กัณฑ์ที่ ๔๕๓       ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 

ตนเป็นที่พึ่งของตน

 

 

 

พวกเราต้องยึดหลัก อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เพราะพึ่งคนอื่นไม่ได้ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่เราพึ่งเราได้ตลอดเวลา เราเป็นที่พึ่งของเราอย่างแท้จริง ที่พึ่งอื่นเป็นที่พึ่งชั่วคราว ไม่แน่นอน บางทีก็พึ่งได้ บางทีก็พึ่งไม่ได้ แต่ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะที่พึ่งอื่นไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงของเราได้ คือความทุกข์ใจ ไม่มีใครแก้ให้เราได้ เราต้องแก้ด้วยตัวเราเอง แต่เราต้องอาศัยสิ่งอื่น เช่นอาศัยร่างกาย ร่างกายก็ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ถ้ายังต้องพึ่งร่างกายก็ต้องพึ่งปัจจัย ๔ ถ้ายังต้องทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เพื่อดับทุกข์ใจ ก็ยังต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ถ้าภาวนาจนถึงขั้นตัดกามตัณหาได้ ก็ไม่ต้องใช้ร่างกายอีกต่อไป เช่นพระอนาคามี ถ้าตายไปก่อนจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มามีร่างกาย เพราะท่านสามารถปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่ต้องใช้ร่างกาย เพราะมีกิเลสเหลืออยู่แต่ภายในจิต

 

ส่วนใหญ่พวกเราจะใช้ร่างกายไปในทางกามตัณหากัน ถ้ายังมีกามตัณหาอยู่ภายในใจ ก็ต้องมีร่างกาย มีตาหูจมูกลิ้น เพื่อเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถ้าไม่มีร่างกาย ไม่มีตาหูจมูกลิ้น ก็จะไม่สามารถเสพได้ จึงต้องไขว่คว้าหาร่างกาย กลับมาเกิดใหม่ ถ้าตัดกามตัณหาได้แล้ว ก็จะไม่อยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเครื่องมือ ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ แต่ยังต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ เพราะยังมีกิเลสตัณหาส่วนละเอียด ที่ยังติดค้างอยู่ภายในจิต คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เป็นสังโยชน์เบื้องบน จะเป็นพระอรหันต์ได้ก็ต้องชำระสังโยชน์เบื้องบนให้หมดไป แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ พระอนาคามีถ้าท่านตายไปก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็สามารถเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อได้เลย หลังจากที่ร่างกายของท่านดับไปแล้ว ใจของท่านไม่ได้ดับไปกับร่างกาย ใจของท่านก็ทำงานต่อ ใช้ธรรมะ ใช้สติ ใช้สมาธิ ใช้ปัญญา เพื่อกำจัดรูปราคะความติดในรูปฌาน อรูปราคะความติดในอรูปฌาน อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน มานะความถือตัว และอวิชชาความไม่รู้ไม่เห็นพระอริยสัจ ๔ ที่ยังมีอยู่ภายในจิต เป็นการปฏิบัติจิตล้วนๆ ถ้าจะดูจิตก็ดูกันตอนนี้ เพราะร่างกายไม่มีปัญหาแล้ว ตัดได้แล้ว อุปาทานในขันธ์ ๕ คือร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัดได้แล้ว ตัดกามตัณหาได้แล้ว แต่ยังตัดรูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ อวิชชาไม่ได้

 

รูปราคะก็คือความติดอยู่กับรูปฌาน จิตของผู้ที่ตัดกามราคะได้แล้ว จะสงบละเอียดเท่ากับจิตที่อยู่ในรูปฌานหรืออรูปฌาน เวลาอยู่ในความสงบก็มีความสุข แต่เวลาออกจากรูปฌานหรืออรูปฌานมาแล้ว ใจก็จะหงุดหงิด เนื่องจากมานะ อวิชชา ที่ผลิตความทุกข์อันละเอียดอยู่ภายในใจ ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ก็จะติดอยู่กับรูปราคะอรูปราคะ เวลาไม่สบายใจก็กลับเข้าไปในรูปฌานในอรูปฌาน ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาก็จะเห็นว่า ไม่ใช่วิธีดับความทุกข์ที่ถาวร พอออกจากรูปฌานหรืออรูปฌานก็จะคิดปรุงแต่งไปในทางมานะ ไปในทางอวิชชา ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ถึงจะละมานะละอวิชชาได้ ถ้าพิจารณาอย่างไม่หยุดยั้ง พิจารณาอย่างเลยเถิด เพื่อกำจัดมานะ กำจัดอวิชชา ก็จะเกิดอุทธัจจะ เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา แต่เป็นความฟุ้งซ่านที่ต่างกับอุทธัจจะในนิวรณ์ ในนิวรณ์จะฟุ้งซ่านเกี่ยวกับลาภยศสรรเสริญ เกี่ยวกับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่อุทธัจจะในระดับของพระอนาคามีนี้ เป็นความฟุ้งซ่านที่เกิดจากการพิจารณาด้วยปัญญาแบบเลยเถิด พิจารณาจนไม่มีกำลังตัดกิเลส

 

ถ้าจิตเกิดความฟุ้งซ่าน พิจารณาไม่เห็นความจริง ไม่เห็นมานะ ไม่เห็นอวิชชา ก็ต้องหยุดพัก เข้าไปพักในสมาธิ ในรูปฌานหรืออรูปฌาน แต่ไม่ได้พักเพื่อหนีความทุกข์ พักเพื่อเอาแรง เหมือนเวลาทำงาน พอทำจนเหนื่อยแล้ว ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ไม่ได้ผลงาน ก็ต้องหยุดทำงานชั่วคราว กลับมาพักผ่อนที่บ้าน มาอาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร หลับนอน พอได้พักผ่อนแล้ว ตื่นขึ้นมามีกำลังวังชาก็กลับไปทำงานต่อ เหมือนคนตัดไม้ด้วยมีด เวลาตัดใหม่ๆ มีกำลังมาก มีดก็คม ตัดไม้ได้อย่างง่ายดาย พอตัดไปนานๆเข้า แรงก็จะหมดไป ความคมของมีดก็จะหมดไป จนไม่สามารถตัดไม้ให้ขาดได้ ถึงตอนนั้นก็ต้องหยุดพักการตัดไม้ชั่วคราว ไปรับประทานอาหาร ไปนอนเอากำลัง ไปลับมีดให้คม พอได้พัก ได้รับประทานอาหาร ได้ลับมีดแล้ว พอกลับมาตัดไม้ใหม่ ก็ตัดได้อย่างง่ายดาย

 

การพิจารณามานะ พิจารณาอวิชชา ก็ต้องพิจารณาสลับกับการพักอยู่ในสมาธิ ทำอย่างนี้ไม่เป็นการติดสมาธิ การติดในสมาธิก็คือเวลาออกมาจากสมาธิแล้ว ใจวุ่นวาย ก็กลับเข้าไปในสมาธิ ไม่ใช้ปัญญาแก้ความวุ่นวายใจ เวลาออกจากสมาธิแล้วมีความวุ่นวายใจ เพราะมานะหรืออวิชชาเป็นเหตุ ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ถึงจะไม่ติดในสมาธิ ถ้าพิจารณาแล้วยังตัดมานะตัดอวิชชาไม่ได้ มีกำลังไม่พอ ก็ต้องเข้าไปพักในสมาธิก่อน พอออกจากสมาธิแล้ว ก็พิจารณาใหม่ พิจารณามานะใหม่ พิจารณาอวิชชาใหม่ จนกว่าจะตัดได้ ถ้าไม่พักเลยก็จะเกิดอุทธัจจะขึ้นมา พิจารณาแบบไม่หลับไม่นอน ทั้งวันทั้งคืน ด้วยความเพลิดเพลิน จนลืมพักจิต ลืมเข้าสมาธิ

 

นี้คือการพึ่งตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวาระสุดท้าย พอสติปัญญาได้ทำลายกิเลสตัณหาจนหมดสิ้นไปแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป พอไม่มีความทุกข์ก็ไม่ต้องมีที่พึ่ง ที่เราต้องพึ่งธรรมะ พึ่งมรรค ๘ พึ่งทานศีลภาวนา พึ่งสติสมาธิปัญญา ก็เพื่อดับความทุกข์ใจ ที่เกิดจากตัณหาความอยากต่างๆ พอความทุกข์ใจได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไปแล้ว ก็ไม่ต้องพึ่งอะไรอีกต่อไป อยู่อย่างสบาย อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ไปตลอด นักปฏิบัติจึงต้องพึ่งตนเอง ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง เช่นการดูแลรักษาอัตภาพร่างกายและการภาวนา ต้องชำระจิตเอง ต้องภาวนาเอง แต่ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทาง การปฏิบัติจึงมีที่พึ่ง ๒ ส่วนด้วยกันคือ ๑. อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง ๒. พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นผู้นำทาง ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนเป็นผู้นำทาง ก็จะไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะสติปัญญาของปุถุชน จะไม่สามารถทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ยกเว้นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ที่มีสติปัญญาบารมี ที่สามารถค้นหาทางสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

 

พระโพธิสัตว์คือผู้ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจต่อการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ คือทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี อุเบกขาบารมี ปัญญาบารมี เมตตาบารมี อธิษฐานบารมี สัจจบารมี วิริยบารมี และขันติบารมี ทุกภพทุกชาติที่เกิดมาจะไม่สนใจกับการสร้างลาภยศสรรเสริญ สร้างความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะมุ่งสร้างบารมีเพียงอย่างเดียว หมั่นทำทานรักษาศีลภาวนา ออกบวช สร้างเนกขัมมบารมี และบารมีอื่นๆ เพื่อการตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเอง ถ้าเกิดมาเพื่อแสวงหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะไม่มีบารมีที่จะบรรลุพระนิพพานได้ด้วยตนเอง ก็ต้องรอให้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก่อน พอมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็เหมือนกับมีคนสร้างทางให้เดินแล้ว ก็จะไปถึงพระนิพพานได้อย่างง่ายดาย เพราะมีทางเดินแล้ว เพียงแต่เดินไปตามทางเดินเท่านั้นก็จะถึง ถ้าอยากจะรู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ ก็ถามใจดูว่ามุ่งไปทางไหน ถ้ามุ่งไปทางลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ จะมุ่งสร้างบารมีเพียงอย่างเดียว

 

นี้คือลักษณะของพระโพธิสัตว์ แต่ไม่ควรบำเพ็ญทานบารมีเพียงอย่างเดียว เวลาที่ได้พบพระพุทธศาสนา เพราะจะเนิ่นนาน ควรปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะดีกว่า เพราะมีทางเดินแล้ว ไม่ต้องหาทางเอง เพราะจะไม่สามารถหาให้เสร็จได้ภายในชาตินี้ ต้องบำเพ็ญบารมีต่อไปอีกหลายภพหลายชาติด้วยกัน ตอนนี้มีทางเดินแล้ว ไม่ต้องทำทางเอง ไม่ต้องหาทาง เพียงแต่เดินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เดิน ก็จะถึงพระนิพพานได้อย่างรวดเร็ว ตอนนี้มีสมบัติข้าวของเงินทองมากน้อย ก็สละไปให้หมด บริจาคไปให้หมด แล้วก็ออกบวช ออกมารักษาศีล ออกมาภาวนาเลย อย่าไปเสียเวลากับการสร้างทานบารมีเพียงอย่างเดียว ต้องสร้างศีลบารมี อุเบกขาบารมี สร้างปัญญาบารมี ด้วยการออกบวช ด้วยการภาวนา ถึงจะหลุดพ้นได้ บรรลุธรรมได้ภายในชาตินี้เลย ๗ ปีเป็นอย่างมาก ๗ วันเป็นอย่างน้อย ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ ขึ้นอยู่กับพละ ๕ คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากก็ภายใน ๗ วัน หรือถ้าในสมัยพระพุทธกาล ก็บรรลุในขณะที่ฟังธรรมเลย บรรลุในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเลย เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ ฟังครั้งแรกก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเลย แสดงว่ามีพละ ๕ ที่แก่กล้า มีศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาที่แก่กล้า พอได้ยินได้ฟังพระอริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ก็มีดวงตาเห็นธรรม เห็นว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้น ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ถ้ายึดติดกับสิ่งที่มีการเกิดขึ้นและดับไป ไม่อยากให้ดับไป ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดจากความอยาก ไม่ให้สิ่งที่ต้องดับดับไป ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา พอมีปัญญาเห็นความจริงว่า ห้ามไม่ได้ สิ่งที่เกิดแล้วต้องดับเป็นธรรมดา อยากไม่ได้ พอเห็นอย่างนั้นก็จะหยุดอยาก ยอมรับความจริง ความทุกข์ก็ดับไป นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา นิโรธก็คือความดับทุกข์ พระโสดาบันจะไม่ทุกข์กับความแก่เจ็บตาย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 

นี่คือเรื่องของการเป็นที่พึ่งของตน เรื่องของพระโพธิสัตว์ เรื่องของการบรรลุมรรคผลนิพพานภายในชาตินี้ ถ้าไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในโลกนี้ ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ก็ต้องบำเพ็ญบารมีต่างๆไปก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องบำเพ็ญบารมีอะไรบ้าง มากน้อยเพียงไร อยู่ในสถานภาพใดที่เอื้อต่อการบำเพ็ญบารมีแบบไหนก็บำเพ็ญไป ถ้าเป็นมหาเศรษฐีก็บำเพ็ญทานบารมีไป ถ้าอยู่ในสังคมของนักบวชก็บวชไป ถ้าไปเดือดร้อนตกระกำลำบากลอยคออยู่ในทะเล ก็ต้องว่ายน้ำไปอย่างเดียวก็บำเพ็ญวิริยบารมีไป แล้วแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ที่จะเป็นเหตุให้บำเพ็ญบารมีแบบไหน ถ้าไปอยู่ในสังคมที่มีการขัดแย้งกัน ก็ต้องบำเพ็ญขันติบารมีไป แต่ก็บำเพ็ญไม่ได้ครบทั้ง ๑๐ บารมี ถ้าบำเพ็ญครบทั้ง ๑๐ บารมี ก็พร้อมที่จะตรัสรู้ พร้อมที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเจ้าชายสิทธัตถะที่ประสูติเป็นพระราชโอรส ทรงมีพระบารมีพร้อมทั้ง ๑๐ ประการแล้ว ก็รอเหตุการณ์ที่จะบังคับให้เสด็จออกจากพระราชวังไป พอได้ทราบข่าวว่าพระมเหสีได้คลอดพระราชโอรส ก็ทรงเสด็จออกจากพระราชวังไปในคืนนั้นเลย เพราะรู้ว่าอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะมีบ่วงมาคล้องคอแล้ว ถ้าอยู่ก็จะไม่สามารถออกไปบำเพ็ญ เพื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

 

พวกเราถ้าเกิดในสมัยที่ไม่มีพระพุทธศาสนา ก็ต้องบำเพ็ญบารมีไปตามสภาวะ ที่จะกระตุ้นให้เราบำเพ็ญ จนกว่าจะได้บารมีทั้ง ๑๐ ประการเต็ม ๑๐๐ ก็จะได้ตรัสรู้ จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของสังคม และความสามารถของตน ว่ามีความสามารถประกาศพระศาสนาได้หรือไม่ ถ้าภาวะของสังคมไม่เอื้อต่อการประกาศพระศาสนา หรือไม่มีกำลังพอที่จะประกาศพระศาสนา ก็จะไม่ประกาศ ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป ถ้าทรงเห็นว่าสังคมเอื้อต่อการประกาศพระพุทธศาสนา และทรงมีความสามารถในการประกาศพระศาสนา ก็จะประกาศพระศาสนา อย่างพระพุทธเจ้าของพวกเรา ตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ไม่มีความปรารถนาที่จะประกาศพระศาสนา แต่หลังจากที่ได้ทรงพินิจพิจารณา ก็ทรงเห็นว่า มีสัตว์โลกบางกลุ่มบางพวกที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับคำสอนได้ ทรงพิจารณาแยกสัตว์โลกไว้เป็น ๔ กลุ่มด้วยกัน เหมือนบัว ๔ เหล่า

 

กลุ่มที่ ๑ คือกลุ่มบัวเหนือน้ำ ที่พอได้รับแสงสว่างของพระอาทิตย์ บัวก็จะบาน พวกนี้เป็นพวกนักบวช ที่ได้ศีลแล้ว ได้สมาธิแล้ว แต่ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ พอทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย

 

กลุ่มที่ ๒ คือกลุ่มบัวปริ่มน้ำ ที่ต้องรออีกวันสองวันถึงจะโผล่เหนือน้ำ พวกนี้เป็นพวกนักบวชที่ยังไม่ได้สมาธิ กำลังเจริญสติ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ยังไม่ได้เต็มที่ แต่บำเพ็ญไปเรื่อยๆ พอจิตรวมเข้าสู่ความสงบอย่างเต็มที่แล้ว พอได้พิจารณาอริยสัจ ๔ พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะก็จะตัดกิเลสได้ ตัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้

 

กลุ่มที่ ๓ คือพวกที่ยังไม่ได้บวช ชอบทำทานแต่ไม่ชอบรักษาศีล ๘ ไม่ชอบปลีกวิเวก ไม่ชอบไปอยู่ตามลำพัง ตามสถานที่สงบสงัด ยังติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญ ยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พวกนี้ก็ต้องใช้เวลาบำเพ็ญไปเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจ ถ้าขยันก็อาจจะหลุดพ้นได้ในชาตินี้ ถ้าไม่ขยันก็ต้องสะสมบารมีไปก่อน

 

กลุ่มที่ ๔ คือพวกที่ไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย เวลาชวนมาวัดก็จะปฏิเสธ ถ้าชวนให้ไปเที่ยวไปทันที ถ้าชวนให้มาวัด มาปลีกวิเวก มานั่งสมาธิ จะไม่เอา พวกนี้จะไม่มีวันได้เห็นแสงสว่างแห่งธรรม เป็นดอกบัวที่อยู่กับโคลนตม ที่จะกลายเป็นอาหารของปูของปลาไป ไม่มีวันที่จะโผล่เหนือน้ำขึ้นมาได้

 

หลังจากได้พิจารณาความแตกต่างของมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ก็ทรงมีกำลังใจที่จะประกาศพระศาสนา ตอนต้นทรงคิดว่าเหมือนกันหมด ชอบรูปเสียงกลิ่นรส ชอบลาภยศสรรเสริญ เหมือนกันหมด สอนอย่างไรก็จะไม่มีใครปฏิบัติตาม แต่หลังจากได้ทรงพิจารณา ก็ทรงเห็นว่ามีพวกนักบวชที่มีฌานมีสมาธิแล้ว หรือพวกที่กำลังเจริญสติเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ หรือพวกฆราวาสที่เข้าวัดทำบุญทำทานรักษาศีลเป็นประจำอยู่ ก็ทรงเห็นว่าเป็นพวกที่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนได้ จึงทรงมุ่งไปสอนสู่บัวทั้ง ๓ กลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่อยู่เหนือน้ำแล้ว คือพวกนักบวช ทรงไปสอนตามสำนักต่างๆ หลังจากทรงสอนพระปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามอุปถัมภ์อุปัฏฐาก จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ทรงไปสอนตามสำนักของนักบวชต่างๆ ในแต่ละครั้งที่ทรงสอน ก็มีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาพร้อมๆกันหลายรูป เช่นครั้งหนึ่งมีนักบวชจำนวน ๕๐๐ รูป พอฟังธรรมเสร็จแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูปเลย ภายในเวลาเพียง ๗ เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ทรงประกาศพระศาสนา คือในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา มาถึงวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ก็ปรากฏมีพระอรหันต์อย่างน้อย ๑๒๕๐ รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า จากทิศต่างๆโดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน มีปรากฏขึ้นมาหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และประกาศพระศาสนา ก่อนหน้านั้นไม่มีพระอรหันต์แม้แต่รูปเดียว

 

นี่คือความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าต่อสัตว์โลก เป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ ต่อผู้ปรารถนาความหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นทางลัดที่สุด ไม่มีทางไหนที่จะลัดเท่ากับทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงนำมาสั่งสอน ถ้าได้พบกับพระพุทธศาสนา ได้พบกับพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเป็นลาภที่ยิ่งใหญ่ เป็นโชคที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่กว่าการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ร้อยครั้งพันครั้ง ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แต่ละครั้งนี้มันง่ายไหม แล้วถ้าถูกร้อยครั้งพันครั้งจะยากขนาดไหน การได้พบกับพระพุทธเจ้า ได้พบกับพระพุทธศาสนาก็เป็นอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าได้พบก็ถือว่ามีโชคอันมหาศาล จึงไม่ควรโยนโชคอันมหาศาลนี้ลงถังขยะไป ควรรีบเอามาทำประโยชน์ ถ้าเป็นลอตเตอรี่ก็ไปขึ้นรางวัลเลย อย่าโยนใส่ถังขยะ ฉันใดพอได้พบคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือปฏิบัติตาม นี่คือการขึ้นรางวัล รับโชคที่มหาศาลที่ยิ่งใหญ่นี้ ด้วยการปฏิบัติทานศีลภาวนา ถ้าปฏิบัติได้ ก็อย่างที่ได้ทรงรับประกันไว้แล้วว่า ๗ วันเป็นอย่างน้อย ๗ ปีเป็นอย่างมาก จะต้องได้ผลอย่างแน่นอน ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อย่างน้อยก็ได้เป็นพระอนาคามี อย่าปล่อยโชควาสนาที่ยิ่งใหญ่นี้หลุดจากมือไป ปฏิบัติตามคำสอนทั้ง ๓ ข้อนี้ให้ได้ ให้ครบทุกประการ แล้วผลอันเลิศอันประเสริฐ ก็จะเป็นสิ่งที่จะตามมาต่อไป

 

บางคนมาวัด มาหาพระ แทนที่จะมาหาธรรมะกลับมาหาลาภยศกัน มาขอลาภขอยศกัน อยากได้ตำแหน่งนั้น อยากได้ตำแหน่งนี้ อยากเข้ามหาวิทยาลัย อยากทำการค้าให้สำเร็จลุล่วง อยากให้บริษัทเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง นี่คือพวกที่ยังไม่รู้ว่าศาสนามีไว้เพื่ออะไร เข้าหาศาสนาเพื่อเข้าหาธรรมะ เข้าหาแสงสว่าง เข้าหาแผนที่ ที่จะนำพาไปสู่การพ้นทุกข์ เข้าหาพระเข้าหาวัดต้องหาธรรมะเพียงอย่างเดียว

 

ถาม  การพิจารณาที่ไม่หยุดไม่หย่อน ข้ามวันข้ามคืน ไม่ดูกำลังตัวเอง เมื่อกำลังตกไปแล้ว ก็ยังพิจารณาอยู่ ผลจะเป็นเช่นไรครับ

 

ตอบ  ไม่เกิดผล

 

ถาม  แล้วจะเป็นวิปัสสนูได้ไหมครับ

 

ตอบ  วิปัสสนูคือไปหลงคิดว่าสำเร็จแล้ว ไม่ต้องภาวนาแล้ว

 

ถาม  หมายความว่าการพิจารณาไม่ได้ความจริง ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  อาจจะได้ระดับหนึ่ง แล้วก็ไปคิดว่าได้อีกระดับหนึ่ง เช่นได้สมาธิแล้วก็คิดว่าบรรลุแล้ว เวลาจิตสงบนี้ก็เหมือนเป็นพระนิพพาน แต่เป็นพระนิพพานชั่วคราว พอออกจากสมาธิมา ความสงบก็หายไป แต่สัญญาความจำยังติดอยู่กับความสงบนั้น คิดว่ายังมีความสงบอยู่ ทั้งที่กำลังฟุ้งซ่าน กำลังโกรธกำลังเกลียด อย่างนี้ถึงเป็นวิปัสสนู ไม่เห็นความจริง แต่อุทธัจจะเป็นการพิจารณาแบบเลยเถิด ไม่มีการพักผ่อน พิจารณาแต่ไม่ได้ผล มีดมันทื่อแล้ว ต้องหยุด กลับมาลับมีดก่อน จิตก็ต้องพัก ถ้าพิจารณามากๆก็จะตื้อได้ ไม่เป็นเหตุไม่เป็นผล ความสงบที่จะใช้ตัดกิเลสก็หมดกำลัง ก็ต้องกลับไปชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ เหมือนโทรศัพท์มือถือ ถ้าใช้ไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็หมดแรง หมดก็พูดไม่ได้ ไม่มีอะไรเสียหาย เพียงแต่ไม่สามารถทำประโยชน์ได้ ต้องเอาแบตฯไปชาร์จก่อน พอชาร์จไฟเต็มแล้วก็กลับมาคุยต่อ

 

ถาม  ฌานต่างกับสมาธิอย่างไร

                                                                         

ตอบ  ไม่ต่างกัน ต่างกันตรงชื่อ

 

ถาม  แล้วรูปกับอรูปนี่

 

ตอบ  ความสงบของสมาธิมีหลายระดับ เหมือนกับรถยนต์ที่มีเกียร์หลายเกียร์ เกียร์ ๑ มีความเร็วในระดับหนึ่ง เกียร์ ๒ มีความเร็วอีกระดับหนึ่ง ฌาน ๑ ก็มีความสงบในระดับหนึ่ง ฌาน ๒ ก็มีความสงบอีกระดับหนึ่ง สงบมากขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับเกียร์รถยนต์ เช่นเกียร์ ๑ วิ่งได้อย่างมากก็ ๖๐ กิโลฯ ก็ต้องเปลี่ยนเกียร์ จะวิ่งเร็วกว่านั้นไม่ได้ พอเข้าเกียร์ ๒ ก็ไปถึง ๑๐๐ กิโลฯ พอเข้าเกียร์ ๓ ก็ไปถึง ๑๖๐ กิโลฯ พอเข้าเกียร์ ๔ ก็ไปถึง ๒๐๐ กิโลฯ ฌานเป็นความสงบของจิต รูปฌานมีความสงบ ๔ ขั้น อรูปฌานสงบกว่ารูปฌาน มี ๔ ขั้นเช่นเดียวกัน ส่วนสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นความสงบที่สุด ตอนนั้นขันธ์ ๕ หยุดทำงานชั่วคราว คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณไม่ทำงาน แต่ในอรูปฌานกับรูปฌานเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณยังทำงานอยู่ แต่เบาลงไปตามลำดับ คำว่าฌานแปลว่าเพ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพื่อให้ใจสงบ พอสงบก็เรียกว่าสมาธิ ถ้าสงบนานก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ถ้าสงบไม่นานก็เรียกว่าขณิกสมาธิ ถ้าสงบแล้วไม่นิ่งเฉย ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็เรียกว่าอุปจารสมาธิ เช่นไปรับรู้เรื่องเทวดา เวลาสนทนากับเทวดาก็ต้องอยู่ในอุปจารสมาธิ เช่นเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้กับเทวดาทั้งหลาย ทรงอยู่ในอุปจารสมาธิ ถ้าอยู่ในอัปปนาสมาธิจะไม่รับแขก ถ้าอยู่ในอุปจารสมาธิจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ รู้โลกทิพย์ รู้กายทิพย์ รู้อดีต รู้อนาคต ระลึกชาติได้ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ

  

        อุปจารสมาธิไม่เป็นประโยชน์ ไม่สนับสนุนการเจริญวิปัสสนา การเจริญปัญญา เพราะไม่มีกำลังที่จะสู้กับตัณหาความอยาก สู้กับกิเลสความโลภได้ เพราะไม่เป็นอุเบกขา ไม่นิ่ง ไม่เฉย เวลาสัมผัสสิ่งที่ชอบก็มีความสุข มีความดีใจ มีความยินดี มีความโลภ สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็มีความกลัว ความเกลียดความชัง การเข้าไปในอุปจารสมาธิจึงเป็นการเสียเวลา เหมือนกับการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แทนที่จะเอาร่างกายไปเที่ยว ก็เอาจิตไปเที่ยวแทน เที่ยวในโลกของเทวดา เที่ยวสวรรค์ ไปพบกับเทวดารูปนั้นรูปนี้ ไปพบกับดวงวิญญาณดวงนั้นดวงนี้ พระพุทธเจ้าก็ไปพบเทวดา แต่ทรงมีธรรมะแล้ว ไม่หลง ไปเพื่อทำประโยชน์ ไปเพื่อสั่งสอนธรรมะ ถ้าจิตไม่มีธรรมะ ก็ไปเพื่อกิเลส เพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อกามตัณหา ไปเพื่อดูรูปทิพย์สัมผัสกลิ่นทิพย์เสียงทิพย์ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการบำเพ็ญธรรมขั้นต่อไป คือขั้นวิปัสสนา ขั้นปัญญา พอออกจากอุปจารสมาธิจะไม่มีกำลังพิจารณาอสุภะ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ออกมาปั๊บกิเลสที่มีกำลังเต็มที่ ก็จะผลักให้ไปหารูปเสียงกลิ่นรสทันที ออกจากรูปเสียงกลิ่นรสที่ละเอียด คือรูปทิพย์เสียงทิพย์ ก็ไปหารูปหยาบเสียงหยาบทันที ไปเปิดทีวีดู ไปเปิดอะไรฟัง ไปเปิดตู้เย็นหาอะไรดื่มหาอะไรรับประทานทันที เพราะอุปจารสมาธิไม่ทำให้จิตใจอิ่มสงบ เป็นอุเบกขา

 

ถ้าอยู่ในอัปปนาสมาธิ ยิ่งอยู่ได้นาน พอออกมาก็จะยิ่งอิ่มมากขึ้น ไม่หิวกับอะไร ก็จะพิจารณาอสุภะ พิจารณาอนิจจังเกิดแก่เจ็บตายได้ ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆก็จะจำได้ จะไม่ลืมไม่หลง การพิจารณาก็เพื่อไม่ให้ลืม ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ร่างกายเป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม แต่เรามักจะลืม จะคิดว่าร่างกายจะอยู่ไปตลอด คิดว่าสวยงามน่ารักน่าใคร่ เพราะลืมความจริง ว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ร่างกายเป็นอสุภะ ไม่สวยงาม ส่วนที่ไม่สวยงามถูกปกปิดหุ้มห่อด้วยผิวหนัง ถ้าผิวหนังใสแบบถุงพลาสติก ก็จะไม่มีใครเห็นว่าร่างกายสวยงาม เพราะจะเห็นโครงกระดูกที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง จะเห็นอวัยวะต่างๆที่มีอยู่ใต้ผิวหนัง เหมือนเวลาไปตลาด แล้วเห็นพวกเครื่องในสัตว์ในถุงพลาสติก ถ้าผิวคนใสแบบพลาสติกก็จะเป็นแบบนั้น

 

ถาม  จะเลือกได้ไหมคะว่าจะเข้าอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

 

ตอบ  ได้ ถ้าไปทางอุปจารสมาธิ ก็ใช้สติดึงกลับมาได้ ถ้าเข้าไปในอัปปนาสมาธิแล้วถอยออกมา ก็ใช้สติดึงกลับมาสู่อุเบกขาได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์สอน ก็จะหลงคิดว่าอุปจารสมาธิดี วิเศษ มีตาทิพย์หูทิพย์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ไม่รู้ว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อการดับกิเลส ต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ผ่านตรงนี้มา ก็จะไม่มีใครมาเบรก ไม่มีใครมาดึงไว้ ก็จะไปท่องสวรรค์กัน ไปเห็นอะไรต่างๆกัน แล้วก็กลับมาอวดกัน มาเล่ากันว่าวิเศษอย่างนั้นวิเศษอย่างนี้ ถ้าได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้ว เห็นโทษของมันแล้ว จะเตือนทันที จะห้ามทันที เพื่อให้ทำกิจสำคัญให้เสร็จก่อน ถ้าดับกิเลสได้หมดแล้ว บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไปท่องเที่ยวก็ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้ไปด้วยความอยาก ด้วยกิเลสตัณหา ไปด้วยสติปัญญา ไปทำประโยชน์ ไปสั่งสอนเทวดา เวลามีเทวดามาฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงมีเทวดามาฟังเทศน์ฟังธรรมทุกคืน หลวงปู่มั่นก็มีเทวดามาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เป็นประจำ แต่ก่อนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องเสร็จงานของเราก่อน ก่อนที่จะไปสอนคนอื่น เราต้องบรรลุ ต้องสำเร็จ ต้องได้รับปริญญาก่อน อย่ามัวไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนจนลืมเข้าห้องเรียน จะเรียนไม่จบ ต้องเรียนให้จบก่อน จบแล้วทำอะไรก็ไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นโทษกับใจ เพราะสิ่งที่เป็นโทษกับใจถูกทำลายไปหมดแล้ว ทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

 

อย่าหลงประเด็นเวลาปฏิบัติ ต้องพุ่งเป้าไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ตั้งเข็มทิศไว้ตรงนั้นเลย ถ้าจะไปทางอื่นอย่าไป เพราะไม่เป็นประโยชน์ จะเสียเวลา จะหลงทาง จะสูญเสียโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ไป เพราะถ้าตายไป ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้พบพระพุทธศาสนาอีก ต้องรอคิวยาวเป็นกัปเป็นกัลป์เลย ดังนั้นตอนนี้ให้มุ่งไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน มุ่งไปที่การภาวนา สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาก็ต้องสงบนิ่ง เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ จิตเข้าสู่ความว่าง ไม่มีอะไรให้รู้ ถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไปรับรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าออกไปรับรู้ก็ต้องดึงกลับมาด้วยสติ ดึงกลับเข้ามาที่อุเบกขา ที่ความว่าง ที่ตัวรู้ อย่าไปตามรู้สิ่งต่างๆ ถ้าเป็นทีวีก็ปิดเครื่องเสีย ใช้สติปิด ใช้สติดึงกลับมาหาตัวรู้ สิ่งที่ปรากฏก็จะหายไป แต่นักภาวนาส่วนใหญ่จะเป็นแบบนิ่งสงบแล้วก็ว่าง พวกที่ออกไปรับรู้เป็นส่วนน้อย เป็นพวกจิตผาดโผน พวกนี้ต้องมีครูบาอาจารย์คอยกำราบ คอยเตือน คอยสอน ไม่เช่นนั้นจะหลงระเริงกับความผาดโผนของตน ความสามารถของตน คิดว่าเป็นผลอันยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการภาวนา แต่เมื่อเทียบกับผลที่จะได้รับจากมรรคผลนิพพานแล้ว เป็นเหมือนเศษเงินเศษทอง ไม่ใช่เพชรนิลจินดา

 

ต้องภาวนาให้จิตสงบ นิ่ง ว่าง เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้นก็ภาวนาต่อไป ถ้าออกไปรับรู้อะไรก็ดึงกลับเข้ามาหาตัวรู้ หาความสงบ หาความว่าง อย่าตามไป พอออกจากความสงบ ก็อย่าไปทำภารกิจอื่น ออกมาก็มาเจริญปัญญาเลย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ในสภาวธรรมต่างๆ ที่ยังมีความผูกพัน มีความยึดติดอยู่ ยังรักยังชอบอยู่ ยังหวงอยู่ยังห่วงอยู่ พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่กับเราไปตลอด ให้คิดอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญ ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสที่กำลังยึดติดกันอยู่นี้ จะมีวันหนึ่งที่จะไม่สามารถเสพรูปเสียงกลิ่นรสได้ เช่นเวลาแก่ลงไป ตาก็ไม่ดีหูก็ไม่ดี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต จะไปเที่ยวที่ไหนก็ไปไม่ได้ ตอนนั้นจะมีแต่ความทุกข์ถ้าอยากไปเที่ยว ถ้าพิจารณาแล้วตัดความอยากได้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปเที่ยวไปไหนไม่ได้ ก็จะไม่เดือดร้อน อยู่ในสมาธิสบายกว่า สุขมากกว่า

 

ต้องพิจารณาลาภยศสรรเสริญสุข รูปเสียงกลิ่นรส แล้วก็เข้ามาพิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็เข้าไปพิจารณาในจิต เพื่อตัดอุปาทานตัดความอยากให้หมดไป ด้วยปัญญา ด้วยไตรลักษณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนกันหมด เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญ ไม่ว่าจะเป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ต่างๆภายในจิต เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด พิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นว่าเป็นทุกข์ก็จะไม่อยากได้ ถ้าเห็นว่าสุข เห็นว่าวิเศษ ก็จะอยากได้ จะยึดติด ที่ยึดติดเพราะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นคุณ ต้องใช้ไตรลักษณ์เข้ามาแก้ความเห็นผิดนี้ ถ้าเห็นแล้วก็จะปล่อยวาง จะไม่เกี่ยวข้องด้วย เช่นคนที่ติดยาเสพติดจะเห็นว่าเป็นคุณ ถึงเสพกัน เสพแล้วมีความสุข แต่คนที่มีปัญญาจะเห็นว่าเป็นโทษ จะต้องทุกข์เวลาไม่ได้เสพ จะต้องตายจากการเสพยา เพราะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เสพมากๆก็จะทำลายร่างกาย ทำให้ตายไปก่อนวัยที่ควร นี่คือปัญญา ต้องเห็นทุกข์ เห็นโทษ ไม่เป็นคุณเป็นสุข ต้องเห็นว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้ ให้อยู่กับเราไปตลอดไม่ได้ สังเกตดูเวลาชอบอะไรจะรัก จะอยากให้อยู่กับเราไปตลอด ก็ต้องวิตกกังวลกลัวจะไม่อยู่ไปตลอด พอไม่เห็นหน้าเห็นตากันก็ตกใจกลัว เป็นอะไรไปหรือเปล่า เกิดความทุกข์ใจ ถ้าไม่ยึดติดก็จะสบายใจ จะเป็นจะตายไม่เดือดร้อน อย่างไหนจะดีกว่ากัน ไม่มีกับมี คนมีปัญญาก็จะรู้ว่าการไม่มีจะดีกว่ามี ไม่มีก็ไม่มีทุกข์ ถ้ามีก็ต้องมีทุกข์ จะสุขขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องมีทุกข์ตามมา

 

นี้คือเรื่องของไตรลักษณ์ เรื่องของการเจริญปัญญา ที่ต้องพิจารณาหลังจากออกจากสมาธิแล้ว เวลาอยู่ในสมาธิพิจารณาไม่ได้ อย่าพิจารณา ปล่อยให้นิ่งให้นานที่สุด เป็นการชาร์จแบตเตอรี่ ชาร์จกำลังของจิต ชาร์จกำลังของอุเบกขา พอออกมาแล้วก็ควรพิจารณาเลย เพราะกำลังของอุเบกขาจะอ่อนลงไปเรื่อยๆ เวลามาสัมผัสรับรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วคิดปรุงแต่ง อุเบกขาจะถูกทำลายไปทีละเล็กทีละน้อย กิเลสจะมีกำลังมากขึ้นๆ ก็จะพิจารณาไม่รู้เรื่อง กิเลสจะชวนให้ไปดูนั่นฟังนี่แทน ตอนนั้นก็ต้องกลับเข้าไปในสมาธิใหม่ ไปตัดกำลังของกิเลสใหม่ เวลาเข้าสมาธิกิเลสก็จะอ่อนกำลังลง อุเบกขาจะมีกำลังมากขึ้น การปฏิบัติจึงต้องเข้าสมาธิสลับกับการพิจารณาทางปัญญา เหมือนการทำงาน พอเหนื่อยก็กลับบ้านไปพักผ่อนหลับนอน อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร พอตื่นขึ้นมาก็ออกไปทำงานต่อ การพิจารณาทางปัญญาก็ต้องมีการพักผ่อนในสมาธิ สมาธิกับปัญญาจะสนับสนุนกัน ผลัดกันทำงาน ไม่ใช่ว่าพอได้สมาธิแล้ว ก็ไม่ต้องเข้าสมาธิอีก พิจารณาทางปัญญาอย่างเดียว ยิ่งถ้ายังไม่มีสมาธิ แล้วไปเจริญปัญญาอย่างเดียว ยิ่งไม่เป็นปัญญาใหญ่ เป็นจินตนาการ เป็นสัญญา ไม่เป็นความจริง ตัดกิเลสไม่ได้ รู้ว่าทุกข์แต่เลิกไม่ได้ รู้ว่าดื่มสุราแล้วเป็นทุกข์ก็เลิกดื่มไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังที่จะหยุด ไม่มีอุเบกขา แต่ถ้ามีสมาธิ พอรู้ว่าอะไรไม่ดีปั๊บ ก็หยุดได้เลย เลิกได้เลย กลับเข้าสู่ความสงบได้เลย

 

อย่าทำแต่สมาธิหรือปัญญาเพียงอย่างเดียว ต้องทำสลับกัน ก่อนจะเจริญปัญญาต้องมีสมาธิก่อน จะมีสมาธิก็ต้องมีสติก่อน จะมีสติก็ต้องมีศีลก่อน จะมีศีลก็ต้องมีทานก่อน จะมีทานก็ต้องมีศรัทธาก่อน จะมีศรัทธาก็ต้องฟังเทศน์ฟังธรรมก่อน ธรรมเหล่านี้เกื้อหนุนกัน ต้องเริ่มต้นที่การฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้าไม่ฟังธรรมก็จะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทำไปทำไม ก็จะไม่มีศรัทธา พอรู้แล้วก็จะมีศรัทธา ก็จะทำทาน พอทำทานได้ก็จะรักษาศีลได้ เพราะจะไม่ชอบทำบาป ถ้าชอบทำทานจะไม่ชอบทำบาป พอรักษาศีลได้ ก็อยากจะไปอยู่ที่สงบ เพราะความสงบมีความสุขมากกว่าความสุขจากสิ่งต่างๆ ก็จะเจริญสติได้ นั่งสมาธิได้ พิจารณาปัญญาได้ ตัดกิเลสได้ เห็นอริยสัจ ๔ ได้ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคได้ พอกิเลสโผล่ขึ้นมาปั๊บก็ตัดได้เลย พอตัดไปๆก็จะไม่มีกิเลสเหลืออยู่ จิตก็จะหลุดพ้น วุสิตัง พรหมจริยัง ก็ปรากฏขึ้นมา กิจในพรหมจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไป

 

ถาม  ที่คิดว่าจะเรียนต่อก็ไม่ต้องเรียน

 

ตอบ  ถ้าคิดอย่างนี้ก็มีปัญญา พระพุทธเจ้ายังทิ้งพระราชสมบัติเลย นี่ยังไม่มีสมบัติเลย จะไปหามาทำไม หามาเพื่อทิ้งไป หามาทำไม หาความสุขใจดีกว่า เพราะยิ่งใหญ่กว่าความสุขของร่างกายหลายร้อยเท่า ถ้าใจสุขแล้วร่างกายทุกข์ ความทุกข์ของร่างกายนี้มันนิดเดียว จะไม่สามารถบดบังความสุขใจได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าใจทุกข์แล้วต่อให้ร่างกายมีความสุขขนาดไหนก็ตาม ก็จะไม่สามารถบดบังความทุกข์ใจได้ ถึงแม้จะมีความสุขกายระดับมหาเศรษฐี ระดับมหาจักรพรรดิก็ตาม เวลามีความทุกข์ใจไม่สบายใจ ความสุขกายจะถูกกลบไปหมดเลย เช่นกำลังเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน พอได้ข่าวไม่ดี ความสุขจากการเลี้ยงฉลองก็จะหายไปหมดเลย

 

ในทางตรงกันข้ามถ้าใจสงบแล้ว ได้ข่าวว่าร่างกายจะต้องตาย ก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าหมอบอกว่าจะต้องตายภายใน ๓ วัน ๗ วัน ก็จะไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ ตอนนี้ยังไม่ตายก็อยู่ไปก่อน ไปตีตนก่อนไข้ทำไม ถึงเวลาตายก็แค่แป๊บเดียว เพียงไม่หายใจเท่านั้นเอง ก็จบแล้ว ส่วนความเจ็บปวดทางร่างกาย ก็จะไม่สามารถมาลบล้างความสุขใจได้ ร่างกายจะเจ็บขนาดไหน ในขณะใกล้ตายก็ไม่เป็นปัญหา เพราะความเจ็บของใจยิ่งใหญ่กว่าความทุกข์ของร่างกายหลายร้อยเท่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะความสุขความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ถ้ากำจัดความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ออกไปจากใจได้แล้ว ความสุขใจที่ยิ่งใหญ่ก็จะปรากฏขึ้นมา ความทุกข์ทางร่างกายจะไม่เป็นปัญหาเลย เหมือนช้างกับหนู ช้างจะไม่เดือดร้อนกับการเต้นแร้งเต้นกาของหนูเลย แต่หนูจะเดือดร้อนถ้าช้างเต้นแร้งเต้นกา ถ้าใจเป็นทุกข์ ต่อให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ก็ดับความทุกข์ใจไม่ได้ ถ้าแก้ปัญหาของใจได้แล้ว จะไม่มีอะไรเป็นปัญหา จะมีลาภยศสรรเสริญ มีรูปเสียงกลิ่นรสหรือไม่ จะไม่เป็นปัญหา ถ้ามีความสุขใจแล้วจะไม่หิวกับสิ่งต่างๆ

 

ถาม  เป็นผู้หญิงเวลาจะไปปฏิบัติ จะมีอุปสรรค

 

ตอบ  ทำไมผู้หญิงอื่นปฏิบัติกันได้ เขาก็ไม่ต่างกับเรา ขอให้ปฏิบัติไปเถิด แล้วจะมีกำลังใจ มีความกล้าหาญ เจริญสติให้มาก ถ้ามีสติแล้ว ควบคุมใจได้แล้ว จะไม่กลัวอะไร เพราะปัญหาอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ถ้าใจไม่กลัวแล้วจะไม่มีอุปสรรค ไปอยู่ที่ไหนก็ได้

 

ถาม  สิ่งที่กังวลก็คือความวุ่นวายใจเจ้าค่ะ  

 

ตอบ  เพราะไม่มีสติระงับ  

 

ถาม  วันก่อนฟังเทศน์หลวงปู่สิม แล้วทำงานไปด้วย เห็นร่างกายกลายเป็นกระดูกไปหมด เห็นทั้งวันเลย จะต้องรักษาอย่างไรคะ

 

ตอบ  เอามาใช้เจริญปัญญา มองใครก็มองให้เห็นกระดูก โดยเฉพาะเวลาเกิดกามารมณ์ อยากจะร่วมหลับนอนกับใคร ก็มองให้เห็นกระดูกของเขา ก็จะดับกามารมณ์ได้ ปัญญามีไว้เพื่อดับกามารมณ์ ดับความกลัวความตาย ถ้ากลัวความตาย ก็ให้พิจารณาว่าต่อไปร่างกายก็จะกลายเป็นเศษกระดูกไป จะหายกลัว ตอนที่เห็นกระดูกยังไม่เป็นประโยชน์ เป็นเหมือนได้เครื่องมือได้อาวุธมา ต้องเอาไปใช้ฆ่าศัตรู ศัตรูก็คือกิเลส เช่นความกลัวตาย กามารมณ์ ต้องเอาภาพที่เห็นมาเป็นอาวุธ มาทำลายกิเลส พยายามรักษาอาวุธนี้ไว้ ด้วยการพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องใช้เมื่อไหร่ เวลาไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว ก็จะได้ปลงได้ เพราะในที่สุดร่างกายก็ต้องกลายเป็นเศษกระดูกไป ถ้าไปพบเห็นคนที่เราชอบเรารัก ก็ให้คิดว่าเป็นแค่โครงกระดูก ก็จะดับกามารมณ์ได้