กัณฑ์ที่ ๕๑     ๑๑ มีนาคม  ๒๕๔๔

มรดกอันล้ำค่า

 

พระพุทธศาสนาเป็นมรดกอันล้ำค่า ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นแสงสว่างเพื่อนำพาชีวิตให้ไปสู่ที่ดีที่งาม  ที่สุขที่เจริญ ที่สงบร่มเย็น  จึงเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนทุกๆคน ที่จะต้องทำนุบำรุงดูแลรักษาพระพุทธศาสนา ด้วยการสืบทอดและถ่ายทอดพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง เป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พระพุทธศาสนาจึงมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายมาโดยตลอด 

การดูแลรักษาพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พุทธ ศาสนิกชนรักษาด้วยการรบราฆ่าฟันกัน ถึงแม้ศาสนวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป โบสถ์ เจดีย์ วิหาร กุฏิ จะถูกทำลายไป เพราะศาสนวัตถุมิใช่องค์ศาสนาที่แท้จริง เป็นเพียงองค์ประกอบของศาสนาเท่านั้น  ถึงแม้จะไม่มีศาสนวัตถุอยู่เลย ศาสนาก็ยังไม่สูญหาย  เพราะศาสนาที่แท้จริงนั้นอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนต่างหาก  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะสามารถทำลายได้ ศาสนวัตถุทั้งหลายเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง คือความเป็นของไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นมาตั้งอยู่แล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา

ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆก็ไม่มีศาสนวัตถุใดๆ  ไม่มีโบสถ์ ไม่มีเจดีย์ ไม่มีกุฏิ ไม่มีวิหาร ไม่มีพระพุทธรูป  เมื่อศาสนวัตถุถูกทำลายไปหรือเสื่อมไปตามกาลตามเวลา จึงไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ โกรธแค้น โกรธเคืองกับผู้ที่มาทำลาย เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องดับไปได้เป็นธรรมดา   ถ้าไปรบราฆ่าฟันเพื่อปกป้องรักษากัน ก็เท่ากับไม่มีศาสนาอยู่ในใจ  เพราะศาสนาสอนให้มีความเมตตากรุณา  ไม่ให้เบียดเบียนกัน ให้อยู่ด้วยสันติธรรม มองกันด้วยไมตรีจิต ด้วยการให้อภัย ถือว่าอยู่ด้วยกันก็ต้องมีการผิดพลาด มีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องโกรธแค้นโกรธเคืองอาฆาตพยาบาทกัน ถ้ามีเมตตา มีการให้อภัยต่อกันและกัน ก็จะอยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข 

การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจึงต้องทำที่จิตใจ คือต้องสร้างศาสนาให้เกิดขึ้นในจิตใจด้วย  .ปริยัติธรรม   . ปฏิบัติธรรม   . ปฏิเวธธรรม   . เผยแผ่ธรรม   ปริยัติธรรมคือการศึกษาพระธรรมคำสอน  ปฏิบัติธรรมคือการนำเอาพระธรรมคำสอนที่ได้ศึกษาไปปฏิบัติ  ปฏิเวธธรรมคือการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้นโสดาปัตติผลจนถึงขั้นอรหัตตผล  เผยแผ่ธรรมคือการสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้รู้ให้เข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและประพฤติปฏิบัติตามต่อไป  นี่คือแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนดำเนินตาม ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับโลกนี้ไปนานแสนนาน

ในเบื้องต้นพุทธศาสนิกชนจึงต้องศึกษาพระธรรมคำสอนก่อน ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม สมัยนี้ฟังที่ไหนก็ได้ ที่วัดก็ได้ ที่บ้านก็ได้  เพราะปัจจุบันมีสื่อใช้เผยแพร่อยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นดีวีดี เครื่องคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต มีการแสดงพระธรรมเทศนาผ่านสื่อเหล่านี้ ผู้สนใจก็สามารถฟังเทศน์ฟังธรรมได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  อยู่ที่บ้านก็ฟังเทศน์ฟังธรรมได้  อยู่ในรถยนต์ก็ฟังเทศน์ฟังธรรมได้  เดินไปที่ไหนก็สามารถฟังเทศน์ฟังธรรมได้ เพราะสามารถเอาเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ติดตัวไปได้ทุกที่ทุกเวลา  การอ่านหนังสือธรรมะก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการศึกษาพระธรรมคำสอน   อ่านที่บ้านก็ได้  ที่ห้องสมุดก็ได้  ที่วัดก็ได้

การศึกษาพระธรรมคำสอนเป็นเหมือนกับการศึกษาแผนที่ การที่จะเดินทางจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง  ถ้าไม่เคยไปมาก่อน ก็ต้องดูแผนที่ก่อน  หรืออาศัยคนที่รู้จักทางบอกทางให้ก่อน ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะหลงทางได้ การปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน ต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนทำอะไร โดยย่อพระพุทธเจ้าทรงสอน  .ไม่ให้ทำความชั่วทั้งหลาย   . ให้ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม  . ให้ชำระจิตใจให้ผ่องแผ้ว ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง 

เมื่อรู้แล้วว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำอะไร  ขั้นต่อไปคือการนำแนวทางนั้นมาประพฤติปฏิบัติด้วย  .การทำบุญให้ทาน   . การรักษาศีล   . การบำเพ็ญจิตตภาวนา คือการชำระจิตใจด้วยสมาธิและปัญญา  เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนแล้ว ผลที่พึงจะได้รับก็คือ มรรค ผล นิพพาน  ถ้ายังไม่ได้มรรคผลนิพพานเมื่อตายไปแล้วก็ได้ไปสู่สุคติ  สู่ภพภูมิของมนุษย์ เทวดา พรหม และพระอริยเจ้าทั้งหลาย ในปัจจุบันก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ผลของการปฏิบัติธรรมนี้เรียกว่าปฏิเวธ  คือการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ การบรรลุธรรมก็เหมือนกับการรับประทานอาหาร  ผลของการรับประทานอาหารก็คือความอิ่มนั่นเอง เป็นสันทิฏฐิโก ผู้บรรลุธรรมย่อมเห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตน หลังจากได้บรรลุธรรมแล้ว ขั้นต่อไปคือการเผยแผ่ธรรม สั่งสอนผู้อื่นต่อไป  ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระโอวาทให้กับพระอรหันตสาวก ๖๐ รูปแรกที่จะไปเผยแผ่พระธรรมคำสอนว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี

นี่คือการถ่ายทอดสืบทอดพระพุทธศาสนา  เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับโลกไปอีกยาวนาน ตราบใดยังมีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ ตราบนั้นพระพุทธศาสนาจะไม่สูญหายไปจากโลก  ถึงแม้จะมีใครมาทำลายศาสนวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปก็ดี เป็นพระเจดีย์ก็ดี เป็นโบสถ์ก็ดี เป็นพระวิหาร หรือเป็นกุฏิก็ดี  ก็ไม่สามารถทำลายพระพุทธศาสนาได้ เพราะศาสนวัตถุไม่ใช่องค์พระศาสนา ศาสนธรรมที่อยู่ในใจต่างหากที่เป็นองค์ศาสนาที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ถูกทำลายไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่จะต้องสร้างศาสนธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจด้วย ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม และการเผยแผ่ธรรม 

พุทธศาสนิกชนประกอบด้วยสองส่วน คือ บรรพชิต และ คฤหัสถ์  งานของพุทธศาสนิกชนจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คืองานของบรรพชิต และงานของคฤหัสถ์ บรรพชิตคือนักบวช คฤหัสถ์คือผู้ครองเรือน บรรพชิตเปรียบเหมือนกับเป็นนักรบผู้อยู่ในแนวหน้า  คฤหัสถ์เปรียบเหมือนกับผู้อยู่ในแนวหลัง ที่คอยให้การสนับสนุนในเรื่องยุทโธปกรณ์ เรื่องเสบียงต่างๆ  บรรพชิตไม่มีอาชีพ  ไม่สามารถทำมาหากินได้  ต้องอาศัยคฤหัสถ์เป็นผู้สนับสนุนด้วยปัจจัย ๔ คือ อาหารบิณฑบาต จีวรเครื่องนุ่งห่ม เภสัชยารักษาโรค กุฏิที่อยู่อาศัย บรรพชิตมีหน้าที่ศึกษาปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมแล้วจึงนำธรรมมาสั่งสอนอบรมศรัทธาญาติโยม    เพราะศรัทธาญาติโยมไม่มีเวลามากพอที่จะศึกษาปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยรู้เรื่องพระธรรมคำสอน  จึงต้องอาศัยบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณรเป็นผู้คอยให้การอบรมสั่งสอน  แต่ศรัทธาญาติโยมมีกำลังทรัพย์มีเงินทอง จึงบำรุงพุทธศาสนาด้วยการสนับสนุนพระภิกษุสามเณรด้วยปัจจัยสี่  ที่มีความจำเป็นแก่การดำรงชีพ เช่น การตักบาตรถวายภัตตาหาร ถวายจีวรเครื่องนุ่งห่ม ถวายเภสัชยารักษาโรค และสร้างกุฏิถวายไว้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่สมควรแก่สมณะบริโภค

แต่มีสิ่งหนึ่งที่พระพุทธองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้ญาติโยมถวายให้กับพระภิกษุสามเณร เพราะพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์กับพระเณร  แต่กลับจะเป็นโทษ สิ่งนี้ก็คือปัจจัยเงินทอง  เงินทองนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับฆราวาสมากกว่า  เพราะฆราวาสญาติโยมจำเป็นต้องมีเงินทองไว้จับจ่ายซื้อข้าวของต่างๆ  แต่บรรพชิตนักบวช  ภิกษุ สามเณร ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินทองไว้ซื้อข้าวของอะไร  เพราะว่าข้าวของต่างๆที่มีความจำเป็นต่อการบำเพ็ญสมณธรรมนั้น ก็มีญาติโยมคอยดูแลคอยประเคนถวายให้อยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว 

ยกเว้นการถวายไว้สำหรับใช้ส่วนกลางสงฆ์  เพราะว่าทางวัดก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนกลาง  เช่นค่าน้ำค่าไฟ  ค่าดูแลรักษาศาสนวัตถุต่างๆ ต้องมีการซ่อมแซม มีการทำความสะอาด ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยเงินทองเป็นเครื่องมือ  ถ้าถวายเฉพาะเจาะจงองค์หนึ่งองค์ใดก็ควรดูเหตุดูผลก่อนว่าควรไม่ควรอย่างใด  บางครั้งท่านอาจจะมีความจำเป็น เช่น ต้องเดินทางไปไหนมาไหน  ต้องซื้อตั๋วรถถวายท่าน ส่งท่านขึ้นรถไป  อย่างนี้เป็นต้น  แต่ไม่ควรถวายเงินถวายทองโดยไม่มีเหตุไม่มีผล  เพราะจะกลายเป็นพิษเป็นภัยกับท่านเสียมากกว่า แทนที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์  พระพุทธองค์จึงทรงห้ามไม่ให้พระภิกษุสามเณรรับเงินรับทองจากศรัทธาญาติโยม  การที่ศรัทธาญาติโยมจะทำนุบำรุงพุทธศาสนา ก็ต้องรู้จักวิธีการทำนุบำรุงศาสนาที่ถูกต้อง  ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัว  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้