กัณฑ์ที่ ๔๔๙       ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

 

ภาระ

 

 

อยู่ที่เราจะชั่งน้ำหนักว่าภาระไหนสำคัญกว่า ดูแลแม่หรือไปบวชไปปฏิบัติธรรม ถ้าเราเป็นอะไรไปก่อนจะทำอย่างไร ก็ต้องมีคนอื่นดูแลต่อ แต่ถ้าเรายังไม่พร้อม ก็ไปบวชไม่ได้อยู่ดี อยู่ที่ความพร้อมของเราด้วย ถ้ายังไม่พร้อมก็ไปบวชไม่ได้ เพราะยังมีความผูกพัน ความห่วง ความวิตกกังวล ไปบวชก็ไม่สามารถปฏิบัติให้เจริญก้าวหน้าได้ นี่ไม่ได้พูดถึงใครโดยเฉพาะ แต่ละคนต้องใช้วิจารณญาณของตนเอง ชั่งน้ำหนักดูความจำเป็น ดูกำลังของเราด้วย ถ้าไปบวชแล้วปฏิบัติไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไป ปฏิบัติในเพศของฆราวาสไปก่อน สร้างพละ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไปก่อน ถือศีล ๘ ไปก่อน ช่วงที่ว่างจากภารกิจก็ภาวนาไป กลัวว่าจะอ้างภาระนี้แล้วไปทำภาระอื่น ภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ก็ไม่ได้ทำตลอด ๒๔ ชั่วโมง เลี้ยงอาหารเช้ากลางวันเย็น วันละ ๓ มื้อ ระหว่างนั้นก็มีเวลาภาวนาได้ กลัวว่าจะมีภาระอื่นแถมมาด้วย ไหนๆจะต้องทำภาระเลี้ยงดูพ่อแม่แล้ว ก็ขอทำภาระอื่นด้วย ถ้าภาระเลี้ยงดูพ่อแม่อย่างเดียว บวชเป็นพระก็ดูแลได้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้นำอาหารบิณฑบาต มาแบ่งให้บิดามารดาได้ก่อน เอาไปบวชเอาไปอยู่วัดได้ หลวงตาท่านก็เอาโยมแม่ท่านบวชชี แล้วก็เอาไปอยู่ที่วัด  

 

ท่านก็ทำภาระทั้ง ๒ ส่วน ท่านทำภาระของท่านให้เสร็จก่อน พอภาระของท่านเสร็จแล้ว ท่านถึงมาโปรดโยมมารดา เอาไปบวชแล้วก็ไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ๑ พรรษา หลังจากนั้นก็กลับมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด มาสร้างวัดป่าบ้านตาดในปี ๒๔๙๙ หลวงปู่มั่นมรณภาพปี ๒๔๙๒ ต้นปี ๒๔๙๓ ก็ถวายพระเพลิง ปีนั้นหลังจากเสร็จภารกิจของท่าน ท่านก็ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ปี ๒๔๙๔ ถึงปี ๒๔๙๗ ท่านไปอยู่ที่บ้านห้วยทราย บ้านของคุณแม่ชีแก้ว ปี ๒๔๙๘ ไปอยู่ที่จันทบุรี แล้วก็กลับมาสร้างวัดป่าบ้านตาดในปี ๒๔๙๙ ท่านก็ดูแลโปรดโยมแม่มาตลอด มีโอกาสก็สอนธรรมะให้ฟังอย่างต่อเนื่อง เรื่องอาหารการกินเรื่องยาก็ดูแลอย่างใกล้ชิด ท่านทำภาระของท่านให้เสร็จก่อน ตอนที่ยังไม่เสร็จ ท่านก็ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาและการปฏิบัติ ศึกษาได้เปรียญ ๓ ประโยคก็ออกปฏิบัติ พรรษาแรกที่ออกปฏิบัติท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าจักราช หลังจากนั้นก็ออกติดตามหลวงปู่มั่น ไปพบที่บ้านโคก จังหวัดสกลนคร ได้อยู่กับหลวงปู่มั่น ๘ พรรษา หลังจากหลวงปู่มั่นจากไปไม่นานท่านก็เสร็จงานของท่าน

 

ต่อจากนั้นท่านก็แบกภาระของผู้อื่น อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา พระเณรฆราวาสญาติโยม ในเบื้องต้นท่านจะพุ่งเป้าไปที่พระเณรเป็นหลัก อบรมสั่งสอนพระเณร ตั้งแต่หลวงปู่ลีมานี่ หลวงปู่ลีท่านก็บวชวันเผาศพหลวงปู่มั่นปี ๒๔๙๓ แล้วก็มีครูบาอาจารย์รูปอื่นตามศึกษากับท่าน หลวงปู่ลี หลวงปู่บุญมี หลวงปู่เพียร อาจารย์สิงห์ทอง อาจารย์สุพัฒน์ คุณแม่ชีแก้ว เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงตา ไปบุกเบิกวัดป่าบ้านตาดด้วยกัน หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตั้งสำนักของตน แล้วก็มีพระเณรรุ่นหลังเข้ามาศึกษากันตามลำดับ จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ท่านก็อบรมพระเณรมาตลอด ช่วงระยะหลังๆก็สงเคราะห์ญาติโยมมากขึ้น เมื่อก่อนนี้ท่านไม่รับญาติโยมให้อยู่ในวัดมาก ให้อยู่ได้ทีละคน ๒ คน เพราะท่านต้องการความสงบ เวลาญาติโยมไปกราบท่าน มักจะถูกท่านว่า พอถูกว่าก็จะไม่กล้าไปกัน มีแต่พระเณรอยู่ในวัดกันเป็นหลัก แต่พอครูบาอาจารย์องค์ต่างๆที่อาวุโสกว่าท่านล่วงลับไป ญาติโยมก็ขาดที่พึ่ง ท่านก็เลยเมตตา ไม่ดุด่ามาก จึงมีญาติโยมเข้าไปอยู่ในวัดและไปทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ท่านจากเราไป นี่แหละคือการทำภาระทั้ง ๒ ส่วน

 

ภาระส่วนแรกที่สำคัญที่สุด คือภาระของเราเอง ภาระทำจิตใจให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ที่ต้องทุ่มเทเวลาเต็มที่เลยถึงจะทำได้สำเร็จ ถ้ามีภาระอื่นมาเกี่ยวข้อง จะทำให้เนิ่นช้าและอาจจะไม่สำเร็จ เพราะจะปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง แต่กิเลสตัณหาทำงานอย่างต่อเนื่อง ถ้าการปฏิบัติกำจัดกิเลสตัณหาไม่ต่อเนื่อง ก็เหมือนว่าวันนี้เราฟันกิเลสตัณหา พรุ่งนี้เราหยุดฟัน กิเลสตัณหาก็จะฟื้นขึ้นมา เราจึงต้องฟันไปเรื่อยๆ ฟันจนไม่มีอะไรให้ฟัน กิเลสตัณหาถึงจะหมดได้ ถ้าศึกษาประวัติของผู้ที่บรรลุแต่ละองค์นี้ จะเห็นว่าท่านทุ่มเทเวลาชีวิตจิตใจไปกับการปฏิบัติหมดเลย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับภารกิจอื่นเลย ไม่เอางานภายนอก เช่นงานก่อสร้าง งานบุญบังสังสวด เอาแต่งานภายใน งานปลีกวิเวก เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จนมีดวงตาเห็นธรรม เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ นี่คือธรรมที่ต้องเห็น ถ้าต้องการทำลายกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา ที่หลอกให้จิตเวียนว่ายตายเกิด

 

ถ้าเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ก็จะดับความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไปจากใจได้ พอไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ในใจแล้วก็จะสบาย ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไป ไม่ต้องเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่ต้องเจริญสติ ไม่ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะ พิจารณาอริยสัจ ๔ เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหมือนยารักษาโรค ถ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป เมื่อไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในใจแล้ว เพราะปัญญาสามารถละสมุทัย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ปัญญาสามารถสอนใจให้ปล่อยวาง ให้ละตัณหาความอยาก คือกามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหาได้หมดแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีภพชาติอีกต่อไป เพราะต้นเหตุที่ทำให้จิตไปเกิดใหม่ ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว เหมือนไฟที่ไม่มีเชื้อไฟไฟก็จะต้องดับไป ถ้าเติมฟืนเข้าไปในกองไฟ ไฟก็จะลุกต่อไป ถ้าหยุดเติม พอฟืนไหม้หมดแล้ว ไฟก็จะดับ ความทุกข์ใจก็เป็นเหมือนไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิง คือกามตัณหาวิภวตัณหาภวตัณหา

 

พอมีปัญญารู้ว่า ต้นเหตุของความทุกข์ คือความอยาก ปัญญาก็จะสอนใจให้หยุดอยาก ให้ละความอยาก พอละความอยาก ไม่ทำตามความอยาก ความอยากก็จะหมดไป พอหมดความอยากก็จะหมดความทุกข์ หมดการเวียนว่ายตายเกิด นี่แหละคือภาระของเรา ที่ไม่มีใครทำแทนได้ เวลาที่จะได้ทำก็ไม่แน่นอน เพราะชีวิตของเราไม่แน่นอน จะตายเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ พระพุทธศาสนาที่เราได้มีโอกาสมาพบในชาตินี้ ก็อาจจะเป็นครั้งหนึ่งในหลายแสนชาติ ถ้าไม่ได้ทำภารกิจของเราให้สำเร็จลุล่วงไปในชาตินี้ เวลากลับมาเกิดใหม่ก็อาจจะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนาอีก ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ต่อให้สร้างบุญบารมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม ก็สู้กับการที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนาไม่ได้ นอกจากสร้างบารมีมาอย่างโชกโชนในระดับของพระโพธิสัตว์ เช่นพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ที่จะไม่ต้องรอพบกับพระพุทธศาสนา แต่ก็ต้องรอให้บารมีที่ได้สะสมมานี้ เต็มเปี่ยมสุกงอมเต็มที่ ถึงจะทำให้สามารถตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ได้พบกับพระธรรมคำสอน ก็ไม่ต้องสะสมบุญบารมีอย่างโชกโชน อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสะสมมา พวกเราก็คงจะไม่มีวันที่จะสะสมบารมีแบบนั้นได้ เช่นทานบารมี ดูพระเวสสันดรเป็นตัวอย่าง นั่นแหละเป็นการสะสมบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือวิริยะบารมีของพระมหาชนก ถ้าพวกเรายังไม่ได้สร้างบารมีในระดับนั้น ก็จะไม่มีทางที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยตนเอง ก็ต้องรอให้พบพระพุทธศาสนา ซึ่งตอนนี้ก็ได้พบแล้ว แล้วก็อาจจะเป็นครั้งหนึ่งในหลายๆแสนชาติด้วยกันที่ได้พบ ครั้งสุดท้ายที่ได้พบกับพระพุทธศาสนา อาจจะเป็นหลายแสนชาติก่อน แล้วนี่เพิ่งมาพบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าจะได้พบอีกเมื่อไหร่ จะอีกหลายแสนชาติหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต่อให้สะสมบารมีมากน้อยเพียงไร ก็สู้กับการที่ได้พบกับพระพุทธศาสนาไม่ได้ นอกจากสะสมบารมีอย่างพระโพธิสัตว์สะสมกัน

 

พวกเราจึงควรทุ่มเทเวลาชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติ เพื่อยุติการเวียนว่ายตายเกิดในชาตินี้จะดีกว่า เพราะเป็นโอกาสที่ดีที่สุด นานๆจะได้มีโอกาสอย่างนี้สักครั้งหนึ่ง อย่าให้ภาระต่างๆมาเป็นอุปสรรค มาหลอกให้เห็นว่าเป็นภาระสำคัญ ถ้าเป็นภาระที่สำคัญจริงๆ เราก็ยังปฏิบัติได้ กลัวว่าจะใช้เป็นข้ออ้างเสียมากกว่า เพื่อไม่ให้ปฏิบัติ ถ้ายังภาวนาไม่ได้ก็รักษาศีล ๘ ไปก่อน รักษาศีล ๘ ไม่ได้ก็รักษาศีล ๕ ไปก่อน รักษาศีล ๕ ไม่ได้ก็ทำบุญให้ทานไปก่อน ขอให้ทำเป็นกิจจะลักษณะ ทำแบบทุ่มเทจริงๆจังๆ อย่าทำเพียงสักแต่ว่า ทำพอหอมปากหอมคอ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ทำทานก็ทำเต็มที่เลย เงินทองทุกบาททุกสตางค์นี้อย่าให้รั่วไหลไปทางของกิเลสเป็นอันขาด อย่าปล่อยให้ไปทางกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา ถ้าจะใช้เงินทองก็ใช้เพื่อดูแลภาระที่จำเป็น เช่นดูแลบิดามารดา ดูแลอัตภาพร่างกาย ถ้ามีเหลือก็เอาไปสร้างทานบารมี ทำทานให้มากๆ จะได้มีความเมตตา ได้ละความตระหนี่ ได้ชนะความโลภความอยากได้เงินทอง ถ้าอยากได้เงินทองก็จะเสียเวลากับการไปหาเงินทอง จะไม่มีเวลามารักษาศีลปฏิบัติธรรม รักษาศีล ๘ ไม่ได้ เพราะเวลาทำงานก็อ้างว่าต้องใช้แรง ต้องกินข้าวเย็น แต่ถ้าไม่โลภอยากได้เงิน ทำมาหากินพอประมาณ พอให้ได้ทรัพย์มาดูแลภาระที่จำเป็น ก็จะมีเวลามีกำลังรักษาศีล ๘ ทุ่มเทกับการรักษาศีล ๘ จะถือการรักษาศีล ๘ เป็นงานที่สำคัญกว่างานหาเงินหาทอง ไม่อยากร่ำรวย ไม่ต้องการใช้เงินทองเพื่อความสุขของกิเลสตัณหา จะใช้กับภาระที่จำเป็น เช่นดูแลพ่อแม่ ดูแลร่างกาย ดูแลคนที่เรารับผิดชอบอยู่ ดูแลไปตามความเหมาะสม ซึ่งไม่ต้องใช้เงินมากมาย เหมือนกับการใช้ตามความอยากของกิเลสตัณหา

 

ถ้าทำอย่างนี้ก็จะมีเวลาภาวนา ภาวนาที่บ้านก็ได้ หาที่สักที่หนึ่ง จัดห้องไว้สักห้องหนึ่ง พอเสร็จภาระก็เข้าไปในห้องปิดประตู เขียนป้ายบอกว่าห้ามรบกวน จะทำหน้าที่ของจิตใจ เดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ในห้อง ควบคุมจิตใจไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ให้อยู่ในปัจจุบัน เพราะจิตจะสงบได้ต้องอยู่ในปัจจุบัน เหมือนการตีกอล์ฟ ต้องต้อนลูกกอล์ฟให้มาอยู่ใกล้ๆปากหลุมก่อน ถึงจะตีเข้าไปในหลุมได้ ถ้าลูกกอล์ฟอยู่ไกลจากหลุม จะตีเข้าไปในหลุมไม่ได้ การต้อนจิตก็ต้องต้อนด้วยสติ ต้อนจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าจิตอยู่ในปัจจุบัน เวลานั่งหลับตา บริกรรมพุทโธ ไม่นานจิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ จึงต้องฝึกสติก่อน ต้องต้อนลูกกอล์ฟคือต้อนจิต ให้มาอยู่ที่ปากหลุม ต้องคอยดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าให้ไปอดีต อย่าให้ไปอนาคต ให้อยู่ในปัจจุบัน พอว่างจากภารกิจการงานต่างๆ ก็นั่งหลับตาบริกรรมพุทโธ ไม่นานจิตก็จะเข้าสู่ความสงบ เพราะจิตอยู่ที่ปากหลุมแล้ว พอใช้พุทโธเขี่ยทีสองทีก็เข้าไปแล้ว

 

สติจึงสำคัญมากในบรรดาธรรมทั้งหลาย ไม่มีธรรมใดที่จะมีความสำคัญเท่ากับสติ เพราะสติเป็นผู้ทำให้ธรรมอื่นเกิดขึ้นมาได้ เช่นสมาธิจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องมีสติก่อน จิตต้องอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา อยู่กับพุทโธหรืออยู่กับร่างกาย ถ้าอยู่กับเรื่องอื่นเรื่องที่ไกลตัว ก็จะไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน เช่นเราอยู่ที่ตรงนี้แต่ใจไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่เมืองนอกเมืองนา ที่คนนั้นคนนี้ อย่างนี้ถือว่าอยู่ไกลจากปากหลุม ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่กับร่างกาย เฝ้าดูร่างกายในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว ของการทำงาน ก็จะอยู่ในปัจจุบัน เวลาดูแลคนอื่น เราก็สามารถเจริญสติควบคู่กันได้ ด้วยการดึงจิตให้อยู่กับภารกิจการงาน ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ให้คิดอยู่กับเรื่องที่กำลังทำอยู่ เช่นเตรียมอาหารให้แม่ เตรียมยาให้แม่ อาบน้ำให้แม่ หรือทำอะไรให้แม่ ก็ให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ พอเสร็จภารกิจแล้วก็ไปเข้าห้องนั่งหลับตา แล้วก็ดูลมหายใจหรือบริกรรมพุทโธไป ถ้าใจเป็นปัจจุบัน ๕ นาทีก็สงบได้ ที่นั่งแล้วไม่สงบเพราะใจไม่เป็นปัจจุบัน ไม่อยู่ที่นี่ แต่ไปอยู่ที่โน่น ไม่อยู่กับลมอย่างต่อเนื่อง ไม่บริกรรมพุทโธอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นลูกกอล์ฟก็กลิ้งไปทางโน้นกลิ้งมาทางนี้ ไม่เข้าไปในหลุม

 

ต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย พอตื่นขึ้นมาสิ่งที่ควรทำก่อนเพื่อนเลยก็คือตั้งสติ บอกตัวเองว่าอย่าไปไหนนะ ให้อยู่ตรงนี้ ให้อยู่กับร่างกาย อยู่กับพุทโธ ไม่ใช่พอตื่นขึ้นมาปั๊บ ก็ถูกกิเลสลากไปแล้ว วันนี้วันอะไร ต้องไปเจอใครที่ไหน ไม่ทันแล้วต้องรีบแล้ว เวลาเตรียมตัวก็คิดเรื่องงานที่จะทำควบคู่กันไป อย่างนี้ทางโลกเขาว่าเก่ง เพราะทำงานได้ทั้ง ๒ อย่างพร้อมๆกัน แต่ทางธรรมเรียกว่าไม่เก่ง เรียกว่าโง่ ไม่ฉลาด เพราะใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีสติ ทำอะไรมักจะผิดพลาด ใจไม่สงบ ใจวุ่นวายตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย พอคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะมีเรื่องต่างๆให้คิดอย่างต่อเนื่อง วันทั้งวันก็เลยวุ่นวายกับความคิด คิดแล้วก็ฟุ้งซ่านขึ้นมา วิตกกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิด กับเรื่องที่ทำอะไรไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้าไม่สามารถทำอะไรได้ วิตกไปก็ทุกข์ไปเปล่าๆ สู้อยู่กับพุทโธ อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันจะดีกว่า ทำใจให้ว่างให้เย็นสบาย พอเกิดเหตุการณ์ก็พิจารณาดู ถ้าทำอะไรได้ก็ทำไป ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป แต่ใจเย็นตลอดเวลา ทำไม่ได้ก็เย็น ทำได้ก็เย็น เพราะรักษาใจมากกว่ารักษาสิ่งอื่น เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เวลาเราตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ไปวุ่นวายกับสิ่งต่างๆทำไม ทำไปตามกำลัง ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ สิ่งที่ต้องทำก็คือทำใจให้เย็นสบายให้รู้เฉยๆกลับไม่ทำ

 

ถ้าเจริญสติอย่างต่อเนื่อง รับรองได้เลยว่าใจจะสงบง่าย จะนั่งทำสมาธิเมื่อไหร่ก็ทำได้ เวลาใจสงบเข้าสู่สมาธิได้จะมีความสุขมาก มากกว่าเวลาที่ออกจากสมาธิ จะรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ จะให้ความสุขเท่ากับความสงบนี้เลย จะเห็นคุณค่าของความสงบ พอออกจากสมาธิมา ก็จะพยายามรักษาความสงบที่ได้จากสมาธิ ให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า ความทุกข์เกิดจากความอยาก ถ้าไม่อยากจะทุกข์ ถ้าอยากจะให้ใจสงบมีความสุขต่อไป ก็ต้องฝืนความอยากทุกรูปแบบ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสเรียกว่ากามตัณหา ความอยากมีอยากเป็นอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เรียกว่าภวตัณหา เวลาอยากทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องทำถ้าไม่มีความจำเป็น อย่าทำด้วยความอยาก ทำด้วยความจำเป็น ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ เช่นดูแลพ่อแม่ ดูแลได้ก็ดูแลไป ถ้าพ่อแม่จะตายก็ช่วยไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้ตายไป ถ้าทำดีที่สุดแล้ว อย่าทำเพราะความอยาก อยากจะให้พ่อแม่หายเจ็บไข้ได้ป่วย อยากไม่ให้พ่อแม่ตาย พอเขาไม่หาย พอเขาจะตาย ก็จะวุ่นวายใจทุกข์ใจ ถ้าเอาพระอริยสัจ ๔ มาเป็นแนวทางของการปฏิบัติ ใจก็จะสงบ อย่าไปอยาก ทำไปตามเหตุตามผล ตามความจำเป็น ไม่ใช่อยู่เฉยๆพอคันไม้คันมือขึ้นมา อยากจะทำนั่นทำนี่ ก็อย่าไปทำ ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้ใจกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ไม่สงบ ถ้าไม่มีอะไรทำก็นั่งสมาธิไป เจริญปัญญาไป พิจารณาสิ่งต่างๆว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา เพื่อจะได้ไม่มีความอยากในสิ่งต่างๆ เวลาอยากไม่คิดเลยว่า สิ่งที่อยากได้นั้นจะไม่อยู่กับเราไปตลอด ไม่ได้เป็นของเรา มักจะคิดว่าจะให้ความสุขกับเรา จะอยู่กับเราไปนานๆ จะเป็นของเรา พอไม่เป็น ก็เสียใจทุกข์ใจ

 

ถ้ามีปัญญาคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่อยากได้อะไร เพราะมีความสุขที่ดีกว่าอยู่แล้ว เรื่องอะไรไปเอาความสุขที่ด้อยกว่ามาแลกทำไม รักษาความสุขที่ดีไว้ดีกว่า รักษาความสงบต่อไป ด้วยการฝืนความอยากต่างๆ ไม่ทำตามความอยาก ถ้ามีความสุขความสงบแล้ว การละความอยากจะไม่ยาก เพราะมีของดีกว่า พอกิเลสจะหลอกให้เอาของไม่ดีมาแลก ก็จะไม่แลก เอาเงินมาแลกกับทองคำ จะแลกไปทำไม เอารถกระบะมาแลกรถเก๋ง จะแลกไปทำไม เอาเบนซ์มาแลกโรลส์รอยซ์ จะแลกไปทำไม ปัญหาของเราก็คือไม่มีของดีในตัวเรา พอใครเอาอะไรมาแลกก็แลกเลย เอารถกระบะมาแลกก็เอา เอารถจักรยานมาแลกก็เอา เอารถมอเตอร์ไซค์มาแลกก็เอา ไม่รู้ว่าเป็นความทุกข์ เพราะสุขเดี๋ยวเดียว พอได้เสพสัมผัสสิ่งที่อยากก็มีความสุข พอผ่านไปแล้วก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาเหมือนเดิม เวลาออกไปเที่ยวนอกบ้านก็ดีอกดีใจ พอกลับมาบ้านก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาเหมือนเดิม จึงต้องออกไปเรื่อยๆ ออกไปแต่ละครั้งก็ต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ต้องดิ้นรนหาเงินทองมาใช้จ่าย ถ้าไม่มีเงินทองก็ไปไม่ได้ ต้องทำงานก่อน ทำงานก็เหนื่อย ก็ทุกข์อีก พอได้เงินมาก็ออกไปหาความสุข พอกลับมาบ้านก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาเหมือนเดิม ไม่มีวันหมดไป ความทุกข์ไม่ดับเพราะทำตามความอยาก ความทุกข์ดับเพราะไม่ทำตามความอยาก

 

สิ่งแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้นก่อน ก็คือความสงบ จะได้มีความสุขที่ดีกว่าความสุขทั้งหลาย พอมีแล้ว ต่อให้เอาช้างมาลาก ให้ไปหาความสุขข้างนอก ก็จะไม่ไป ไปให้เหนื่อยทำไม อยู่บ้านนั่งสมาธิสบายกว่า ถ้าออกไปข้างนอกก็ต้องแต่งเนื้อแต่งตัว ต้องไปเหนื่อยกับการเดินทาง ต้องไปติดอยู่ในรถ พอไปถึงก็ได้ความสุขเดี๋ยวเดียว เสร็จแล้วก็ต้องกลับบ้าน ไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป อยู่บ้านทำใจให้สงบดีกว่า ทำใจให้ชนะความอยาก  แล้วใจจะสงบเย็นสบาย ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะชนะความอยากทั้งหมดได้ จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในใจ พอไม่มีความทุกข์แล้ว ก็จะสามารถสอนผู้อื่นได้ สอนวิธีที่จะทำให้เขามีความสุข เพราะความสุขแบบนี้ ทุกคนมีสิทธิ์มีได้ ไม่จำเป็นต้องรวย ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ ต้องรวยต้องมีเงินมีทองถึงจะมีได้ แต่ความสุขทางใจนี้มีได้ทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย หญิงหรือชาย นักบวชหรือฆราวาส เด็กหรือผู้ใหญ่ มีได้หมดทุกคน ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนได้

 

คือเจริญสติได้ รักษาศีล ๘ ได้ สละสมบัติข้าวของเงินทอง สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ ก็จะสามารถพบกับความสุขภายในใจได้ มีความสุขใจแล้วก็จะไม่มีความทุกข์ใจ นี่คือภาระหน้าที่ของพวกเรา ที่เรามักจะมองข้ามไป ลืมไป ไปมองภาระดูแลผู้อื่นสำคัญกว่า ดูแลร่างกายสำคัญกว่าดูแลจิตใจ ถ้าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้ มองว่าภาระดูแลจิตใจสำคัญกว่าภาระอื่น ก็จะสามารถทำภาระของจิตใจให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียง ๖ ปีเท่านั้น ก็ทรงสำเร็จภารกิจของพระองค์ หลังจากนั้นอีก ๔๕ ปีก็ทำภารกิจของผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้พบกับความสุข ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ นับจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสน เพียงระยะ ๗ เดือนแรก ก็มีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาอย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูปแล้ว ใน ๗ เดือนแรก ถ้า ๗ เดือนพันกว่ารูป ปีหนึ่งก็ประมาณ ๒๐๐๐ รูป เอา ๔๕ ปีคูณกับ ๒๐๐๐ รูป ก็จะได้พระอรหันต์ ๙๐๐๐๐ รูป

 

ทำอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ ตายแล้วไม่ต้องกลับมาเกิด ดูแลพ่อแม่ให้ยาให้อาหารอย่างดี ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ แต่ถ้าสอนพ่อแม่ให้บรรลุได้ ตายไปก็ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ เช่นทรงสอนพระราชบิดา สอนพระมารดาเลี้ยง สอนลูก จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ถ้ายังประทับอยู่ในพระราชวัง ได้ชนะศึกสงครามได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ ก็จะช่วยให้พ่อแม่ภรรยาลูกและญาติของท่าน อยู่อย่างสุขสบาย แต่ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ ถ้าไปบวชไปปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ได้กลับมาสั่งสอนญาติทั้งหลาย ได้ปฏิบัติและบรรลุเป็นพระอรหันต์ ตายแล้วก็ไม่ต้องกลับมาเกิด ผล ๒ อย่างนี้ แบบไหนจะดีกว่ากัน พระพุทธเจ้าทรงเลือกแบบหลัง ทรงออกปฏิบัติทรงบรรลุก่อน เมื่อบรรลุแล้วก็มาสั่งสอนให้ผู้อื่นได้บรรลุกัน ตายไปก็ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ จึงควรชั่งน้ำหนักพิจารณาว่า ภารกิจแบบไหนมีผลที่ดีกว่า เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้น ๒ ตัว หุ้นตัวหนึ่งให้ผลรับเพียงร้อยละ ๑ – ๒ กับหุ้นอีกตัวหนึ่งให้ผลร้อยละ ๘๐ – ๙๐ จะเลือกเอาหุ้นตัวไหน ฉันใดภารกิจที่เราทำ ก็มีผลประโยชน์ต่างกัน ภารกิจทางร่างกายกับภารกิจทางใจ มีผลต่างกัน ภารกิจทางใจมีผลมากกว่าหลายสิบเท่าของภารกิจทางร่างกาย ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะเลือกภารกิจที่ถูกต้องได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้เลือกกัน ถ้าเลือกอีกทางหนึ่งก็จะไม่ได้เป็นพระสาวกกัน จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด ก็ขอให้เอาไปพินิจพิจารณาดู และตัดสินใจเอาเองก็แล้วกันว่า ควรจะทำภารกิจอย่างไหนดี

 

การทำลายความครอบงำของโมหะอวิชชานี้ มันยาก มันต้อนเรา มันจับเราอยู่ในอุ้งมือมัน คิดอย่างไรมันก็สกัดกั้นไว้หมด คิดไปช่องนี้ก็พ่อ ช่องนี้ก็แม่ ช่องนี้ก็ภรรยา ช่องนี้ก็สามี ช่องนี้ก็ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ช่องนี้ก็ลูก ต้องมีผู้มาสืบทอดสกุล ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะไม่มีทางออก ถูกกิเลสปิดกั้นไว้ทุกช่องทาง ไม่มีทางที่จะออกจากวัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ แต่ถ้าคิดว่าไม่เที่ยง ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ทุกคนต้องเป็นไปตามบุญตามกรรมของตน สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน จะทำบุญทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของบุญของกรรมนั้น ต้องคิดอย่างนี้ ไม่เที่ยง ถ้าตายวันนี้จะทำอย่างไร เขาจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เขาอาจจะดีใจก็ได้ที่ไม่มีเรามาคอยขวางกั้น ต้องคิดอย่างนี้ถึงจะสู้กับกิเลสได้ ต้องใช้ไตรลักษณ์ ต้องมองว่าไม่เที่ยง ต้องมองว่าทุกคนมีบุญมีกรรมเป็นของของตน จะเจริญหรือจะเสื่อม จะดีหรือจะชั่วอยู่ที่บุญกรรมของเขา เราช่วยเขาได้เพียงนิดเดียว ผู้ที่จะช่วยเขาได้จริงๆ ก็คือบุญกรรมที่เขาทำมา ถ้ามีบุญต่อให้ไปเกิดในสลัมก็เป็นมหาเศรษฐีได้ ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เป็นเด็กกำพร้าก็เป็นมหาเศรษฐีได้ ถ้ามีบุญ ถ้ามีกรรมต่อให้ไปเกิดในวังก็ตกอับได้ เรื่องของบุญกรรมเป็นอย่างนี้ ต้องคิดอย่างนี้ คิดว่าถ้าเราตายวันนี้ คนอื่นจะทำอย่างไร คนที่เราเลี้ยงดูจะทำอย่างไร ก็ต้องหาคนอื่นมาเลี้ยงดูแทน ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องเลี้ยงดูตัวเอง ถ้าเลี้ยงดูไม่ได้ก็ต้องอดตาย มีคนเลี้ยงดูก็ตายเหมือนกัน

 

จึงควรคิดถึงความตายให้มากๆ คิดถึงความตายอยู่เรื่อยๆ คิดว่าทุกคนในที่สุดก็ต้องตายกันหมด สิ่งต่างๆที่ทำกันแทบเป็นแทบตาย ก็หมดความหมายไป ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป การทำให้ร่างกายอยู่สุขสบายอยู่ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีงานทำ มีเงินใช้ เป็นความสุขชั่วคราว ไม่ติดไปกับเรา คนจนตายกับคนรวยตายก็เท่ากัน ไม่ได้เอาทรัพย์สมบัติไปกัน จะมาเสียเวลากับการหาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายไปทำไม แต่สิ่งที่ทำให้จิตใจนี้ เราเอาติดตัวไปได้หมดเลย ทำทานได้มากน้อยเพียงไร ก็จะติดเป็นนิสัยไป รักษาศีลได้มากน้อยเพียงไร ก็จะติดเป็นนิสัยไป เจริญสตินั่งสมาธิเจริญปัญญาได้มากน้อยเพียงไร ก็จะติดเป็นนิสัยไป คนเราถึงมีความแตกต่างกัน เวลามาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาตินี้ บางคนสามารถไปได้อย่างรวดเร็ว ฟังเทศน์ฟังธรรมครั้งสองครั้งก็บวชได้บรรลุธรรมได้ บางคนฟังเป็นสิบสิบครั้ง ฟังแล้วฟังอีก ก็บวชไม่ได้บรรลุธรรมไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำมามากพอ มัวแต่ไปยุ่งกับการหาเงินหาทอง หาความสุขทางร่างกาย ถ้าเป็นอย่างนี้ กลับมาพบพระพุทธศาสนาอีก ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐๐ ครั้งก็จะเป็นอย่างนี้ จะไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีธรรมเก่ามารองรับ แต่ถ้าได้สร้างธรรมะต่างๆไว้ พอมาพบกับพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ก็เหมือนกับปลาได้น้ำ จะฟื้นขึ้นมาทันที เหมือนต้นไม้ที่ได้น้ำ ก็จะออกใบทันที เพราะมีต้นอยู่แล้วมีรากอยู่แล้ว ถ้ายังไม่มีต้นไม่มีราก ต่อให้ฝนตกหนักขนาดไหน ก็จะไม่เจริญงอกงาม

 

ขอให้พยายามสร้างธรรมะต่างๆให้มีไว้ในใจ เพราะจะติดไปกับเรา เป็นของเรา ทานบารมี ศีลบารมี เป็นของเรา สติ สมาธิ ปัญญา เป็นของเรา ทำได้มากน้อยก็จะติดไปกับเรา บางคนจึงนั่งสมาธิได้ง่ายเพราะมีสติมาก บางคนนั่งสมาธิเป็นปีๆ ก็ไม่เคยสงบสักครั้งหนึ่ง เพราะไม่ได้สร้างสติมาในอดีต แล้วก็ไม่สร้างสติในปัจจุบัน ถ้าในอดีตไม่ได้สร้างสติมา ในปัจจุบันเราก็สร้างขึ้นมาได้ ถ้ามีคนสอนแล้วเราพยายามทำตาม อีกไม่นานก็จะมีสติ พอมีสติแล้วนั่งสมาธิก็จะสงบได้อย่างรวดเร็ว พอมีสมาธิก็จะละตัณหาได้ พอปัญญาบอกว่านี่คือความอยาก อย่าไปอยากนะ อยากแล้วจะทุกข์ ก็จะละได้หลุดพ้นได้ ขอให้บำเพ็ญกันมากๆ อย่าทำแต่ทานอย่างเดียว ทานนี้ได้ทำกันอย่างเด่นชัดแล้ว แต่ยังไม่มากพอ ทำทีเดียวให้หมดไปเลย จะได้ไม่ต้องทำบ่อยๆ จะได้ไปบวชได้ ถ้าทำหมดแล้วก็จะไปบวชได้ ไปรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ ไปปลีกวิเวกไปภาวนาได้ เจริญสติสมาธิปัญญาได้ หลุดพ้นได้ ตอนนี้พวกเราติดอยู่ที่ขั้นทานกัน การทำทานดี ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ว่าอย่าติดกับการทำทาน ทำทานเพื่อให้ขึ้นไปสู่ขั้นรักษาศีล ขั้นออกบวช ที่ให้ทำทานเพื่อจะได้ไม่ใช้เงินทองซื้อความสุข ให้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตสงบ เอาความสุขที่เกิดจากความสงบ แทนการเอาเงินไปซื้อความสุข ความสุขที่ซื้อด้วยเงินนี้ไม่ดี เป็นความสุขร้อน ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไม่ถาวร สุขเดี๋ยวเดียว แต่ความสุขที่เกิดจากการรักษาศีลปฏิบัติธรรมนี้ เป็นความสุขที่แท้จริง จะอยู่ในใจไปตลอด ถ้ารักษาศีลได้ ภาวนาได้ จะมีความสุขทางใจเสมอ

 

ความสุขทางร่างกายทางเงินทอง ถ้าไม่มีเงินทองก็จะไม่สามารถมีได้ อย่าไปหาความสุขอย่างนี้ มีเงินก็อย่าเอาไปใช้ซื้อความสุข เอาไปทำบุญให้หมด จะได้ไม่ต้องไปหาเงิน จะได้มีเวลาไปบวชได้ ทุกวันนี้ก็อ้างว่าต้องทำงาน ทำไปเพื่ออะไร ก็ทำไปเพื่อกิเลส ทำไปทำไม ควรลาออกจากงานแล้วก็ไปบวช ทำไปทำไม พออายุ ๖๐ ก็ต้องหยุดทำ ตอนนั้นจะไปบวชก็ไปไม่ไหวแล้ว ไม่มีกำลัง แก่แล้ว น่าเสียดายโอกาสอันดี นานๆจะมีโอกาสอย่างนี้สักครั้งหนึ่ง กลับไม่ฉวยโอกาส กลับปล่อยให้ผ่านไป ไม่เห็นคุณค่าของโอกาส เหมือนไก่ได้พลอย คุ้ยเขี่ยไป พอเจอพลอยก็เขี่ยทิ้งเขี่ยทิ้ง จะเอาแต่ตัวหนอนตัวไส้เดือน จะเอาแต่ความสุขจากการใช้เงิน ที่เป็นเหมือนไส้เดือน ความสุขที่ได้จากการภาวนา ที่เป็นเหมือนเพชรพลอยกลับไม่เอากัน เขี่ยทิ้งหมด ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ถ้าภาวนาได้ ชาตินี้ก็สามารถยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้ ยังไม่สายเกินไป ๗ ปีเท่านั้นเอง อายุตอนนี้เท่าไหร่ อายุ ๘๐ ปีก็ยังไม่สาย ถ้าปฏิบัติจริงๆ อายุ ๘๗ ปีก็บรรลุได้ หลวงปู่ตันท่านบวชตอนแก่แล้ว ท่านก็บรรลุได้

 

ไม่ยากเลยถ้ามีคนสอน เหมือนกับเรียนหนังสือ พอมีมหาวิทยาลัย เราก็ไปสมัครเรียนเท่านั้นเอง แล้วก็เรียนตามที่เขาสอน ๔ ปีก็ได้ปริญญา ถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยเรียนอย่างไรก็จะไม่ได้ปริญญา เพราะไม่มีคนสอน ตอนนี้พวกเรามีมหาวิทยาลัยเปิดรับเต็มที่แล้ว ไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ รับทุกคนไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่ รับหมดเลย สมัครเท่าไหร่ก็รับหมดเลย ปริญญาก็ ๔ ขั้น ๔ ระดับด้วยกันคือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ นี่คือปริญญาของมหาวิทยาลัยของพระพุทธศาสนา ไม่ยอมสมัครกันเลย ค่าสมัครก็ไม่เก็บ เอ็นทรานซ์ก็ไม่มี ก็พูดได้เท่านี้แหละ โฆษณาให้กับพุทธศาสนาได้เท่านี้แหละ เราคงจะเป็นเซลส์แมนที่ไม่ค่อยดี ขายสินค้าไม่ค่อยออก แต่ก็มีหลายคนที่ศรัทธามาบวชกัน ปีนี้ก็มีพระมาอยู่บนเขาเพิ่มอีก ๓ รูป ปีที่แล้วก็มีอยู่ ๒ รูป แล้วก็มีฆราวาสอีก ๑ ท่านจะบวชชี ก็พอมีรายได้จากคอมมิชชั่น พออยู่ได้ ไม่อดตาย ถ้าได้กลุ่มพวกเรานี้ทั้งหมด คงจะได้หลายสตางค์ ได้ค่าคอมมิชชั่นมาก ไม่สงสารเราบ้างเหรอ ช่วยซื้อสินค้าหน่อย เชื่อว่าคงจะมีมาเรื่อยๆ ตอนนี้คงจะเตรียมตัวเตรียมใจกัน วางแผนกัน

 

การอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์นี้มีความสำคัญมาก ถ้ายังพึ่งตนเองไม่ได้ อยู่กับครูบาอาจารย์จะมีประโยชน์มาก ท่านจะให้กำลังใจให้ความรู้ต่างๆ คอยสกัดกั้นกิเลสให้ คอยเตือนว่าอย่าไปทางนี้ ทางนี้เป็นทางของกิเลส อย่าไปติดกับของกิเลส ถ้าไม่อยู่กับครูบาอาจารย์ บางทีความคิดของเราจะถูกกิเลสแทรกเข้ามาโดยไม่รู้ตัว ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้ แต่ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา กิเลสจะไม่มีวันแทรกเข้ามาได้ พอคิดไปทางกิเลสก็จะรู้ว่าไม่ใช่ทาง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็ต้องอาศัยหนังสืออาศัยซีดีของท่าน ควรอ่านควรฟังอยู่เรื่อยๆ ได้ประโยชน์เหมือนกัน เหมือนกับได้ฟังจากปากของท่านเลย เหมือนกับตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ต่างกันตรงที่ไม่สามารถถามปัญหาได้ แต่ตอนที่เราอยู่กับหลวงตาก็ไม่เคยถามปัญหาเลย เพราะท่านแสดงอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกขั้นตอน ไม่มีอะไรสงสัยเลย ปฏิบัติตามที่ท่านพูด ก็จะเห็นตามที่ท่านพูดทุกอย่าง หนังสือและซีดีของครูบาอาจารย์จึงมีประโยชน์มาก ขอให้พยายามอ่านหรือฟังอยู่เรื่อยๆ อ่านแล้วฟังแล้วก็ต้องปฏิบัติด้วย ถ้าอ่านแล้วฟังแล้วไม่ปฏิบัติก็จะไม่เกิดผล