กัณฑ์ที่ ๕๙    ๑๖ เมษายน ๒๕๔๔

สติปัฏฐาน ๔

 

ตามหลักของพระพุทธศาสนาเรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  คนเรามีส่วนประกอบสำคัญๆอยู่ ๒ ส่วน  คือกายกับใจ  ระหว่างกายกับใจ ใจมีความสำคัญยิ่งกว่ากาย เพราะ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้เพราะใจ  การกระทำต่างๆจะต้องมีใจเป็นผู้สั่งการก่อน  ถึงจะเกิดการกระทำได้ อย่างวันนี้ญาติโยมมาวัดได้ก็ต้องมีใจเป็นผู้สั่งการก่อน  ใจจะต้องคิดก่อนว่าวันนี้จะมาวัด แล้วจึงนำสังขารร่างกายนี้มาสู่ที่วัดนี้ได้  ทุกสิ่งทุกอย่างเลยขึ้นอยู่ที่ใจเป็นหลัก  ถ้าใจไม่สั่งการแล้วร่างกายก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ใจจึงเป็นประธาน มีความสำคัญอย่างยิ่ง ชาวพุทธจึงควรให้ความสำคัญ  ดูแลรักษาบำรุงใจให้เป็นไปในทิศทางที่ดีที่งาม  เพราะใจที่ได้รับการอบรมที่ดีแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความสุข  นำมาซึ่งประโยชน์อันใหญ่หลวง    ไม่มีอะไรจะประเสริฐเท่ากับใจที่ได้รับการ อบรมที่ดีแล้ว  และก็ไม่มีอะไรจะเลวร้ายเท่ากับใจที่ไม่ได้รับการอบรม ใจที่ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ได้รับการอบรมจะเป็นใจที่จะสร้างแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น พุทธศาสนิกชนจึงควรให้ความสนใจแก่จิตใจมากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมดในโลกนี้ เพราะว่าความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ใจเป็นผู้สร้างขึ้นมา  ใจจะสร้างความสุขได้ใจต้องฉลาด  ถ้าใจไม่ฉลาด  มีแต่ความโง่เขลาเบาปัญญา มีแต่ความหลงหุ้มห่อ ใจย่อมสร้างแต่ความทุกข์  ความเดือดร้อนให้กับตนและผู้อื่น 

ศาสนาพุทธจึงสอนพุทธศาสนิกชนทุกๆคน ให้พยายามอบรมพัฒนาจิตใจให้ดีงาม  จิตใจจะดีจะงามได้ต้องมีสติปัญญา  พระพุทธองค์จึงสอนให้ชาวพุทธเจริญสติปัญญาอย่างสม่ำเสมอ  ตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ โดยให้ตั้งสติไว้ที่ธรรม ๔ ประการด้วยกัน  คือ   . กาย    . เวทนา     . จิต   . ธรรม เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔  คือการกำหนดจิตให้รู้อยู่ในธรรม ๔  ประการนี้  คือให้รู้เรื่องกาย  รู้เรื่องเวทนา  รู้เรื่องจิต และรู้เรื่องธรรม  ถ้ารู้เรื่องทั้ง ๔ อย่างนี้แล้วจิตจะเป็นจิตที่มีความฉลาดเป็นจิตที่นำมาแต่ความสุขความเจริญโดยถ่ายเดียว  เพราะว่าธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เป็นสภาวธรรมที่จิตจะต้องสัมผัสอยู่ตลอดเวลา 

เวลามีโมหะความหลง มีอวิชชาความไม่รู้ ครอบงำ จิตจะไม่รู้วิธีที่จะปฏิบัติกับธรรมทั้ง ๔ นี้ให้ถูกต้อง แต่กลับปฏิบัติผิดๆ  ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ผู้ที่ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ จะมีแต่ความทุกข์กับกาย กับเวทนา  กับจิต กับธรรม แต่ถ้าได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติตามแนวแห่งสติปัฏฐาน ๔ แล้ว จะเกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา เมื่อมีสติมีปัญญาแล้ว  ก็ถือได้ว่าได้อบรมจิตใจแล้ว ทำให้จิตใจกระทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม สร้างแต่ความสุขความเจริญให้กับตนและผู้อื่น จึงควรให้ความสนใจกับการศึกษาและปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ สติ แปลว่าการระลึกรู้  คือให้รู้อยู่กับ กาย เวทนา  จิต ธรรม

. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การรู้กายในเบื้องต้นให้รู้ที่ลมหายใจเข้าออก  ลมหายใจนี้เป็นส่วนหนึ่งของกาย ให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก  โดยหาที่สงบมุมสงัดที่ไหนสักแห่งหนึ่งในป่าในเขาก็ได้  หรือในห้องที่เงียบสงัด  ไม่มีใครรบกวน  แล้วนั่งขัดสมาธิตั้งสติอยู่เฉพาะหน้า  ให้รู้ลมหายใจเข้าออก  ดูลมเข้า ดูลมออก  ไม่ต้องบังคับลม ให้รู้ตามความเป็นจริงของลมว่าเป็นอย่างไร  หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า  หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก  หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น ลมหยาบก็รู้ว่าหยาบ ลมละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ให้มีแต่สติรู้อยู่กับลมอย่างเดียว  อย่าปล่อยให้จิตไปคิดถึงเรื่องอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดี เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ดี  เรื่องใกล้เรื่องไกลก็อย่าไปสนใจ ให้มีสติอยู่กับลมหายใจอย่างเดียวให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก

ถ้ารู้ตามลมได้อย่างต่อเนื่อง  ลมนี้ก็จะพาจิตเข้าสู่ความสงบ  เข้าสู่ความนิ่ง  เมื่อจิตเข้าสู่ความนิ่งแล้วก็ถือว่าจิตได้รวมเข้าสู่สมาธิ  เมื่อจิตมีสมาธิ  จิตก็จะเป็นจิตที่มีความสุขมีความอิ่ม มีความพอ เป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขต่างๆ ที่เคยประสบพบเห็นมา นี่เป็นประการแรก  คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการที่ตั้งสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก  ลมหายใจเข้าออกนี้เรียกว่าอานาปานะ  การมีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกจึงเรียกว่าอานาปานสติ  พยายามเจริญอานาปานสติอยู่เรื่อยๆ ให้มากๆ  จนกระทั่งจิตมีความสงบนิ่ง  เมื่อจิตมีความสงบแล้ว  จะไม่หิวกับสิ่งต่างๆภายนอก ไม่ว่าลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุข ไม่ว่ารูป เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ เครื่องสัมผัสต่างๆ  สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายสำหรับจิตที่มีความสงบ  เพราะจิตที่มีความสงบ มีความอิ่ม  มีความพอ  นี่คือสิ่งที่วิเศษที่แท้จริง  เป็นความสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวเรา  แต่นี่เป็นเพียงความสุขขั้นเริ่มต้นเท่านั้นเอง

ยังมีความสุขที่เหนือกว่าความสุขของการทำจิตให้สงบ  นั่นก็คือการทำจิตให้เกิดปัญญา  เกิดความฉลาด  เป็นภารกิจที่จะต้องกระทำต่อ หลังจากที่ได้ทำจิตให้สงบแล้ว  เช่นหลังจากที่ออกจากสมาธิแล้วจะลุกขึ้น  ก็ให้กำหนดดูร่างกายต่อไป ให้ดูอิริยาบถ ๔  เช่นขณะที่กำลังจะลุกขึ้น  ก็ให้มีสติรู้อยู่ว่ากำลังจะลุกขึ้น  เมื่อลุกขึ้นยืนแล้วก็ให้รู้ว่ากำลังยืนอยู่  เมื่อเดินไปก็ให้รู้ว่ากำลังเดินไป เมื่อนอน เมื่อนั่ง  ก็ให้รู้ว่ากำลังนอน  กำลังนั่ง  คือให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของอิริยาบถทั้ง ๔ ทำความเข้าใจว่าอิริยาบถ ๔ นี้เป็นของไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง เป็น อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา 

แล้วก็ให้ดูการเคลื่อนไหวของกายในการกระทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะกระทำอะไร  จะเดินไปซื้อข้าวซื้อของ  จะอาบน้ำอาบท่า  จะรับประทานอาหาร  จะทำอะไรก็ตามกับร่างกายนี้  ให้มีสติรู้อยู่กับการกระทำของร่างกายนี้ นอกจากนั้นแล้วก็ให้รู้ถึงอาการ ๓๒ ของร่างกาย ให้รู้ว่าร่างกายนี้มี ผม  มีขน  มีเล็บ  มีฟัน  มีหนังเป็นต้น  แล้วก็ให้พิจารณาเห็นสภาพของร่างกายนี้  ว่าเป็นอสุภไม่สวยงาม เป็นปฏิกูลสกปรก ของไม่เที่ยง  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว  ตั้งอยู่แล้วก็ต้องดับไป  คือมีการเกิด  มีการแก่  มีการเจ็บ และ มีการตาย  เมื่อตายไปแล้วองค์ประกอบต่างๆของร่างกาย  ก็แยกกลับไปสู่ธาตุเดิม  คือน้ำก็กลับไปสู่น้ำ  ลมก็กลับไปสู่ลม  ดินก็กลับไปสู่ดิน  ไฟก็กลับไปสู่ไฟ  ร่างกายที่มีอาการ ๓๒ ในที่สุดก็หายไปหมดไม่มีอะไรเหลืออยู่

นี่คือการศึกษา สร้างปัญญา สร้างความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างกายนี้    ให้เข้าใจว่าร่างกายนี้เป็น  อสุภ ปฏิกูล อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่อยู่กับเราตลอดไป สักวันหนึ่งก็ต้องจากไป ไม่ว่าร่างกายของเราก็ดี หรือร่างกายของผู้อื่นก็ดี ถ้าทำความเข้าใจอยู่กับร่างกายอย่างนี้ตลอดเวลาแล้ว  จิตจะคลายความกำหนัดยินดี  จะคลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ว่าสวย ว่างาม  ว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา  ว่าจะอยู่กับเราไปตลอด  ความเห็นอย่างนี้จะถูกทำลายไป จะเหลืออยู่แต่การปล่อยวาง พร้อมที่จะปล่อยร่างกายนี้ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากกัน  ก็พร้อมให้เกิดขึ้นโดยไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะว่ามีปัญญา มีสตินั่นเอง

นี่คือการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของร่างกาย ทำความเข้าใจให้เด่นชัดว่า ร่างกายนี้เป็นอย่างไร  จะอยู่ไปตลอดหรือไม่  เป็นสุขหรือเป็นทุกข์  เป็นตัวตนหรือไม่เป็นตัวตน  ถ้าพิจารณาตามแนวทางที่ได้แสดงไว้แล้ว  จะเห็นว่าเป็น อสุภ ปฏิกูล อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา เมื่อเห็นแล้วว่าเป็น อสุภ ปฏิกูล อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะปล่อยวางร่างกาย เมื่อปล่อยวางแล้ว  จิตก็จะมีแต่ความสงบ  มีแต่ความสุข ไม่ว่าร่างกายนี้จะเป็นอย่างไร  จะแก่  จะเจ็บ จะตาย จิตก็ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์  นี่คือการตั้งสติอยู่กับกาย

. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน   การตั้งสติอยู่กับเวทนา  เวทนาคือความรู้สึกทางกายและทางใจ  สุข  ทุกข์  ไม่สุข  ไม่ทุกข์   เวทนามีอยู่ทั้งในร่างกายและใจ มีอยู่ตลอดเวลา  แต่เราจะไม่ค่อยรู้จักวิธีปฏิบัติกับเวทนาเหล่านี้  เวลาเกิดสุขเวทนาเราก็จะมีความดีอกดีใจ  มีความสุข  อยากจะให้สุขเวทนานั้นอยู่กับเราไปนานๆ  เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาก็เกิดความรังเกียจ  อยากจะให้เวทนานี้หายไป  หมดไปเร็วๆ  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว  ใจก็จะมีแต่ความทุกข์  ความทุกข์ที่เกิดจากความอยาก  อยากให้อยู่หรืออยากให้ไปนั่นเอง  แต่เวทนาทั้ง ๓ นี้  ไม่ว่าทุกข์ก็ดี  สุขก็ดี  หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เป็นสภาวธรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามความอยากของเรา  และไม่หมดไปตามความอยากของเรา  มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เวทนาเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

หน้าที่ของเราคือให้มีสติรู้อยู่กับเวทนาเหล่านี้  แล้วปล่อยวางตามความเป็นจริง  คือรู้ว่ามีเวทนาเกิดขึ้นแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเวทนาสุขก็ดี  ทุกข์ก็ดี หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่า  เกิดขึ้นแล้ว  แต่ก็รู้อยู่ว่าไม่เที่ยง  เดี๋ยวก็ดับไป  เวลาดีใจ เวลาเกิดความสุขใจก็ไม่ต้องไปดีใจกับสุขเวทนา  เวลาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  หรือทุกข์กายขึ้นมา ก็ไม่ต้องไปเสียใจกับทุกขเวทนา ไม่ต้องรังเกียจ  ทำความเข้าใจว่าเวทนาเหล่านี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เหมือนในขณะนี้ญาติโยมนั่งอยู่ก็มีเวทนาอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อก่อนนี้ก่อนที่จะมาวัดก็มีเวทนาอีกอย่างหนึ่ง  หลังจากที่ออกจากวัดนี้ไป  ก็จะมีเวทนาอีกอย่างหนึ่ง  หมุนไปเวียนมา ผ่านไปผ่านมา  ถ้าเข้าใจในธรรมชาติของเวทนาแล้ว   ก็จะไม่ไปยึดไปติด  คือปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริงของเวทนา  ใจก็จะไม่ทุกข์กับเวทนา เหมือนกับร่างกาย  ใจก็ไม่ทุกข์กับร่างกาย เวทนาใจก็ไม่ทุกข์กับเวทนา ใจรับได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเวทนาแบบไหน จะสุขก็ได้ทุกข์ก็ได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ได้

นี่คือการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติให้รู้อยู่กับเวทนาแล้วใช้ปัญญาเข้าไปปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด เวลาเกิดเวทนาความรู้สึกอย่างไรก็ตาม  ก็รับรู้ตามความเป็นจริง  เวลาเกิดอาการปวดท้องก็รู้ว่าปวดท้อง  แต่ไม่ต้องไปปวดใจตามไปด้วย  รู้ว่าการปวดท้องก็ไม่เป็นสิ่งที่จีรังถาวรยั่งยืน  เดี๋ยวก็หมดไป  หรือเวลากินข้าวอิ่ม  ก็รู้ว่านี่เป็นความสุข  เป็นสุขเวทนาที่เกิดจากความอิ่ม จากการได้รับประทานอาหาร แต่ความอิ่มก็เป็นของชั่วคราว เดี๋ยวก็หมดไป เดี๋ยวก็หิวอีก ต้องรู้เวทนาเหล่านี้  รู้แล้วปล่อยวาง  ปล่อยวางแล้วใจจะไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง ใจจะวางเฉยได้ นั่งอยู่เฉยๆได้  เวลาหิวก็ไม่บ่น  ไม่ร้อง  เวลาอิ่มก็ไม่เกิดอาการดีอกดีใจ รู้ตามสภาพความเป็นจริงแล้วปล่อยวาง  ใจก็จะไม่ทุกข์กับเวทนาเหล่านี้  ใจจะมีแต่ความสบาย

. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติอยู่ที่จิต  คือรู้อารมณ์ของจิต  จิตมีอารมณ์ที่แปรปรวน มีทั้งผ่องแผ้ว มีทั้งเศร้าหมอง มี ราคะ โทสะ โมหะ หรือปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ   เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นสลับกันในจิต  ต้องรู้ทันอารมณ์เหล่านี้ อย่าไปหลงตาม  เวลาเกิดความโลภก็อย่าไปโลภตาม  เวลาเกิดความโกรธ  ก็อย่าไปโกรธตาม  เวลาเกิดความหลงก็อย่าไปหลงตาม ทำใจให้เฉยๆไว้   ให้รู้ว่าความโลภเกิดขึ้นมา  เดี๋ยวก็ดับไป  ความโกรธเกิดขึ้นมา เดี๋ยวก็ดับไป    ความหลงเกิดขึ้นมา   เดี๋ยวก็ดับไป  เป็น อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา    เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ เป็นสักแต่ว่าอารมณ์ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา  ให้รู้ตามความเป็นจริง  ไม่ต้องโลภตาม  ไม่ต้องโกรธตาม  ไม่ต้องหลงตาม  เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา  ก็แยกใจคือผู้รู้ออกจากความโกรธ รู้ว่าความโกรธนี้เป็นเหมือนกับอาคันตุกะเป็นผู้ที่มาเยี่ยมจิต  ใจไม่ต้องไปโกรธตาม  ไม่ใช่เวลาพอเกิดความโกรธปั๊บก็โกรธตาม  แล้วก็ไปแสดงอาการไม่ดีออกมา  ทางกายทางวาจา  เช่นไปด่าผู้อื่น  ไปว่าผู้อื่น  ไปทุบตีผู้อื่น  เป็นการไม่มีสติไม่มีปัญญา ถ้ามีสติมีปัญญาแล้ว  จะแยกใจออกจากความโกรธ  เมื่อเกิดความโกรธก็กำหนดรู้ว่าโกรธ  แล้วก็นิ่งเฉยเสีย รู้ว่าความโกรธนี้เกิดขึ้นมาเดี๋ยวก็ดับไป อย่าหลงไปโกรธตาม 

ถ้าต้องการอะไรก็อย่าไปตามอารมณ์ความอยาก  ต้องการอะไรให้ใช้เหตุใช้ผล  เช่นเห็นเสื้อผ้าในร้าน  อยากจะได้ ต้องถามตัวเองว่านี่เป็นความโลภ  หรือเป็นความจำเป็น  ถ้าเป็นความโลภก็คืออยากได้โดยไม่มีเหตุไม่มีผล  ทั้งๆที่เสื้อผ้ามีอยู่เหลือเฟือพอใช้อยู่  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความโลภ  เป็นอารมณ์  แต่ถ้าเป็นเหตุเป็นผลก็ต้องเป็นเพราะว่าเสื้อผ้าไม่พอใส่แล้ว  ของเก่าขาดหมดแล้ว  จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ อย่างนี้ถึงจะเป็นเหตุผล เป็นปัญญา จึงต้องรู้จักแยกแยะความต้องการ  ว่าเป็นอารมณ์  หรือเป็นเหตุเป็นผล ถ้าเป็นเหตุเป็นผลก็ไม่เป็นอะไร  เพราะมีความจำเป็น  อย่างเวลารับประทานอาหาร  เวลาหิวข้าวก็ต้องกินข้าว  แต่กินสักกี่มื้อถึงจะพอ  บางคนกินข้าวมื้อเดียวก็อยู่ได้  บางคนวันหนึ่งต้องกิน ๔ ถึง ๕ มื้อถึงจะอยู่ได้  ถ้ากินเกินความจำเป็นก็เป็นอารมณ์  แสดงว่าไม่สามารถแยกอารมณ์อยากออกจากใจได้  แต่ถ้าฝึกใช้สติ  แยกอารมณ์ออกจากใจได้แล้ว  ต่อไปเวลาต้องการอะไร จะใช้เหตุใช้ผลจะไม่ใช้อารมณ์ เพราะรู้ว่าอารมณ์เป็นของไม่เที่ยง  เป็นของหลอก เป็นของปลอม ถ้าหลงตามอารมณ์แล้ว  จะเป็นทาสของอารมณ์ตลอดไป นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การศึกษาหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ของจิต ซึ่งแปรปรวนอยู่เสมอ  อย่าหลงตามอารมณ์เหล่านี้ รู้แล้วปล่อยวาง แล้วใจจะสบาย ใจจะไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน  ใจก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งไปตามอารมณ์นั้นๆ จึงมีแต่ความทุกข์ตามมา 

. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติอยู่ที่ธรรม ธรรมก็คือสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ไม่ว่าเรื่องการทำบุญให้ทานก็ดี  เรื่องการรักษาศีลก็ดี  เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ดี  เป็นสิ่งที่ควรใฝ่ใจอยู่เสมอ ให้จิตใจคิดแต่เรื่องเหล่านี้  ให้คิดถึงการรักษาศีล  ว่าวันนี้เป็นวันพระแล้วนะ  เป็นวันที่จะต้องรักษาศีลกัน  ถึงแม้จะไม่อยากก็ต้องรักษาศีล เพราะศีลเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์กับใจ  พยายามน้อมจิตใจเข้าหาธรรมอยู่เสมอๆ แล้วธรรมจะนำพาไปสู่ความสุขความเจริญต่อไป

นี่คือเรื่องของการพัฒนาจิตใจ หรือทำนุบำรุงจิตใจ อบรมจิตใจ ให้เป็นจิตใจที่ดีที่งาม  ถ้าจิตใจตั้งอยู่ในสติปัฏฐาน ๔   คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้ว  จะมีสิ่งที่ดีที่งามคอยดูแลจิตใจ  ปกป้องคุ้มครองจิตใจ ให้เป็นจิตใจที่ดีที่งาม  คิดแต่สิ่งที่ดีที่งาม  ไม่คิดในเรื่องที่ไม่ดีไม่งาม  เมื่อคิดแต่สิ่งที่ดีที่งามแล้ว จิตใจจะมีแต่ความสุข ความเจริญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่งามก็จะตามมา นี่คือเรื่องของการดูแลจิตใจ  พัฒนาจิตใจให้อยู่ในทำนองครองธรรม ให้จิตใจเป็นจิตใจที่ดี  เป็นจิตใจที่ประเสริฐ เหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้า  และพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย

จึงขอสรุปว่าความสุขก็ดี  ความทุกข์ก็ดี ความเจริญก็ดี  ความเสื่อมก็ดี ไม่ได้อยู่ที่ใคร  อยู่ที่ใจเท่านั้น  ถ้าใจคิดแต่สิ่งที่ดี  ความสุขความเจริญย่อมตามมา  แต่ถ้าใจคิดแต่สิ่งชั่วร้าย  ก็จะมีแต่สิ่งที่ไม่ดี  คือความทุกข์ความหายนะตามมา ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญที่แท้จริง ก็ต้องพัฒนาจิตใจ ทำนุบำรุงอบรมจิตใจให้คิดดีด้วยสติปัฏฐาน ๔  ให้มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่จะนำพาจิตใจไปสู่การกระทำที่ดีงาม ที่สุข ที่เจริญ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้