กัณฑ์ที่ ๕๔      ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔

ธุดงค์ ๑๓

 

การบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพระภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี  เป็นการบวชเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ไม่ได้บวชเพื่อสะสมเงินทองวัตถุข้าวของเพื่อบำรุงกามสุข  บางท่านที่บวชใหม่อาจจะเห็นหลวงพ่อ หลวงตา พระเถรานุเถระ พระผู้ใหญ่บางรูปบางองค์มีความเพรียบ พร้อมไปด้วยวัตถุข้าวของต่างๆที่บำรุงกามสุข ท่านก็อาจจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของพระที่ต้องแสวงหาสิ่งเหล่านี้  คือต้องแสวงหาเงินหาทอง เมื่อได้เงินได้ทองมาแล้วก็มาปรับปรุงกุฏิให้สวยงาม มีเครื่องอำนวยความสุข ความสะดวกอย่างครบครัน   มีทั้งเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแสวงหากัน สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้แสวงหาคือมรรคผลนิพพาน ด้วยการชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง  พระพุทธองค์จึงได้มอบภารกิจหรือธุระให้กับผู้บวชอยู่ ๒ ธุระด้วยกันคือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ

คันถธุระคือการศึกษาพระธรรมคำสอน ที่จารึกอยู่ในพระไตรปิฏก   หรือศึกษาจากครูบาอาจารย์พระสุปฏิปันโน ผู้มีความเจริญในธรรมทั้งหลาย  เรียกว่าการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ต้องศึกษาให้รู้ก่อนว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้บรรพชิตนักบวชทำอะไรกัน  ศึกษาพระพุทธประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า ศึกษาความเป็นมาของพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย เพื่อจะได้เอาไว้เป็นแบบฉบับ เป็นเยี่ยงอย่าง  เอาวิถีชีวิตการดำเนินของท่านมาเป็นตัวอย่าง เป็นแม่พิมพ์  ท่านอยู่อย่างไร ท่านประพฤติปฏิบัติอย่างไร  ก็น้อมมาประพฤติปฏิบัติ  พร้อมกับการศึกษาพระธรรมวินัย บทบัญญัติข้อห้ามต่างๆ สำหรับพระภิกษุสามเณร 

เมื่อบวชแล้วต้องอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย  ไม่ดำเนินชีวิตแบบฆราวาส  เพราะฆราวาสกับนักบวชมีความแตกต่างกัน  นักบวชมีจิตใจที่สูงกว่าฆราวาส จึงต้องมีความสำรวม มีความสงบ กาย วาจา ใจ ทุกกิริยาอาการเคลื่อนไหวต้องเป็นไปด้วยความสวยงาม เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ไม่ใช่เป็นกิริยาอาการที่สร้างความเสื่อมศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็นทั้งหลาย  หน้าที่ของผู้บวชในเบื้องต้นคือการศึกษาพระธรรมวินัยให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้  แล้วจึงนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ  

วิปัสสนาธุระคือการนำเอาพระธรรมคำสอนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากในพระไตรปิฎกก็ดี หรือจากครูบาอาจารย์ก็ดี  มาประพฤติปฏิบัติ ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายให้หมดไปจากจิตจากใจ  คำว่าภิกษุแปลว่าเป็นผู้ทำลายกิเลส เป็นผู้ทำลายความโลภ ความโกรธ และความหลง วิปัสสนาธุระก็คือการทำลายความโลภ ความโกรธ และความหลงนั่นเอง เครื่องมือที่ใช้ในการทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลงก็คือไตรสิกขา  ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ ด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ถือธุดงควัตร 

ธุดงควัตรเปรียบเหมือนกับผงซักฟอก  เวลาที่ซักเสื้อผ้า  ถ้าซักด้วยน้ำเฉยๆ พวกคราบสกปรกต่างๆจะออกมายากและจะออกมาไม่หมด  แต่ถ้าใช้ผงซักฟอก  การซักก็จะง่ายไม่ต้องขยี้มาก เพราะว่าผงซักฟอกจะช่วยละลายคราบสกปรกต่างๆที่ติดอยู่กับเสื้อผ้าให้หลุดออกมาอย่างง่ายดาย   ธุดงควัตรที่มีอยู่ ๑๓ ข้อนี้ก็เปรียบเหมือนกับผงซักฟอกของจิตใจ  ถ้าประพฤติปฏิบัติโดยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่ได้ถือธุดงควัตร จะทำให้กิเลสหลุดออกไปจากจิตจากใจยาก  แต่ถ้าได้ปฏิบัติธุดงควัตรด้วยแล้ว การสลายความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดออกไปจากจิตจากใจจะง่ายขึ้น เพราะธุดงค์คือเครื่องกำจัดกิเลส  เป็นเครื่องส่งเสริมความอยู่แบบมักน้อยสันโดษ  การเป็นสมณะนักบวชควรอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ควรมีทรัพย์สมบัติมากมายซึ่งเป็นวิสัยของฆราวาส  นักบวชเป็นผู้ที่ออกจากการครองเรือนแล้ว เป็นผู้ที่ละกามสุขแล้ว  จึงไม่ควรมีสิ่งต่างๆที่ฆราวาสเขามีกัน  เช่นตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องอำนวยความสุขความสะดวกทั้งหลาย   ควรถือธุดงควัตรแล้วก็อยู่แบบพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย     ท่านปฏิบัติ ธุดงควัตรกันทั้งนั้น 

ธุดงควัตรมีอยู่ ๑๓ ข้อด้วยกัน  แบ่งไว้เป็น ๔ หมวด  ได้แก่  . หมวดจีวร มี ๒ ข้อ   . หมวดบิณฑบาตมี ๕ ข้อ   . หมวดเสนาสนะ มี ๕ ข้อ   . หมวดความเพียร มี ๑ ข้อ รวมกันเป็น ๑๓ ข้อ

หมวดจีวรมีอยู่ ๒ ข้อ คือ . การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร   . การถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร   การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรในสมัยพุทธกาลหมายถึงการไปเก็บเศษผ้าที่ถูกทิ้งอยู่ตามป่าช้า หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะ หาสะสมทีละชิ้นสองชิ้นจนพอเย็บต่อให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วนำมาซักย้อมด้วยน้ำฝาด การถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร หมายถึงความจำเป็นของพระภิกษุเกี่ยวกับการใช้ผ้านั้นมีไม่มาก มี ๓ ผืนก็อยู่ได้แล้ว  คือสบงผ้านุ่ง จีวรผ้าห่ม  สังฆาฏิ ผ้าสองชั้นไว้ห่มกันหนาว  มีเท่านี้ก็พอแก่การดำรงชีพของพระภิกษุแล้ว  มีมากกว่านี้ก็เกินความจำเป็น 

หมวดบิณฑบาตมีอยู่ ๕ ข้อ คือ . ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นการหาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยลำแข้งลำขาของตนเอง เป็นสัมมาอาชีพของสมณะนักบวช ป้องกันความเกียจคร้านซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งไปสู่ความเสื่อมเสีย .ถือบิณฑบาตไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือไม่ให้เลือกที่รักมักที่ชัง  ไม่ให้เลือกบิณฑบาตเฉพาะบ้านนั้นบ้านนี้   . ถือการฉันอาหารในบาตรเป็นวัตร คือการใช้บาตรเป็นภาชนะใส่อาหารที่ได้มาจากบิณฑบาต ไม่ใช้ภาชนะอื่น เช่น จาน ชาม  ให้เอาอาหารคาวหวานทั้งหลายใส่ไว้ในบาตร  ข้าวก็ใส่ไปในบาตร กับข้าวกับปลาก็ใส่ไปในบาตร ของหวาน ผลไม้ก็ใส่ไปในบาตร เรียกว่าการฉันในบาตร  .ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ร่างกายเปรียบเหมือนกับรถยนต์  รถยนต์ต้องมีน้ำมัน  เวลาเติมน้ำมันก็เติมกันทีเดียวให้เต็มถังไปเลย  ไม่ต้องมาเสียเวลาเติมหลายหนหลายครั้ง  ไม่เติมทีละครึ่งถัง  ถ้าเติมทีละครึ่งถัง  วันหนึ่งก็ต้องเติม ๒ ครั้ง  เช่นเดียวกับร่างกาย  ท้องก็เปรียบเหมือนกับถังน้ำมัน  ถ้าเติมอาหารให้เต็มท้องครั้งเดียวก็อยู่ได้ถึงวันรุ่งขึ้น ไม่มีปัญหาอะไร  การฉันมื้อเดียว เป็นการตัดภาระเกี่ยวกับเรื่องการขบการฉัน  ไม่ให้เสียเวลาไปกับการฉันมากจนเกินความจำเป็น .ถือการไม่รับอาหารเพิ่มหลังจากบิณฑบาตกลับมาที่วัดแล้วเป็นวัตร คือรับแต่อาหารที่ได้จากบิณฑบาตเท่านั้น  จะไม่รับอาหารที่ญาติโยมนำมาถวายที่วัด

หมวดเสนาสนะมีอยู่ ๕ ข้อ ได้แก่   . ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร  จะอยู่แต่ในป่า ไม่อยู่ตามบ้านตามเมือง  มีกุฏิอยู่ในป่าที่ห่างไกลจากบ้านเรือน  . ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือไม่อยู่ในที่มุงที่บัง เช่นกุฏิ ศาลา วิหาร  อยู่แต่ตามโคนไม้ ใช้กลดไว้หลบแดดหลบฝน ใช้มุ้งไว้กันยุงและแมลง  . ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะป่าช้าเป็นสถานที่สงบสงัด  ไม่มีคนเข้าไปเล่นไปเที่ยวกัน  เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม เหมาะแก่การบำเพ็ญสมาธิ เจริญวิปัสสนา  เหมาะกับการฆ่ากิเลส  . ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร   .ถือการอยู่ตามที่เขาจัดให้อยู่เป็นวัตร ไปอยู่วัดไหน เจ้าหน้าที่ของทางวัดจัดกุฏิให้อยู่หลังไหน ก็อยู่หลังนั้น ไม่เลือก ไม่ขอย้ายไปอยู่หลังใหม่ เอาตามมีตามเกิด

หมวดความเพียรมีอยู่ ๑ ข้อ คือ ถืออิริยาบถ ๓ เป็นวัตร   จะเดิน ยืน นั่ง เท่านั้น จะไม่นอน จะไม่เอนหลัง จะไม่ยอมเสียเวลากับการหลับนอน  จะทำแต่ความเพียรใน ๓ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง  ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้เท่านั้น   

นี่คือธุดงควัตร ๑๓ ข้อที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้ให้กับนักปฏิบัติธรรมผู้รักความมักน้อยสันโดษ  ปรารถนาที่จะทำลายความโลภ โกรธ หลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  ผู้ที่น้อมเอาธุดงควัตรเหล่านี้มาปฏิบัติจะบรรลุเห็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว อย่างในวัดนี้ก็มีการปฏิบัติธุดงควัตรอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ  . ถือบิณฑบาตเป็นวัตร  . ถือบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร   . ถือฉันในบาตรเป็นวัตร   . ถือฉันมื้อเดียวเป็นวัตร  เป็น

ธุดงควัตรที่ใช้ปฏิบัติในวัดนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกของการสร้างวัดนี้  เพราะเป็นเจตนารมณ์ของผู้ที่ถวายที่ดินสร้างวัดให้กับสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช และก็เป็นเจตนารมณ์ของสมเด็จพระสังฆราชด้วยที่จะให้วัดนี้เป็นวัดปฏิบัติ  มีการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา และการปฏิบัติธุดงควัตรต่างๆ เวลาที่ญาติโยมมาที่วัดนี้จะเห็นว่ามีการขบฉันที่แปลกไปจากวัดอื่นๆ ที่วัดนี้อาหารคาวหวานจะใส่ไปในบาตร ฉันในบาตร ฉันเพียงมื้อเดียว  วัดนี้ไม่มีการฉันเพล มีแต่ฉันเช้าเท่านั้น  หลังจากเวลานี้ไปแล้วถ้าญาติโยมมาก็จะไม่มีพระรับประเคนอาหาร  

นี่คือพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับผู้ที่มีจิตศรัทธามาบวชในพระพุทธศาสนา  เป็นธุระหน้าที่ของผู้บวชจะพึงศึกษา พึงปฏิบัติ จุดมุ่งหมายของการบวชก็เพื่อความสุขความเจริญที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตใจสะอาดหมดจด สิ้นจากความโลภ โกรธ หลง  ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติกันมา  ท่านเหล่านี้เป็นบุคคลที่ได้บรรลุถึงจุดสูงสุดของชีวิต ของจิต ของธรรม  ได้ถึงความสุขความเจริญอย่างแท้จริง  เป็นผู้สร้างความศรัทธาเลื่อมใสให้กับบุคคลต่างๆ ที่ได้พบได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง แม้ชีวิตของท่านจะได้สิ้นไปแล้วถึง ๒๕๐๐ กว่าปีก็ตาม  แต่พระคุณของท่าน  กิตติศัพท์คุณงามความดีของท่าน ยังขจรขจายอยู่ในโลกนี้  ผู้ใดได้ยินได้ฟังก็อดที่จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาไม่ได้  ทำให้อยากบวช อยากปฏิบัติเหมือนกับท่านเหล่านั้น

จึงขอฝากธุระของนักบวชทั้ง ๒ อย่างคือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ให้กับท่านที่บวชในพระพุทธศาสนา  ขอให้ท่านจงตระหนักในหน้าที่ของท่านว่ามีอะไรบ้าง  แล้วปฏิบัติหน้าที่นั้นๆด้วย ศรัทธาความเชื่อ วิริยะความพากเพียร ขันตความอดทน สติ สมาธิ ปัญญา แล้วสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้