กัณฑ์ที่ ๔๔๔       ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕

 

ทำใจให้ถูกต้อง

 

 

ธรรมะเป็นประโยชน์กับจิตใจมาก ถ้าไม่มีธรรมะใจจะไม่มีที่พึ่ง เวลาเกิดความทุกข์จะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แทนที่จะดับความทุกข์ กลับสร้างความทุกข์เพิ่มมากขึ้น เพราะความหลง ไม่รู้วิธีการดับทุกข์ที่แท้จริง แทนที่จะระงับเหตุของความทุกข์ กลับไปเสริมเหตุของความทุกข์ ความทุกข์ก็เลยเพิ่มมากขึ้น เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อยากจะหาย ยิ่งอยากจะหายก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ เพราะความทุกข์ใจเกิดจากความอยากให้โรคภัยไข้เจ็บหาย อยากไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไม่เคยศึกษาความจริงของร่างกายว่า มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา เป็นเงาตามตัว ร่างกายของทุกคนมีโรคติดตามมา ๓ ชนิดด้วยกัน คือ ๑. เป็นแล้วหายเอง จะรักษาหรือไม่รักษาก็หาย ๒. เป็นแล้วถ้ารักษาก็หาย ถ้าไม่รักษาก็ไม่หาย ๓. เป็นแล้วรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย เป็นความจริง เป็นสัจธรรม ที่พวกเรามองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองกัน เวลาเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อยากจะให้หายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรคชนิดไหน ถ้าเป็นโรคชนิดที่ ๑ ก็โชคดีไป เช่นเป็นไข้หวัดหรือปวดท้อง เดี๋ยวก็หายเอง ถ้าเป็นโรคชนิดที่ ๒ ถ้าไม่มียารักษาก็ต้องอยู่กับโรคนั้นไป ถ้าอยากจะให้หายก็จะทุกข์ใจ ถ้าเฉยๆยอมอยู่กับโรคไปก็จะไม่ทุกข์ เช่นเดียวกับโรคชนิดที่ ๓ ถ้าเป็นแล้ว รักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย ถ้าทำใจได้โรคทั้ง ๓ ชนิดนี้จะไม่เป็นปัญหา

 

พวกเราไปหาร่างกายเอง ร่างกายไม่ได้มาหาเรา ไปหาด้วย อวิชชา ปัจจยา สังขารา ที่มีอยู่ในใจ คิดปรุงแต่งหาความสุขทางร่างกาย เวลาร่างกายเก่าตายไป ก็ไปหาร่างกายใหม่ ที่ไหนมีการตั้งครรภ์ก็เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของ ไปหาโรคภัยหาความเจ็บไข้ได้ป่วยกันเอง เขาไม่ได้มาหาเรา ถ้าใจไม่มีความอยาก ก็จะไม่ไปหาโรคภัยไข้เจ็บด้วยการไปเกิด ด้วยการไปหาร่างกายมาเป็นสมบัติ มาเป็นตัวเราของเรา แล้วก็ต้องมาทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย นี่คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น แล้วนำมาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ผู้ที่ฟังแล้วมีศรัทธามีความสามารถที่จะปฏิบัติตามได้ ก็สามารถยุติการไปหาร่างกายมาเป็นกองทุกข์ได้ ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ พอไม่มีร่างกายแล้วก็จะไม่มีความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีความแก่ความตาย แต่ผู้ที่ไม่ได้มาเกิดนี้ไม่ได้ขาดทุน อย่าไปคิดว่าถ้าไม่ได้เกิดแล้วจะขาดทุน ผู้ที่ไม่เกิดนี้จะกำไร เพราะไม่ต้องมาแบกกองทุกข์ ผู้ที่เกิดนี้แหละเป็นผู้ที่ขาดทุน เพราะเมื่อเกิดแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายกันทุกคน พลัดพรากจากกันทุกคน ผู้ที่ไม่เกิดจึงเป็นผู้ที่ไม่มีความทุกข์ ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดเท่านั้น ตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่ ตราบนั้นก็ยังมีความทุกข์ ทุกข์กับการเกิด เวลาออกมาจากท้องแม่ ก็ร้องไห้แล้ว นั่นก็ทุกข์แล้ว อยู่ในครรภ์สบาย นอนหลับสบาย มีอาหารหล่อเลี้ยงทางสายสะดือ ไม่ต้องเคี้ยว ไม่ต้องทำอะไร อยู่ในครรภ์จึงสบายมาก พอออกมาปั๊บก็ต้องหายใจ ต้องสัมผัสกับบรรยากาศที่แตกต่างจากบรรยากาศในครรภ์ ก็ร้องไห้กัน เป็นทุกข์กัน

 

เมื่อเช้ามีคนหนึ่งมาใส่บาตร หน้าตาไม่ยิ้มแย้ม ถามว่าเป็นอะไร บอกว่าไม่สบาย หน้าตาบึ้งตึง ยิ้มก็ฝืนยิ้ม นี่คืออารมณ์ของจิต ทุกคนอยากจะเบิกบาน อยากจะสดใสสดชื่น แต่พอร่างกายเจ็บ สดชื่นไม่ออก เบิกบานไม่ออก เพราะความอยาก ถ้าไม่มีความอยาก ใจก็ยังเบิกบานได้ สดชื่นได้ ถ้าใจไม่ยึดติดร่างกาย ไม่อยากให้ร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากให้ร่างกายหาย ใจก็จะสดชื่นเบิกบานได้ ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของใคร แม้แต่ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงบอก ให้พระอานนท์ปูผ้า ให้พระองค์ประทับ ทรงตรัสว่าตถาคตเหนื่อยนั้น ไม่ใช่พระทัยของพระพุทธเจ้าที่เหนื่อย แต่เป็นพระสรีระร่างกาย ที่เหนื่อยจากการเดินทาง ก็อยากจะนอนพัก แต่พระทัยของพระองค์ไม่ได้เหนื่อยไปกับร่างกาย

 

จึงควรเห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรป้อนพระธรรมให้กับใจอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นเหมือนอาหาร เป็นเหมือนยา เป็นเหมือนที่อยู่อาศัย เป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ การฟังธรรมตามกาลตามเวลา จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง ฟังธรรมอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เช่นฟังในวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม ชาวพุทธเรานี้ควรฟังเทศน์กันอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ถ้าฟังได้ทุกวันจะยิ่งดีใหญ่ ฟังแล้วจะมีธรรมะให้แสงสว่าง สอนใจให้รู้จักวิธีทำใจให้ถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฐิ ให้มีสัมมาสังกัปโป ความถูกต้องของการทำใจ ก็คือให้มีมรรค ๘ นี้เอง มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกรู้ชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตชอบ

 

ถ้ามีมรรค ๘ ก็จะทำใจให้ถูกต้องได้ รับรู้เหตุการณ์ต่างๆที่ใจประสบรับรู้ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เช่นร่างกายของเราก็ดี ของบุคคลต่างๆก็ดี จะรู้จักทำใจให้ถูกต้อง คือยอมรับความจริง รู้ความจริงของสิ่งที่สัมผัสรับรู้ คือมีสัมมาทิฐิ เช่นรู้ว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสมบัติที่ได้มาจากพ่อแม่ ทำมาจากดินน้ำลมไฟ ที่มาทางอาหาร เมื่อเข้ามาในร่างกาย ก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เริ่มต้นก็เป็นเพียงดินน้ำลมไฟสองหยดมาผสมกัน คือเชื้อของพ่อกับเชื้อของแม่ เป็นน้ำสองหยดที่มีธาตุดินธาตุลมธาตุไฟผสมอยู่ด้วย พอผสมกันแล้วก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ด้วยอาหารผ่านทางสายเลือด ที่จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมา พอออกมาจากครรภ์ก็เติมอาหารต่อ ขั้นต้นก็เติมลมก่อน เหมือนรถออกจากอู่ ก่อนจะวิ่งได้ก็ต้องเติมลมให้ยางก่อน พอยางมีลมแล้วก็วิ่งได้ เติมลมแล้วก็เติมน้ำนม ที่มีธาตุดินธาตุไฟผสมอยู่ด้วย เวลาเข้าไปในร่างกายก็จะทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา ทำให้ร่างกายอบอุ่น ร่างกายจึงเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เจริญเติบโตด้วยดินน้ำลมไฟ พอถึงเวลาที่จะอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็แยกทางกันไป

 

เวลาตายไป ความร้อนคือธาตุไฟก็หายไป ร่างกายก็จะเย็น ธาตุลมก็คือกลิ่นที่ระเหยออกมา ธาตุน้ำก็ไหลออกมา ถ้าไม่ได้ทำฌาปนกิจ ร่างกายจะแห้งกรอบผุเปื่อย สลายกลายเป็นดินไป ถ้าเผาไฟก็กลายเป็นขี้เถ้า เป็นเศษกระดูกไป กระดูกกับขี้เถ้าก็เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำก็ถูกไฟเผาระเหยไปหมด ธาตุไฟก็หายไปหมด ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย นอกจากความจำ แต่บุคคลนั้นไม่มีแล้ว เป็นเพียงสมมุติ พระพุทธเจ้า พระพุทธโคดม เจ้าชายสิทธัตถะ ไม่มีแล้ว มีแต่พระธาตุ จะว่าเป็นของใครก็ได้ ไม่เป็นของใครก็ได้ เพราะความจริงพระธาตุไม่มีเจ้าของ พระธาตุก็ไม่ได้บอกว่าเป็นพระธาตุของใคร เหมือนต้นไม้ ที่ไม่ได้บอกว่าเป็นต้นไม้ของใคร ก้อนหินก็ไม่ได้บอกว่าเป็นก้อนหินของใคร ไม่มีเจ้าของ จิตที่มาหลงมายึดติดต่างหาก ที่ไปว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา เป็นความเห็นผิด มิจฉาทิฐิ เมื่อมีมิจฉาทิฐิก็จะคิดไปในทางสมุทัย อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอเป็นร่างกายของเรา ก็อยากจะให้สุขสบายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ให้อยู่ไปนานๆ ถ้าเป็นร่างกายของคนอื่นก็ไม่สนใจ ใครจะอยู่ใครจะตายก็ไม่สนใจ เพราะไม่มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของเรา อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ตายไป

 

จึงต้องแก้มิจฉาทิฐิ ที่เห็นว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ให้เห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงทุกเวลานาที แต่เปลี่ยนแปลงช้า จึงมองไม่เห็นกัน เวลาที่เราส่องหน้าดูกระจก จะไม่รู้ว่าเปลี่ยนไปจากเมื่อวานนี้ จากเมื่อเดือนที่แล้ว จากเมื่อปีที่แล้ว ถ้าถ่ายภาพเก็บไว้ดูทีหลัง เช่นดูภาพถ่าย ๑๐ ปีที่แล้ว กับภาพในวันนี้ จะเห็นเลยว่าเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนทุกเวลานาที ทุกขณะ ค่อยๆเปลี่ยนไป เหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆโตขึ้นไป ทีละนิดทีละหน่อย แล้วก็ค่อยๆเสื่อมไป ทีละนิดทีละหน่อย จนตายไป นี่คือสัมมาทิฐิที่สร้างขึ้นมา เป็นตัวสำคัญที่สุด ที่จะแก้มิจฉาทิฐิ คืออวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาก็คือมิจฉาทิฐิ ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค พอไม่เห็นก็เลยเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นร่างกายที่ไม่ใช่ตัวเราของเรา ว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เกิดอุปาทานยึดติด เกิดตัณหาความอยาก เกิดความทุกข์ใจ ทุกข์กับร่างกายทำไม ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ต้องเป็น ไม่มีใครห้ามได้ แต่เราห้ามใจของเราได้ ห้ามใจไม่ให้ทุกข์ได้ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ก็เท่ากัน สำหรับผู้ที่มีสัมมาทิฐิ ผู้ที่มีสัมมาสังกัปโป จะไม่คิดไปในทางสมุทัย คิดไปในทางอยากไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย อยากให้ร่างกายหาย จะคิดว่าจะเป็นอย่างไรก็เป็นไป ดูแลรักษาได้ก็รักษาไป หายก็หาย ไม่หายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ต้องเป็นด้วยกันทุกคน ทุกร่างกาย ต่างกันตรงที่เวลาเท่านั้นเอง

 

พวกเรากำลังถือบัตรคิวกันอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเบอร์อะไร บางคนเบอร์ ๑๐ บางคนเบอร์ ๑๐๐ บางคนเบอร์ ๑ คนที่ชอบถูกรางวัลที่ ๑ กลับไม่ชอบเบอร์ ๑ แบบนี้ แต่ไม่รู้หรอกว่าตอนนี้เราถือเบอร์อะไรกัน ใครจะไปก่อนไปหลังไม่มีใครรู้ ถึงเวลาจะไปก็ปุ๊บปั๊บไปเลย จึงควรสร้างสัมมาทิฐิขึ้นมา ด้วยการฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ฟังคำสอนของพระอริยสงฆ์ อย่าไปฟังคำสอนของผู้ที่มีมิจฉาทิฐิ สอนให้อยากอยู่ไปนานๆ สอนให้ร่ำให้รวย สอนอย่างนี้ไม่ใช่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้มองความจริง มองความแก่ ความเจ็บ ความตาย มองทุกขสัจ ความจริงของทุกข์ ก็คือความเกิดแก่เจ็บตาย ให้รู้ว่านี่คือความทุกข์ นี่คือความจริง เพื่อจะได้หยุดความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ความอยากรวย อยากอยู่ไปนานๆ อยากมีความสุขมากๆ ที่เป็นมิจฉาทิฐิ จะหาความสุขอะไรกับความทุกข์ หาไม่ได้หรอก ความทุกข์ย่อมเป็นความทุกข์ ถ้าอยากจะหาความสุข ก็ให้หาจากความสงบของใจ อันนี้แหละคือความสุข ถ้าจะหาความสุขจากร่างกายก็เป็นมิจฉาทิฐิ หาอย่างไรก็ไม่มีวันที่จะเจอ เพราะเป็นกองทุกข์ จึงอย่าไปหาในร่างกาย ปล่อยร่างกายไป เข้ามาหาความสุขในใจ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธินี้แหละ ที่จะนำเข้าไปสู่ความสงบ ที่เป็นความสุขที่แท้จริง

 

สัมมาวายาโมก็คือความเพียร เพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิ ปลีกวิเวก เจริญสติ รับประทานอาหารพอประมาณ สำรวมอินทรีย์ ตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ดู ไม่ฟัง ไม่หาความสุข ทางรูปเสียงกลิ่นรส ให้หาความสุขจากการปลีกวิเวก เจริญสติ ควบคุมสังขารไม่ให้คิดปรุงแต่ง ไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ให้รู้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้ใจอยู่กับร่างกาย ต้องหยุดความคิดให้ได้ก่อน ก่อนที่จะคิดไปในทางสัมมาทิฐิได้ ต้องหยุดความคิดในทางมิจฉาทิฐิก่อน ความคิดของปุถุชนอย่างพากเรานี้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์จะคิดไปในทางมิจฉาทิฐิ คิดไปในทาง สุขัง อัตตา นิจจัง เห็นอะไรก็ว่าเที่ยง เห็นอะไรก็ว่าสุข เห็นอะไรก็ว่าเป็นเราเป็นของเรา ต้องหยุดความคิดเหล่านี้ก่อน ทำใจให้นิ่งให้สงบให้รวมเป็นหนึ่ง ให้เป็นอุเบกขา ให้ได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบก่อน ถ้าได้แล้วก็จะปล่อยความสุขที่เป็นทุกข์ได้ ปล่อยความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ ปล่อยความสุขทางร่างกายได้ ไม่ต้องอาศัยร่างกาย ไม่ต้องมีร่างกายก็มีความสุขได้ เป็นความสุขที่เลิศกว่าที่ดีกว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ก็คือความสุขที่เกิดจากความสงบนี้เอง ความสุขที่เกิดจากทางร่างกายไม่เที่ยง เวลาได้สัมผัสก็มีความสุข เวลาร่างกายไม่สบายก็จะไม่สุข เห็นอะไร กินอะไร ดูอะไร ฟังอะไรก็ไม่สุข

 

ต้องสร้างความสุขที่แท้จริง ให้เกิดขึ้นภายในใจให้ได้ก่อน ขั้นต้นก็จะได้แบบชั่วคราว ได้ในขณะที่จิตสงบรวมอยู่ในสมาธิ พอออกมาแล้วกิเลสก็จะออกมาลาก ให้ไปหาความสุขที่เป็นทุกข์ ความสุขที่ได้จากความสงบก็จะหายไป ถ้าอยากจะรักษาความสุขที่ได้จากความสงบ ก็ต้องเจริญปัญญาอยู่เนืองๆ เตือนใจทุกครั้งที่เกิดความอยาก ให้ต่อต้านความอยากที่จะไปหาความสุขอื่นๆ ถ้ามีปัญญาแล้วจะต้านได้ เวลาอยากจะไปดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยว ไปดื่มไปรับประทาน ก็จะตัดได้ ปัญญาจะเตือนทันทีว่าเป็นทุกข์ สุขเดี๋ยวเดียว เป็นยาขมเคลือบน้ำตาล เอาความสุขที่ได้จากการทำใจให้สงบดีกว่า เอาความสุขที่ได้จากการหยุดความอยาก ถ้ามีความสงบแล้ว เวลาเกิดความอยากความสงบจะหายไป พอหยุดความอยากได้ ความสงบก็จะกลับคืนมา ไม่ต้องนั่งสมาธิ ก็จะกลับคืนมาเอง เพราะความสงบที่หายไป หายไปเพราะความอยาก คือความคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัย พอหยุดความคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัยได้ จิตก็กลับเข้าสู่ความสงบเหมือนเดิม โดยไม่ต้องนั่งสมาธิ ทุกครั้งที่ตัดความอยากได้ ความสงบก็จะกลับคืนมา ถ้าไม่มีความอยากเลย ก็จะสงบตลอดเวลา สุขตลอดเวลา เดินยืนนั่งนอน ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าตื่นหรือหลับ เวลาคิดปรุงแต่งก็จะไม่คิดไปในทางสมุทัย จะคิดอะไรก็ไม่เป็นปัญหา สำหรับผู้ที่หยุดความอยากได้แล้ว

 

นี่คือคุณประโยชน์ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พวกเราควรขวนขวายศึกษา ฟังธรรมกันอยู่เรื่อยๆ ฟังบ่อยๆ ฟังซ้ำไป แต่ละครั้งที่ฟังจะได้ความรู้ไม่เหมือนกัน เพราะเวลาเราฟังนี้ เราไม่ได้ฟังร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้จดจ่อกับการฟังตลอดเวลา เวลาใดเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ธรรมะที่ฟังก็จะเข้าหูซ้ายออกหูขวา จะไม่เข้าใจ พอฟังใหม่ ไม่เผลอ ก็แปลกใจว่า เมื่อก่อนนี้ไม่ได้ยินอย่างนี้ ทำไมคราวนี้ได้ยิน ก็เพราะคราวนี้ฟังอยู่พอดี จึงควรฟังธรรมะ ฟังทุกครั้งก็จะได้ประโยชน์ อานิสงส์ของการฟังธรรมก็มี ๑. ธรรมะที่ได้ฟังแล้ว พอฟังซ้ำอีกก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้น ๒. จะได้ยินได้ฟังธรรมะที่ไม่ได้ฟังมาก่อน ๓. จะกำจัดความสงสัยได้ ๔. ทำให้มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๕. ทำให้จิตสงบ บางคนนั่งสมาธิไม่ได้ ก็อาศัยการฟังธรรมไปก่อน เพราะเวลาฟังถ้าใจมีสติจดจ่ออยู่กับการฟัง ถึงแม้จะไม่เข้าใจ ถ้าตั้งใจฟัง เสียงธรรมจะกล่อมใจ ให้เข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิได้ ถ้าฟังแล้วพิจารณาตามได้ ก็จะเกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฐิ ถ้ายังไม่มีพละ ๕ ครบบริบูรณ์ เวลาฟังจะไม่บรรลุ ถ้ามีพละ ๕ ครบ ๔ ข้อแล้ว คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิแล้ว เพียงแต่ขาดปัญญา เวลาฟังธรรมก็จะบรรลุได้ เช่นพระปัญจวัคคีย์ ที่ได้ทำความเพียรมาอย่างโชกโชนแล้ว มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิแล้ว ขาดเพียงปัญญา พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ให้ฟัง ก็บรรลุธรรมได้เลย พวกเราถ้าฟังธรรมแล้วยังไม่บรรลุ ก็แสดงว่าศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิยังมีไม่มากพอ ฟังไปอีกล้านครั้งก็ไม่วันที่จะบรรลุได้ การฟังธรรมก็ฟังเพื่อปลุกศรัทธา วิริยะความพากเพียร ที่จะเจริญสติ นั่งสมาธิ พิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา

 

นี่คือกุญแจสู่การบรรลุธรรม คือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การฟังธรรมเป็นปริยัติ เป็นการศึกษา การปฏิบัติเป็นการเอาธรรมะที่ได้ศึกษา มาชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ มาเจริญสติสมาธิปัญญาให้สมบูรณ์ แล้วปฏิเวธคือการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ ก็จะเป็นผลตามมา เป็นหลักตายตัว ไม่มีใครล้มล้างความจริงนี้ได้ ถ้ามีปริยัติ มีปฏิบัติ ปฏิเวธก็ต้องเป็นผลที่ตามมา ถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ปฏิเวธก็จะไม่ตามมา ต่อให้มีพระพุทธเจ้านั่งอยู่ต่อหน้าเรา ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าฟังธรรมแบบไม่ตั้งใจฟัง ฟังแบบเข้าหูซ้ายออกหูขวา ก็เหมือนทัพพีในหม้อแกง ไม่รู้รสของแกง เหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ถึงแม้จะเกาะติดชายผ้าเหลืองของพระองค์ ถ้าไม่มีสติ ไม่สนใจศึกษา ไม่สนใจปฏิบัติ ก็เหมือนอยู่ห่างไกลจากพระองค์เป็นโยชน์ ถ้าอยู่ห่างไกลจากพระองค์เป็นโยชน์ แต่มีสติสนใจศึกษาพระธรรมคำสอน สนใจปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ก็จะอยู่ใกล้พระองค์ เพราะพระพุทธเจ้าจะอยู่ในใจของผู้บรรลุธรรมนั้นเอง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้เห็นตถาคต คือผู้เห็นธรรม

 

ธรรมที่ต้องเห็นก็คืออริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต้องเห็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็มีทุกข์ ที่ทุกข์ก็เพราะเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ทุกข์เพราะไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา ถ้าเห็นอนิจจังอนัตตา ก็จะไม่ทุกข์ เพราะจะปล่อยวาง ถ้าเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ก็จะปล่อยวาง จะไม่ยึดติด จะคิดว่าเป็นเหมือนของที่ยืมมา วันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของไป เวลาคืนเจ้าของก็ไม่ทุกข์ใจ จะรู้สึกเฉยๆ เพราะเตรียมตัวเตรียมใจที่จะคืน ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจคืนร่างกาย ให้กลับสู่สภาพเดิมได้ เวลาร่างกายเป็นอะไรไป ก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ นี้คือคุณค่าของพระธรรมคำสอน ที่เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ก่อนที่จะเสด็จปรินิพพานไปว่า ธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้วนี้แลจะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป พระองค์ไม่ได้ทรงตั้งพระสารีบุตร ไม่ได้ทรงตั้งพระโมคคัลลานะ เป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ทรงตั้งพระธรรมวินัย คือพระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นศาสดาของพวกเรา ถ้าศึกษาพระธรรมคำสอน ก็เท่ากับได้ศึกษาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ ก็เหมือนกับได้ศึกษาจากท่านโดยตรง ท่านไม่ได้ไปไหน ท่านอยู่ในหนังสือธรรมะ อยู่ในซีดีธรรมะ เปิดฟังไป อ่านไปเถิด จะเหมือนกับว่าท่านกระซิบอยู่ในหูเรา ฟังสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนไป แล้วจะรู้ว่าท่านไม่ได้จากเราไป สิ่งที่จากไปนั้นเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ แต่ธรรมะหรือตัวท่านนี้ไม่ได้จากเราไป ตัวท่านยังเป็นอาจารย์ เป็นศาสดาอยู่กับพวกเราจนถึงทุกวันนี้

 

ถ้ามีธรรมจะมีสรณะ มีที่พึ่ง พอมีธรรมก็จะมีพระพุทธ มีพระสงฆ์อยู่ในใจ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า เห็นตถาคต ผู้ที่จะเห็นธรรม เห็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ก็คือพระอริยสงฆ์ ๔ ประเภท คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรม มีสรณะเป็นที่พึ่งแล้ว พอได้ขั้นโสดาบันก็พ้นจากอบายแล้ว ไม่เกิน ๗ ชาติก็พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พอขั้นพระสกิทาคามีก็เหลือเพียงชาติเดียว พอขั้นพระอนาคามีก็ไม่ต้องมีร่างกายเลย สมมุติตายไปยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ต้องมาหาร่างกายมาเพื่อปฏิบัติธรรม สามารถบรรลุด้วยจิตเลย เพราะอวิชชาอยู่ในจิต ไม่ได้อยู่ในร่างกาย

 

จึงควรเห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม หมั่นศึกษา แล้วนำเอาไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ใจจะได้มีที่พึ่ง ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับความเสื่อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมทางลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรส ทางร่างกาย ทางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จะเสื่อมก็ปล่อยให้เสื่อมไป จะเจริญก็ปล่อยให้เจริญไป เป็นอนัตตา สั่งเขาไม่ได้ สั่งให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ แต่สั่งใจไม่ให้ทุกข์กับสิ่งต่างๆได้ ไม่ให้ทุกข์กับความเสื่อมของสิ่งต่างๆได้ ขอให้ศึกษาและปฏิบัติให้มากๆ ให้ถือว่าเป็นงานที่แท้จริงของเรา งานอย่างอื่นเป็นงานสนับสนุนการศึกษาการปฏิบัติ อย่าทำงานเพื่อเอาเงินมาสนับสนุนกิเลสตัณหา เพราะเป็นการประหัตประหารจิตใจ สร้างความทุกข์ให้แก่ใจ เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา ถ้าได้เงินมาแล้วเอาไปเที่ยว ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นการวิ่งเข้าหากองทุกข์ เป็นเหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ควรทำมาหากินหาเงินหาทองเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการปฏิบัติธรรม สนับสนุนการบรรลุธรรม ตัดไปเถิดความสุขทางโลก ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะไม่ใช่เป็นความสุข เป็นเหมือนแสงสว่างของกองไฟ ที่แมลงเม่าหลงใหล พอเห็นแสงสว่างก็บินเข้าหา แล้วก็ตายด้วยความร้อนของไฟ สัตว์โลกทั้งหลายก็ทุกข์ทรมานใจกับแสงสีเสียงนี่เอง กับรูปเสียงกลิ่นรส ติดกันงอมแงมเหมือนติดยาเสพติด อยู่โดยปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสไม่ได้ แล้วก็ต้องมาทุกข์กับความเสื่อมของรูปเสียงกลิ่นรส

 

ถาม  วิญญาณที่เข้าไปฝังในท้อง เริ่มตั้งแต่ตอนปฏิสนธิหรือหลังจาก ๓ เดือนไปแล้วคะ

 

ตอบ  ไม่เป็นประเด็นสำคัญในเชิงปฏิบัติ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปล่อยได้หรือเปล่า ยึดแล้วปล่อยได้หรือเปล่า เหมือนไปซื้อบ้าน พอผ่อนไม่ไหวแล้ว จะถูกยึด ปล่อยให้ยึดไปได้หรือเปล่า จะไปซื้อตอนไหนไม่สำคัญ สำคัญตอนปล่อยมากกว่า ยึดมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว เรายึดร่างกายมาแล้ว เราปล่อยร่างกายได้หรือเปล่า อย่าไปหลงประเด็น ประเด็นอยู่ตรงนี้ ประเด็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ปล่อยได้หรือเปล่า ร่างกายจะตาย ปล่อยได้หรือเปล่า ไปรู้ทำไม ว่ายึดตอนปฏิสนธิ หรือตอน ๓ เดือน

 

ความจริงต้องมี ๓ ส่วนถึงจะปฏิสนธิได้ ยึดง่าย แต่ปล่อยยาก ปล่อยได้หรือยัง ยึดมาหลายสิบปีแล้ว ปล่อยได้หรือยัง อย่าไปหลงประเด็น พวกเราชอบหลงประเด็นกัน ชอบไปคิดเรื่องอจินไตย เรื่องไม่อจินไตยไม่ชอบคิดกัน เรื่องง่ายๆไม่คิดกัน ชอบไปคิดเรื่องยากๆให้ปวดหัว พระพุทธเจ้าทรงบอกไม่ให้ไปสนใจ เหมือนคนที่ถูกยิงด้วยลูกธนู ไม่ยอมให้ดึงออก ไม่ยอมรักษาแผล กลับอยากไปรู้ว่าคนยิงเป็นใคร เป็นหญิง เป็นชาย เป็นชนชั้นใด ไปรู้ทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร ความรู้นี้เป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อให้เห็นภาพ ของการมาการไปของร่างกาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตัดอุปาทาน ด้วยการหามีดคมๆ คือสติสมาธิปัญญา มาตัดให้ขาดไปเลย ตัดแบบสมุจเฉทเลย

 

ถาม  ถวายสังฆทานให้คุณยายเพื่อนที่เสียชีวิตไปค่ะ

 

ตอบ  ต้องเสียกันทุกคน ไม่ต้องไปเสียใจ เป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา สิ่งที่เสียก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นตัวแทนของเรา เหมือนผู้แทนของเรา เขาตายไปเราไม่ได้ตายไปกับเขา ไม่ต้องไปเสียใจ เหมือนเราส่งผู้แทนเข้าสภา เราส่งร่างกายมาทำหน้าที่ในโลกนี้แทนเรา ตัวเราอยู่ในโลกทิพย์ ตัวเราไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เดี๋ยวเราก็ไปหาร่างกายใหม่ต่อ หาตัวแทนคนใหม่มาทำหน้าที่แทนต่อ ถ้ารู้ความจริงแล้ว ก็จะไม่เสียใจ อุทิศส่วนบุญไปก็แล้วกัน เผื่อขาดบุญก็จะได้รับ เป็นเหมือนค่ารถ จะได้เดินทางไปสู่สุคติได้ ให้คิดว่าไม่มีใครตาย มีแต่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟที่สลายไป แต่บุคคลต่างๆไม่ได้สลายไปกับธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ บุคคลต่างๆต้องไปตามบุญตามกรรมต่อ

 

ถาม  ถ้าอุทิศบุญให้เขา จะได้รับไหมคะ

 

ตอบ  อยู่ที่ฐานะของเขา รวยหรือจน ถ้าจนเป็นขอทาน เป็นเปรต ก็จะรอรับ ถ้ารวยก็จะไม่รอรับ ถ้าเป็นเทพก็จะไม่รอรับ ถ้าเขาทราบเขาก็จะอนุโมทนา ว่ายังคิดถึงเขาอยู่ ยังห่วงใยเขาอยู่ เขาก็จะดีใจ ที่เราได้ทำบุญ ต่อไปเวลาเราตายไป จะได้ไม่ต้องรอรับส่วนบุญ การทำบุญอุทิศนี้เป็นอุบายของนักปราชญ์ ให้พวกเราที่ไม่ชอบทำบุญจะได้ทำบุญกัน จะได้เป็นเทพกันเวลาตายไปแล้ว จะได้ไม่ต้องไปเป็นเปรตกัน ทำแล้วถ้ามีความสุขใจติดใจ ก็ควรจะทำบ่อยๆ ทำแล้วไม่ขาดทุน มีแต่กำไร เพราะของต่างๆนี้เวลาตายไปเอาไปไม่ได้ ต่อให้มีเงินทองกองเท่าภูเขา ก็ไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย แต่บุญที่ทำทุกวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด และเป็นประโยชน์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย พยายามทำไปเรื่อยๆ ทำทุกวันได้ก็ยิ่งดี ทำให้เป็นนิสัย ถ้าไม่มีพระมาบิณฑบาต ก็เอาเงินใส่กระปุกไว้ก่อนก็ได้ เวลาไปวัดทำบุญ ก็เอาเงินที่ใส่กระปุกมาทำ ไม่อย่างนั้นจะอ้างว่าไม่มีเงิน ควรเก็บเงินไว้ทำบุญวันละเล็กวันละน้อย วันละ ๕ บาท ๑๐ บาท เก็บไปเรื่อยๆ พอถึงวันเกิด วันสำคัญทางศาสนา หรือวันพระ อยากจะไปวัดก็จะมีเงินทำบุญ อ้างไม่ได้ว่าไม่มีเงินทำบุญ ทำบุญให้ติดเป็นนิสัย แล้วบุญจะสนับสนุนเราในอนาคต ให้มีแต่ความเจริญก้าวหน้าไปจนถึงขั้นสูงสุด

 

ถาม  ถ้านั่งสมาธิแล้วง่วงนอน

 

ตอบ  ล้างหน้าล้างตาแล้วลุกขึ้นมาเดิน ไปเดินไปนั่งที่น่ากลัว ไปอยู่ที่น่ากลัวแล้วจะไม่ง่วง ไม่เช่นนั้นก็อดอาหารผ่อนอาหาร จะได้ไม่ง่วง

 

ถาม  ถ้าหลงไปคิดล่ะคะ

 

ตอบ  ก็ใช้สติ ใช้พุทโธ ใช้การสวดมนต์ดึงเอาไว้ ต้องฝึกสติก่อนที่จะนั่ง ฝึกทั้งวันเลย ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ดึงจิตให้อยู่กับร่างกาย อยู่กับพุทโธ อย่าปล่อยให้ลอยไปลอยมา พอมีสติแล้วเวลานั่งจะสงบ สตินี้สำคัญมาก เป็นกุญแจดอกสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบความสำคัญของสติว่า ยิ่งใหญ่เหมือนรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทุกชนิด ถ้ามีสติแล้วจะทำให้ธรรมต่างๆเกิดตามมาได้ สติเป็นพ่อแม่ของธรรมทั้งหลาย เป็นพ่อแม่ของสมาธิ ของปัญญา ถ้าไม่มีสติ สมาธิและปัญญาจะเกิดไม่ได้ มรรคผลนิพพานก็เกิดไม่ได้ สติเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด ควรเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ควรเปลี่ยนนิสัยใหม่ นิสัยเผลอสติ ปล่อยให้ใจลอยไปลอยมา ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ให้มาอยู่กับร่างกาย ทำอะไรก็ให้รู้ว่ากำลังทำอะไร ถ้ายังลอยไปที่อื่น ก็ใช้พุทโธดึงกลับมา ใช้เชือก ๒ เส้น ถ้าผูกไว้กับร่างกายแล้วไม่อยู่ ก็ผูกไว้กับพุทโธอีกเส้นหนึ่ง บริกรรมพุทโธไปในขณะที่กำลังทำอะไรต่างๆ จะได้มีสติ นั่งสมาธิจะไม่ง่วง จะสงบง่าย จะเห็นผล พอได้สมาธิแล้วก็ออกทางปัญญาได้ ตัดกิเลสได้ ควรเจริญสติทุกเวลานาที ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 

ถาม  หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ใช่หรือเปล่าคะ

 

ตอบ  เวลาดูลมก็ควรดูลมอย่างเดียว อย่าดูลมเข้าพุทออกโท จะยุ่งยาก ถ้าจะใช้พุทโธ ก็ใช้พุทโธอย่างเดียว จะง่ายกว่า บางทีต้องการบริกรรมพุทโธให้เร็วขึ้น แต่ลมจะเร็วตามไม่ได้ เวลามีความคิดเข้ามาแทรกมากๆ ถ้าใช้พุทเข้าโธออกจะหยุดความคิดไม่ได้ ก็ควรใช้พุทโธอย่างเดียว บริกรรมให้ถี่ไปเลย เพื่อสกัดความคิดไม่ให้เข้ามา ถ้าไม่มีความคิดก็ดูลมเฉยๆ ไม่ต้องพุทโธก็ได้ หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ถ้าคิดมากก็พุทโธไปอย่างเดียว จนจิตเหนื่อย ก็จะหยุดคิด แล้วค่อยมาดูลมหายใจต่อ ไม่มีพุทเข้าโธออกในพระไตรปิฎก มีแต่พุทธานุสติ หรืออานาปานสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง มาแปลงให้เป็นพุทเข้าโธออกกันเอง ถ้าจิตไม่ฟุ้งจะพุทเข้าโธออกก็ได้ ถ้าคิดปรุงแต่งมากๆ พุทเข้าโธออกจะหยุดความคิดปรุงแต่งไม่ได้

 

ถาม  ใช้พุทธานุสติกับอานาปานสติผสมกัน

 

ตอบ  จะใช้อย่างไหนก็ได้ ข้อสำคัญให้เกิดผลก็แล้วกัน ผลก็คือความสงบ จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ไม่มีความคิดปรุงแต่ง

 

ถาม  ชอบคิดโน่นคิดนี่ แต่ถ้าตั้งใจมากๆก็จะง่วงไปเลย

 

ตอบ  เป็นนิวรณ์ ถ้าไม่ฟุ้งซ่านก็ง่วงเหงาหาวนอน ต้องแก้ด้วยการไปอยู่ที่เปลี่ยวที่น่ากลัว  อดอาหาร เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 

ถาม  ถ้าอดก็กลัวจะผอมค่ะ

 

ตอบ  ไม่กลัวอ้วนหรือ อ้วนอันตรายกว่าผอม อ้วนแล้วความดัน เบาหวาน ไขมันอุดตันเส้นเลือดก็จะตามมา

 

ถาม  กิเลสเยอะค่ะ

 

ตอบ  ยังรักกิเลสมากกว่ารักธรรม

 

ถาม  ที่หลวงพ่อบอกว่า ถ้าอยากทำบุญก็ให้เอาเงินหยอดกระปุก อย่างหนูอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็หยอดไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  หยอดไปเรื่อยๆ พอมีโอกาสได้ไปทำบุญที่ไหนก็ทำไป

 

ถาม  ที่ญี่ปุ่นก็ได้

 

ตอบ  ทำบุญที่ไหนก็ได้

 

ถาม  เวลาหนูกลับมา ก็เอาเงินที่หนูหยอดมาทำบุญ

 

ตอบ  ทำบุญกับใครก็ได้ ทำกับพ่อแม่ก็เป็นบุญเหมือนกัน

 

ถาม  บางเวลาหนูอยากไปวัดบ้าง แต่ที่โน่นหนูไม่รู้ว่าวัดอยู่ตรงไหน

 

ตอบ  ทำบุญที่บ้านเอาเงินใส่กระปุกไปก่อน หรือเขียนใส่บัญชีไว้ก่อน ว่าวันนี้ทำบุญกี่บาท เวลาทำแล้วใจจะมีความสุข ต้องทำจริงๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ เช่นอย่าเอาเงินทำบุญไปซื้อเสื้อผ้า ซื้อของสวยๆงามๆ ขอยืมไปก่อน ถ้าเป็นเงินทำบุญ ต้องไม่ถือว่าเป็นของเราแล้ว

 

ถาม  หยอดใส่กระปุกไปแล้ว

 

ตอบ  หมดสิทธิ์แล้ว ไม่ใช่ของเราแล้ว ถ้าหายไปก็ไม่ต้องวิตกกังวล ถือว่าไม่ใช่ของเราแล้ว ทำบุญเพื่อตัดความยึดติด ความหวงในเงินทอง ตัดทางเดินของกิเลส ที่จะเอาเงินไปเลี้ยงกิเลส สกัดกิเลสไว้ พอกิเลสน้อยลง ใจจะมีความสุขมากขึ้น ที่ทำบุญแล้วมีความสุข เพราะได้ตัดกิเลสกัน ทำแล้วกิเลสเบาบางลง ความอยากน้อยลง ทำไปเรื่อยๆ จะไม่อยากไปเที่ยว ไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ เพราะไม่สุขเหมือนกับการทำบุญ สุขเดี๋ยวเดียว สุขตอนที่ได้ใช้เงิน ตอนที่ได้ของมา พอได้มาแล้ว มันก็หมดความหมาย กลับเป็นเหตุของความทุกข์แล้ว เพราะต้องคอยดูแลรักษา ต้องหวงต้องห่วง ต้องเสียใจเวลาหายไป ถ้าทำบุญจะไม่มีความทุกข์ตามมา ทำบุญแล้วต่อไปจะรักษาศีลได้ เพราะคนทำบุญไม่ชอบทำบาป คนที่ไม่ชอบทำบุญจะชอบทำบาป เพราะยังโลภอยู่ ยังอยากได้อยู่ ก็ต้องทำบาปบ้างบางเวลา ถึงจะได้สิ่งที่อยากได้ การทำบุญเป็นรากฐานของความดีทั้งหลาย เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการสร้างความดี ต้องเริ่มที่การทำบุญก่อน ให้ทานก่อน ใจเป็นบุญแล้วก็จะรักษาศีลได้ ใจก็จะสงบ จะนั่งสมาธิได้

 

ถาม  ถ้าเจาะจงถวายสังฆทานกับพระรูปนี้ๆ เพราะหนูศรัทธา

 

ตอบ  การทำบุญนี้ท่านแสดงไว้ ๒ ลักษณะคือ ๑. ทำบุญเจาะจง ๒. ทำบุญไม่เจาะจง การทำบุญเจาะจง ก็เพราะต้องการสิ่งอื่นนอกจากบุญ เหมือนไปซื้อของตามร้าน เลือกร้านนั้นเพราะมีของแจกของแถม เพราะต้องการของแจกของแถม นอกจากของที่ซื้อแล้ว การทำบุญเจาะจงกับพระรูปหนึ่งรูปใด ก็เพราะต้องการของแถมจากท่าน ก็คือธรรมะ ก็ต้องเลือกพระที่จะทำบุญด้วย เพราะอานิสงส์ของการทำบุญกับพระที่เลือกนี้จะต่างกัน เช่นพระธรรมดาจะได้ ๑ เท่า พระโสดาบันจะได้ ๑๐ เท่า พระสกิทาคามีได้ ๑๐๐ เท่า พระอนาคามีได้พันเท่า พระอรหันต์ได้หมื่นเท่า พระปัจเจกพุทธเจ้าได้แสนเท่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ล้านเท่า เพราะธรรมะที่ท่านให้กับเรามีประโยชน์ต่างกัน ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เลย ฟังธรรมจากพระโสดาบันก็ได้เพียงขั้นโสดาบัน จึงต้องเจาะจง ต้องเลือก

 

ส่วนการไม่เจาะจงไม่เลือก ก็คือการถวายให้เป็นส่วนกลางสงฆ์ ถวายให้กับวัด อย่างวัดป่านี้ ของที่ถวายจะเป็นส่วนกลางสงฆ์ ที่วัดหลวงตาฯ ของที่ถวายหลวงตาฯ ท่านจะให้พระจัดการแจกจ่ายหรือเก็บไว้ในส่วนกลาง เวลาใครขาดเหลืออะไร ใครต้องการสบู่ยาสีฟันแฟ๊บก็ไปหยิบเอาได้ ไม่ถือเป็นสมบัติส่วนตัว เรียกว่าถวายแบบไม่เจาะจง เป็นสังฆทาน ถ้าเจาะจงก็เป็นปาฏิบุคคลิกทาน  ถวายได้ ๒ รูปแบบ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำทั้งสองรูปแบบ เช่นตอนที่เสด็จไปโปรดที่พระราชวัง ก็มีพระมารดาเลี้ยง อุตส่าห์ตัดเย็บจีวรมาถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับ ถวายถึง ๓ ครั้งก็ไม่ทรงรับ ทรงบอกให้ถวายเป็นสังฆทาน เพราะพระพุทธองค์ทรงมีจีวรอยู่แล้ว ให้ถวายเป็นของสงฆ์ ให้สงฆ์พิจารณาว่าใครขาดแคลน ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนไป พระศาสนาจะอยู่ได้ก็ต้องมีคณะสงฆ์ เวลาพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีคณะสงฆ์ทำหน้าที่เผยแผ่สั่งสอน พระพุทธศาสนาก็จะหมดไป ถ้ายังมีคณะสงฆ์อยู่ พระพุทธศาสนาก็จะไม่หมดไป จึงควรทำทั้ง ๒ อย่าง ถ้าต้องการธรรมะ ก็ต้องไปหาครูบาอาจารย์ที่มีธรรมะแจกจ่าย แล้วก็จะได้ถวายเป็นสังฆทานด้วย เพื่อท่านจะได้แบ่งปันให้กับลูกศิษย์ลูกหาพระเณร

 

ถาม  เท่ากับหนูได้ทำทั้งสังฆทานและปาฏิบุคคลิกทาน

 

ตอบ  ไม่เจาะจงด้วย ได้ฟังธรรมด้วย ก็ดี เพราะการฟังธรรมเป็นบุญที่สูงกว่าบุญที่ได้จากการให้ทาน เป็นปัญญา เป็นระดับอุดมศึกษา ทานเป็นระดับอนุบาล ควรหมั่นฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ควรไปทำบุญที่วัดที่มีการแสดงธรรม จะได้ ๒ ต่อ ควรไปภาวนาที่วัดบ่อยๆ ต้องบังคับใจ ถ้ารออารมณ์จะไม่ค่อยเกิด ต้องตีตารางไว้ว่าอย่างน้อยเดือนละครั้ง ต่อไปก็เดือนละ ๒ ครั้ง เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะได้เจริญก้าวหน้า ถ้าไม่บังคับไม่ผลักดัน จะไม่ก้าวหน้า จะอยู่กับที่ วัดไหนดีก็ควรไปบ่อยๆ อย่าเห็นอะไรสำคัญยิ่งกว่าการปฏิบัติธรรม ผลที่ได้จะเป็นของเราเต็มร้อย เป็นของใจเต็มร้อย งานอย่างอื่นเป็นผลของร่างกาย เป็นผลชั่วคราว พอร่างกายตายไป ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับใจ ต้องทำเพื่อใจ ทำให้มาก จะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม เกิดขึ้นกับคนอื่น หรือเกิดขึ้นกับเรา จะรู้สึกเฉยๆ ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว

 

ถาม  น้องคนหนึ่งเขาจับได้ว่าสามีมีกิ๊ก เขามีความรู้สึกอยากไปจัดการฆ่าผู้หญิงคนนั้น แต่ความที่เขาได้อ่านหนังสือท่านอาจารย์ มีสติ ก็เลยไม่ได้ไปทำร้ายผู้หญิงคนนั้น แต่ก็ยังทำใจไม่ได้เท่าไหร่ค่ะ

 

ตอบ  ให้อ่านประวัติหลวงปู่ขาว ภรรยาท่านก็มีชู้ ท่านก็อยากจะฆ่าเขา พอดีท่านได้สติ ถ้าท่านฆ่าเขา ท่านก็เลวกว่าเขา ท่านก็เลยเห็นโทษของการยึดติด การหึงหวง ท่านก็เลยตัด ไม่เอาแล้ว ต่อไปนี้จะไม่หาความสุขกับร่างกายของคนอื่นแล้ว ไปทางพระพุทธเจ้าดีกว่า ท่านก็เลยประกาศยกภรรยาให้กับชู้ไปเลย ทำบุญอันยิ่งใหญ่ ถ้าอยากจะทำบุญอันยิ่งใหญ่ บอกเขาให้ยกสามีให้กิ๊กไปเลย จะมีความสุขมาก มีอิสรภาพ จะทำอะไรก็ไม่ต้องขออนุญาต

 

ถาม  ท้าสามีเลิก สามีไม่ยอมเลิก ถามว่าเลือกเขาหรือเลือกผู้หญิงคนนั้น สามีก็บอกเลือกเขา พออีกอาทิตย์หนึ่งก็จับได้ว่าไปติดต่อกันอีก

 

ตอบ  ตัดเขาไม่ขาดเอง ใจอ่อนแอเอง ต้องเป็นแบบหลวงปู่ขาว ยกให้เขาไปเลย