กัณฑ์ที่ ๔๔๒       ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕

หนังสือธรรมะ

 

 

หนังสือธรรมะนี้เป็นสื่อเผยแผ่ธรรมะที่ดี สมัยพระพุทธกาลนี้ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะไม่มีหนังสือ พระพุทธเจ้าทรงต้องแสดงธรรมวันละ ๓ ถึง ๔ ครั้ง ตอนบ่ายทรงแสดงธรรมให้กับศรัทธาญาติโยม ตอนค่ำทรงแสดงธรรมให้กับพระภิกษุสามเณร ตอนดึกทรงแสดงธรรมให้แก่เทวดา ตอนเช้าก่อนสว่างก็ทรงเล็งญาณดูว่าจะทรงไปโปรดผู้ใดดี สมัยนี้ส่งหนังสือไปแทนได้ ถ้าอยากได้ก็เขียนจดหมายมาขอ บางทีก็เดินทางมารับเอง หนังสือธรรมะนี้เป็นเหมือนแผนที่ เป็นป้ายบอกทางไปสู่มรรคผลนิพพาน ไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่ความสุขที่ถาวร ถ้าไม่มีหนังสือธรรมะนำทาง พวกเราจะไม่มีโอกาสไปสู่พระนิพพานได้ด้วยตนเอง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก สัตว์โลกทั้งหลายก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระธรรม ที่จะพาสัตว์โลกให้ไปสู่การสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด พอตรัสรู้แล้วก็อยู่ที่พระองค์ว่าจะทรงมีพระวิริยะขวนขวายหรือไม่ ถ้าไม่ขวนขวายที่จะเผยแผ่สั่งสอนธรรมให้แก่ผู้อื่น ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนาปรากฏให้โลกได้กราบไหว้บูชา ได้ยึดเป็นสรณะ ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป

 

พระพุทธเจ้านี้มีอยู่ ๒ ประเภทคือ ๑. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้า ที่หลังจากได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงนำเอาพระธรรมที่ทรงตรัสรู้นี้มาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลก ก็จะมีพระพุทธศาสนาปรากฏตามมา เช่นวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นวันปรากฏขึ้นมาของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ แล้วหลังจากนั้นอีกประมาณ ๒ เดือน คือวันเพ็ญเดือน ๘ ที่เรียกว่าวันอาสาฬหบูชา วันที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ก็ทรงประกาศพระธรรมคำสอนครั้งแรก ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ ทำให้มีพระธรรมที่เป็นสรณะที่พึ่งของสัตว์โลกปรากฏขึ้นมา และหลังจากทรงแสดงพระธรรมเสร็จ ก็ปรากฏมีพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก ได้เป็นพระสังฆรัตนะองค์แรก นี่คือการปรากฏขึ้นของพระรัตนตรัย เบื้องต้นก็ต้องมีพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก่อน หลังจากนั้นก็ทรงแสดงพระธรรมให้แก่สัตว์โลก พอผู้ฟังได้ยินได้ฟังแล้วพิจารณาตามได้ สามารถมองเห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น คือเห็นพระอริยสัจ ๔ ก็จะบรรลุธรรมขั้นต้น บรรลุเป็นพระโสดาบัน

 

อย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้เปล่งวาจาไว้ว่า สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา เพราะเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นความไม่เที่ยง เห็นการเกิดการดับไปเป็นธรรมดา ของสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้าไปยึดติด อยากไม่ให้ดับ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ความทุกข์ใจนี้เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากสมุทัย ความอยากไม่ให้สรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายเสื่อมไป แต่ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน พอเห็นความจริงนี้ก็หยุดความอยากได้ ยอมรับว่ามีการเกิดย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ก็บรรลุธรรม เห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยากไม่ให้สิ่งต่างๆดับไป เห็นว่าจะดับทุกข์ได้ ก็ต้องเห็นว่าสิ่งต่างๆเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เช่นเห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็จะบรรลุเป็นพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นมา ภายในเวลา ๒ เดือนพระรัตนตรัยก็ปรากฏครบ ๓ องค์ วันเพ็ญเดือน ๖ เป็นการปรากฏของพระพุทธรัตนะ วันเพ็ญเดือน ๘ เป็นการปรากฏของพระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ

 

ก่อนที่จะประกาศพระธรรมคำสอน ทรงท้อแท้พระทัย ไม่ปรารถนาที่จะประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นธรรมที่ยาก ที่ทวนกระแสความรู้สึกนึกคิดของสัตว์โลก ที่มีความรักความชอบในสรรพสิ่งต่างๆในโลกนี้ เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่สัตว์โลกไม่รู้ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าไม่อยากจะทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ ก็จำเป็นที่จะต้องตัดสิ่งเหล่านี้ไป ไม่ยึดไม่ติด ไม่แสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเป็นสรณะ มาเป็นที่พึ่ง มาให้ความสุขกับตน แต่สัตว์โลกทุกชนิดที่เกิดมาในโลกนี้ก็มีความหลง ยึดติดกับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกันทั้งนั้น แล้วจะสอนบอกให้รู้ว่าเป็นความทุกข์ ไม่ใช่เป็นความสุข ก็จะเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ก็มีท้าวมหาพรหม ได้มาขออาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงเมตตาต่อสัตว์โลก ให้ได้โปรดสัตว์โลก โดยขอให้พระองค์ทรงพิจารณาว่า สัตว์โลกมีภูมิจิตภูมิธรรมที่ต่างกัน ผู้ที่พร้อมที่จะรับพระธรรมคำสอนของพระองค์ก็มี ผู้ที่ไม่พร้อมก็มี ขอให้ได้ทรงโปรดผู้ที่พร้อมที่จะรับเถิด หลังจากที่ได้ทรงพิจารณาก็เห็นว่า สัตว์โลกเป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า มีความเจริญเติบโตไม่เท่ากัน บัวที่เจริญเติบโตเต็มที่ก็คือบัวเหนือน้ำ พอได้สัมผัสแสงอาทิตย์ก็จะบาน เป็นบัวเหล่าที่ ๑ บัวเหล่าที่ ๒ ก็คือบัวปริ่มน้ำ ที่จะโผล่เหนือน้ำขึ้นมาในเวลา ๒ - ๓ วัน บัวเหล่าที่ ๓ ก็คือบัวกลางน้ำ ที่อยู่ระหว่างโคลนตมกับผิวน้ำ จะต้องรอนานหน่อย ถึงจะโผล่เหนือน้ำขึ้นมาได้ บัวเหล่าที่ ๔ คือบัวที่อยู่ในโคลนตม ที่จะไม่มีโอกาสโผล่เหนือน้ำขึ้นมาเลย เพราะจะเป็นอาหารของปูปลาเต่าไป

 

มนุษย์เราก็เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า พวกที่ ๑ ที่ได้สะสมบุญบารมีมามากก็มี เช่นพวกนักบวชทั้งหลาย เช่นพระปัญจวัคคีย์ที่ได้ติดตามเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด ท่านเหล่านี้ได้บำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างโชกโชน ถึงออกบวชได้ ทำทานได้อย่างเต็มที่ สละสมบัติข้าวของเงินทอง สละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายไปจนหมด แล้วก็มาบำเพ็ญรักษาศีล เจริญสมาธิ ได้ฌานขั้นต่างๆ ท่านเหล่านี้จึงเป็นเหมือนบัวที่อยู่เหนือน้ำแล้ว รอแสงสว่างของดวงอาทิตย์ แสงสว่างนี้ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เอง ที่เรียกว่าปัญญา เป็นธรรมขั้นปัญญา ขั้นโลกุตรธรรม พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุขั้นโลกิยธรรมกันแล้ว คือขั้นสมาธิ ขั้นฌานสมาบัติ ถ้าตายไปก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม แต่เป็นโลกิยธรรมที่ยังอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะเสื่อมลงมาหลังจากสมาธิอ่อนกำลังลงไป จิตก็จะหยาบขึ้นมาตามลำดับ

 

ขณะที่จิตสงบจะละเอียดจะสงบมาก แล้วจะค่อยๆเสื่อมไปทีละเล็กทีละน้อย จิตจะหยาบขึ้น จะเกิดกิเลสตัณหา จะหิวกับรูปเสียงกลิ่นรสที่ละเอียด คือรูปทิพย์เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์ของเทวดา พอเสื่อมมากขึ้น ก็จะหิวกับรูปเสียงกลิ่นรสของมนุษย์ ก็จะต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ นี่คือวิบากของผู้ที่ได้บำเพ็ญบุญบารมีถึงขั้นฌานสมาบัติ จะเสื่อมกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เหมือนกับพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ที่ทรงตรัสว่าน่าเสียดาย เพราะได้สิ้นชีวิตไปก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ถ้ายังอยู่ก็จะมีโอกาสได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุโลกุตรธรรม เพราะมีแสงสว่างแห่งธรรม คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ บัวที่อยู่เหนือน้ำ ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์ก็จะบานไม่ได้เช่นเดียวกับผู้ที่ได้สมาธิแล้ว ถ้าไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เป็นเหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ที่จะทำให้บัวบาน ใจของสัตว์โลกทั้งหลายเป็นเหมือนดอกบัว ที่จะต้องมีแสงสว่างแห่งธรรมมาทำให้บานขึ้นมา ให้เป็นพระนิพพานขึ้นมา ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาทรงตรัสรู้ ก็จะไม่มีวันที่จะบานขึ้นมาได้ เป็นพระนิพพานขึ้นมาได้ นี่ก็คือเรื่องของบัว ๔ เหล่า บุคคล ๔ ชนิด

 

พวกที่ ๒ เป็นพวกที่ได้สะสมบุญบารมีรองจากพวกที่ ๑ ที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ทันที ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังหลายๆครั้ง ถึงจะบานได้ พวกที่ ๓ เป็นพวกที่ด้อยบารมีลงไปอีก ต้องใช้เวลามากกว่าพวกที่ ๒ ถึงจะบานได้ พวกที่ ๔ เป็นพวกที่จะไม่มีวันโผล่เหนือน้ำขึ้นมาได้ เนื่องจากไม่มีศรัทธาความเชื่อ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วไม่เกิดศรัทธา เพราะเห็นว่าการแสวงหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางลาภยศสรรเสริญ เป็นทางที่นำไปสู่ความสุข ก็จะไม่เชื่อทางที่ไปสู่ความสุขที่แท้จริง ที่ต้องสละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย พวกนี้จะต้องเกิดแก่เจ็บตายไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงเล็งพระธรรมคำสอน ไปสู่บัวเหนือน้ำก่อน ทรงแสดงธรรมโปรดพวกนักบวชก่อน ในแต่ละครั้งที่ทรงแสดงธรรม จะปรากฏมีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันเป็นจำนวนมาก เพียงระยะเวลา ๗ เดือนแรก คือหลังจากที่ทรงแสดงพระธรรมครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน ๘ มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ในปีต่อมา ก็เป็นเวลา ๗ เดือน ก็ปรากฏมีพระอรหันตสาวกอย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูป ที่ได้เดินทางมาจากทิศทางต่างๆโดยไม่ได้นัดหมายกัน มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยความรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และอาจจะมีมากกว่านั้นที่ไม่ได้มาร่วม เพราะอาจจะอยู่ไกล เพราะหลังจากที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสให้ไปกันคนละทิศคนละทาง เพื่อจะได้เผยแผ่พระธรรมคำสอนให้ไปได้อย่างกว้างขวาง ไม่ให้ไปด้วยกัน ให้แยกกันไป เพราะจะทำประโยชน์ได้มากกว่า นี่ก็คือพระคุณของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้เกิดพระอริยสงฆ์สาวก เป็นสรณะเป็นที่พึ่งมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะมีผู้สนใจศึกษาสนใจปฏิบัติ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความอดทน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงได้บรรลุธรรมขั้นต่างๆ เพราะการบรรลุธรรมไม่จำเป็นต้องฟังจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ถึงจะสามารถบรรลุได้ จริงอยู่การได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ย่อมมีความแตกต่างกับการฟังธรรมจากพระสาวก เนื่องจากพระปัญญาบารมีของพระพุทธเจ้ามีมากกว่าพระสาวก ทรงรู้ว่าควรแสดงธรรมอย่างไรชนิดไหนให้แก่ผู้ฟัง เพราะทรงรู้จริตของผู้ฟัง รู้ภูมิจิตภูมิธรรมของผู้ฟัง ว่าอยู่ในระดับไหน ควรจะให้ธรรมชนิดไหน ถ้าเป็นแพทย์เป็นหมอ ก็รู้ว่าคนไข้เป็นโรคชนิดไหน ควรให้ยาชนิดไหนรักษา

 

ไม่มีอะไรในโลกนี้จะมีคุณค่าเท่ากับพระธรรมคำสอน ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอน ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี เป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะไม่สามารถอยู่เหนือความทุกข์ได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ พอมีพระธรรมคำสอนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เป็นพระมหากษัตริย์หรือเป็นขอทาน ก็มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ พระพุทธศาสนาจึงไม่เลือกชนชั้นวรรณะ พระพุทธศาสนายินดีต้อนรับทุกคนที่มีศรัทธา ถ้ามีศรัทธาก็จะมีโอกาสมีสิทธิ์ ที่จะปฏิบัติให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นเศรษฐี หรือเป็นขอทาน เวลาบวชแล้วก็อยู่ในสถานภาพเดียวกัน คือเป็นขอทาน การเป็นเศรษฐีเป็นพระมหากษัตริย์ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการบวช มากกว่าการเป็นขอทาน แต่การเป็นขอทานก็ไม่ได้เป็นเหตุทำให้บวชได้ คนขอทานที่ไม่ได้บวชก็มีมากมาย เศรษฐีที่ได้บวชก็มีมากมาย กษัตริย์ที่ได้บวชก็มีเหมือนกัน ถ้ามีศรัทธาไม่ว่าจะเป็นอะไรก็จะบวชได้ ถ้าเชื่อในพระธรรมคำสอน เชื่อว่าสามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ เชื่อเท่านี้ก็พอแล้ว พอต่อการน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ

 

ในเบื้องต้นจึงต้องมีศรัทธาความเชื่อก่อน เชื่อในพระธรรมคำสอนที่ทรงสอนให้ทำบุญละบาป ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ชำระความโลภความอยากต่างๆให้หมดไปจากใจ สละความสุขทางลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรส แล้วออกไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวก อยู่ตามป่าตามเขาบำเพ็ญเพียร เจริญสติ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา รักษาศีลให้บริสุทธิ์ นี่คือศรัทธาที่ต้องมี พอมีแล้วเราก็ต้องปฏิบัติตามศรัทธา ต้องสละสมบัติ สละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ปลีกวิเวกอยู่ตามสถานที่สงบสงัด ตั้งอยู่ในศีลในธรรม เจริญสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพื่อควบคุมความคิดไม่ให้ฟุ้งซ่าน ให้ว่าง ให้จิตเย็นสบาย ไม่ลอยไปลอยมา ให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ให้นั่งสมาธิหลับตา เพื่อทำให้จิตรวมเข้าสู่ความสงบอย่างเต็มที่ ให้เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เรียกว่าสมาธิ

 

สมาธิก็มี ๒ ลักษณะคือ สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือจิตนิ่งสงบไม่มีความคิดปรุงแต่ง เป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ ไม่มีนิมิตไม่มีอะไรปรากฏให้รับรู้ ถ้ามีนิมิตมีอะไรปรากฏให้รับรู้ จะไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ควรปล่อยให้จิตไปทางนั้น ควรดึงกลับมาภาวนาต่อ จนกว่าจิตจะเข้าสู่ความสงบเป็นอุเบกขา ถ้ามีการรับรู้นิมิตต่างๆ ก็จะทำให้เกิดกิเลสตัณหา เกิดความอยากติดตามนิมิต เวลานั่งสมาธิแต่ละครั้งก็อยากจะเห็นนิมิต เพราะมีความเพลิดเพลิน มีความสุข เหมือนได้ดูภาพยนตร์ แต่เป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร สุขแต่เฉพาะเวลาที่ได้สัมผัสได้รับรู้ ถ้านั่งแล้วไม่ได้เห็นก็จะหงุดหงิดใจ ไม่ใช่เป็นทางไปสู่การดับทุกข์ เพราะการไปสู่การดับทุกข์นี้ จะต้องหยุดความอยากต่างๆ จึงต้องเข้าไปในสมาธิที่มีแต่ความว่าง เพราะจะทำให้ความอยากสงบตัวลงไป เวลาออกจากความสงบที่ไม่มีนิมิต จิตจะมีพลังอุเบกขา คือไม่โลภไม่โกรธไม่หลง แต่เป็นอยู่ได้ไม่นาน เป็นเหมือนกับน้ำที่แช่ไว้ในตู้เย็น เวลาเอาออกมาจากตู้เย็นใหม่ๆก็จะเย็น ถ้าทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ความเย็นก็จะค่อยๆหายไป ความเป็นอุเบกขาของจิตที่ได้จากสมาธิก็เช่นเดียวกัน เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆก็จะมีความเย็น มีความเป็นอุเบกขามาก พอได้สัมผัสรับรู้เรื่องราวต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางความคิดปรุงแต่ง อุเบกขาก็จะค่อยๆจางหายไป ความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ ก็จะมีกำลังเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

 

ถ้าทำสมาธิจนชำนาญแล้ว เข้าออกสมาธิได้อย่างง่ายดายแล้ว เวลาออกจากสมาธิก็ควรเจริญปัญญา อย่าคิดไปในทางกิเลส ดึงความคิดปรุงแต่งให้คิดไปในทางธรรมะ คิดไปในทางอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร สัมผัสรับรู้เรื่องอะไร ให้พิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติดไปอยาก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่สามารถสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์อยู่อย่างต่อเนื่อง ก็จะปล่อยวางอย่างต่อเนื่อง เห็นอะไรก็จะปล่อยวาง เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่มีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าต้องทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ทำอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ดี เช่นเสียงที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ ถ้าแก้ไขได้ก็แก้ไป แก้ได้ก็ดี แก้ไม่ได้ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้ายังต้องดูแลจัดการกับสิ่งต่างๆ ก็ต้องให้อยู่ในกรอบของความเป็นจริง ของความเป็นไปได้ ไม่ใช่อยู่ในกรอบของความเครียด ทำอะไรก็เครียดกับสิ่งที่ทำ นั่นแสดงว่ามีความอยากเกินความเป็นจริง พอความอยากไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ได้ดังใจ ก็เกิดความเครียดขึ้นมา เป็นความทุกข์ จะทำอะไรจะอยากได้อะไร ก็ทำไปได้ แต่อย่าไปเอาเป็นเอาตาย คิดว่าเป็นของเล่น ของทุกอย่างในโลกนี้เป็นเหมือนของเล่น ไม่ใช่ของจริง ตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ยินดีตามที่ปรากฏ อย่างนี้ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เป็นสมุทัย คืออยากจนเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา กินไม่ได้นอนไม่หลับ กระวนกระวายกระสับกระส่าย วิตกกังวลว้าวุ่นขุ่นมัว อย่างนี้ถึงจะเป็นสมุทัย

 

ต้องใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะพิจารณากับสิ่งที่ปรากฏให้รับรู้ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสก็ได้ หรือจะพิจารณาถึงเหตุการณ์ต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้นในภายภาคหน้าก็ได้ เช่นการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆไป ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากบุคคลต่างๆ จากสิ่งต่างๆไป ไปทีละคนสองคน ไปทีละอย่างสองอย่าง ในที่สุดก็ต้องพลัดพรากจากร่างกาย ที่ไปยึดไปติดว่าเป็นตัวเราของเรา ต้องพิจารณาอยู่เนืองๆ ไม่ให้ลืมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเหมือนของที่ยืมมา ต้องคืนเจ้าของไป สักวันหนึ่งเจ้าของจะมาขอคืนไป ถ้าไม่ลืมก็จะไม่หลงยึดติด ไม่อยากให้อยู่ไปตลอด พอถึงเวลาที่เจ้าของมาทวงคืน ก็คืนไปได้อย่างสบายใจ ไม่เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ถ้าพิจารณาไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว กำลังของอุเบกขาจะหมดไป ก็จะมีกิเลสตัณหาออกมาก่อกวน มาสร้างอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัวให้เกิดขึ้น ก็ควรหยุดการพิจารณา แล้วกลับเข้าไปในความสงบ กลับไปนั่งสมาธิทำใจให้สงบให้เป็นอุเบกขา ถ้าเป็นน้ำก็เอากลับเข้าไปแช่ในตู้เย็น พอน้ำหายเย็นแล้วก็เอากลับเข้าไปแช่ในตู้เย็น ให้เย็นเต็มที่แล้วค่อยเอาออกมาใหม่ พอจิตได้พักเต็มที่แล้วก็จะถอนออกมาเอง เป็นอุเบกขาเต็มที่แล้ว ก็พร้อมจะพิจารณาความจริงต่อไป

 

ความจริงก็คืออนิจจังทุกขังอนัตตา ในสภาวธรรมทั้งหลาย ขันธ์ ๕ ก็เป็นสภาวธรรม รูปก็คือร่างกาย เวทนาก็คือความรู้สึก สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ สังขารก็คือความคิดปรุงแต่ง วิญญาณก็คือการรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย ธรรมเหล่านี้ก็เกิดดับๆ เวทนาก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุขบ้างทุกข์บ้างไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง สลับกันไป สัญญาก็จำได้แล้วก็หายไป เห็นภาพแล้วก็จำว่าเป็นใคร จำเสร็จแล้วก็หายไป ได้ยินเสียงก็จำว่าเสียงนี้เป็นเสียงของใคร มีความหมายว่าอย่างไร แล้วก็หายไป สังขารก็ปรุงแต่งไป คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดแล้วก็ดับไปหายไป แล้วก็คิดเรื่องใหม่ต่อ วิญญาณก็รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย รับรู้แล้วก็ดับไป นี่คือนามขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการเกิดดับๆ ถ้าไม่ไปยุ่งกับเขาก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา เช่นเวลาเกิดความเจ็บก็อยากจะให้หายเจ็บ ก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ที่รุนแรงกว่าความเจ็บของเวทนา เช่นเวลานั่งแล้วเจ็บ ร่างกายเจ็บเรียกว่าทุกขเวทนา ถ้าอยากให้ทุกขเวทนาหาย ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก อยากให้ทุกขเวทนาหายไป

 

ความทุกข์ในใจนี้ รุนแรงกว่าความทุกข์ของเวทนาหลายร้อยเท่าด้วยกัน ที่ทนกันไม่ได้ไม่ใช่ความเจ็บของร่างกาย คือทุกขเวทนา ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ต่างหากที่ทนไม่ได้ ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย ความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ถ้าควบคุมใจไม่ให้ผลิตความอยากได้ ให้ใจรับรู้เฉยๆ เป็นอุเบกขา ก็จะไม่มีทุกข์ทางใจ ทุกข์ในอริยสัจจะไม่ปรากฏขึ้นมา จะสบายใจ จะนั่งได้อย่างสบาย ร่างกายจะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป วิธีที่จะทำให้ใจเป็นอุเบกขา ในระหว่างที่เกิดทุกขเวทนา ก็มีสองวิธีคือ ๑. วิธีของสมาธิ ๒. วิธีของปัญญา วิธีของสมาธิก็ใช้คำบริกรรม ควบคุมสังขารความคิดปรุงแต่ง ไม่ให้ผลิตสมุทัยออกมา คือความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป หรืออยากจะลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ อยากจะหนีจากทุกขเวทนาไป ควบคุมสังขารความคิดปรุงแต่งด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป หรือจะสวดมนต์ไปก็ได้ ท่องอาการ ๓๒ ไปก็ได้ แล้วแต่จะถนัดกับวิธีใดก็ใช้ไป จะนับ ๑-๒-๓ ไปก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้สังขารไม่ปรุงแต่งไปในทางสมุทัย คือความอยากให้ความเจ็บหายไป

 

อย่างเวลานั่งฟังเทศน์ฟังธรรม เวลาแสดงธรรมนี้ ก็มีความเจ็บ แต่ใจไม่ได้อยู่กับความเจ็บของร่างกาย ผู้แสดงก็อยู่กับการแสดง ผู้ฟังก็อยู่กับการฟัง ก็จะสามารถนั่งได้โดยไม่รู้สึกเจ็บมาก รู้ว่าเจ็บ แต่ก็พอทนได้ เพราะสังขารไม่มีเวลาผลิตสมุทัย คือความอยากให้เวทนาหายไปนี้เอง ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ได้แสดงธรรม นั่งอยู่เฉยๆเดี๋ยวเดียวก็ต้องขยับแล้ว เพราะสังขารจะผลิตสมุทัยออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่อยากสัมผัสกับความเจ็บ อย่างนี้ก็ต้องใช้การบริกรรมเพื่อให้ใจมีอะไรทำ หรือนั่งฟังธรรมไป ก็จะนั่งได้นาน จะไม่รู้สึกเจ็บมาก เพราะใจไม่ไปรับรู้ความเจ็บของร่างกาย ใจรับรู้กับเสียงธรรมที่มาสัมผัส แล้วพิจารณาตาม ใจก็เลยสงบเป็นอุเบกขา ไม่ทุกข์กับความเจ็บของร่างกาย ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็ต้องใช้การบริกรรมหรือใช้การสวดมนต์ คาถาไหนก็ได้ เป็นอุบาย คาถาไหนก็มีผลเหมือนกัน คือทำให้ใจเป็นอุเบกขาเหมือนกัน เมื่อมีงานให้สังขารทำ สังขารก็จะไม่สามารถผลิตสมุทัย ผลิตความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ก็จะสามารถนั่งอยู่ได้ และเข้าสู่ความสงบได้ ผ่านความเจ็บของร่างกายไปได้ ด้วยอำนาจของการบริกรรมพุทโธ หรือการสวดมนต์ นี่ก็เป็นวิธีที่ ๑ ที่จะทำให้ผ่านความเจ็บของร่างกายไปได้

 

เวลาเกิดความเจ็บของร่างกาย ไม่ว่าจะเจ็บในขณะที่นั่งสมาธิหรือเจ็บในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ารู้จักการภาวนา รู้จักบริกรรมพุทโธ รู้จักสวดมนต์ ก็สามารถผ่อนคลายความทุกข์ทางใจได้ ความจริงเราไม่ได้ผ่อนคลายความเจ็บของร่างกาย แต่ผ่อนคลายความเจ็บทางใจ สมมุติว่าความเจ็บมี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ความเจ็บ ๙๐ เปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่ใจ อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ร่างกาย ถ้าภาวนาเป็น บริกรรมพุทโธได้ สวดมนต์ได้ ความเจ็บ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็จะหายไป เหลือความเจ็บเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เป็นปัญหาเลย เพราะกำจัดความเจ็บส่วนใหญ่ได้ด้วยวิธีของสมาธิ ถ้ามีสมาธิแล้วก็จะมีกำลังรับรู้ความเจ็บของร่างกายได้ พอจะให้มีเวลาพิจารณา ดูความเจ็บของร่างกาย ว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เหมือนกับเสียงลมพัดที่เรากำลังรับรู้อยู่นี้ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เรารับรู้ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นฝนตกแดดออกนี้เราก็รับรู้ แต่เราไม่ไปทุกข์กับเขา เพราะรู้ว่าไปห้ามเขาไม่ได้ ลมจะพัดก็หยุดลมไม่ได้ ฝนจะตกก็หยุดฝนไม่ได้ ฉันใด เวทนาก็เป็นอย่างนั้น เป็นเหมือนลม เป็นเหมือนฝนตก ห้ามเขาไม่ได้ พอปรากฏขึ้นมาถ้าเรารับรู้โดยไม่ผลิตสมุทัย คือความอยากให้เขาหยุด ให้เขาหายไป ใจก็จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บของร่างกาย

 

นี่คือวิธีของปัญญา พิจารณาทุกขเวทนาว่าเป็นไตรลักษณ์ เกิดๆดับๆ มาแล้วก็ไป ห้ามเขาไม่ได้ แต่เราห้ามความทุกข์ภายในใจได้ ด้วยการใช้ปัญญา ด้วยการหยุดความอยาก ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ห้ามเขาไม่ได้ ก็จะไม่อยากให้เขาหายไป พอไม่อยาก ความทุกข์ใจ ที่แรงกว่าความทุกข์ของร่างกายก็จะหายไป ทำให้สามารถรับรู้กับความทุกข์ของร่างกายได้อย่างไม่สะทกสะท้าน นี่คือวิธีของปัญญา ต้องมีสมาธิก่อนถึงจะพิจารณาได้ เพราะถ้าไม่มีสมาธิ เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ก็จะเป็นเหมือนไก่ตาแตกเลย ไม่มีสติหลงเหลืออยู่เลย เพราะสมุทัยจะออกมาทำงานทันทีเลย อยากจะให้หาย อยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ จะคิดอย่างนี้อย่างเดียว จะไม่พิจารณาดู ว่าทุกขเวทนาก็ไม่รุนแรง เป็นเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ห้ามเวทนาไม่ได้ เป็นเรื่องปกติของเวทนา ที่จะต้องปรากฏขึ้นมาให้เรารับรู้ เหมือนกับฝนตกแดดออก ที่เราไม่สามารถไปห้ามเขาได้ แต่เราก็อยู่กับเขาได้ ถ้าอยู่กับฝนตกแดดออกได้ฉันใด เราก็อยู่กับทุกขเวทนาได้ฉันนั้น เพราะเป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ฝนตกแดดออกเป็นสภาวธรรมภายนอก ทุกขเวทนาทางร่างกายก็เป็นสภาวธรรมภายในร่างกาย เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ถ้าอยากก็จะทุกข์เหมือนกัน ถ้าอยากให้ฝนตกก็จะทุกข์เหมือนกัน ถ้าอยากให้เวทนาหายก็จะทุกข์เหมือนกัน ถ้าปล่อยวางได้ ก็จะไม่ทุกข์กับทุกขเวทนา ไม่ทุกข์กับฝนตก ทุกขเวทนาจะปรากฏก็ปล่อยปรากฏไป ฝนจะตกก็ปล่อยให้ตกไป นี่คือวิธีของปัญญา

 

ต้องใช้ปัญญาเปรียบเทียบดู ของบางอย่างทำไมเราทนได้ ทำไมบางอย่างเราทนไม่ได้ ก็เพราะว่าเราติดนิสัย เคยชอบอะไรก็ทนได้กับสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราไม่ชอบจะทนไม่ได้ ก็ต้องปรับใจของเรา อย่าไปไม่ชอบในสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น ให้ชอบในสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น แล้วจะไม่ผิดหวัง จะไม่เสียใจ จะไม่ทุกข์ใจ แต่อย่าไปชอบในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะถ้าไปชอบในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็จะทำให้อาลัยอาวรณ์เสียดายอยากจะได้กลับคืนมา ให้ชอบในสิ่งที่ปรากฏขึ้น และอย่าไปชอบในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แล้วใจจะเป็นอุเบกขาตลอดเวลา จะอยู่อย่างสงบสุข จะไม่ทุกข์กับสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นสภาวธรรมที่ละเอียดที่ปรากฏอยู่ภายในจิต ก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ ใจก็จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้เหมือนน้ำบนใบบัว สัมผัสรับรู้แต่ไม่ซึมซาบ ไม่ยุ่งกัน เวทนาจะปรากฏก็ปล่อยให้ปรากฏไป ใจจะไม่ไปจัดการกับเวทนา จะไม่อยากให้เวทนาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เวทนาจะปรากฏขึ้นมาอย่างไรก็รู้ทันว่าเป็นไตรลักษณ์ เกิดขึ้นมาแล้วเดี๋ยวก็ดับไปผ่านไป ไม่ต้องทำอะไร ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ถ้าสามารถควบคุมใจสอนใจ ให้สักแต่ว่ารู้ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็จะไม่มีความทุกข์ภายในใจตลอดเวลา นี่คือวิธีของปัญญา ที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถาวร

 

ถ้าใช้วิธีของสมาธิก็จะต้องแก้ไปเรื่อยๆ จะต้องบริกรรมพุทโธ จะต้องสวดมนต์ไป ถึงจะดับความทุกข์ได้ เวลาปรากฏขึ้นมาใหม่ก็ต้องแก้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าแก้ด้วยปัญญาได้แล้วก็จะไม่ต้องแก้อีกต่อไป จะเพียงแต่สักแต่ว่ารู้เท่านั้น รู้ว่าทุกขเวทนาปรากฏขึ้นมาแล้ว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เหมือนฝนตกแดดออก ตราบใดที่ยังมีร่างกายนี้อยู่ ตราบนั้นก็ยังต้องมีความเจ็บของร่างกายอยู่เสมอ จนกว่าร่างกายนี้จะหมดสภาพไป หลังจากนั้นแล้วก็สบาย ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระหนักอย่างยิ่ง เป็นกองทุกข์นี้เอง อุปาทานในขันธ์ ๕ ก็คือความทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทาน ปล่อยวาง สักแต่ว่ารู้ ขันธ์ ๕ ก็จะไม่เป็นกองทุกข์ แต่ยังต้องสัมผัสรับรู้กับการเจริญการเสื่อมของขันธ์ ๕ อยู่ แต่จะเป็นการสัมผัสรับรู้แบบน้ำบนใบบัว ไม่ใช่สัมผัสรับรู้แบบน้ำบนกระดาษซับ ที่เวลาสัมผัสกับน้ำจะดูดน้ำไปหมดเลย ฉันใดใจของผู้ที่ยังไม่มีสติสมาธิปัญญา เวลาสัมผัสรับรู้กับสภาวธรรมก็จะซึมซับไปหมดเลย เป็นของเราเป็นตัวเรา อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ทันทีเลย

 

นี่คือความแตกต่างระหว่างจิตที่หลุดพ้นแล้ว กับจิตที่ยังไม่หลุดพ้น คือเป็นใบบัวหรือเป็นกระดาษซับ ผู้ที่หลุดพ้นแล้วก็เป็นใบบัว ถึงแม้จะสัมผัสน้ำมากน้อยเพียงไร ก็ไม่ซึมซับเข้าไปในใบบัว แต่กระดาษซับนี่ ไม่ว่าน้ำจะมากหรือน้อยก็จะซึมซับเข้าไปหมดเลย ทุกข์มากน้อยเพียงไรก็จะแบกเต็มที่เลย นี่คือใจของผู้ที่ยังไม่ได้รับการชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ นี่คือเหตุผลที่พวกเราต้องมาชำระใจกัน มาภาวนากัน มาทนทุกข์ยากลำบากกับการอยู่ในสถานที่อัตคัดกัน ที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสที่เคยให้ความสุขกับเรา มารักษาใจ มาเข้าโรงพยาบาล แต่สมัยนี้โรงพยาบาลมักจะเป็นเหมือนโรงแรมไปเสียแล้ว เพราะมีทุกอย่าง ดีกว่าอยู่ที่บ้านอีก มีตู้เย็น มีโทรทัศน์ มีอะไรพร้อมไปหมด รักษาได้แต่ร่างกาย แต่ใจกลับเอายาพิษมาให้ แทนที่ใจจะสบาย ใจกลับทุกข์มากขึ้น เพราะดูอะไรก็ไม่สนุกไม่เหมือนตอนที่หายป่วย ก็อยากจะให้หายเร็วๆ พอยิ่งอยากจะให้หายเร็วๆ ก็จะเกิดความทุกข์มากขึ้นไป ถ้าไม่หายก็จะยิ่งเครียดใหญ่ เพราะอยากจะดูหนังดูละครเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้นไป

 

อย่ามีสิ่งอำนวยความสุขทางกิเลสตัณหาเลยจะดีกว่า สิ่งที่ให้ความสุขกับใจก็คือการภาวนา การฟังเทศน์ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ เพื่อจะได้เตือนสติให้ภาวนา ให้พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา จะได้รักษาใจควบคู่กับการรักษากาย ไม่ใช่กายหายแต่ใจกลับแย่ลง เพราะเกิดกิเลสตัณหามากขึ้น พอหายป่วยก็อยากจะออกไปเที่ยวมากขึ้น อยากจะกินอยากจะดื่มมากขึ้น นี่คือเหตุผลของการศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะจะได้รู้จักวิธีดำเนินชีวิต ให้ไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีธรรมะเป็นเครื่องนำทาง เราก็จะหลงทาง จะไม่มีวันไปถึงจุดหมายปลายทาง ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายไปถึงกันได้เลย ต้องยึดพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นผู้นำทาง ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่อย่างต่อเนื่อง การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง อย่างที่ได้ทรงแสดงไว้ในกาลามสูตร ขอให้พวกเราหมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อให้เกิดศรัทธาความเชื่อ ให้มีวิริยะความพากเพียร ที่จะปฏิบัติอย่างสุดกำลัง แล้วผลประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้รับ ก็จะเป็นผลประโยชน์ของพวกเราต่อไป

 

คราวนี้ไม่ได้มาหลายคน แสดงว่าออกไปปฏิบัติกัน ส่วนพวกเรายังอยู่ในห้องเรียน ยังปริยัติกันอยู่ ปริยัติแล้วก็ต้องปฏิบัติ ถึงจะได้พบกับปฏิเวธ ปฏิเวธก็คือสอบผ่าน ต้องเข้าห้องสอบ ถึงจะรู้ว่าสอบผ่านหรือไม่ ถ้าเรียนอย่างเดียวไม่สอบก็จะไม่ได้ใบประกาศฯ ต้องเข้าห้องสอบถึงจะรู้ว่าผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับมาเรียนใหม่ เรียนเพิ่มขึ้น แสดงว่าทำการบ้านน้อยไป เรียนแบบเข้าหูซ้ายออกหูขวา ไม่เข้าไปในใจ เพราะเวลาฟังไม่มีสติ ใจลอยไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ฟังอย่างนี้จะไม่ได้อรรถรส ไม่ได้รู้เหตุรู้ผลของธรรม ก็จะเป็นเหมือนทัพพีในหม้อแกง พระอานนท์ก็น่าสงสาร ฟังธรรมยี่สิบกว่าปี ไม่มีโอกาสไปปฏิบัติ เพราะติดภาระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ แต่ท่านฟังด้วยจิตใจที่จดจ่อ จำพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงได้ทุกกัณฑ์ เวลาพระสงฆ์สังคายนาพระไตรปิฎก ก็มีพระอานนท์นี่แหละเป็นผู้แสดงธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ตอนที่จะรับใช้พระพุทธเจ้า พระอานนท์มีเงื่อนไขอยู่หลายข้อด้วยกัน ข้อหนึ่งก็คือ เวลาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมที่ไหนแล้วพระอานนท์ไม่ได้ตามไปด้วย กลับมาต้องแสดงให้พระอานนท์ฟัง นี่เป็นค่าจ้างที่พระอานนท์เรียกร้องจากพระพุทธเจ้า เป็นค่าจ้างที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเงินทอง พอว่างจากภารกิจที่จะต้องอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ท่านก็ใช้เวลาปฏิบัติเพียง ๓ เดือน ก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้

 

นี่คือตัวอย่างให้เราเห็นชัดๆว่า ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมจนเข้าใจแล้ว นำไปปฏิบัติจริงๆจังๆ ก็จะใช้เวลาไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีก็บรรลุได้ อย่างพระอานนท์ก็ ๓ เดือน พระโปฐิละก็ไม่กี่วัน ไปให้สามเณรเป็นอาจารย์ ก่อนหน้านั้นเวลาเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า เธอเป็นใบลานเปล่า ใบลานเปล่า บวชไปก็บวชไปเปล่าๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการบวช เรียนไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเรียน เพราะไม่นำเอาไปปฏิบัติ เจอพระพุทธเจ้าทีไรก็โดนว่าอย่างนี้ทุกที ก็เลยต้องกระตือรือร้น ออกไปหาสำนักปฏิบัติหาอาจารย์สอน ก็ไปได้สำนักที่มีแต่พระอรหันต์ทั้งนั้น แต่พระอาจารย์แต่ละองค์ก็ไม่ยอมสอน อ้างว่าพระโปฐิละเป็นพระเถระ มีพรรษามากกว่า ไม่อยากจะสอนพระผู้ใหญ่ ก็เลยต้องไปขอสามเณรเป็นอาจารย์ อาจจะเป็นอุบายทดสอบจิตใจของพระโปฐิละก็ได้ ว่าลดมานะทิฐิของตนได้หรือเปล่า ถือว่ามีพรรษาสูงได้เรียนมามาก ก็เลยต้องให้สามเณรเป็นอาจารย์ ตอนต้นสามเณรก็ทำท่าจะไม่รับไปสอน พระเถระก็เลยพูดคะยั้นคะยอให้สามเณรรับ ตอนต้นสามเณรก็ยังไม่สอน ยังไม่รู้ว่าจะเชื่อฟังหรือเปล่า ต้องเอามาใช้ให้ทำอะไรต่างๆ จนมั่นใจว่าเชื่อฟังแล้ว ให้ทำอะไรก็ทำตาม ให้ลุยลงไปในน้ำ ไปหยิบของ พอลงไปเปียกครึ่งตัวก็บอกไม่เอาแล้ว เปลี่ยนใจ จะดูว่ามีความโกรธหรือไม่ ท่านก็ไม่มีอาการอะไรทั้งนั้น ทำด้วยความเคารพจริงๆ เชื่อฟังจริงๆ สามเณรจึงสอนวิธีกำจัดกิเลสตัณหา ด้วยการปิดทวารทั้ง ๕ คือ ตาหูจมูกลิ้นกาย ให้มีสติเฝ้าดูอยู่ที่ความคิด เจริญสติ ควบคุมความคิดให้จิตสงบเป็นสมาธิ เวลากิเลสโผล่ออกมา ให้ตัดด้วยไตรลักษณ์ด้วยปัญญา พอเกิดตัณหาก็ตัดด้วยไตรลักษณ์ ตัดด้วยปัญญา ไม่นานก็บรรลุได้

 

ไม่ยากหรอก ถ้าเรียนกับคนที่รู้จริงเห็นจริง แล้วตั้งใจปฏิบัติจริง ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ ต้องไม่เอาอะไรเลยในโลกนี้ ทิ้งหมดเลย พุ่งไปที่ธรรมะอย่างเดียว ถ้ายังห่วงนั่นห่วงนี่ เสียดายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อย่าปฏิบัติให้เสียเวลา ไปไม่รอด ต้องตัดหมดเลย ไปตัวเปล่าๆ ไม่มีอะไรติดตัวไป ไปรับของใหม่ อย่าเอาของเก่าไปด้วย ต้องเทน้ำชากาแฟที่อยู่ในถ้วยทิ้งไปให้หมดเลย เพื่อรองรับน้ำแห่งธรรม ถ้าใจยังยึดติดอยู่กับความสุขแบบเดิมๆอยู่ ยังยึดติดกับลาภยศสรรเสริญ กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ ก็จะรับธรรมะเข้าไปสู่ใจไม่ได้ อย่างเวลาบวชต้องลดมานะทิฐิ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม บวชเป็นพระบวชใหม่ก็ให้อยู่ปลายแถว จะมีอายุ ๘๐ – ๙๐ ปีก็อยู่ปลายแถว จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นมหาเศรษฐีก็อยู่ปลายแถว ให้ตัดความเป็นอะไรต่างๆที่เคยเป็นไปให้หมดเลย เวลาคนใหญ่คนโตบวชมักจะขัดกับหลักธรรม ต้องมีบริวารรับใช้ ถ้าบวชแบบนี้ก็อย่าบวชให้เสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์ ต้องบวชเพื่อลดละมานะทิฐิความถือตน ถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีผู้รับใช้ ถือบาตรให้ ล้างบาตรให้ เช็ดถูกุฏิให้ ทำตัวเป็นเหมือนอาจารย์ ถ้าทำอย่างนี้ก็หลงทางแล้ว บวชปั๊บก็ตั้งตัวเป็นอาจารย์เลย ยังไม่ได้พรรษาเลย ไปตั้งสำนักเป็นอาจารย์แล้ว อย่างนี้ไม่ได้บวชเพื่อละกิเลส แต่บวชเพื่อเสริมกิเลส

 

ถาม  เพื่อนที่ไปผ่าหลังและต้องใส่ข้อเทียมอีกสองอัน เขาค่อยยังชั่วแล้ว ออกจากไอซียูแล้วเจ้าค่ะ

 

ตอบ หมอสมัยนี้เก่ง แต่อย่าหวังอะไรกับร่างกายมากเลย ต้องเสื่อมไปตามวาระ ไม่ว่าจะเป็นของใคร ทำใจปล่อยวางร่างกายให้ได้จะดีกว่า เพราะสักวันหนึ่งก็ต้องไปเจอยกสุดท้าย ต้องโดนน็อคอยู่ดี ไม่โดนยกนี้ก็ต้องโดนยกหน้า ถ้าปล่อยวางร่างกายได้ก็จะไม่เป็นปัญหา ยกไหนก็ได้ ยกนี้ก็ได้ ยกหน้าก็ได้ ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ถ้าไม่อยากได้อะไร ไม่ต้องมีร่างกายก็ได้ สิ่งต่างๆในโลกนี้เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา อยากได้ไปทำไม ได้แล้วก็ต้องทุกข์กับสิ่งที่ได้มา เพราะไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากกันอยู่ดี ได้รถเบนซ์มา ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี ได้เงินร้อยล้านพันล้าน ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี เอาไปทำไม เอาไปให้ทุกข์ไปเปล่าๆ เอาความสงบไปดีกว่า เอาความสบายใจไปดีกว่า เอาความปล่อยวางไปดีกว่า ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ ไม่อยากจะได้อะไร อันนี้แหละเป็นสิ่งที่วิเศษสำหรับใจ ไม่ใช่มีนั่นมีนี่แล้วจะดี อันนั้นดีสำหรับกิเลส เวลาได้อะไรมากิเลสจะดีอกดีใจ แล้วก็มาผลิตความทุกข์ให้กับใจ เพราะอยากให้อยู่กับใจไปนานๆ อยากมีมากขึ้นไปอีก ไม่อยากให้มีน้อยลงไป ก็จะกดดันจิตใจ ทำให้เครียด ถ้าไม่อยากได้อะไร จะสบาย

 

ถาม  ท่านมีผ้าห่มใช้ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ผ้าห่มถือเป็นผ้าบริวาร ถ้ามีคนถวายก็รับเอาไว้ใช้ได้ แต่ไม่ให้ยึดติดว่าเป็นผ้าครอง เป็นผ้าเสริม ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เวลาไปไหนก็ไม่เอาติดตัวไป เอาแค่ผ้าไตรไปก็พอ พระปฏิบัติท่านอยู่ง่าย ไปไหนท่านจะมีเครื่องนอนเครื่องกินครบบริบูรณ์ มีบาตรใบหนึ่งก็เป็นเครื่องกินแล้ว มีกลดมีมุ้งก็เป็นบ้านของพระได้แล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็กางกลดกางมุ้ง อยู่ตรงไหนก็อยู่ได้ ผ้าห่มก็ใช้ผ้าไตร ไปแบบนก ไปตัวเบาๆ ไปแบบสบาย ไม่ไปแบบพะรุงพะรัง เดินธุดงค์ไปไม่ได้กี่ก้าวก็หมดแรง สมัยก่อนท่านเดินธุดงค์จากอีสานไปเชียงใหม่ ไปตามหาหลวงปู่มั่น จากอุบลฯ จากอุดรฯ ท่านก็เดินธุดงค์ไปกัน ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น เช้าบิณฑบาตเสร็จก็เดินต่อ เดินจงกรมภาวนาไป ไม่คุยกัน ไม่เดินเหมือนพวกฆราวาสเดินกัน พระจะเดินเป็นแถว เดินตามกันไป ต่างคนต่างเจริญสติไป ควบคุมความคิดไป ถ้าเข้าสู่การปฏิบัติแล้วจะมีความสุข ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยจะยาก ใจไม่ได้ทุกข์ไปกับความเหนื่อยยากของร่างกาย ใจอยู่กับธรรมมีความสงบมีความสุข สุขกว่าฆราวาสที่มีความสุขทางร่างกาย แต่ใจเครียดกับเรื่องราวต่างๆ กินไม่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวลวุ่นวายไปหมด นี่คือความแตกต่างกัน ฆราวาสจะทุกข์ทางใจสบายทางกาย พระจะทุกข์ทางกายแต่สบายทางใจ ความทุกข์ทางกายจะบังคับให้สร้างที่พึ่งทางใจ คือความสงบ สร้างความปล่อยวาง หยุดความอยาก ใจจึงจะมีความสุขได้ ความสุขทางร่างกายจะทำให้เกิดตัณหาความอยาก และอุปาทานความยึดติดเพิ่มมากขึ้น ยึดติดกับความสุขของร่างกาย อยากจะให้ร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็โกลาหลกันไปหมด วุ่นวายกันไปหมด เพราะไปยึดไปติดกับร่างกาย ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย นักบวชจะไม่ยึดติดกับร่างกาย เพราะรู้ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ก่อนที่ร่างกายจะแก่เจ็บตาย ก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เอามาใช้ปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิ

 

พวกเราต้องพิจารณาดูนะ ว่ากำลังเดินไปทางไหน ฟังเทศน์ฟังธรรมกันแล้ว ก็อย่าลืม ฟังแล้วต้องเอาไปคิดต่อ ถ้าคิดแล้วจะเกิดศรัทธาเกิดวิริยะขึ้นมา เป็นธรรมที่สำคัญ ถ้าไม่มีศรัทธาไม่มีวิริยะก็จะไม่สามารถออกปฏิบัติได้ ศรัทธาเชื่อว่าทางนี้แหละเป็นทางที่ดีที่สุด ถึงแม้จะทุกข์ยากลำบากทางร่างกาย แต่เป็นทางที่จะพาไปสู่ความสุขความสบายใจ เริ่มต้นก็จะทุกข์ยากลำบาก ต่อไปก็จะง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะสบาย ตอนต้นคิดว่าทุกข์ยากลำบาก เช่นกินข้าวมื้อเดียว อยู่แบบตามมีตามเกิด แต่พอทำไปเรื่อยๆแล้วก็เกิดความเคยชิน ก็จะไม่รู้สึกยากลำบาก กลับชอบเสียอีก เพราะสบายใจ ไม่วุ่นวายไม่ยุ่งยาก สุขทางกายนี่ต้องวุ่นวายกับเรื่องหลายอย่าง เรื่องบ้าน เครื่องตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ สี ม่าน แอร์ ไฟฟ้า น้ำประปา เวลาเสียชำรุด ก็ต้องซ่อม นี่กำลังไปผิดทาง ถ้าไปหาความสุขความสะดวกทางร่างกาย

 

พวกเราควรหาความสุขความสะดวกทางจิตใจ ด้วยการอยู่แบบสมถะเรียบง่าย แล้วก็พยายามสร้างธรรมะขึ้นมาทุกเวลานาทีตั้งแต่ตื่นจนหลับ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง ควบคุมจิตใจเหมือนเป็นนักโทษ อย่าปล่อยให้ลอยไปที่อื่น ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่กับร่างกาย ถ้าร่างกายอยู่ตรงนี้ แต่ใจไปอยู่ที่กรุงเทพฯ แสดงว่าใจลอยไปแล้ว ไม่มีสติแล้ว ร่างกายอยู่ตรงไหนใจก็ต้องอยู่ตรงนั้น ถ้าไม่อยู่กับร่างกายก็ต้องอยู่กับพุทโธ บริกรรมพุทโธไป ให้พุทโธเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจ จะใช้ธรรมบทไหนก็ได้ ใช้อานาปานสติก็ได้ ใช้อาการ ๓๒ ก็ได้ ต้องมีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจ เพราะธรรมชาติของจิตใจชอบลอยไปตามอารมณ์ ชอบไปอดีตชอบไปอนาคต ชอบไปหาคนนั้นคนนี้ ชอบไปที่นั่นที่นี่ ไม่ชอบอยู่ในปัจจุบัน อยู่ตรงนี้ก็อยากจะไปตรงนั้น พอไปถึงตรงนั้นก็อยากจะกลับมาตรงนี้อีก ธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้

 

บางทีเราต้องบังคับให้นั่งอยู่กับที่ครั้งละ ๔ - ๕ ชั่วโมง ถ้ายังนั่งแบบให้เจ็บเพื่อสู้กับเวทนาของร่างกายไม่ได้ ก็นั่งแบบสบายๆไปก่อน นั่งเก้าอี้ไป เวลาเจ็บจะขยับก็ได้ แต่อย่าลุกอย่าไปที่อื่น ถ้าจะลุกก็ลุกขึ้นยืนตรงนั้น พอหายเมื่อยก็กลับลงไปนั่งใหม่ ทำแบบนี้ไปก่อนก็ได้ ต้องจำกัดบริเวณ อย่าให้กิเลสตัณหาสั่งให้ไปตรงโน้นมาตรงนี้ นั่งไปสัก ๕ - ๖ ชั่วโมง เป็นการต่อสู้กับกิเลสในระดับหนึ่ง ถ้าจะสู้อย่างสบายก็ต้องเจริญสติ จะไม่ฟุ้งซ่านไม่เครียด จะควบคุมความอยากได้ เช่นบริกรรมพุทโธๆไป จะควบคุมความอยากไม่ให้เกิดขึ้นได้ พอไม่เกิดความอยากก็จะสบาย สวดมนต์ไปก็ได้ แต่อย่าฟังเทศน์ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือเพราะเป็นของนอกกายนอกใจ ต้องเอาของในใจเป็นเครื่องมือ ไม่พึ่งสิ่งภายนอก สรณะที่แท้จริงต้องอยู่ในใจ ถ้าจะใช้ธรรมะก็ต้องเอาธรรมะที่ได้ฟังมาแล้วมาพิจารณา อย่าไปเอาธรรมะภายนอก เวลาปฏิบัติจะไม่เอาเลย เรื่องหนังสือเรื่องเทปนี้ นอกจากเวลาที่เรากำหนดไว้ฟังธรรม ฟังเพื่อเสริมความรู้เสริมทักษะนี้ทำได้ แต่ในขณะที่ปฏิบัติจริงๆ เวลาเข้าสนามสอบจริงๆ จะไม่เอาหนังสือเข้าไป ถ้าจะทดสอบสมรรถภาพ ความรู้ความสามารถของเรา ว่าเป็นที่พึ่งของเรา เป็นอัตตาหิ อัตตโน นาโถได้หรือเปล่า

 

ต้องพยายามกำจัดความอยากต่างๆ ลองขังตัวเองในห้อง แล้วบังคับให้นั่งอยู่บนเก้าอี้ ครั้งละ ๕ – ๖ ชั่วโมง อย่าลุกขึ้น เอาน้ำเปล่าวางไว้ข้างๆ ถ้าหิวน้ำก็ดื่ม อย่าดื่มน้ำที่มีกลิ่นมีสีมีรส เพราะเป็นความอยากอีกแบบหนึ่ง ดื่มเพื่อร่างกาย เหมือนดื่มยารับประทานอาหารมื้อเดียวตอนเช้า แล้วนั่งให้ถึงเย็นเลย มืดเมื่อไหร่ค่อยลุก ถ้ายังไม่ต้องเปิดไฟก็ยังไม่ลุก ดูซิว่าจะทำได้ไหม เวลาความอยากหยุดดิ้นนี้ จะสบายใจโล่งใจ เหมือนบ่งหนามออกจากเท้า ใจจะเบาสบายสงบ ถึงแม้จะไม่สงบแบบรวม แต่สงบจากความดิ้นรนของกิเลสตัณหา ถึงรู้ว่าที่ทุกข์ก็เพราะกิเลสตัณหานี้เอง ดิ้นอยู่เรื่อยๆ เวลาดิ้นก็เหมือนหนามตำเท้า จะเจ็บทุกครั้งที่เหยียบ ลองทำดู ไม่ยากหรอก นั่งเฉยๆจะยากตรงไหน นั่งได้แล้วจะสบาย

 

ถาม  ที่พระอาจารย์สอนนี่ค่อนข้างจะเข้มนะคะ

 

ตอบ  เข้มอะไร นั่งเฉยๆคนเดียวนี่เข้มแล้วหรือ

 

ถาม  พระอาจารย์บอกว่าทานอาหารตอนเช้ามื้อเดียวก็พอ แล้วก็นั่งถึงค่ำเลย นี่เข้มนะคะ

 

ตอบ  ลองดูสิ ร่างกายไม่ได้เจ็บตรงไหนเลย นั่งอย่างสบาย ถ้าเมื่อยก็ยืนได้ หายเมื่อยก็นั่งต่อ แล้วจะเห็นการดิ้นของกิเลส จะเห็นเวลากิเลสสงบตัวลง จะสบายจะสุขอย่างไร ถึงจะรู้ว่าตัวเราเป็นทาสของกิเลส ทุกครั้งที่กิเลสดิ้นนี่ ทำให้เราต้องทรมานใจ เหมือนคนติดยาเสพติด เวลาอยากขึ้นมานี่ จะทรมานใจมาก อยากบุหรี่ อยากสุรา อยากไปเที่ยว อยากไปช้อปปิ้งก็แบบเดียวกัน พอไม่ได้ไปก็หงุดหงิด ลองสู้กับกิเลสดู เอากิเลสให้ตายไปเลย กิเลสตายครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปกิเลสจะไม่ค่อยกล้า

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิจะติดฟังเทศน์ค่ะ นั่งเองจะไม่สงบ จะฟุ้งซ่านค่ะ

 

ตอบ  นั่งสมาธิแล้วฟังเทศน์ไปก็ทำได้ เป็นเหมือนการทำการบ้าน สร้างพลังจิตขึ้นมาก่อน สร้างสมาธิขึ้นมาก่อน พอมีสมาธิแล้วค่อยนั่งต่อสู้กับกิเลสตัณหา ตอนนั่งฟังเทศน์เป็นการทำการบ้าน ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ พอได้สมาธิแล้ว ก็เข้าห้องสอบสู้กับความอยากที่จะไปตรงนั้นมาตรงนี้ วันนี้ไม่ต้องไปไหน ให้อยู่เฉยๆ อยู่จุดเดียว ดูว่าจะอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ได้ก็แสดงว่ากิเลสตัณหาไม่ค่อยแรงไม่ค่อยมาก พอควบคุมกิเลสได้ ถ้านั่งไม่ได้ก็แสดงว่ายังสู้กิเลสไม่ได้ เพียงแต่คิดก็กลัวกิเลสแล้วใช่ไหม

 

ถาม  เวลานั่งเฉยๆนี่ ถ้าจิตจะคิดโน่นคิดนี่ก็ปล่อยให้คิด

 

ตอบ  ถ้าปล่อยให้คิดก็ยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่เลย

 

ถาม  ต้องไม่คิด

 

ตอบ  ถ้าไม่คิดก็จะสบายเหมือนเปิดแอร์ ถ้าร้อนเราก็เปิดแอร์ เราก็พุทโธๆไป เหมือนกับเปิดแอร์ จะช่วยสกัดความคิดที่อยากจะลุกไปไหนมาไหน ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องใช้ความอดทน จะยากมาก ถ้าพุทโธได้จะง่าย ความจริงไม่ได้พุทโธไปทั้ง ๖ ชั่วโมงหรอก พุทโธไปสักระยะหนึ่ง พอรู้สึกสบายก็หยุดได้ พอกลับมาคิดใหม่ อยากจะลุกขึ้น ก็พุทโธใหม่ ก่อนจะเข้าห้องสอบควรจะมีสติสมาธิและปัญญาบ้าง ถ้าไม่มีก็จะไม่อยากเข้าห้องสอบ

 

ถาม  ถ้าเกิดมันเริ่มง่วงละเจ้าคะ

 

ตอบ  ก็ยืน

 

ถาม  ถ้าหลับ

 

ตอบ  ให้หลับทั้งยืน อย่านั่ง ควรอดอาหารด้วย จะได้ไม่ง่วง

 

ถาม  เข้าห้องน้ำได้ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ พอเข้าเสร็จก็กลับมานั่งต่อ ห้ามไปที่อื่น

 

ถาม  เวลาครูบาอาจารย์นั่งตลอดรุ่งนี่ ท่านนั่งตลอดเลยหรือคะ

 

ตอบ  ท่านนั่งขัดสมาธิ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย ท่านต้องการพบกับเวทนาขั้นสูงสุด ถ้าผ่านขั้นนั้นไปแล้ว เวลาจะตายจะไม่เดือดร้อน เพราะจะเจ็บขนาดไหนใจก็จะเป็นอุเบกขา ปล่อยวางได้ ไม่สะทกสะท้านกับความเจ็บ ต้องมีธรรมะแก่กล้าแล้ว มีสติสมาธิปัญญา ถึงจะพร้อมเข้าห้องสอบต่อสู้กับทุกขเวทนา

 

ถาม  ถ้านั่งตลอดรุ่งได้ แสดงว่าได้ฌาน ๔ ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  เวลานั่งต่อสู้กับทุกขเวทนาจะไม่เข้าสมาธิ ต้องการใช้ปัญญา เวลาเจ็บจะไม่เข้าไปในสมาธิ จะใช้ปัญญาวิเคราะห์ ให้เห็นว่าเป็นเหมือนฝนตกแดดออก ไปสั่งไปห้ามทุกขเวทนาไม่ได้ ต้องอยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ ใจไม่ผลิตความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ไม่ผลิตความอยากลุกจากที่นั่งไป ก็จะอยู่กับทุกขเวทนาได้ ปล่อยวางทุกขเวทนาได้ ต่างฝ่ายต่างอยู่ ใจก็รับรู้ไป ร่างกายก็นั่งเฉยๆ เวทนาจะแสดงตนอย่างไร ก็ปล่อยให้เขาแสดงไป ใจเหมือนคนดูละคร ร่างกายเป็นเหมือนเวทีละคร เวทนาเป็นเหมือนตัวละคร ทุกขเวทนาก็คือตัวยักษ์ คนดูก็ต้องดูไป อย่าหลับตา อย่าหนี อย่าลุกไปเข้าห้องน้ำ เหมือนเวลาดูหนังผี พอผีออกมาก็กลัวหลับตาไม่อยากดู ต้องนั่งดูเฉยๆ ให้รู้ว่าเป็นเพียงหนัง ทำอะไรคนดูไม่ได้ เวทนาก็เป็นเหมือนหนัง ใจเป็นเหมือนคนดู ร่างกายเป็นเหมือนจอหนัง ให้รู้อย่างนี้ ปล่อยจอหนังให้อยู่เฉยๆ ส่วนตัวแสดงคือเวทนา จะแสดงบททุกข์บทสุข บทไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ปล่อยให้แสดงไป ใจผู้ดูผู้รู้ก็ดูไป สักแต่ว่ารู้ไป ปัญหาอยู่ที่กิเลส ไม่ยอมให้สักแต่ว่ารู้ กิเลสจะบอกว่าไม่เอาแล้ว เปลี่ยนอิริยาบถดีกว่า

 

ถาม  อุเบกขานี้ไม่ใช่ฌาน ๔ ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  เวลาสงบจะไม่มีใครมาบอกว่าเป็นฌาน ๔ ฌาน ๓ ฌาน ๒ ให้รู้ว่าสงบเป็นอุเบกขาก็พอแล้ว ไม่ต้องไปรู้ว่าอยู่ฌาน ๔ ฌาน ๓ ฌาน ๒ หรอก ให้รู้ว่าใจสงบนิ่งเป็นอุเบกขาก็ใช้ได้แล้ว จะลึกมากลึกน้อยก็อยู่ที่กำลังของสติ ถ้าสติกำลังมากก็จะลงไปลึก พระพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของฌาน ๔ ว่าเป็นสักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา เป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ต้องไปถึงขั้นอรูปฌาน ขั้นฌาน ๔ ก็พอกับการพิจารณาทางปัญญา แต่เวลานั่งสมาธิจะไม่รู้หรอกว่าเป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ หรือ ฌาน ๓ จะรู้ก็ต้องมาวิเคราะห์ดูทีหลัง มาดูคุณสมบัติของฌานแต่ละขั้น ขั้นแรกก็มีวิตกมีวิจาร มีตรึกมีตรอง เช่นนั่งดูลมก็มีการตรึกตรอง รู้ว่าลมเข้า รู้ว่าลมออกนี่เป็นการตรึกเป็นการตรอง ไม่ไปคิดเรื่องอื่น อยู่กับลมอย่างเดียว ก็เป็นฌาน ๑ พอสงบลงไปอีกก็จะมีปีติ ก็จะเป็นฌาน ๒ พอสงบลงไปอีกก็จะมีความสุข ก็จะเป็นฌาน ๓ จะสงบลึกเข้าไปตามลำดับ บางทีก็จะสงบแบบพรวดพราด ถึงฌาน ๔ เลย บางทีจะค่อยๆเปลี่ยนจากฌาน ๑ ไปฌาน ๒ ไปฌาน ๓ ไปฌาน ๔ จะค่อยสงบไปทีละฌาน เหมือนเครื่องบินที่บินลดเพดานลงมา ค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ ผลนี้เราไปบังคับไม่ได้ อยู่ที่สติ อยู่ที่ภาวะจิต เวลารวมลงจะไม่เหมือนกัน อยู่ที่กำลังของสติ อย่าไปกังวลกับผล ให้เจริญเหตุคือสติเป็นหลัก ให้อยู่กับพุทโธอย่างเดียว หรืออยู่กับลมหายใจอย่างเดียว แล้วเหตุจะพาไปหาผลเอง

 

เวลาสงบก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้สงบจนกว่าจะถอนออกมาเอง เวลาสงบไม่ใช่เวลาพิจารณาปัญญา กำลังแช่น้ำให้เย็น ทำจิตให้เป็นอุเบกขาให้นานที่สุด ยิ่งนานเท่าไรได้ยิ่งดี เวลาออกมาอุเบกขาก็จะอยู่ได้นาน จะพิจารณาทางปัญญาได้นาน ถ้าเข้าห้องสอบก็จะสอบได้ ถ้าออกจากสมาธิมาแล้วยังไม่ลุกขึ้น จะนั่งต่อจนร่างกายเจ็บ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาปล่อยวางเลย ใช้ปัญญาเพื่อปล่อยวางเวทนา ถ้าหลบเข้าไปในสมาธินี่จะไม่ได้ปล่อยวาง แยกออกจากเวทนาชั่วคราว ไม่รับรู้เวทนาชั่วคราว ไม่ใช่เป็นวิธีฆ่ากิเลส คือความอยากให้เวทนาหายไป จะฆ่ากิเลสคือความอยากให้เวทนาหายไปได้ ต้องมีเวทนาเกิดขึ้นมา พอเกิดความอยากให้เวทนาหายไป ก็ต้องใช้ปัญญามาหยุดความอยาก ให้ปล่อยวางเวทนา อย่าไปอยากให้เวทนาหายไป เวทนาจะอยู่ก็ปล่อยให้อยู่ไป เราเพียงแต่รับรู้เวทนา เหมือนดูละคร ผีออกมาก็ไม่ต้องวิ่งหนี อย่าไปอยากให้ผีหายไป

 

ถาม  น้องคนหนึ่งเขาสงสัยว่า เวลาสวดมนต์ก็ยังคิดเรื่องอื่นไปด้วยได้

 

ตอบ  เพราะไม่มีสติควบคุมให้อยู่กับการสวดมนต์ ถ้าสติเป็นเชือกก็เป็นเชือกกล้วย ผูกลิงไว้กับเสา ลิงกระตุกปั๊บก็ขาด ออกไปเพ่นพ่านต่อ ถ้าพุทโธแล้วไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วย แสดงว่าสติยังอ่อนมาก ต้องไปอยู่ในที่น่ากลัว จะอยู่กับพุทโธอย่างเดียว เวลากลัวผีจะสวดมนต์อย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอื่น พระหรือนักปฏิบัติจึงมักไปหาที่น่ากลัวอยู่ จะได้เจริญสติอย่างเต็มที่ คนเราเวลากลัวอะไรสุดขีดแล้ว จะต้องหาอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ถ้าเป็นชาวพุทธก็จะยึดพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ สมัยเด็กๆเคยไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ เวลาจะนอนก็ได้ยินสียงก๊อกๆ ก็กลัว ก็นึกขึ้นมาว่าสวดมนต์ดีกว่า สวดอรหังสัมมาฯไป พอสวดไปแล้วเสียงนั้นก็หายไป ไม่รู้เป็นอุปาทานหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเสียงเกิดขึ้นในใจแล้วไปคิดว่าอยู่ข้างนอกหรือเปล่า พอสวดมนต์แล้วก็หายไป นอนได้ หลังจากนั้นก่อนนอนก็สวดมนต์ทุกคืน เห็นคุณค่าของการสวดมนต์ สวดมนต์แล้วนอนหลับสบาย คนเราถ้าไม่จนตรอกก็จะไม่หาที่พึ่งกัน การภาวนาในที่สุขสบายปลอดภัยจะไม่ค่อยได้ผล เพราะจะไม่เอาจริงเอาจัง ไม่หาที่พึ่งอย่างจริงๆจังๆ แต่พอไปอยู่ในที่อันตรายที่น่ากลัวจริงๆนี่ จะต้องหาที่พึ่ง เวลาเดินจะมีสติอยู่ทุกย่างก้าว

 

ถาม  พรุ่งนี้จะไปวัด ถ้ามีเสียงกึ๊กๆ จะทำอย่างไรดีคะ

 

ตอบ  สวดมนต์ไป หรือพุทโธๆไป

 

ถาม  บนเขานี้มีพระกลัวกันหลายองค์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  อยู่ได้คืนเดียวก็มี อยู่ไม่ได้ทั้งคืนก็มี ทุ่มสองทุ่มก็ขอกลับ ควบคุมใจไม่ได้ ความกลัวอยู่ในใจเรา ใจผลิตขึ้นมาเอง ภายนอกไม่มีอะไร ความกลัวไม่ได้อยู่ข้างนอก อยู่ข้างใน สิ่งข้างนอกอาจจะน่ากลัว เพราะไม่เข้าใจความจริง ถ้าเข้าใจก็จะไม่มีอะไรน่ากลัว นี่คืออานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม จะทำให้ไม่กลัวกับสิ่งต่างๆ ไม่กลัวความเจ็บ ไม่กลัวความแก่ ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวคำดุด่าว่ากล่าวติเตียน ใครจะด่าใครจะว่าก็ปล่อยเขาว่าไป เพราะไม่มีความอยากให้เขาชม หรืออยากไม่ให้เขาด่า ใจเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา เป็นอุเบกขา เฉย ปล่อยวาง ได้ทั้งนั้น เหมือนฝนตกแดดออก พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ทุกอย่างเป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เราห้ามเขาไม่ได้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สั่งเขาไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราเป็นผู้รู้ก็รู้ไป เป็นผู้ดูละครดูภาพยนตร์ก็ดูไป ไปเปลี่ยนบทภาพยนตร์ไม่ได้ ผู้กำกับภาพยนตร์ก็คือกรรม และเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นมา เราเป็นผู้มาสัมผัสรับรู้ก็รู้ไป เหมือนคนดูภาพยนตร์ ผู้กำกับจะกำกับภาพยนตร์ให้ออกมาในรูปแบบไหน ก็ต้องดูไป จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องดูไป ถ้าไม่ชอบก็อย่าไปดู อย่ามาเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องดู ไม่ต้องรับรู้อะไรทั้งนั้น แต่พวกเราชอบดูกันเหลือเกิน ก็เลยต้องกลับมาเกิดกัน พอดูเรื่องที่ไม่ชอบก็วุ่นวายใจทุกข์ใจขึ้นมา