กัณฑ์ที่ ๕๗     ๘ เมษายน  ๒๕๔๔

วิรัติ

เป็นธรรมเนียมของพุทธศาสนิกชนที่จะเข้าวัดกันทุกๆวันพระ เพื่อประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา หนึ่งในศาสนกิจนี้คือการสมาทานศีล เป็นการตั้งใจว่าจะรักษากายและวาจาให้เป็นปกติ ให้อยู่ในขอบเขตของความดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การเป็นผู้มีศีลหมายถึงการเป็นผู้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ไม่เกิดโทษกับตนเอง กับผู้อื่น หรือทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น ถ้าการกระทำเป็นไปในลักษณะนี้แล้วถือว่าเป็นผู้มีศีลการที่จะรักษาหรือมีศีลต้องเกิดจากการวิรัติ  วิรัติหมายถึงการละเว้น  จากการกระทำบาปทางกายและทางวาจา  ดังที่ท่านทั้งหลายได้สมาทานศีลกันในวันนี้ มีการสมาทานศีลห้า ศีลแปด ศีลอุโบสถ ตามกำลังศรัทธาความเชื่อ วิริยะความอุตสาหะ ความพากเพียร สติปัญญา  ผู้ใดมีมากก็สามารถรักษาศีลได้มาก ผู้ใดมีน้อยก็รักษาศีลได้น้อย แต่ควรจะรักษากันทุกๆวัน  การรักษาศีลคือการละเว้นจากการกระทำบาป  เช่น ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ละเว้นจากการลักทรัพย์  ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี  ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ และละเว้นจากการเสพสุรายาเมา 

วิรัติหรือการละเว้นมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ . สมาทานวิรัติ คือการตั้งจิตตั้งใจไว้ล่วงหน้าก่อนว่าวันนี้เป็นวันพระ จะรักษาศีล จะละเว้นจากการประพฤติผิด ละเว้นจากการทำบาป จะกี่ข้อก็สุดแท้แต่ความตั้งใจของแต่ละบุคคล   . สัมปัตตวิรัติ  คือการละเว้นในเหตุการณ์เฉพาะหน้า  คือไม่ได้เป็นวันพระและก็ไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะรักษาศีล  แต่พอดีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่นมีคนมาชวนหรือมีเหตุการณ์ที่จะทำให้กระทำบาปขึ้นมา  แต่ได้สติพิจารณาเห็นว่าการกระทำนั้นๆ เป็นบาป เป็นสิ่งที่ไม่ดี คนดีย่อมไม่ทำ หรือมีคนมาชวนไปกินเหล้าเมายา หรือเดินไปพบของที่ถูกลืมไว้  ใจเกิดความอยากจะได้ของนั้นขึ้นมา  แต่มีสติระลึกได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เป็นบาปก็ตัดสินใจไม่กระทำ คือไม่ไปเสพสุรากับเพื่อนฝูงที่มาชักชวน  หรือไม่หยิบเอาของที่ถูกลืมไว้ทั้งๆที่ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นถ้าจะหยิบไป . สมุจเฉทวิรัติ เป็นการละเว้นโดยเด็ดขาด คือไม่ประพฤติผิดศีลเลยตลอดชีวิต ทุกขณะ ทุกเวลา  เป็นศีลของพระอริยบุคคลทั้งหลายตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป พระอริยบุคคลจะไม่ละเมิดศีลโดยเด็ดขาด เพราะละได้อย่างเด็ดขาด  ถ้าสามารถละได้อย่างพระอริยบุคคลแล้ว อานิสงส์ของการรักษาศีลก็จะได้รับครบ ๑๐๐ พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจะไม่ละเมิดศีลตั้งแต่ศีลห้าขึ้นไปอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม  อานิสงส์แห่งศีลคือ สีเลน สุคติง ยันติ ผู้มีศีลย่อมไปสู่สุคติ ย่อมสมบูรณ์ครบ ๑๐๐ คือจะไม่ไปเกิดในอบายอย่างแน่นอน เพราะได้ปิดประตูอบายแล้วด้วยสมุจเฉทวิรัติ เมื่อตายไปแล้วจะไม่ไปเกิดในอบาย ไม่ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์นรก แต่จะไปสู่สุคติ ไปเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม อริยบุคคล

นี่คืออานิสงส์ของการรักษาศีล  ถ้ารักษาศีลได้มาก โอกาสที่จะไปเกิดในที่ดีก็มีมาก  ถ้ารักษาศีลได้น้อย โอกาสที่จะไปเกิดที่ดีก็มีน้อย  เหมือนกับการซื้อล็อตเตอรี่  ถ้าซื้อใบเดียวโอกาสจะถูกก็มีน้อย  ถ้าซื้อ ๑๐ ใบ โอกาสที่จะถูกก็มีมากขึ้น  ถ้าซื้อ ๑๐๐ ใบ ซื้อ ๑๐๐๐ ใบ โอกาสที่จะถูกก็ยิ่งมีมากขึ้นฉันใด  การรักษาศีลก็เช่นกัน  ถ้ารักษาศีลแค่อาทิตย์ละวันโอกาสที่จะไปเกิดที่ดี จะสู้รักษาศีลอาทิตย์ละสองวัน หรือสามวัน สี่วัน หรือห้าวันไม่ได้ ยิ่งรักษาศีลมากเท่าไรโอกาสที่จะไปเกิดในอบายก็มีน้อยเท่านั้น  ถ้ารักษาศีลน้อยโอกาสที่จะไปเกิดในอบายก็มีมาก

ถ้าปรารถนาที่จะมีความสุขทั้งในปัจจุบัน และเมื่อตายไปก็จะไปสู่สวรรค์หรือได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ต้องรักษาศีลให้มาก เพราะว่าอานิสงส์ของศีลอีกข้อหนึ่งนั้นแสดงว่า  สีเลน นิพพุติง ยันติ ศีลเป็นเครื่องดับทุกข์ในใจ ผู้ที่ไม่ได้กระทำบาปย่อมไม่มีความกังวลเกี่ยวกับผลของการกระทำบาปที่จะตามมา  ถ้าไม่ได้ทำผิดแล้วจะไม่มีความกังวลใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ  ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาจับผิด ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาจับเข้าคุกเข้าตะราง จะไม่กลัวเพราะไม่ได้กระทำความผิดนั่นเอง  เมื่อไม่ได้กระทำความผิด  ความทุกข์ใจที่เกิดจากการกระทำผิดก็จะไม่มี ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่กระทำบาป กระทำความผิดไปแล้ว  ย่อมเป็นเหมือนวัวสันหลังหวะ  ย่อมมีความหวาดวิตก มีความหวาดกลัว เวลาไปเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เกิดความกลัวขึ้นมา  กลัวว่าตำรวจจะมาจับ ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รู้ว่าทำผิดอะไรมา ยังไม่มีการจับอะไรเลย  เพียงแต่เดินไปเจอกันเข้า หรือเดินสวนทางกัน  ในใจก็เกิดความกลัวขึ้นมาแล้ว  ถ้าไม่ได้ทำความผิดเวลาเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่รู้สึกอะไร ใจก็สบายๆ ใจเย็น ใจเป็นสุข  ถ้าไม่อยากมีความทุกข์ใจก็ต้องรักษาศีล

พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็นอานิสงส์ของการรักษาศีลจึงนำมาสั่งสอนพวกเรา เพราะเห็นว่าพวกเรายังไม่รู้ไม่เห็น ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเพราะไม่เห็นอดีตชาติ  ไม่เห็นภพหน้าชาติหน้า เห็นแต่ภพนี้ภพเดียว  ก็เลยปฏิเสธพระพุทธเจ้าว่าตายแล้วสูญ คือตายไปแล้ว บาปบุญที่ทำไปแล้วไม่มีผลตามมา  นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นสิ่งที่มีว่าไม่มี จึงเห็นว่าภพหน้า ชาติหน้าไม่มี  เห็นว่าชาติก่อนๆไม่มี  เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว รู้ว่าพวกเรายังไม่รู้ไม่เห็น จึงประกาศสั่งสอนพระธรรมเพื่อให้พวกเราได้รู้ได้เห็นกัน

ในเบื้องต้นเมื่อยังไม่รู้ไม่เห็น  จึงต้องมีศรัทธาคือความเชื่อ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่พูดจริง ไม่เคยโกหกใคร ไม่หวังประโยชน์จากการสั่งสอนธรรมะ  พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรมะด้วยพระกรุณา ความสงสาร ทรงเห็นสัตว์โลกทั้งหลายยังอยู่ในกองเพลิงของความทุกข์ ของการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นี้ไปได้  ถ้าไม่มีคนอย่างพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน เมื่อเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว ก็จะประพฤติปฏิบัติตาม และเมื่อได้ประพฤติปฏิบัติตามแล้ว  สิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงรู้ทรงเห็นก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็น

เหมือนกับมีคนมาบอกทางให้ไปยังที่ๆหนึ่งที่ยังไม่เคยไป  เช่นฐานทัพเรือสัตหีบ  ถ้าเชื่ออย่างน้อยก็จะได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดจริงเท็จประการใด ถ้าสิ่งที่เขาบอกเป็นความจริง  ก็ต้องไปถึงฐานทัพเรือสัตหีบ  ถ้าไปไม่ถึงฐานทัพเรือสัตหีบ  แสดงว่าพูดไม่จริง ฉันใดสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ยังไม่เห็น  เราจึงต้องพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม เช่นรักษาศีล แล้วจะรู้ว่าชีวิตของเราจะดีขึ้นหรือเลวลง  เมื่อรู้แล้วก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสเท็จจริงอย่างไร

จึงขอให้เชื่อเรื่องกรรม  เชื่อว่าเราเคยทำกรรมไว้ในอดีต และกรรมนี้ได้ส่งผลให้เราเป็นอยู่ในขณะนี้  สัตว์โลกทั้งหลายมีความแตกต่างกัน ฐานะไม่เท่ากัน เป็นเพราะว่าบุญกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาตินั้นไม่เท่ากัน  แต่เรายังสามารถสร้างความดีในปัจจุบัน เพื่อผลดีที่จะตามมาในอนาคต ในภพหน้าชาติหน้าต่อไปได้ จึงขอให้อย่าประมาทในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ขอให้น้อมเข้ามาด้วยศรัทธา แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ พิสูจน์กับตัวเราเองว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น จริงหรือไม่จริงอย่างไร การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้