กัณฑ์ที่ ๔๕๒       ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 

ป่าไม้

 

 

 

ต่อไปสถานที่ปฏิบัติธรรมจะอยู่ในป่าสงวน อยู่ในป่าอนุรักษ์ เพราะจะไม่มีป่าเหลือ ถ้าไม่มีป่าก็จะไม่มีธรรม ที่เกิดของธรรมก็คือป่านี่เอง เป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ของพระพุทธศาสนา ป่าจึงเป็นสถานที่สำคัญ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ต้องมีสถานที่สงบสงัดวิเวก ห่างไกลจากแสงสีเสียง ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้ เป็นยาเสพติดดีๆนี้เอง ที่ทำให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิด เพื่อกลับมาเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ ผู้ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้น ต้องคำนึงถึงข้อนี้เป็นสำคัญ อยู่ใกล้แสงสีเสียงไม่ได้ ใกล้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้ ต้องสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายเวลาอยู่ใกล้ สำรวมก็คือต้องห้าม ต้องบังคับใจ ไม่ให้ไปหาไปเสพ ถ้าอยู่ใกล้ก็อย่าเสพ ถ้าได้ยินก็ได้ยินเฉยๆ ถ้าเห็นก็เห็นเฉยๆ ถ้าไม่เฉยก็ต้องหนีไปอยู่ไกลๆ ใช้สติช่วยดึงใจไว้ บริกรรมพุทโธๆไป เช่นเวลาไปตามศูนย์การค้า ก็ควรบริกรรมพุทโธๆไป เหมือนเดินจงกรม ให้คิดว่าร้านค้าต่างๆเป็นเหมือนต้นไม้ เป็นเหมือนป่า เวลาไปเดินป่าจะไม่เกิดอารมณ์ เกิดความโลภเกิดความอยาก เวลาไปเดินตามศูนย์การค้า เนื่องจากต้องซื้อสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่นกับข้าวกับปลาอาหาร ก็ต้องควบคุมความอยากให้ได้ ให้คิดว่ากำลังหาอาหาร หาผักหาผลไม้ ส่วนสิ่งอื่นอย่าไปอยากได้

 

นี่คือวิธีปฏิบัติถ้ายังต้องอยู่ใกล้กับแสงสีเสียง ใกล้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์ เกิดความอยาก วิธีที่ดีที่สุดก็คือสั่งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องไปเอง เดี๋ยวนี้มีร้านค้าบริการส่งสินค้าต่างๆผ่านทางโทรศัพท์ เสียเงินดีกว่าเสียใจ เงินเป็นของต้องเสียอยู่แล้ว เวลาตายก็ต้องเสียไปหมด แต่เวลาเสียใจเอากลับคืนมายากมาก จึงต้องรักษาใจต้องสงวนใจ เหมือนเป็นลูกสุดที่รักเลย ไม่ให้แสงสีเสียงมาพรากลูกเราไป ต้องหวง ไม่ให้ใครมาเอาลูกเราไปง่ายๆ ต้องรักใจเหมือนรักสามีรักภรรยา ต้องหวงต้องห่วงใจ อย่าไปหวงไปห่วงสามีไปห่วงภรรยา เพราะเขาไม่ได้เป็นของเรา หวงอย่างไรห่วงอย่างไรเขาก็ต้องจากเราไป แต่ใจไม่มีวันจากเราไป ใจอยู่กับเราไปตลอด ถ้าไม่หวงไม่ห่วง ก็จะได้ใจที่ไม่ดี ใจจะเสีย จะเป็นเหมือนคนติดยาเสพติด ที่ต้องหาแสงสีเสียง หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมาเสพอยู่เรื่อยๆ จึงควรหนีจากแสงสีเสียง จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปให้ได้ ควรตั้งเป็นเป้าหมายของชีวิตเลย ต้องอยู่ปราศจากแสงสีเสียง ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะเป็นยาเสพติดดีๆนี้เอง ที่จะดึงให้ใจเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย

 

ต้องสำรวมอินทรีย์ เริ่มต้นด้วยการรักษาศีล ๘ อยู่ที่บ้านก็รักษาได้ ไม่ต้องไปที่วัด ไม่ต้องไปปลีกวิเวก ถ้าเราตั้งเป้าไว้แล้วจะไม่เป็นสิ่งที่ยากเกินไป เรื่องการรักษาศีล ๘ นี้ คือไม่ได้หมายความว่าตั้งแล้วก็ต้องทำทันที แต่ตั้งไว้เพื่อเป็นแนวทางที่จะได้ก้าวไปสู่จุดนั้น เช่นศีลข้อ ๓ ถ้าตอนนี้ยังรักษาไม่ได้ เพราะยังมีสามีมีภรรยา ก็ให้มีวันหยุดบ้าง เช่นวันพระก็หยุดสัก ๑ วัน หรือมากกว่านั้นก็ได้ เช่นรักษาอาทิตย์ละ ๖ วัน แทนที่จะรักษาอาทิตย์ละ ๑ วันก็เอา ๖ วันเลย เก็บไว้ ๑ วันหนึ่งให้กิเลส ถ้ายังมีคู่ครอง เวลาไม่มีคู่ครองต้องอยู่คนเดียว จะอยู่ได้อย่างสบาย ควรตั้งเป้าสู่การรักษาศีล ๘ ให้ได้มากที่สุด ให้รักษามากกว่าการไม่รักษา อย่างน้อยเดือนหนึ่งก็ต้องรักษา ๑๕ วันขึ้นไป ตอนเริ่มต้นใหม่ๆก็รักษาเดือนละ ๔ วัน อาทิตย์ละวัน วันพระถือศีล ๘ ต่อไปก็เพิ่มเป็นอาทิตย์ละ ๒ วัน อาทิตย์ละ ๓ วัน เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะได้ก้าวหน้า ไม่ต้องทำทันทีให้เต็มร้อย ค่อยๆเพิ่มไปทีละเล็กทีละน้อย ก้าวไปวันละก้าวจะง่ายกว่าวันละร้อยก้าว ถ้าไม่คิดริเริ่มเลย ก็จะไม่มีวันเริ่ม ก็จะติดอยู่ที่เดิม จะไม่เจริญก้าวหน้า

 

นี่คือการปฏิบัติสำหรับผู้ที่ยังมีคู่ครอง ควรรักษาศีล ๘ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ เวลารักษาศีล ๘ ก็ต้องภาวนาให้มากกว่าวันที่ไม่ได้รักษา เช่นวันที่ต้องไปทำมาหากินทำงานทำการ ก็จะมีเวลาเฉพาะตอนเช้าและตอนค่ำก่อนหลับนอน ก็นั่งสมาธิ สัก ๓๐ นาที สัก ๑ ชั่วโมง ถ้าจะอ้างว่าไม่มีเวลา ก็ต้องหาเวลา เพราะเวลามีเท่ากัน วันละ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าไม่มีเวลาภาวนาก็แสดงว่าเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ก็ต้องสำรวจดูว่าเอาไปทำอะไรบ้าง ถ้าไปทำกับแสงสีเสียงก็ควรลดลงมา เช่นดูหนังดูละคร แทนที่จะดู ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ก็ดู ๑ ชั่วโมง ดูสิ่งที่มีประโยชน์ เช่นข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ ตัดเรื่องบันเทิงไป จะได้มีเวลาภาวนามากขึ้น ถ้าเป็นวันหยุดทำงานก็ถือศีล ๘ ตัดไปหมดเลย เรื่องข่าวสารเรื่องบันเทิง ดูหนังสือธรรมะแทน ฟังเทศน์ฟังธรรมแทน เดินจงกรมนั่งสมาธิ สลับกับการทำภารกิจที่จำเป็น กวาดบ้านถูบ้าน ทำอาหารรับประทานอาหาร  

 

ทำตารางขึ้นมาว่าวันหยุดนี้ จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับจิตใจ ถ้าไม่ทำตารางพอถึงเวลาก็จะไม่ได้ทำ เช่นตื่นขึ้นมาก็นั่งปฏิบัติธรรม ๑ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ดูแลรักษาร่างกาย อาบน้ำแปรงฟัน รับประทานอาหาร เสร็จแล้วก็เดินจงกรม พอเมื่อยก็นั่งสมาธิ ออกจากสมาธิก็ดูหนังสือธรรมะ หรือฟังเทศน์ฟังธรรม เวลาก่อนเที่ยงก็รับประทานอาหาร หลังจากเที่ยงวันก็จะไม่รับประทานอาหาร ต่อจากนั้นก็เดินจงกรม เสร็จแล้วก็พักสัก ๑ ชั่วโมง ทำตารางไว้เลย ถ้าทำตามได้ก็จะก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปด้วยการปฏิบัติ ด้วยการกระทำ จึงต้องคอยดูการกระทำอยู่เสมอ ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำประโยชน์ให้กับใจหรือเปล่า ถ้าไม่ทำตารางการปฏิบัติ ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ รับรองได้ว่าจะไม่ได้ปฏิบัติ จะไปเปิดตู้เย็นเสียมากกว่า เปิดตู้เย็นแล้วก็ไปเปิดทีวี เปิดทีวีแล้วก็ไปหาหมอน ตื่นขึ้นมาก็เปิดตู้เย็นใหม่เปิดทีวีใหม่ ต้องบังคับตัวเอง ต้องมีวินัย ถ้าไม่มีวินัยจะไม่เจริญก้าวหน้า

 

ต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับจากการควบคุมบังคับตน ก็คือมรรคผลนิพพาน ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับมรรคผลนิพพาน ทำงานนี้เสร็จแล้วจะสบายไปตลอดอนันตกาล ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ ไม่ต้องกลับมาดิ้นรน ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หาเงินหาทองมาซื้อความสุข ไม่ต้องทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย มีแต่ความสุขตลอดเวลา ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะมีกำลังใจ มีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็ง มีความพากเพียร มีความอดทน ที่จะพาไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ไปสู่ความสุขที่ถาวรที่ยั่งยืน เริ่มจากการปฏิบัติที่บ้าน เพราะอยู่บ้านตลอดเวลา ถ้าจะไปปฏิบัติที่วัด พอไปถึงวัดก็หมดแรงแล้ว พอปฏิบัติเข้าร่องเข้ารอยก็ต้องกลับบ้าน เหมือนกับรถพอวิ่งได้หน่อยหนึ่งก็ต้องจอด ต้องกลับบ้าน จึงควรปฏิบัติที่บ้านไปก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเวลาปฏิบัติ เอาเวลาที่ใช้ไปกับพวกบันเทิง ถ้าเอามาไม่ได้หมดก็แบ่งมาสักครึ่งก่อน สละละครไปสัก ๑ หรือ ๒ เรื่อง ละครน้ำเน่าดูไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เรื่องโลภโกรธหลง อิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาท ผิดศีลผิดธรรม ดูไปทำไม ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวช ดูธรรมะอ่านหนังสือธรรมะดีกว่า ภาวนาดีกว่า ถ้าทำแล้วก็จะเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ

 

ต่อไปถ้าปฏิบัติที่บ้านแล้วรู้สึกว่ามีอุปสรรคมาก ก็ต้องไปอยู่ที่วัดบ้าง เพราะอยู่ที่บ้านจะมีธุระนั้นธุระนี้ มีเรื่องนั้นเรื่องนี้มารบกวน มาคอยแย่งเวลาไป ถ้าปฏิบัติได้ผลบ้างแล้วจะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ และเห็นโทษของการทำภารกิจที่ไม่จำเป็น เช่นการหาเงินหาทองมากเกินความจำเป็นก็เป็นโทษ ไม่ได้เป็นประโยชน์ เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ถ้าเอาไปเที่ยว เอาไปซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เหมือนไปซื้อยาเสพติด น้อยนักที่จะเอาไปทำประโยชน์ เช่นเอาไปทำบุญ ถ้าไม่มีเงินจะทำบุญก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องเสียเวลาไปทำบุญ เอาเวลามาภาวนาเพื่อบุญที่ใหญ่กว่า มากกว่าบุญที่ได้จากการทำบุญให้ทาน เอาเวลามารักษาศีล ๘ ดีกว่า มาภาวนากันดีกว่า ตัดเวลาหาเงินให้น้อยลงไป อย่ามีเงินมาก มีเวลามากจะดีกว่า เวลามีคุณค่ากว่าเงินทอง ถ้ารู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นี้ เวลามีคุณค่ากว่าเงินทองเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เพราะเงินทองหมื่นล้านแสนล้านดับความทุกข์ไม่ได้ แต่เวลาที่ใช้ปฏิบัติธรรมนี้ดับความทุกข์ได้

 

เวลาจึงมีคุณค่าต่างกัน อยู่ที่การใช้เวลาว่าใช้ไปในทางไหน มีคุณก็ได้ มีโทษก็ได้ มีโทษถ้าไปดูละคร ไปดื่มสุรา ไปเที่ยว ไปหาเงินหาทองมากเกินไป ถ้าหามาดูแลร่างกายก็เป็นคุณกับร่างกาย ถ้าหามากเกินไป หาเพื่อให้ร่ำรวย ก็จะเป็นโทษกับจิตใจ เพราะจะเสริมกิเลสตัณหาให้มีกำลังมากขึ้น ถ้ามีกิเลสตัณหามากขึ้น ก็จะมีเวลาปฏิบัติธรรมน้อยลง กิเลสตัณหาจะเอาเวลาไปหมด ไปหาเงินต่อ ได้เงินมาก็เอาไปซื้อความสุขต่างๆ การใช้เวลาจึงมีผลต่างกัน ใช้ให้เกิดคุณก็ได้ ใช้ให้เกิดโทษก็ได้ ถ้าใช้ปฏิบัติธรรมก็จะเป็นคุณประโยชน์ที่สูงสุด อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มา ทรงใช้เวลาเพียง ๖ ปี ก็ได้ทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ ทรัพย์ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเงินทองหมื่นล้านแสนล้าน ได้ทรัพย์ภายใน ได้อริยทรัพย์ ได้พระนิพพานที่เป็นปรมังสุขัง ไม่มีทรัพย์อะไรในโลกนี้ที่จะซื้อปรมังสุขังได้ ต่อให้ซื้อรถแสนคันล้านคัน ก็จะไม่ได้ความสุขของพระนิพพาน ต่อให้สร้างปราสาทราชวังใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม ก็จะไม่ได้ความสุขของพระนิพพาน

 

คนโง่จึงสร้างสมบัติภายนอก สร้างปราสาทราชวัง สร้างอะไรต่างๆ แต่ใจร้อนยิ่งกว่าไฟ ทุกข์ยิ่งกว่านรก สิ่งต่างๆในโลกนี้ดับความทุกข์ใจไม่ได้ มีพระนิพพานเท่านั้นที่ดับความทุกข์ใจได้อย่างสนิท ได้อย่างถาวร การภาวนาเป็นเครื่องมือที่จะดับความทุกข์ได้อย่างถาวร ทุกเวลานาทีที่ใช้ไปกับการภาวนา เป็นคุณเป็นประโยชน์กับใจทั้งหมดเลย มีคุณค่าราคามาก ปฏิบัติธรรมเพียง ๕ นาที ก็เหมือนกับได้เงินมา ๑๐๐ ล้านแล้ว คิดดูก็แล้วกัน จะมัวไปหาเงินทองทำไม วันหนึ่งทำงานแทบเป็นแทบตาย ได้เงินมาสักกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้าน ได้มาแล้วดับความทุกข์ใจได้หรือเปล่า นั่งสมาธิเพียง ๕ นาที ใจเย็นสบายกว่าสุขกว่าได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคิดกัน ต้องเปรียบเทียบ เพื่อจะได้ใช้เวลาให้เกิดคุณประโยชน์อย่างสูงสุด

 

พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา ๖ ปี ก็ได้พระนิพพานมา หลังจากที่ได้พระนิพพานแล้ว พระองค์ก็ทรงสามารถช่วยผู้อื่น ให้ได้พระนิพพานได้เร็วกว่าพระองค์เอง เพราะไม่มีใครสอนพระองค์ ไม่มีใครบอกวิธีที่ให้ได้พระนิพพานอย่างรวดเร็ว แต่พอพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงสอนไม่ถึงนาทีก็ได้แล้ว มีศรัทธาท่านหนึ่งอยากจะฟังธรรมในขณะที่ทรงบิณฑบาต พระองค์ก็ทรงตรัสว่าไม่ใช่เวลาที่จะสอนธรรมะ เขาก็ขอร้องให้ทรงสอนสั้นๆ ก็ทรงตรัสไปว่า ให้สักแต่ว่ารู้ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ให้มีอารมณ์เกิดขึ้นจากการเห็น จากการได้ยิน ให้รู้เฉยๆ เท่านั้นเขาก็สำเร็จแล้ว แสดงว่าเขามีคุณธรรมพร้อมที่จะรับกับธรรมะอันยิ่งใหญ่นี้ ถ้าเปรียบเหมือนกับคนที่มาขออาหาร ก็มีภาชนะมารองรับ พอตักอาหารใส่ภาชนะ เขาก็รับได้หมดเลย พอรับประทานก็อิ่มเลย แต่พวกเรานี้ ฟังกันแล้วฟังกันอีก ก็ยังไม่เคยอิ่มกันเลย เพราะไม่มีภาชนะมารองรับ ภาชนะที่จะรองรับปัญญา ก็คือสมาธิ คือศีล คือทาน

 

จึงต้องทำทานก่อน ทำทานแบบจริงๆจังๆ ทำให้หมดเลย ไม่ใช้เงินทองซื้อความสุข ตั้งสัจจาธิษฐานว่าต่อไปนี้จะไม่ใช้เงินซื้อความสุข จะใช้เงินซื้อปัจจัย ๔ เท่านั้น ของอย่างอื่นจะไม่ซื้อ เก็บเงินไว้ซื้อปัจจัย ๔ ถ้าไม่ได้บวช แต่ต้องตั้งกฎไว้เลยว่า จะไม่เอาเงินไปซื้อความสุข ไม่ซื้อรูปเสียงกลิ่นรส เช่นเห็นกระเป๋าเห็นเสื้อผ้าแล้วอยากได้ อย่างนี้ก็เป็นรูป ได้ดมกลิ่นน้ำหอมก็อยากจะซื้อ อย่างนี้ก็คือกลิ่น เห็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เห็นขนมนมเนยก็อยากจะซื้อ อย่างนี้ก็คือรส ต้องไม่ซื้อรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ซื้อแต่อาหาร ซื้อแต่น้ำดื่มที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เสื้อผ้าถ้ามีพอแล้วก็ไม่ต้องซื้อ ซื้อต่อเมื่อจำเป็น ไม่พอใช้จริงๆ จะตัดกิเลสได้เยอะเลย จะมีเวลารักษาศีล ๘ มีเวลาภาวนานี่คือเจตนาของการทำทาน ต้องการให้หยุดใช้เงิน ถ้าหยุดใช้เงินได้ ก็หยุดหาเงินได้ หรือหาเท่าที่จำเป็น ทำงานปีเดียวก็หยุดได้สิบปี ถ้าเอาเงินมาใช้ซื้อปัจจัย ๔ เท่านั้น เช่นซื้ออาหาร

 

อาหารก็ต้องแบบมักน้อยสันโดษเรียบง่าย ถ้าอาหารราคา ๕๐ บาทกินแล้วอิ่ม ทำไมต้องซื้ออาหารราคา ๕๐๐ บาท ถ้าอิ่มเหมือนกัน ดับความหิวได้เหมือนกัน รักษาสุขภาพของร่างกายได้เหมือนกัน อย่างนี้ฉลาดหรือโง่ ซื้อของแพงทำไม ได้คุณประโยชน์เท่ากัน ของมาจากที่เดียวกัน มาจากตลาด แต่เวลาขายทำไมราคาต่างกัน ขายที่หนึ่งราคาแพงกว่าอีกที่หนึ่งเป็น ๑๐ เท่า ของมาจากที่เดียวกัน มาจากตลาดเหมือนกัน แล้วก็เข้าไปสู่ที่เดียวกัน คือเข้าไปในท้องเหมือนกัน ต้องคิดบ้างสินักปฏิบัติ ศิษย์ตถาคต ผู้ปราดเปรื่องด้วยปัญญา อย่าให้กิเลสหลอก พอทำให้ดูสวยงาม ก็อยากจะรับประทานแล้ว ราคาเท่าไหร่ไม่ว่า ยอมเสียยอมหมดเนื้อหมดตัว ไม่คิดถึงเวลาเข้าไปในปากบ้าง ว่าเป็นอย่างไร ประดับประดาสวยงามขนาดไหน พอเข้าไปขบเคี้ยวอยู่ในปาก ผสมกับน้ำลายเราแล้วเป็นอย่างไร สวยงามไหม ต้องคิดอย่างนี้ ถึงจะปราบกิเลสได้ ปราบความหลงได้ จะได้ใช้เวลาที่มีคุณค่าให้เกิดคุณค่าจริงๆ ตอนนี้เราใช้เวลาให้เกิดโทษกับใจเรา ไม่ได้เกิดคุณเกิดประโยชน์เลย มัวแต่หาเงินเพื่อมาใช้ ใช้หมดก็หาใหม่ วนกันไปอยู่อย่างนี้ อยู่ในวัฏจักรแห่งการหาเงินใช้เงิน แล้วเมื่อไหร่จะหลุดออกมาได้ ต้องหยุดใช้เงินเท่านั้นถึงจะหลุดออกมาได้ ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 

ถาม  ตอนที่ท่านอาจารย์เริ่มภาวนา ก็สงบตลอดเลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ  สงบตั้งแต่เริ่มภาวนา ผ่านทุกขเวทนาไปได้ เวลานั่งแล้วเจ็บก็ใช้บริกรรม ก็ผ่านไปได้ ก็เลยไม่กลัวความเจ็บ เพราะรู้จักวิธีสู้กับความเจ็บ นั่งนานๆก็นั่งได้ สู้กับมันได้ นั่งสลับกับเดิน มีบางช่วงก็เผลอบ้าง ก็ฟุ้งปรุงแต่งขึ้นมา เกิดกิเลสขึ้นมา ก็ต้องนั่งให้สงบ ถ้าสู้ไม่ได้ก็จะถูกหลอกให้ออกไปข้างนอก ไปหาแสงสีเสียง พอกลับมาก็รู้ว่าถูกหลอก ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่

 

ถาม  ท่านอาจารย์ใช้อะไรควบคุมจิตใจไม่ให้อยากไปเที่ยว

 

ตอบ  ใช้การภาวนา ใช้สติเฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เฝ้าดูร่างกายว่ากำลังทำอะไร กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง ถ้านั่งเฉยๆก็ดูลมหายใจเข้าออก จนจิตรวมเข้าสู่ความสงบ เบื้องต้นต้องเจริญสติก่อนเพื่อให้ได้สมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็ออกทางปัญญา พิจารณาร่างกาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอสุภะ พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พิจารณาทุกขเวทนา พิจารณาทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากสมุทัย คือความอยาก อยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าหยุดความอยากให้ความเจ็บหายไปก็จะไม่ทุกข์ใจ ใจก็จะเฉยกับความเจ็บของร่างกาย อยู่กับมันได้ มันเจ็บเราก็ดูมันเจ็บไป แต่ใจไม่ได้เจ็บกับร่างกาย เพราะรักษาใจด้วยปัญญา ไม่ให้เกิดความอยาก ไม่ให้เกิดสมุทัย คือวิภวตัณหา ความอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป

 

ถาม  ท่านอาจารย์มีเพื่อนเยอะไหมคะ

 

ตอบ  ไม่มี ตัดหมด มีธรรมะเท่านั้นที่เป็นเพื่อน

 

ถาม  ไม่คบเพื่อนเลย

 

ตอบ  คบไปทำไม คบแล้วได้อะไร ได้แต่ชวนไปเที่ยว ชวนไปกิน ชวนไปดื่ม

 

ถาม  แล้วความเบื่อมันหายไปไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ถ้าสงบก็หาย ถ้าปรุงแต่งก็กลับมา ถ้าคิดปรุงแต่งก็จะคิดถึงความสุขที่เคยมี ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ ถ้าภาวนาจนจิตสงบความเบื่อก็จะหายไป ช่วงนั้นยังอยู่ในขั้นเจริญสติอยู่ ถ้าไม่เจริญสติปั๊บ ก็จะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอรู้ว่าเริ่มปรุงแต่งก็ดึงกลับมา กลับมานั่งสมาธิ เจริญอานาปานสติ ดูลมเข้าออก ไม่ได้ใช้พุทโธ เพราะในสติปัฏฐาน ๔ ท่านสอนให้ใช้อานาปานสติ ครั้งหนึ่งพอนั่งแล้วเจ็บ มีความคิดผุดขึ้นมาเองว่า ต้องใช้คำบริกรรม ก็เลยบริกรรมอนิจจาๆไป ไม่นานจิตก็นิ่งสงบ ความเจ็บหายไปอย่างมหัศจรรย์ ทีนี้ก็รู้วิธีสู้กับความเจ็บ ถ้าดูลมต่อไปไม่ได้ก็ต้องใช้การบริกรรม ข้อสำคัญอย่าไปให้ความสนใจกับความเจ็บ อย่าไปอยากให้มันหาย อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปอยากหนีจากมันเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดความเจ็บซ้อนขึ้นมาในใจ ที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกาย ที่ทนไม่ได้ไม่ใช่ความเจ็บทางร่างกาย แต่เป็นความเจ็บทางใจ เวลาไม่ชอบอะไรนี้จะทรมานใจใช่ไหม ถ้าทำสิ่งที่ชอบก็จะไม่ทรมานใจ เหมือนกินพริก คนที่ชอบกินพริกจะสุขใจ คนที่ไม่ชอบกินพริกจะทุกข์ใจ ไม่ได้ทุกข์ที่ร่างกาย เพราะกินพริกเหมือนกัน คนหนึ่งกินแล้วมีความสุข อีกคนกินแล้วทุกข์ อยู่ที่ใจ

 

        ก็เลยเกิดปัญญาขึ้นมา เวลาฟังเสียงที่ชอบ ให้ดังแสบแก้วหูก็ยังฟังได้ แต่เวลาฟังเสียงที่ไม่ชอบ เสียงเบาๆก็ฟังไม่ได้ ก็เลยเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ใจ ถ้าใจชอบจะรับได้ ถ้าใจไม่ชอบจะรับไม่ได้ เช่นทุกขเวทนานี้เรารับกันไม่ได้ จะเป็นจะตายกัน แต่ถ้าทำใจให้ชอบหรือไม่รังเกียจทุกขเวทนาได้ ก็จะอยู่กับทุกขเวทนาได้ พอใจไม่รังเกียจทุกขเวทนา ใจก็จะเฉย จะนั่งได้อย่างสบาย ต้องสอนใจให้ชอบ อย่าให้ใจรังเกียจทุกขเวทนา เราห้ามทุกขเวทนาไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของเรา ถ้าเราอยู่กับทุกขเวทนาได้ ใจก็จะสบาย ไม่เดือดร้อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัวปวดท้อง ไม่ต้องกินยาแก้ปวด เพราะใจไม่ปวด ความปวดของร่างกายเป็นส่วนย่อย ความปวดส่วนใหญ่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง เกิดจากตัณหาความอยาก ความกลัว  ทำให้ใจเครียด ทำให้ใจทุกข์

 

ในเบื้องต้นต้องเจริญสติให้ได้ก่อน สติสำคัญมาก สติทำให้ใจได้สมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็จะมีกำลังพิจารณาทางปัญญาได้ เวลาเกิดทุกข์ขึ้นมา ใจจะไม่ตื่นตระหนก จะสามารถพิจารณาธรรมได้ ถ้าไม่มีสมาธิเวลาทุกข์ปั๊บ จะเหมือนไก่ตาแตก พิจารณาธรรมไม่ได้ มีแต่จะอยากหนีจากความทุกข์เพียงอย่างเดียว ไม่รู้ว่าความทุกข์เกิดจากอะไร จะหนีจากสิ่งที่คิดว่าเป็นความทุกข์ เช่นหนีจากทุกขเวทนา หนีจากความเจ็บของร่างกาย ที่ไม่ใช่เป็นเหตุของความทุกข์ใจ เหตุของความทุกข์ใจก็คือ ความอยากหนีจากความเจ็บของร่างกาย ถ้าพิจารณาได้ พอเข้าใจ ใจก็จะปล่อย ร่างกายเจ็บก็รู้ว่าเจ็บ แต่ใจไม่เจ็บแล้ว นั่งต่อได้ ไม่เดือดร้อน บางทีร่างกายก็หายไปด้วย เหลือแต่จิตล้วนๆ อย่างนี้ก็มี

 

ถาม  นั่งบนโซฟา จะเจ็บน้อยกว่า

 

ตอบ  นั่งโซฟาทำไม เรานั่งเพื่อให้มันเจ็บ จะได้แก้ปัญหาได้ เราถึงขำเวลาเห็นคนปฏิบัติต้องมีเบาะนั่ง ปฏิบัติเพื่ออะไรกัน เพื่อความสบายกายหรือเพื่อความสบายใจ ถ้าร่างกายเจ็บ เราจะได้รู้จักวิธีแก้ความทุกข์ใจที่เกิดตามมา เราเคยนั่งเบาะที่ไหน ตั้งแต่เราเริ่มนั่งสมาธิเราก็นั่งกับพื้นธรรมดา

 

ถาม  พระอาจารย์นั่งกับพื้นธรรมดา

 

ตอบ  จะไปนั่งที่ไหนก็สะดวก นั่งได้ทุกแห่งทุกหน

 

ถาม  ยังเข้าใจว่าให้นั่งเบาะเพื่อจะนั่งได้นานๆ

 

ตอบ  ไม่ต้องการนั่งให้นาน ต้องการนั่งให้เจ็บ เพื่อจะได้ใช้ธรรมะมาแก้ความทุกข์ใจ จะได้ใช้สติ จะได้เกิดสมาธิ ที่ให้อดอาหารก็เพื่อให้หิว ให้ทุกข์ใจ จะได้ใช้สมาธิมาแก้ความทุกข์ใจ

 

ถาม  ถ้านั่งอย่างนั้นความเจ็บก็มาเร็ว จะนั่งไม่ได้นานเท่ากับนั่งบนเบาะ นั่งยิ่งนานยิ่งดีไม่ใช่หรือคะ

 

ตอบ  นานแบบนั้นไม่ดี

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น นั่งแป๊บเดียวก็จะรู้สึกเจ็บ

 

ตอบ  ให้มันเจ็บช้าทำไม ให้มันเจ็บเร็วจะดีกว่า จะได้บังคับให้บริกรรมพุทโธให้ถี่เลย จะได้สงบเร็ว ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่นั่งเบาะหรือไม่นั่งเบาะ เจ็บหรือไม่เจ็บ ปัญหาอยู่ที่ภาวนาหรือไม่ภาวนา ถ้าภาวนาอย่างต่อเนื่อง จะสงบภายใน ๕ นาที ๑๐ นาที จะไม่เจ็บ จะนั่งได้นานเป็นชั่วโมง จะไม่รู้สึกเจ็บเลย

 

ถาม  เข้าใจว่าต้องนั่งบนเบาะ

 

ตอบ  เข้าใจแบบพวกตาบอดคลำช้าง

 

ถาม  จะใช้เบาะหนาขึ้นๆ

 

ตอบ  กิเลสยิ่งมากขึ้น หนีความเจ็บไปเรื่อยๆ ปฏิบัติหนีความเจ็บทำไม

 

ถาม  นึกว่าเก่งถ้านั่งได้นาน เพราะนั่งบนเบาะหนา

 

ตอบ  ไม่ได้นั่งเพื่อเอาเวลา นั่งเพื่อเอาสติ เอาสมาธิ เอาปัญญา จะนั่งบนเบาะหรือไม่ ไม่ใช่เป็นประเด็น ที่เราไม่ใช้เบาะเพราะไม่อยากจะยุ่ง ไปไหนมาไหนก็ต้องเอาเบาะไปด้วย

 

เวลาบวชแล้วจะไม่ยุ่งกับใคร ขนาดครูบาอาจารย์ยังไม่ยุ่งกับท่าน คนอื่นอยากจะเข้าใกล้ชิดท่าน ไปบีบนวดไปรับใช้ เรากลับถอยห่าง ไม่อยากเข้าใกล้ใคร ท่านคงจะทราบ ท่านคงเป็นอย่างนั้นมาก่อน ท่านรู้ จึงไม่เป็นปัญหา ท่านกลับช่วยส่งเสริม บางทีจำใจต้องมาร่วมทำกิจ ท่านก็เมตตามาไล่ ไม่ให้ทำ ท่านรู้ว่าใจเราเข้าข้างในแล้ว ไม่อยากออกมาข้างนอก แต่คนอื่นท่านไม่ไล่นะ

 

ตอนที่จะบวชก็กลัวจะไปเจออาจารย์ที่ไม่ปฏิบัติ จะอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่ก็โชคดี เจอพระอาจารย์ที่ปฏิบัติผ่านมาแล้ว ท่านเข้าใจทุกอย่าง เลยอยู่ที่วัดท่านได้อย่างสบาย ไม่เคยกลัวว่าท่านจะไล่เลย เวลาไปขอท่านอยู่ ใจก็เป็นกลาง อยู่ก็ได้ ไม่อยู่ก็ได้ เพราะตอนนั้นไม่ได้พุ่งไปหาอาจารย์เป็นหลัก แต่ไปหาสถานที่ภาวนาเป็นหลัก ถ้าอยู่ที่นี่ไม่ได้ก็ไปหาที่อื่นก็ได้ เราคิดอย่างนั้น แต่ก็โชคดีไปขอก็ได้อยู่เลย ได้ที่ที่ถูกใจ เป็นที่ที่สงบเงียบ

 

ถาม  พี่สาวฝากมากราบเรียนว่าข้อสอบท่านอาจารย์ยากมาก สามีเขาหัวใจวายตายกะทันหัน เขาก็บอกว่าโชคดีที่ได้มากราบท่านอาจารย์ปีสองปีก่อนหน้าที่สามีจะเสีย พอเสียไปก็มีคำสอนมีธรรมะให้เขาระลึกได้ เขาก็ได้พิจารณาสังขารตอนที่อยู่กับตอนที่ไปแล้ว ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ในช่วงที่จิตใจไม่สงบ เขาก็ได้ฝึกบอกตัวเองว่าให้อยู่ในปัจจุบัน แล้วก็บอกตัวเองว่าเรื่องที่ผ่านมามันเป็นอดีต แล้วก็อย่าไป…

 

ตอบ  อยาก

 

ถาม  อดีตมันผ่านไปแล้ว ต้องทำใจยอมรับมัน

 

ตอบ อยู่กับความจริง ปัจจุบันคือความจริง อดีตคือความฝัน อนาคตคือความเพ้อ

 

ถาม  ก็เลยได้ศึกษาจากเรื่องจริง ได้ไปดูเวลาเก็บกระดูก พยายามดูว่าลักษณะเป็นอย่างไร

 

ตอบ  ควรจะพิจารณาว่า ต่อไปเราก็ต้องเป็นเหมือนเขา

 

ถาม  ทีแรกก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันใกล้ตัว เขาเป็นเราก็ต้องเป็น พอเวลาห่างไปก็รู้สึกว่าไกลตัว คิดว่าจิตเราหลอกตัวเองอยู่เสมอ ไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องของตัวเรา จึงต้องพยายามนึกว่าร่างกายพอขาดเลือด ธาตุน้ำไม่เดิน ก็จะมีสีดำคล้ำ ก็พยายามสอนตัวเองอย่างนี้

 

ตอบ  ต้องสอนว่าในที่สุดก็จะเป็นขี้เถ้ากับเศษกระดูก

 

ถาม  แต่จิตไม่เชื่อ

 

ตอบ ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เหมือนท่องสูตรคูณ ถ้าท่องครั้งสองครั้งเดี๋ยวก็ลืม แต่ถ้าท่องทุกวันๆ ท่องจนขึ้นใจ ก็จะไม่ลืม เวลามองร่างกายทีไร ก็ต้องมองเศษกระดูกมองขี้เถ้าด้วย พิจารณาว่าต่อไปจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ จะไปอะไรกับมันนักหนา จะไปหวงได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของใครก็ตาม

 

ถาม  ถ้ามองไปเรื่อยๆ เราจะเชื่อ

 

ตอบ จะไม่ลืม พอไม่ลืมก็จะไม่หลง จะทดสอบถามตัวเองว่าพร้อมที่จะตายหรือไม่  

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิก็นึกถึงรูปภาพของคนตาย แต่ไม่สามารถเห็นว่าตัวเราก็จะเป็นแบบนี้เจ้าค่ะ

 

ตอบ เพราะมองไม่นานพอ แล้วก็มีงานอย่างอื่นให้ไปมอง ก็เลยมองไม่เห็น ต้องออกบวช ออกจากรูปเสียงกลิ่นรส ออกจากเรื่องของคนเป็น ไปอยู่ที่วิเวก จะได้คิดเรื่องตายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเรื่องอื่นมากลบ ถ้าอยากจะบรรลุเร็วๆ ก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเวลาพิจารณาความตายอย่างต่อเนื่อง

 

ถาม  เป็นแค่ภาพ จินตนาการ

 

ตอบ ใหม่ๆก็ต้องจินตนาการไปก่อน ให้มันฝังใจ เหมือนในพระไตรปิฎกที่มีพระพิจารณาโครงกระดูกตลอดเวลา เวลาใครเดินผ่านมาท่านจะไม่เห็นคน จะเห็นแต่โครงกระดูก เวลามีคนมาถามว่าเห็นคนนั้นไหม ท่านบอกว่าไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูก ไม่รู้ว่าเป็นของใคร ต้องอยู่คนเดียวปลีกวิเวก สูตรตายตัวของการภาวนาก็คือ ๑. ปลีกวิเวก ๒. สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ๓. เจริญสติอย่างต่อเนื่อง เช่นพิจารณากระดูกอย่างต่อเนื่อง หรือบริกรรมพุทโธๆอย่างต่อเนื่อง ๔. รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร รับประทานมากเกินไปก็จะทำให้ง่วงนอน ทำให้ขี้เกียจ

 

ถาม  อย่างกรณีของลูก สามีก็ไม่อยู่ ลูกก็อยู่ต่างประเทศ ก็น่าจะเข้าวัดได้ แต่ทำไมยังเข้าไม่ได้

 

ตอบ เพราะยังติดรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ เหมือนติดยาเสพติด

 

ถาม  กลัวว่าจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง

 

ตอบ ไม่เป็นไร ไปก่อนเถิด ถ้าจะกลับมาก็ค่อยว่ากันใหม่

 

ถาม  จะหมดอิสรภาพถ้าบวชแบบจริงๆจังๆ ก็เลยคิดหนัก

 

ตอบ เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดเลยสำหรับเรา เป็นช่วงที่ทรมานใจที่สุด ใจหนึ่งอยากจะบวช อีกใจหนึ่งไม่อยากจะบวช พอตัดสินใจได้แล้ว ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก ทุกอย่างดูสดใสไปหมด มันสบายอกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก