กัณฑ์ที่ ๖๔   ๓๐ เมษายน ๒๕๔๔

ภิกษุณี

 

หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไปแล้ว ๒ เดือน  พระพุทธองค์จึงได้ประกาศพระศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก  ในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา  และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน  เป็นเวลาทั้งหมด ๔๕ ปีด้วยกัน  ในระยะแรกๆของการประกาศพระพุทธศาสนา  มีผู้มีจิตศรัทธาน้อมนำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์  ไปประพฤติปฏิบัติและบรรลุเป็นพระอริยบุคคล และได้ขออุปสมบทในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมาก  แต่ในระยะแรกๆนั้นมีแต่บุรุษที่ขออุปสมบท  ไม่มีสตรีได้ขออุปสมบทเลย 

จนกระทั่งมาถึงในปีที่ ๕ ของการประกาศพระพุทธศาสนา  ปีนั้นเป็นปีที่พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาได้เสด็จสวรรคต  ก่อนที่พระเจ้าสุทโธทนะจะเสด็จสวรรคต  พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรด  ให้ได้ทรงบรรลุพระอรหัตตผล  เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๗ วันก่อนปรินิพพาน  หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าสุทโธทนะแล้ว  พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะต่อจากพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เป็นภคินี (น้องหญิง) ของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา  ทรงมีจิตศรัทธาอยากจะออกบวชเป็นภิกษุณี  จึงได้กราบขอประทานอนุญาตจากพระพุทธเจ้า

วันหนึ่งขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามในเมืองกบิลพัสดุ์  พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้าและทูลขออนุญาตให้สตรีสละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย  แต่การณ์นั้นมิใช่ง่าย  พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง  ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี  ประทับที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน  พระนางมหาปชาบดีโคตมีไม่ละความพยายาม  ถึงกับปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะเอง  ออกเดินทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะจำนวนมาก  ไปยังเมืองเวสาลีและได้มายืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มประตูนอกกูฏาคารศาลา  พระบาทบวมพระวรกายเปรอะเปื้อนธุลี

พระอานนท์มาพบเข้า  สอบถามทราบความแล้วรีบช่วยไปกราบทูลขออนุญาตให้  แต่เมื่อพระอานนท์กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าก็ถูกพระองค์ตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง  ในที่สุดพระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่  โดยกราบทูลถามว่าสตรีออกบวชในพระธรรมวินัยแล้วจะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตตผลได้หรือไม่  พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าได้  พระอานนท์จึงอ้างเหตุผลนั้นพร้อมทั้งการที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมาตุจฉาและเป็นพระมารดาเลี้ยงมีอุปการะมากต่อพระองค์  แล้วขอให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกบวช 

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าพระนางจะต้องรับปฏิบัติตามครุธรรม ๘ ประการ คือ   . ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว     . ภิกษุณีจะบวชอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ . ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน  . ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย  คือทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์   . ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก  ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย  ๑๕ วัน   . ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย  เพื่อนางสิกขมานา   . ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ   . ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

พระนางยอมรับตามพุทธานุญาต  ที่ให้ถือว่าการรับครุธรรมนั้นเป็นการอุปสมบทของพระนาง  ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมดพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้  ในคราวนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่าการให้สตรีบวชจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์  คือพระศาสนาหรือพระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่ยั่งยืน  จะมีอายุสั้นเข้า  เปรียบเหมือนตระกูลที่มีบุรุษน้อยมีสตรีมาก  ถูกผู้ร้ายทำลายได้ง่าย  หรือเหมือนนาข้าวที่มีหนอนขยอกลง  หรือเหมือนไร่อ้อยที่มีเพลี้ยลง  ย่อมอยู่ได้ไม่ยืนนาน  พระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการกำกับไว้ก็เพื่อเป็นหลักคุ้มกันพระศาสนา  เหมือนสร้างคันกั้นสระใหญ่ไว้ก่อนเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลท้นออกไป  ทำให้พระศาสนาอยู่ได้ยั่งยืนเช่นเดิม 

และได้ทรงแสดงเหตุผลที่ไม่ให้ภิกษุไหว้ภิกษุณี  ให้ภิกษุณีไหว้ภิกษุโดยฝ่ายเดียวเพราะนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นทั้งหลายไม่มีใครไหว้สตรีกันเลย  กล่าวโดยสรุปว่าหากถือเหตุผลทางด้านสภาพสังคม ศาสนาแล้ว  จะไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชเลย  แต่ด้วยเหตุผลในด้านความสามารถโดยธรรมชาติจึงทรงยอมให้สตรีบวชได้  เมื่อภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว  สตรีที่จะบวชต่อมาต้องเป็น สิกขมานา รักษาสิกขาบท ๖  (คือ ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐) ไม่ให้ขาดเลยตลอด ๒ ปีก่อนจึงขออุปสมบทได้  และต้องได้รับการอุปสมบทโดยสงฆ์สองฝ่าย  คือบวชโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว  ต้องบวชโดยภิกษุสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง  เมื่อเป็นภิกษุณีแล้วต้องรักษาสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ  ภิกษุณีสงฆ์เจริญแพร่หลายในชมพูทวีปอยู่ช้านาน  เป็นแหล่งให้การศึกษาแหล่งใหญ่แก่สตรีทั้งหลาย 

ภิกษุณีสงฆ์ประดิษฐานในลังกาทวีปในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ  โดยพระสังฆมิตตาเถรี  พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางจากชมพูทวีปมาประกอบอุปสมบทกรรมแก่พระนางอนุฬาเทวี  ชายาของเจ้ามหานาค  อนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ  พร้อมด้วยสตรีอื่นอีกหนึ่งพันคน  ภิกษุณีสงฆ์เจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปยาวนานไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ปี  แต่ในที่สุดได้สูญสิ้นไป  ด้วยเหตุใดและกาลใดไม่ปรากฏชัด  ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เคยมีการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์  

นี่คือความเป็นมาของภิกษุณีสงฆ์  ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔ ประกอบด้วย ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก อุบาสิกา  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีอยู่เพียง ๓ คือไม่มีภิกษุณี  แต่การไม่มีภิกษุณีไม่ได้หมายความว่าสตรีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส  จะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตน  ให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้  ธรรมอันสูงสุดในพุทธศาสนาไม่อยู่สุดเอื้อมของสตรีทั้งหลาย  สตรีใดมีความปรารถนาที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้บรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน  ก็ยังสามารถปฏิบัติได้อยู่  เพราะเหตุที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานคือ มรรค ๘ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง  ไม่ขึ้นกับเพศกับวัย  จะเป็นสตรี  บุรุษ  เด็ก  ผู้ใหญ่  หนุ่ม สาว  คนแก่คนชรา  เป็นนักบวชหรือไม่ก็ตาม  ก็สามารถปฏิบัติให้บรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน ได้ด้วยกันทุกคน 

การบวชจึงไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ  เพราะการบวชเป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติธรรมเท่านั้นเอง  ถ้าได้บวชแล้ว  ก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลากับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  เพราะมีศรัทธาญาติโยม  อุบาสก อุบาสิกา  คอยดูแลเลี้ยงดูอยู่  จึงทำให้มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรมได้มาก  สามารถบรรลุธรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กว่าการเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เพราะการครองเรือนมีภาระมาก  มีอุปสรรคมาก  การที่จะปฏิบัติให้หลุดพ้นได้จึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่สุดวิสัย  อย่างพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาแม้ไม่ได้ออกบวช ก็ยังสามารถประพฤติปฏิบัติ  จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เรื่องของการไม่ได้บวช จึงไม่เป็นอุปสรรคขวางกั้น   มรรค ผล นิพาน แก่ผู้ที่มีความมุ่งมั่นปรารถนา  ที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้บรรลุถึงพระนิพพาน

จึงขอทำความเข้าใจว่า  พระพุทธเจ้าไม่ได้กีดกันสตรีไม่ให้บวชในพระพุทธศาสนา  แต่เพียงเห็นว่าสตรีเป็นเพศที่มีอุปสรรคมากในการดำรงสมณเพศ  เพราะสมณะนักบวชจะต้องแสวงหาที่สงบสงัดวิเวกตามป่าตามเขา  ซึ่งเป็นที่เปลี่ยวเป็นที่อันตรายสำหรับสตรีเพศ  ไม่เหมือนกับบุรุษที่สามารถไปอยู่ตามลำพังได้ในที่เปลี่ยว ไม่มีใครมาทำร้าย มารบกวน  แต่ถ้าสตรีเพศไปอยู่ที่เปลี่ยวตามลำพังตามป่าตามเขา     จะเป็นอันตรายต่อ สวัสดิภาพของสตรีนั้นๆ  พระพุทธองค์จึงต้องทรงกำหนดให้ภิกษุณีอยู่ในวัดที่มีภิกษุสงฆ์อยู่ด้วย  คือไม่ให้อยู่ตามลำพัง  เพราะจะโดนพวกโจรผู้ร้ายทำร้ายร่างกายได้

นี่คือเหตุที่พระพุทธองค์จึงต้องกำหนดครุธรรม ๘ ไว้  เพื่อป้องกันพระศาสนาไม่ให้เสื่อมสลายไปโดยเร็ว  แต่ไม่ได้ป้องกัน มรรค ผล นิพพาน   สตรีทุกๆคนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตสามารถประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นพระอริยบุคคลได้  ไม่ว่าจะเป็นพระอริยธรรมขั้นไหนก็ตาม  สามารถบรรลุได้ด้วยกันทุกคน  ขึ้นอยู่ว่าจะมีคุณธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติไปได้หรือเปล่า  คือมีวิริยะความอุตสาหะ  ขันติความอดทน  มีสติ มีปัญญา หรือไม่เท่านั้นเอง  ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม  จะเป็นนักบวชหรือไม่เป็นนักบวช ก็สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคล  บรรลุถึงนิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น จึงขอฝากเรื่องราวของพระภิกษุณี  ให้เป็นที่เข้าใจกันและทำความเห็นให้ถูกต้องต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

 

หมายเหตุ   ข้อมูลบางส่วนได้คัดมาจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  หน้า ๓๑  และ หน้า ๒๐๔-๒๐๖  โดยพระธรรมปิฎก (.. ปยุตโต)