญหรือนินทาก็ได้ สุขหรือทุกข์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสก็ได้ ร่างกายจะเป็นสภาพใดก็ได้ เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ได้ แก่ก็ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ได้ ตายก็ได้ นี่ก็คือเรื่องของการปฏิบัติ เพื่อทำให้ใจหลุดพ้นจากความทุกข์ใจ ด้วยการเจริญปัญญา ให้เห็นไตรลักษณ์ ให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นอนัตตา เราไปควบคุมบังคับสั่งการไม่ได้ ให้เห็นว่าความทุกข์เกิดจากความอยากของเรา ที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 

พยายามนั่งให้สงบให้ได้ ถ้าปฏิบัติแล้วไม่สงบ ก็ถือว่าไม่ก้าวหน้า เช่นให้ตามรู้จิตนี้ ดูไปจนตายก็ไม่สงบ ถ้าจะตามดูจิตจะต้องได้สมาธิก่อน แล้วถึงจะดูจิตได้ ดูจิตก็ดูอริยสัจ ๔ ให้ดูว่าตอนนี้ใจกำลังอยากกับเรื่องอะไร ก็ต้องหยุดมันให้ได้ หยุดด้วยปัญญา ถ้าหยุดด้วยสติ ก็จะหยุดได้ชั่วคราว พอเผลอสติก็จะอยากใหม่ พอโกรธแล้วรู้ว่าโกรธก็หยุดโกรธได้ พอเผลอสติก็กลับมาโกรธใหม่ เหมือนจับปูใส่กระด้ง ไม่มีวันที่จะหมดปัญหา ขั้นต้นนี้จึงไม่ควรดูจิต ควรหยุดความคิด หยุดจิต อย่าให้จิตคิดปรุงแต่ง ให้อยู่กับพุทโธหรือให้รู้เฉยๆ ไม่ให้คิดปรุงแต่ง เวลานั่งสมาธิถ้าจิตไม่ปรุงแต่ง ไม่ลอยไปลอยมา เช่นดูลมอย่างเดียว จิตก็จะสงบได้  เหมือนกับเวลาร้อยด้ายเข้ารูเข็ม ถ้ามือไม่นิ่ง ส่ายไปส่ายมา จะร้อยด้ายเข้าไปในรูเข็มไม่ได้ ใจถ้าไม่นิ่ง คิดไปอดีต คิดไปอนาคต ไม่อยู่ปัจจุบัน จะสงบไม่ได้ ใจต้องอยู่ในปัจจุบันถึงจะสงบได้

 

ถ้าใจไม่สงบก็จะไม่ก้าวหน้า จะไปไม่ถึงไหน วนเวียนอยู่ที่เดิม เหมือนจับปูใส่กระด้ง จับตัวนี้เข้าไป ตัวนั้นก็ออกมา เช่นตามรู้จิต เวลาเห็นขวดเป๊บซี่ก็อยากดื่ม เห็นโทรทัศน์ก็อยากดู ต้องตามจับกันไปเรื่อยๆ ถ้าจิตสงบแล้วจะไม่อยาก เพราะความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ ดีกว่าความสุขของตู้เย็นของโทรทัศน์ ของรูปเสียงกลิ่นรส ถึงแม้ยังมีความอยากอยู่ ถ้ามีสมาธิจะต้านความอยากได้ พอใช้ปัญญาพิจารณา ก็จะเห็นว่านั่งสมาธิจะสุขกว่า อย่าไปอยากดีกว่า อยากแล้วทุกข์ ได้ความสุขเดี๋ยวเดียว ต้องหาใหม่อยู่เรื่อยๆ นั่งสมาธิดีกว่า เช่นอยากจะเปิดทีวีก็นั่งสมาธิแทน ถ้าจะหยุดความอยากอย่างถาวร ก็ต้องออกทางปัญญา ไม่อย่างนั้นความอยากจะไม่หมด เช่นอยากในกามารมณ์ ก็ต้องพิจารณาคนที่เราอยากร่วมเพศด้วย ว่าเป็นเหมือนซากศพ ต้องเห็นอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย อย่าเห็นแต่ภายนอก ต้องเห็นโครงกระดูก พวกเรากลัวผีกันไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมนอนกับผีได้ นอนกับผีทุกคืน ผีแบบนี้ไม่กลัวกัน เพราะไม่มองเข้าไปข้างใน มองแต่ข้างนอก มองแต่ที่ผิวหนัง ไม่มองส่วนที่ผิวหนังหุ้มห่ออยู่ เช่นมองแต่หน้าตา ไม่มองกะโหลกศีรษะที่อยู่ใต้ผิวหน้า ไม่เห็นกะโหลกศีรษะ ไม่เห็นโครงกระดูกกัน ถ้าร่างกายไม่มีโครงกระดูก ร่างกายจะเป็นเหมือนแมงกะพรุน

 

พิจารณาบ่อยๆแล้วจะเห็นเอง เหมือนกับการท่องสูตรคูณ ท่องบ่อยๆพอนึกปั๊บก็จะได้คำตอบทันที เช่น ๘ คูณ ๘ เท่าไหร่ จะได้คำตอบทันที ต่อไปเวลามองใครแล้วเกิดกามารมณ์ ก็จะมองทะลุหนังเข้าไป ก็จะดับกามารมณ์ได้ ต้องพิจารณาจนเป็นสัญชาตญาณ เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกนึกคิด เวลามองใครก็มองทั้งข้างนอกทั้งข้างใน มองทั้งตอนที่มีชีวิตอยู่และตอนที่ตายไปแล้ว อยู่ที่การฝึกพิจารณาอยู่เรื่อยๆ นึกถึงภาพอสุภะอยู่เรื่อยๆ จะทำไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิ เพราะกิเลสไม่ชอบ กิเลสจะต่อต้าน กิเลสจะทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา หดหู่ขยะแขยง เบื่อหน่าย ไม่อยากจะพิจารณา ถ้าใจมีความสงบแล้วอารมณ์ต่างๆจะไม่เกิด เพราะถูกสมาธิกดเอาไว้ ใจเป็นอุเบกขา พิจารณาก็จะไม่มีอารมณ์ พอพิจารณาไปสักระยะ อุเบกขาก็จะค่อยอ่อนกำลังลงไป ถ้าเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมาก็ต้องหยุดพิจารณา แล้วก็กลับเข้าไปทำสมาธิใหม่

 

พอเข้าขั้นปัญญาแล้ว ต้องทำสลับกันระหว่างสมาธิกับปัญญา พิจารณาจนเกิดอารมณ์ก็หยุด กลับเข้าไปพักในสมาธิจนสบายอิ่มแล้ว เป็นอุเบกขาแล้ว จิตจะถอนออกมาเอง พอออกมาก็พิจารณาเรื่องนั้นต่อ พิจารณาไปเรื่อยๆจนเอามาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าคิดว่าเจริญอสุภะได้แล้ว ก็ลองทดสอบดู ให้นึกถึงภาพสวยๆงามๆ ดูว่าจะเกิดกามารมณ์หรือไม่ ถ้าเกิดแล้วเอาอสุภะมาดับได้หรือไม่ ถ้าคิดถึงสุภะปั๊บอสุภะก็โผล่มา ต่อไปก็จะไม่คิด มีกำลังเท่ากัน เมื่อก่อนมีแต่สุภะอย่างเดียว ไม่มีอสุภะขึ้นมาต้านเลย คนเราถึงต้องแต่งงานกัน เวลาไม่เจอกันก็นึกถึงแต่หน้าแต่ตากัน ไม่เห็นอสุภะของกันเลย ถ้าเห็นอสุภะก็คงจะไม่แต่งกัน ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะเวลาที่ไม่ปฏิบัติก็จะเป็นเวลาของกิเลสทันที ถ้าเราไม่เจริญสติไม่นั่งสมาธิไม่พิจารณาปัญญา ก็จะไปทางอวิชชา ปัจจยา สังขาราทันที

 

ถาม  บางทีเราไม่ตั้งใจพิจารณา ก็ขึ้นมาเอง

 

ตอบ  ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นมาก็ขึ้นมา

 

ถาม  เหมือนอย่างเวลาถูบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ปรากฏขึ้นมาเองว่า นี่ไม่ใช่บ้าน เป็นอิฐเป็นหิน ไม่ใช่ของเรา เดิมเป็นของแม่ พอแม่ตายไป ก็สมมุติว่าเป็นของเรา ปรากฏขึ้นเองเจ้าค่ะ

 

ตอบ  ถ้าปรากฏขึ้นมาตอนที่ไม่มีปัญหา ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องปรากฏตอนที่มีปัญหา ถึงจะได้ประโยชน์ เช่นตอนที่ธนาคารจะมายึดบ้าน

 

ถาม  เหมือนซ้อมไปเรื่อยๆใช่ไหม

 

ตอบ  ซ้อมไปเรื่อยๆ พอเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมา จะได้ไม่ทุกข์ เช่นเวลาไฟไหม้บ้าน ก็คิดว่าไม่ใช่บ้านของเรา

 

ถาม  หมายความว่าอยู่ในสนามสอบใช่ไหมคะ

 

ตอบ  พิจารณาเพื่อใช้กับเหตุการณ์จริง

 

ถาม  แต่สงสัยว่าเราไม่ได้คิดอะไร ทำไมมันปรากฏขึ้นมา

 

ตอบ  เพราะมีฝังอยู่ในใจ พอใจว่างก็จะปรากฏขึ้นมา

 

ถาม  เป็นสัญญาใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าดับความทุกข์ได้ ก็เป็นปัญญา

 

ถาม  ให้เรายอมรับ

 

ตอบ  ถ้าไม่อยู่ในสนามสอบก็เป็นจินตามยปัญญา ถ้าเกิดทุกข์แล้วดับได้ก็จะเป็นภาวนามยปัญญา เช่นเวลาถูกด่า ก็พิจารณาว่าเป็นเสียงนกเสียงกา เสียงลมพัด     ถ้าถูกด่าแล้วไม่ทุกข์ แสดงว่ามีปัญญา ถ้ายังทุกข์อยู่ แสดงว่ายังหลงอยู่ ยังอยากไม่ให้เขาด่า

 

ถาม  ตอนหลังนี้จะทุกข์น้อยลง

 

ตอบ  ต้องไม่ทุกข์เลย

 

ถาม  ต้องพิจารณาซ้ำๆจนปล่อยวางได้

 

ตอบ  ต้องตัดให้ขาด เหมือนฟันไม้ ฟันไปครั้งสองครั้งยังไม่ขาด ก็ต้องฟันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขาด พอขาดแล้วก็ไม่ต้องฟัน  

 

ถาม  ต้องตัดออกไปทีละเรื่อง พอออกมาจากความสงบก็ต้องพิจารณา  

 

ตอบ  ทุกข์กับเรื่องใด ก็ต้องพิจารณาเรื่องนั้น จนกว่าจะหายทุกข์

 

ถาม  การรู้สึกเฉยเมย ไม่แน่ใจว่าเป็นกิเลสอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า

 

ตอบ  ถ้าเฉยแล้วมีความสุขก็ดี ถ้าเฉยแล้วทุกข์ก็ไม่ดี

 

ถาม  เฉยแล้วเบา ไม่สนใจใคร

       

ตอบ  ไม่สนใจใครก็ดี แต่ต้องไม่ละเลยหน้าที่ ต้องทำตามหน้าที่

       

ถาม  แต่ทุกข์กับเขาน้อยลง ไม่ได้อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

       

ตอบ  ต้องไม่ทุกข์เลย

 

ถาม  เขาอยากเป็นก็ให้เขาเป็นไป

       

ตอบ  ไม่ให้ทุกข์เลย เช่นดูแลแม่ก็ดูแลไป ไม่ทุกข์กับเขา คือเฉยทางอารมณ์ แต่ไม่เฉยทางหน้าที่ มีหน้าที่อะไร ก็ทำไปจนกว่าจะหมดหน้าที่

       

ถาม  เขาก็เห็นว่าเราเฉย

       

ตอบ  ไม่เป็นไร เฉยไม่ได้ทำร้ายใคร เสียหายตรงไหน ดีกว่าด่าคนนั้นด่าคนนี้

       

ถาม  แต่เขากลับทุกข์ เพราะคิดว่าเราเป็นอะไรไป

       

ตอบ  เพราะเขาไม่มีปัญญา ไม่เคยเจอความเฉย ไม่รู้ว่าเป็นความสุข สมาธิก็คือความเฉยนี่เอง เฉยแบบสมาธิหรือเปล่า ต้องเฉยแบบมีความสุข

 

คนที่เฉยแล้วจะไม่ชอบอยู่กับคนที่ไม่เฉย อยู่แล้วเรื่องมาก แยกทางกันดีกว่า ไปบวชดีกว่า อ้าวจริงๆ ในพระไตรปิฎกก็แสดงไว้ว่า ทุกครั้งที่ ฆราวาสจะบวช จะอุทานว่าการครองเรือนนี้วุ่นวายหนอ ทำไมอยู่เฉยๆกันไม่ได้ ทำไมต้องวุ่นวายกัน วุ่นวายกับเรื่องไร้สาระทั้งนั้น เรื่องไม่ใช่เรื่องนะ วุ่นวายกับคนนั้นคนนี้ทำไม ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าวุ่นวายกับเรื่องกินเรื่องนอนนี้ก็พอมีเหตุผล ไม่มีข้าวกินก็ต้องวุ่นวายหาข้าวมากินกัน แต่นี่วุ่นวายกับเรื่องไร้สาระทั้งนั้น ถ้ามีกิเลสก็จะวุ่นวายกับเรื่องไร้สาระต่างๆ ถ้าไม่มีกิเลสก็จะไม่วุ่นวาย แม้แต่กับเรื่องหากินหานอน ครูบาอาจารย์ท่านก็ยังต้องออกบิณฑบาต ไม่สบายก็ต้องกินยา แต่จะไม่วุ่นวาย ทำไปตามเหตุ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส จะไม่มีความพอเลย ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ร้อนก็เบื่อ หนาวก็เบื่อ ฝนตกก็เบื่อ แดดออกก็เบื่อ ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นก็เบื่อ เพราะใจไม่เฉย ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ

 

ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ใจเรา ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่ความไม่นิ่งไม่สงบ กิเลสตัณหากำลังทำงาน อวิชชา ปัจจยา สังขารา ทำให้เกิดตัณหา เกิดภพชาติตามมา ทรงแสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาท เริ่มที่ อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาคือความหลง ไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ความสงบ ก็เลยปรุงแต่งหารูปเสียงกลิ่นรส ออกไปทางอายตนะ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส ก็เกิดเวทนาสุขทุกข์ขึ้นมา ก็เกิดความอยาก ถ้าสุขก็อยากจะให้สุขไปนานๆ ถ้าทุกข์ก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ พอเกิดตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น สุขก็ยึดว่าเป็นของเรา ก็เกิดภพขึ้นมา พอหายไปก็ต้องหามาทดแทนใหม่ พอร่างกายนี้ตายไปก็ต้องหาร่างกายใหม่มาทดแทน ก็จะมีการเกิดแก่เจ็บตายตามมา

 

ทั้งหมดนี้เริ่มที่อวิชชา ถ้าได้สมาธิก็จะหยุดอวิชชาได้ชั่วคราว ใจก็จะเฉย เห็นรูปเสียงกลิ่นรสก็ไม่เกิดเวทนา ไม่เกิดตัณหา จะเฉยๆชั่วคราว ตั้งแต่ อวิชชา ปัจจยา สังขารา ไปถึงภพชาติ จะหยุดทำงาน พอออกมาจากสมาธิถ้าไม่พิจารณาทางปัญญา ไม่คุมด้วยสติ ไม่บริกรรมพุทโธ ปล่อยให้ใจปรุงแต่งไปทางอวิชชา ก็จะไปหาตู้เย็น หาตู้กับข้าว หาขนมกิน หารูปเสียงกลิ่นรส ก็จะเกิดตัณหาขึ้นมา ถ้าออกจากสมาธิแล้วพุทโธๆต่อ ก็จะหยุดสังขารที่จะคิดไปทางรูปเสียงกลิ่นรส ทางความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าใช้ปัญญาก็จะตัดอวิชชาได้ ต่อไปก็จะเป็น ธัมมา ปัจจยา     สังขารา เป็นปัญญา ปัจจยา สังขารา อวิชชาจะมองว่าเป็นนิจจังสุขังอัตตา เห็นอะไรก็เป็นสุข แต่ปัญญาจะเห็นตรงกันข้าม จะเห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 

นี่คือการปฏิบัติ ไม่ต้องเรียงลำดับของปฏิจจสมุปบาท เวลาปฏิบัติให้คอยดูว่า ตอนนี้อวิชชาทำงานหรือเปล่า ตอนนี้เกิดตัณหาหรือเปล่า เวลาปฏิบัติให้ดูที่ตัวสังขารตัวเดียว สังขารจะปรุงไปทางไหน ไปทางสมุทัยหรือไปทางมรรค ถ้าไปตามความอยาก ก็ต้องดึงกลับมาทางมรรคให้ได้ แทนที่จะเห็นสุภะก็ให้เห็นอสุภะ นี่คือการควบคุมสังขารความคิดปรุงแต่ง เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการปฏิบัติ ควบคุมสังขารด้วยพุทโธ หยุดสังขารก่อน ไม่ให้สังขารคิดปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นทางปัญญาหรือทางอวิชชา ส่วนใหญ่จะไปทางอวิชชา จึงต้องหยุดสังขารก่อน ถ้าหยุดได้แล้วถึงจะดึงให้ไปทางปัญญาได้ ถ้าหยุดสังขารไม่ได้ก็จะคิดปรุงไปทางอวิชชา จึงต้องเริ่มต้นด้วยการเจริญสติ เจริญพุทธานุสติ บริกรรมพุทโธๆไปทั้งวัน อย่าให้คิดปรุงแต่ง อย่าไปคิดว่าเราเก่ง คิดทางปัญญาได้ ถ้าคิดทางปัญญาได้ก็ต้องบรรลุไปนานแล้ว หยุดสังขารให้ได้ก่อน ให้ใจว่าง ไม่มีความคิด ให้รู้เฉยๆ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ให้ใจตั้งอยู่ในปัจจุบัน ไม่ลอยไปลอยมา ไม่ไปอดีต ไม่ไปอนาคต พอตั้งอยู่ในปัจจุบันได้แล้ว เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธๆหรือดูลมหายใจ ก็จะเข้าสู่ความสงบได้ เหมือนร้อยด้ายเข้ารูเข็ม ต้องไม่ไปทางซ้ายหรือทางขวาของรูเข็ม ต้องตรงกับรู มือต้องนิ่ง ถ้ามือสั่นจะร้อยไม่ได้ ใจจะสงบไม่ได้ถ้าใจไม่อยู่ในปัจจุบัน ถ้าไม่หยุดความคิดปรุงแต่ง ก็จะเข้าสู่ความสงบไม่ได้

 

พวกเราก็เรียนกันมามากแล้ว สิ่งที่ขาดกันก็คือการปฏิบัติ ถ้าทุ่มเทกันจริงๆ ในปีหนึ่งจะได้เป็นกอบเป็นกำเลย เราก็ปฏิบัติอยู่ปีหนึ่ง ได้เป็นกอบเป็นกำเลย ทำให้บวชได้ ตอนต้นก็ไม่อยากจะบวช แต่ก็มีเหตุการณ์บังคับ เพราะเงินหมด ถ้ามีเงินก็รีบทำทานไปให้หมด พอไม่มีเงินแล้วจะได้ถูกบังคับให้ไปบวช ถ้ามีเงินมันก็จะใช้เงินเที่ยวได้ ซื้อข้าวซื้อของได้ ถ้ามีเงินก็ให้ทำทานให้มากๆ เงินนี้เป็นโทษ เป็นนิวรณ์ เป็นอุปสรรค ต่อการเจริญทางจิตใจ เงินซื้อนิพพานไม่ได้ ไปนิพพานไม่ต้องซื้อตั๋ว ไม่เหมือนไปเที่ยว

 

ถ้ายอมรับความจริงว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป อยู่อย่างสมถะเรียบง่ายได้ ถ้ากลัวตายกลัวเจ็บ ก็ต้องดิ้นรนกัน ทำมาหากินแทบเป็นแทบตาย แล้วมาตายเพราะความเครียดจากการทำมาหากิน เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โรคหัวใจโรคความดันโรคเบาหวาน หรือไม่ก็ประสบอุบัติเหตุเดินทางไปทำมาหากิน ยิ่งหนีปัญหาต่างๆก็ยิ่งตายเร็ว อย่าหนีดีกว่า ทำใจดีสู้เสือ อยู่เฉยๆอยู่กับที่ อยู่บ้านปลอดภัยที่สุดแล้ว

 

ถาม  เรื่องของความตาย ให้คิดว่าเป็นไปตามกรรมได้ไหมเจ้าคะ ไม่ต้องไปดิ้นรน

       

ตอบ  ความตายเป็นธรรมดาของร่างกาย เป็นสัจธรรมความจริง เกิดแล้วก็ต้องตาย ไม่ใช่เรื่องของกรรม เรื่องของกรรมก็คือเรื่องของความทุกข์ ปัญหาต่างๆเป็นเรื่องของกรรม แต่เรื่องของการเกิดตายนี้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ มีกรรมหรือไม่มีกรรมก็ต้องตายเหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็ต้องตาย พระอรหันต์ก็ต้องตาย

       

ถาม  คนที่มีสตางค์ก็บำรุงร่างกายมากๆ แต่บางทีก็ตายเร็วกว่าคนจน ที่ไม่ได้ดูแลเลย อันนี้เป็นผลของกรรม

       

ตอบ  การบำรุงมากจนเกินไปก็เป็นกรรมอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำ

 

ถาม  ฉะนั้นควรอยู่ตามสภาพ

       

ตอบ  ก็ดูหลวงปู่หลวงตาท่านอยู่ ๙๐ กว่าทั้งนั้น ท่านไม่มีอะไร ทำไมอายุท่านกลับยืน

       

ถาม  ฉันมื้อเดียว ไม่ต้องตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ต้องอะไร

       

ตอบ  ไม่ต้องซื้อประกัน

 

ถาม  ฆราวาสซื้อประกันเพราะกลัวจะไม่มีเงินรักษา

       

ตอบ  รัฐบาลเขาประกันให้แล้ว ๓๐ บาท รักษาทุกโรค

 

ความจริงโรคมีอยู่เพียง ๓ ชนิดเท่านั้น ชนิดที่ ๑ ไม่ต้องรักษา เป็นแล้วก็หายเอง ชนิดที่ ๒ เป็นแล้วต้องรักษาถึงจะหาย ชนิดที่ ๓ เป็นแล้วรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย มีเพียง ๓ โรคเท่านั้น ที่ต้องเจอกันทุกคน ส่วนใหญ่ก็เจอโรคชนิดที่ ๑ ก่อน เป็นไข้หวัดอย่างนี้ ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้เดี๋ยวก็หายเอง โรคที่ไม่หายเองก็ต้องรักษา โรคที่รักษาไม่หายก็ต้องรอให้หายที่เตาไฟ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นเหมือนหุ่น เราเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ผู้ที่ชักใยคือใจ ร่างกายเป็นหุ่น ร่างกายตายไป ผู้ที่ชักใยไม่ได้ตายไปด้วย ใจไม่มีวันตาย พอร่างกายตายไปก็ไปหาร่างกายใหม่มาชักใยต่อ แต่ใจไม่รู้ ใจหลง คิดว่าเป็นร่างกาย

 

ถ้าปฏิบัติธรรมก็จะแยกใจออกจากกายได้ เวลาใจสงบกายก็หายไป ร่างกายจะเจ็บหรือไม่ ใจไม่รับรู้ ให้คิดอย่างนี้จะได้ไม่กลัวตาย ไม่ยึดติดกับร่างกาย ให้คิดเสมอว่าร่างกายเป็นเพียงหุ่น เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ใจเป็นผู้ควบคุมหุ่น เหมือนคนที่ควบคุมหุ่นยนต์ให้เตะฟุตบอล ให้ไปกู้ระเบิด คนที่ควบคุมบังคับสั่งการไม่ได้อยู่ในตัวหุ่น อยู่อีกที่หนึ่ง สั่งการผ่านทางกระแสวิทยุ เช่นยานอวกาศ ที่ไปสำรวจโลกพระจันทร์ คนที่สั่งการอยู่ที่หอบังคับการ ถ้าเกิดอะไรกับยานอวกาศ ก็ไม่ได้เกิดกับคนที่อยู่ที่หอบังคับการ สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ได้เกิดขึ้นกับใจ แต่ใจไปหลงคิดว่าเป็นร่างกาย ก็เลยคิดว่าเป็นไปด้วย เหมือนนิทานคนขาเป๋เลี้ยงม้าม้าเห็นคนเลี้ยงเดินขาเป๋ ก็เลยเดินขาเป๋ตาม

 

เวลาใจได้ร่างกายมาก็คิดว่าเป็นใจ พอร่างกายเป็นอะไรก็ทุกข์ขึ้นมา ทุกข์เพราะความอยาก อยากไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็จะหยุดความอยากได้ จะไม่ทุกข์ ไม่เครียดกับร่างกาย อยู่ได้อย่างสบาย อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ไป ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่หนักมาก ไปแบกมันทำไม แบกร่างกายนี้เหนื่อยจะตายไป มีแต่ภาระ ใจถูกกิเลสหลอกให้หลง เห็นอะไรก็ว่าดี สวยงาม ให้ความสุข แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะได้มาต้องเหนื่อยขนาดไหน บวชดีกว่า จะสบายใจ ของดีๆไม่ชอบกัน กลับไปชอบของไม่ดีกัน บวชจะได้เข้าข้างใน จะได้พบกับรสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง รสของความสงบนี่แหละคือรสแห่งธรรม ถ้าได้ความสุขจากความสงบแล้ว จะไม่อยากได้ความสุขแบบอื่น

       

ถาม  ได้ฟังท่านอาจารย์แล้วก็อยากจะออกบวช แต่ไม่รู้จะเจรจากับคุณพ่อคุณแม่อย่างไร

       

ตอบ  ต้องอดข้าวถ้าไม่ให้ออกบวช มีทำมาแล้วในอดีต มีชายคนหนึ่งอยากจะบวช แต่พ่อแม่ไม่ยอมให้บวช ก็เลยอดข้าว พ่อแม่ให้เพื่อนมากล่อมก็ไม่ยอม ในที่สุดพ่อแม่ก็ต้องยอม เพราะเห็นว่ายอมตายจริงๆถ้าไม่ได้บวช

 

ถาม  อ่านหนังสือพระอาจารย์ ที่ให้ลองขังตัวเองอยู่ในห้อง ๓ วัน ๗ วัน

       

ตอบ  เหมือนไปอยู่วัด ไม่หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส จะใช้เวลาทั้งหมดควบคุมความคิดปรุงแต่ง เจริญสติ ให้ใจอยู่ในปัจจุบัน สลับกับการนั่งสมาธิ เดินจงกรมในห้อง กินมื้อเดียว ดื่มแต่น้ำเปล่า บังคับให้นั่งนานๆ ถ้านั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็นั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ไม่ต้องลุกไปไหน นั่งควบคุมใจด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ถ้าใจคิดแล้วก็จะเกิดความอยากต่างๆขึ้นมาอยากจะทำนั่นทำนี่ เพราะอยู่เฉยๆไม่เป็น อยู่ไม่เป็นสุข ต้องมีอะไรทำถึงจะมีความสุข เพราะความอยากทำ ต้องหยุดความอยากด้วยการหยุดความคิด หยุดร่างกาย ความอยากจะใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ก็ต้องหยุดร่างกาย ถ้าหยุดที่ใจไม่ได้ ก็หยุดที่ร่างกายก่อน อยากจะลุกก็จะไม่ยอมลุก ไม่ช้าก็เร็ว ความอยากจะสงบตัวลงไปเอง ถ้ารู้ว่าอยากจะลุกแล้วลุกไม่ได้ ก็จะยอมแพ้ไปเอง พอความอยากยอมแพ้แล้วก็จะหายเครียดหายทุกข์ แต่จะทรมานมากถ้าใช้ขันติอย่างเดียว ไม่ได้ใช้พุทโธ เป็นเหมือนชักคะเย่อกัน ตอนนั้นใจจะปั่นป่วนมากเลย พอความอยากยอมแพ้ปั๊บ ความปั่นป่วนก็จะหายไปเลย ถึงแม้จะไม่รวม แต่หายจากความปั่นป่วน หายจากความเครียด จะเฉยๆสบายๆ ถึงรู้ว่าปัญหาคือความอยากนี่เอง ถ้าทำตามความอยากปัญหาจะไม่มีวันหมด อยากจะไปตรงนั้นก็ไป พอไปตรงนั้นแล้ว ก็อยากจะมาตรงนี้

 

เวลาสู้กับความอยาก จะทรมานใจมาก เหมือนสู้กับความอยากดื่มสุราอยากสูบบุหรี่ อยากเสพยาเสพติด ก็เป็นความทุกข์แบบเดียวกัน ถ้าไม่ได้ทำตามความอยากใจจะปั่นป่วนมาก ถ้าใช้พุทโธก็จะช่วยผ่อนคลายความปั่นป่วน ถ้าไม่ใช้พุทโธก็ต้องใช้ขันติ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติเป็นเครื่องดับความทุกข์ เป็นเครื่องแผดเผากิเลสตัณหา ถ้าไม่มีสติสมาธิปัญญาก็ต้องสู้ขันติ จะไม่ยอมทำตามความอยาก จะนั่งตรงนี้ จะไม่ยอมลุกจนกว่าความอยากจะหายไป ถ้านั่งขัดสมาธิไม่ได้ ก็นั่งบนเก้าอี้ไปก่อน อย่าลุกไปไหน จนกว่าความอยากจะหายไป หายแล้วค่อยลุก หรือจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดไว้ ทำจากน้อยไปหามาก นั่ง ๑ ชั่วโมงก่อน แล้วก็เพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ นั่งจนกว่าจะหายอยากจะลุกขึ้นมา พอหายอยากแล้วก็จะรู้ว่าต่อสู้กับความอยากได้แล้ว ทางที่ดีควรบริกรรมพุทโธๆไปด้วย  จะดีกว่าใช้ขันติความอดทนอย่างเดียว ถ้าไม่มีความอดทนก็จะทนไม่ได้ ถ้ามีการบริกรรมพุทโธ ก็จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้

 

ต้องสู้กับความอยาก ถ้าไม่สู้การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า เพราะจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของความอยาก ที่จะสั่งให้ไปโน่นมานี่อยู่เรื่อยๆ พอมาอยู่วัดก็อยากจะออกไปนอกวัด พออยู่นอกวัดก็อยากจะกลับวัด เข้าๆออกๆอย่างนี้ ต้องปักหลักสู้ ทรงบัญญัติให้พระบวชใหม่อยู่กับครูบาอาจารย์ ๕ พรรษา พระที่ไปอยู่กับหลวงตาก็รู้กันว่า ถ้าเข้าไปแล้วไม่ต้องไปไหน ๕ ปี เหมือนติดคุก ๕ ปี ออกไปได้เฉพาะตอนไปบิณฑบาตเท่านั้น ไม่มีกิจนิมนต์ ถ้าอยู่ได้แล้วก็จะสบาย จึงต้องเจริญสติให้มาก ทำจิตให้รวมให้ได้ ถ้ารวมได้แล้วก็จะก้าวหน้า พอออกทางปัญญาก็จะไปได้เร็ว ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาว่าทุกข์เกิดจากความอยาก พระพุทธเจ้าทรงรับประกันว่า ๗ วันหรือ ๗ เดือนหรือ ๗ ปีก็จะบรรลุได้  

 

ต้องเริ่มต้นที่การเจริญสติก่อน พอได้สติก็จะเข้าสมาธิได้ พอออกจากสมาธิก็จะเจริญปัญญาได้ ตัดความหลงที่ผลิตความอยากได้ ความหลงก็คือการไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นว่าเป็นนิจจังสุขังอัตตา ใจของพวกเราส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นสุขเป็นของเรา จะอยู่กับเราไปนานๆ จะคิดอย่างนี้กันทั้งนั้น เวลาแต่งงานก็จะอวยพรให้อยู่กันไปนานๆ ให้มีความสุขมากๆ เป็นของกันและกัน แล้วเป็นหรือเปล่า  ดีไม่ดีเพียง ๖ เดือนก็ไปกันคนละทางแล้ว ถ้าคิดว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะไม่อยากแต่งงาน จะไม่อยากได้อะไร อยู่คนเดียวสบายกว่า ถ้าต่อสู้กับความอยากได้ เวลาอยู่คนเดียวจะเหงาว้าเหว่ ก็ต้องอดทน ปล่อยให้เหงาว้าเหว่ไป พอความอยากรู้ว่าไม่ได้จริงๆแล้ว ก็จะหยุดอยาก จะหายเหงาหายว้าเหว่ เหมือนการหยุดสูบบุหรี่ อยากจะสูบบุหรี่ก็ไม่ไปสูบ ต่อไปก็จะหายอยาก

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากสมุทัยคือความอยาก และเครื่องมือที่จะหยุดความอยากก็คือมรรค คือสติสมาธิปัญญา สนับสนุนด้วยขันติด้วยวิริยะ ด้วยทานด้วยศีล ทรงสอนให้เจริญมรรคให้มาก หน้าที่ของพวกเราก็คือการเจริญมรรคนี่เอง ถ้าจะถามว่าเกิดมาทำไม คำตอบก็คือเกิดมาเพื่อเจริญมรรค เจริญทานศีลภาวนา เจริญสติสมาธิปัญญา เจริญวิริยะขันติ  รับรองได้ว่าปัญหาทั้งหมดจะหมดไปจากใจ ตอนนี้ใจเป็นเหมือนคนเป็นโรคมะเร็ง ต้องรักษาโรคมะเร็ง เชื้อโรคก็คือความอยาก การใช้คีโมฉายแสงผ่าตัดก็คือมรรค ต้องเจริญมรรคให้มาก พอมรรคมีกำลังมากกว่าความอยากแล้ว ความอยากก็จะตายไปหมด ความทุกข์ก็จะหายไปหมด จะเป็นจะตายก็ได้ เพราะใจไม่ได้เป็นร่างกาย ใจเป็นเพียงผู้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆเท่านั้นเอง เหมือนคนดูภาพยนตร์ ในภาพยนตร์จะฆ่ากันตายด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ก็จะไม่ได้ฆ่าคนดู ถ้าคนดูหลงก็จะตื่นเต้นตกใจหวาดกลัวไปกับภาพยนตร์ ถ้ามีสติสมาธิปัญญาก็จะไม่หลง จะดูเฉยๆ รู้เฉยๆ

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับคนที่มาถามธรรมะ ตอนที่ทรงบิณฑบาต ว่าไม่สะดวก เขาก็กราบทูลให้ทรงสอนสั้นๆ ทรงตรัสว่า เวลาเห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น รู้อะไรก็สักแต่ว่ารู้ ให้สักแต่ว่าเท่านั้น อย่าไปอยู่ในเหตุการณ์ ให้เป็นเพียงผู้รับรู้ คนดูไม่ได้อยู่ในจอภาพยนตร์ อยู่นอกจอ เป็นเพียงผู้ดู ใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ใจอยู่ในโลกทิพย์ ร่างกายอยู่ในโลกธาตุ เหตุการณ์ที่เกิดในโลกธาตุนี้ ไปไม่ถึงโลกทิพย์ อยู่คนละที่กัน เหมือนคนที่ควบคุมยานอวกาศอยู่ที่หอบังคับการ ส่วนยานอวกาศอยู่อีกที่หนึ่ง ถ้ายานอวกาศระเบิด ก็ไม่ได้ไปกระเทือนคนที่อยู่ที่หอบังคับการ ความจริงใจไม่ได้ไม่เสียกับอะไร ไปหลงกับเขาเอง ไปสุขไปทุกข์กับเขาเอง เวลาสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสที่ถูกใจก็สุข พอสัมผัสรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสที่ไม่ถูกใจก็ทุกข์ ปรุงแต่งขึ้นมาเอง ถ้าใจเป็นอุเบกขาก็จะเป็นกลาง ไม่สุขไม่ทุกข์ รูปเสียงกลิ่นรสจะมาในรูปแบบไหน ใจก็จะเฉยๆ ร่างกายจะเจ็บปวด ใจก็จะเฉยๆ ร่างกายจะหิวจะอิ่ม ใจก็จะเฉยๆ เพราะใจไม่ได้ไม่เสียกับร่างกายเลย ถ้าใจหลงก็จะไม่นิ่งไม่เป็นกลาง จะแกว่งไปกับความยินดียินร้าย ถ้ายินดีก็สุข ยินร้ายก็ทุกข์ เพราะใจไปมีปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆเอง ถ้าทำใจให้นิ่งให้เป็นกลางให้เป็นอุเบกขาได้ ก็จะไม่มีปฏิกิริยา ไม่ยินดียินร้าย ไม่สุขไม่ทุกข์กับการสัมผัสรับรู้ แต่มีความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลายอยู่ภายในใจ ความสุขที่เกิดจากความว่าง เกิดจากความนิ่ง ที่ทำให้ใจรับรู้กับสิ่งต่างๆได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เช่นรับรู้กับความเจ็บปวดของร่างกาย จึงต้องเจริญมรรคให้มาก เป็นหน้าที่ของพวกเรา