กัณฑ์ที่ ๖๐      ๒๑ เมษายน ๒๕๔๔

โลกธรรม ๘

 

พระพุทธองค์ทรงแสดงว่ามนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ทุกๆคนล้วนมีปัญหา เพราะเกิดมาแล้วก็ต้องมีความทุกข์ด้วยกันทุกๆคน  ไม่มีใครที่เกิดมาในโลกนี้จะไม่มีความทุกข์เลยแม้แต่คนเดียว  เมื่อเกิดมาแล้วจึงต้องยอมรับความจริงว่าการเกิดเป็นความทุกข์  เมื่อยอมรับความจริงว่าการเกิดเป็นทุกข์  ก็จะเริ่มพาไปสู่การแก้ไขปัญหานี้  แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีความทุกข์ก็จะไม่มีการแก้ไข เหมือนกับคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ไม่ยอมรับหรือไม่รู้ว่าเจ็บไข้ได้ป่วย จึงไม่ไปหาหมอ หายามารักษา แล้วก็ปล่อยไว้  ในที่สุดก็จะต้องตายไป  แต่ถ้าไปหาหมอ หายามารักษา ย่อมมีโอกาสที่จะหายได้

ฉันใดชีวิตของคนเราก็เหมือนกัน คืออยู่บนกองทุกข์  ถ้ายอมรับสภาพนี้แล้วจะได้ศึกษาหาสาเหตุว่าความทุกข์นี้มาจากไหน  อะไรเป็นเหตุของความทุกข์ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า เหตุของความทุกข์อยู่ภายในจิตใจ ไม่ได้อยู่ภายนอก  ภายนอกเป็นแต่เพียงชนวนของทุกข์เท่านั้นเอง  แต่ต้นเหตุของความทุกข์นั้นอยู่ในใจ ได้แก่กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ถ้าใจมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจก็จะมีความทุกข์ แล้วทำอย่างไรถึงจะไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า ต้องทำบุญ ทำทาน รักษาศีล และชำระจิตใจ เพื่อเอาความโลภ ความโกรธ ความหลงให้ออกไปจากจิตใจ  เพราะว่าบุญกุศล เช่นการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญจิตตภาวนาเป็นเหมือนน้ำดับไฟ  ไฟอยู่ในจิตใจ  เกิดจากความโลภ เกิดจากความโกรธ เกิดจากความหลง  เวลาเกิดความโลภขึ้นมานี่ใจจะร้อนวูบขึ้นมา  เวลามีความโกรธใจจะร้อนวูบขึ้นมา  เวลามีความหลงใจจะร้อนวูบขึ้นมา ใจจะอยู่ไม่เป็นสุข ดิ้นรนกวัดแกว่ง  แต่การแก้ปัญหาของใจมักจะแก้ในทางที่ผิด คือมักจะไปแก้ที่ภายนอก  เช่นเจอสิ่งใดที่ไม่ชอบ ก็พยายามไปแก้ที่สิ่งนั้น  ใครไม่ดีกับเรา ก็พยายามไปแก้ไขบุคคลนั้น  เช่นไปขอร้องให้เขาดีกับเรา  ถ้าเขาไม่ยอมทำตาม ก็ไปบังคับหรือถึงกับกำจัดบุคคลนั้นไปก็เป็นได้  นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

ปัญหาของเราอยู่ที่ใจเรา  เกิดจากการไม่ละความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง  ถ้าไปเจอคนที่สร้างความไม่สบายใจให้กับเรา  ต้องรู้จักวางเฉย  ต้องรู้จักปล่อยวาง ยอมรับสภาพความจริงว่าของภายนอกไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะไปแก้ไขได้ หรือทำให้มันเป็นไปตามความปรารถนา ความต้องการของใจเราได้เสมอไป  แต่สิ่งที่แก้ไขได้ก็คือข้างในใจของเรา  เราตัดความโลภได้ ตัดความโกรธได้ ตัดความหลงได้  ถ้าตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว  สิ่งภายนอกจะเป็นอย่างไรก็จะไม่กระทบกับใจของเรา  อย่างใจของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นใจที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ คือได้ชำระแล้วซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสกับใจของท่าน ก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อใจของท่าน  เปรียบเหมือนน้ำบนใบบัวที่กลิ้งไปกลิ้งมาแต่ไม่ซึมซับ ไม่เหมือนใจของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน  เป็นเหมือนกับกระดาษซับกระดาษซึม  เวลาเทน้ำลงไปบนกระดาษก็จะซึมซับไปหมด  กลายเป็นเนื้อเดียวกัน

แต่กับใจของพระพุทธเจ้า กับใจของพระอรหันต์  ถึงแม้จะสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ  แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่ซึมซาบเข้าไปในใจของท่าน  เพราะเป็นใจที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่จะดึงดูดสิ่งเหล่านี้ให้เข้ามาในใจท่านนั่นเอง เห็นอะไรก็รับรู้ไว้แล้วก็ปล่อยวาง จะดีหรือชั่วก็ไม่วิพากษ์ไม่วิจารณ์ ไม่ไปแก้ไขไม่ไปดัดแปลง ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของเขา เพราะผู้ไม่หลงแล้วย่อมรู้เท่าทันตามสภาพความเป็นจริงว่า โลกนี้เป็นอย่างนี้แหละ  มันเป็นมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด และก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปหลังจากเราตายไปแล้ว  เป็นเรื่องของโลกธรรม ๘  คือการเจริญและการเสื่อมของ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข มีลาภก็ต้องเสื่อมลาภ  มียศก็ต้องเสื่อมยศ  มีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา  มีสุขก็ต้องมีทุกข์ คู่กันไป ธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์  มีมาก่อนเราเกิดและจะมีต่อไปหลังจากเราตายไปแล้ว เป็นสิ่งที่เราไปจัดการไม่ได้  ไปแก้ไขไม่ได้ 

แต่สิ่งที่เราจะจัดการได้ แก้ไขได้ก็คือจิตใจของเรา  เราต้องจัดการกับตัวที่ไปยุ่ง ไปวุ่นวาย กับโลกธรรม ๘ นี้ คือกิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลงนั่นเอง  ถ้าประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะสามารถกำจัดได้  ความหลงนี้เป็นความมืดบอด เวลาอยู่ในที่มืดจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร  จิตใจที่มืดบอดก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี  อะไรเป็นสิ่งที่เป็นคุณ อะไรเป็นสิ่งที่เป็นโทษ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรเป็นเหตุของความทุกข์ อะไรเป็นเหตุของความสุข  อะไรเป็นสิ่งที่จัดการได้ อะไรเป็นสิ่งที่จัดการไม่ได้

การที่จะมีปัญญาเพื่อแยกแยะสิ่งเหล่านื้ได้ ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสมาธิ เป็นเบื้องต้น  ทำจิตสงบก่อน  เมื่อสงบแล้วจิตจะเป็นจิตที่พร้อมจะรับเหตุรับผล  แต่ถ้าจิตยังมีอารมณ์ต่างๆเข้ามาก่อกวนอยู่ ก็จะไม่สามารถรับเหตุรับผลได้  สังเกตดูเวลามีความโกรธ จะพูดจะจาอะไรก็จะไม่ยอมเข้าใจ  แต่ถ้าหายโกรธแล้ว พูดกันก็พอจะยอมรับฟังกันได้ด้วยเหตุด้วยผล  เพราะว่าขณะที่มีความโกรธ จะไม่ยอมรับฟังอะไรทั้งสิ้น จะเอาแต่ใจตัวเอง ถึงแม้จะมีใครมาพูดอย่างไร บอกอย่างไร อธิบายอย่างไรในขณะที่มีความโกรธ ก็จะไม่ยอมรับเหตุรับผล ไม่ยอมรับความเป็นจริง  แต่ขณะที่ความโกรธหายไปแล้ว พูดกันอีกที อธิบายด้วยเหตุด้วยผลก็สามารถรับฟังได้  เพราะว่าขณะนั้นจิตไม่มีอคติ จิตไม่มีความโกรธมาขวางกั้น จึงทำให้จิตรับฟังเหตุผลได้นั่นเอง

การที่จะสอนจิตให้รู้จักเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์   เรื่องสภาวะความเป็นจริงในโลกนี้ว่าเป็นไตรลักษณ์    คือเป็น     อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเตรียมจิตให้สงบเสียก่อน  เมื่อจิตสงบแล้วจึงค่อยสอนจิตเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  สอนจิตว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา จิตจะรับได้เพราะรู้ว่าเป็นความจริง  ถ้ารับความจริงได้ก็ปลงได้  ถ้าปลงได้ก็ปล่อยวางได้ คือปล่อยวางร่างกายนี้  ถือว่าร่างกายนี้เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่มีใครอยู่เหนือความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนกัน  แต่ท่านตายแบบมีความสุข  ตายด้วยการปล่อยวาง ด้วยการไม่ยึดไม่ติด  เพราะร่างกายนี้ไม่ใช่ของๆเราไม่ใช่ตัวเรา

สังเกตดูซิ สิ่งไหนที่เราไม่ไปยึดไปครองว่าเป็นเราเป็นของๆเรา  เราจะไม่มีความทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น  อย่างบ้านคนอื่นเราไม่รัก เราไม่ห่วง  เวลาไฟไหม้บ้านคนอื่นเราก็ไม่ทุกข์ใจ  แต่เวลาไฟไหม้บ้านเรา เรากลับทุกข์ใจ  ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราไปยึดไปติดว่าบ้านนี้เป็นของๆเรา  แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเรามองว่าบ้านนี้ไม่ใช่บ้านของเรา เป็นเพียงแต่ที่ที่เราอาศัยอยู่  ยืมเขามา เช่าเขาอยู่  เวลาไฟไหม้ไป เราก็ไม่เดือดร้อน เราก็ไม่ทุกข์เพราะว่าเราไม่ยึดไม่ติดนั่นเอง นี่คือหลักของความจริง หลักของปัญญา หลักของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นของๆเรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของที่มีอยู่กับโลกนี้มาแต่ดั้งเดิม  โลกนี้เป็นเจ้าของๆทุกสิ่งทุกอย่าง  ดวงวิญญาณเพียงแต่มาปฏิสนธิกับร่างกายนี้ แล้วก็คลอดออกมาจากครรภ์  แล้วก็ไปยึดไปเกาะสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้  เมื่อไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ก็เกิดความหวงแหน ความอยากจะให้มีสิ่งเหล่านี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ  อยู่กับเราไปตลอด  แต่โดยธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป  ใครไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านี้ก็ต้องมีความทุกข์ เหมือนกับพวกเราที่ทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้  ทุกข์ก็เพราะอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นเอง

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเราศึกษาธรรมกัน ปฏิบัติธรรมกันด้วยการทำจิตให้สงบเยือกเย็นเป็นเบื้องต้น  จะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม  จะเป็นการไหว้พระสวดมนต์ก็ได้ จะกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ จะบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ  อยู่ในใจก็ได้  ขอให้ตั้งใจทำอย่างจริงๆ จังๆ ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้มาก ทำด้วยการมีสติ  คืออย่าสักแต่ว่าทำ  ทำไปแล้วปล่อยใจให้คิดเรื่องราวต่างๆนานา ถ้าเป็นอย่างนี้จิตจะไม่สงบ จะไม่เป็นผล  ต้องบังคับด้วยสติไม่ให้จิตส่ายแส่ไปสู่เรื่องอื่น  ถ้าบริกรรม พุทโธ   ก็ให้มีสติรู้อยู่กับคำว่า พุทโธอย่างเดียว  ถ้าจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ก็ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว  ถ้าจะสวดมนต์ก็ให้อยู่กับบทสวดมนต์อย่างเดียว อย่าไปคิดเรื่องอะไรเป็นอันขาด  ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วไม่ช้าก็เร็วจิตจะสงบ เมื่อจิตสงบแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะสงบตัวลงไป  ในขณะนั้นความรู้สึกสบายอก สบายใจ ความอิ่มเอิบ ความปิติ ความสุขก็จะเกิดขึ้นมา สิ่งที่ทำให้มีความทุกข์ ความกังวลใจ ความหนักอกหนักใจ ก็จะสงบลงไป  ไม่ใช่อะไรที่ไหน ก็ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง แต่สมาธินี้ยังไม่สามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไป ให้สิ้นซากไปได้  เพราะสมาธินี้เปรียบเหมือนกับยาสลบ เพียงแต่ทำให้กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลงสงบตัวลงไปแต่ยังไม่ตาย  ในขณะที่จิตมีความสงบเท่านั้น  เมื่อจิตออกจากความสงบแล้ว  จิตจะเริ่มคิดเริ่มปรุง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จะฟื้นตามมา

จึงต้องเจริญธรรมขั้นต่อไป คือการเจริญปัญญา ที่เรียกว่าวิปัสสนาให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา  ถ้าไปยึดไปติดเป็นของที่ไม่ใช่ของๆเรา  ก็จะเป็นทุกข์ จึงอย่าไปยึดไปติด  มีอยู่ก็ใช้ไปตามสภาพ  ถ้าถึงเวลาที่จะหมดไปก็ให้หมดไป  อย่าไปเสียดาย  ถ้าไม่ยึดไม่ติด  ก็จะไม่ทุกข์ จึงควรละสิ่งต่างๆเสีย มีไว้เท่าที่จำเป็น มีไว้เพื่อดูแลสภาพร่างกายให้มีกำลังวังชาเพื่ออยู่ต่อไป  และเพื่อพัฒนาจิตใจด้วยการทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ชำระจิตใจ ด้วยการเจริญจิตตภาวนา  ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดไป ให้สิ้นซากไปจากจิตจากใจ

เมื่อ โลภ โกรธ หลง สิ้นซากไปจากใจแล้ว  จะมีแต่ความสุขใจ  ไม่หิวกับอะไร ไม่หิวกับลาภ ไม่หิวกับยศ ไม่หิวกับสรรเสริญ ไม่หิวกับกามสุข  เพราะว่าความสุขในใจเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว เหมือนกับน้ำที่มีเต็มเปี่ยมอยู่ในแก้ว เมื่อน้ำมีอยู่เต็มแก้วแล้ว  เทน้ำเข้าไปสักเท่าไรก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  น้ำก็ต้องไหลออกมาฉันใด  ผู้ที่ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดสิ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่หิวกับอะไร ไม่หิวกับลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ไม่หิวกับอะไรทั้งนั้น  สามารถอยู่ได้โดยลำพัง ไม่ต้องมีอะไรก็มีความสุข  นี่แหละคือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ทรงเห็น ว่าเป็นสิ่งที่ดีเลิศที่สุด  ไม่มีอะไรที่จะดีเลิศเท่ากับความสุขของจิตใจ พระพุทธองค์จึงทรงสละเวลาของพระพุทธองค์ที่เหลืออยู่ ๔๕ พรรษา สั่งสอนสัตว์โลกเพื่อให้เข้าถึงความสุขนี้  ทรงสั่งสอนสัตว์โลกเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิ เจริญปัญญา  ขอให้ชาวพุทธทั้งหลายจงน้อมเอาธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ามารักษาจิตใจ ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้