กัณฑ์ที่ ๗๒      ๒๒ พฤษภาคม  ๒๕๔๔

พระวินัย

 

วันพระ วันธรรมสวนะ วันอุโบสถ  เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ใช้เป็นเวลาปฏิบัติศาสนกิจเพื่อพัฒนาจิตใจ เสริมสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในตน   ทางด้านศรัทธาญาติโยมก็ทำบุญตักบาตร ถวายจตุปัจจัยไทยทาน อาหารคาวหวานต่างๆ พร้อมทั้งสมาทานศีล  มีทั้งศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อเสริมสติปัญญา ความรู้ ความฉลาด    ส่วนพระสงฆ์ก็มีกิจกรรมที่สงฆ์จะต้องกระทำกัน คือการทำอุโบสถ หมายถึงการประชุมของสงฆ์ทุกกึ่งเดือน  คือทุกๆ ๑๕ วัน หรือ ๑๔ วันเพื่อฟังการสวดพระปาฏิโมกข์  คือชื่อของคัมภีร์ที่รวมพระวินัย ๒๒๗ ข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระภิกษุประพฤติปฏิบัติตาม 

เหตุที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัย พระปาฏิโมกข์ไว้  ก็เพื่อรักษาพรหมจรรย์ให้ยืนยาวนาน  ซึ่งเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวนานไปด้วย  เพราะต้องอาศัยการสืบทอดการเผยแผ่โดยพระภิกษุสงฆ์เป็นหลัก การที่พระภิกษุสงฆ์จะมีอยู่ได้ยาวนานเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนทั่วไป  พระภิกษุสงฆ์ต้องมีความประพฤติที่ดีงาม  ตั้งอยู่ในพรหมจรรย์ การประพฤติธรรมอันประเสริฐ มีกฏ มีระเบียบ เพื่อผู้ที่บวชใหม่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะประพฤติผิดแหวกแนวไปได้  นำความเสื่อมเสียมาให้กับสถาบันสงฆ์  ทำให้ผู้ที่มีศรัทธาเสื่อมศรัทธา ผู้ที่ไม่มีศรัทธาก็ไม่เกิดศรัทธา ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วพระพุทธศาสนาก็จะค่อยๆเสื่อมไปเรื่อยๆ  จนในที่สุดก็จะไม่มีพระพุทธศาสนาเหลืออยู่เลย

เพื่อเป็นการรักษาพรหมจรรย์  รักษาพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวนาน  จึงมีความจำเป็นที่พระพุทธองค์จะต้องบัญญัติกฎระเบียบต่างๆไว้ ให้ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาประพฤติปฏิบัติตาม  ในระยะแรกๆ ของการประกาศพระศาสนา  พระพุทธองค์ไม่ได้บัญญัติพระวินัยเลยแม้แต่ข้อเดียว  เพราะในระยะเริ่มแรกผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาล้วนเป็นพระอริยบุคคลทั้งนั้น ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์   พระสารีบุตรคำนึงถึงความตั้งมั่นแห่งพรหมจรรย์ กราบทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นและไม่ตั้งมั่น พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่การบัญญัติสิกขาบท การสวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ว่าเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งมั่น การไม่ทำเช่นนั้นทำให้พรหมจรรย์อันตรธาน พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้บัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่ายังไม่ถึงเวลา คือ พระสงฆ์ยังไม่มาก ลาภสักการะยังไม่มาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะกิเลสดองสันดาน ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ก็ยังไม่ต้องบัญญัติสิกขาบท ทั้งขณะนั้นภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธเจ้าก็ล้วนเป็นพระอริยบุคคล อย่างต่ำก็เป็นพระโสดาบัน

ต่อมาหลังจากที่พระพุทธศาสนาเริ่มแผ่กว้างออกไป  เริ่มมีผู้มีจิตศรัทธาขอเข้ามาบวชในศาสนามากขึ้น ผู้ที่มาบวชในระยะหลังๆเริ่มเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของสมณเพศ  ซึ่งต่างกับระยะแรกๆที่ผู้มาบวชในศาสนาส่วนใหญ่จะเป็นนักบวชในลัทธิอื่น  หลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา ก็ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา     ท่านเหล่านี้มีความเคร่ง ครัดในการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์อยู่แล้ว  จึงไม่มีปัญหาอะไร   ต่อมามีประชาชนคนทั่วไปหลังจากได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว  ก็เกิดศรัทธาอยากจะออกบวช  ก็เลยขอพระพุทธเจ้าบวช  พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้  เมื่อบวชแล้วก็ประพฤติปฏิบัติกันไป  บางรูปก็ไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร  จึงมีการประพฤติพรหมจรรย์ถูกบ้างผิดบ้าง  จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงต้องบัญญัติพระวินัยขึ้นมา

อย่างในกรณีของการบัญญัติปฐมปาราชิก สิกขาบทที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุเสพเมถุน  คือห้ามไม่ให้พระภิกษุร่วมเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น  ถ้ากระทำกิจกรรมนี้แล้วถือว่าต้องขาดจากการเป็นพระภิกษุไปทันที  ผู้อื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม  บุคคลที่กระทำนั้นย่อมรู้อยู่แก่ใจ ย่อมรู้ว่าตนได้หมดสภาพของความเป็นสมณะนักบวชแล้ว  เหตุของการบัญญัติปฐมปาราชิกนี้ขึ้นมามีความเป็นมาดังนี้ 

สมัยนั้นมีหมู่บ้านนามว่ากลันทะ ตั้งอยู่ไม่ไกลเมืองเวสาลี มีบุตรเศรษฐีนามว่าสุทินนะพร้อมด้วยสหายไปสู่กรุงเวสาลี เห็นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม จึงแวะเข้าไปสดับธรรม มีความเลื่อมใสใคร่จะออกบวช จึงกราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่พระศาสดายังไม่ประทานอนุญาตให้บวช เพราะบิดามารดายังไม่อนุญาต สุทินนะจึงกลับไปขออนุญาตบิดามารดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นเดิม จึงนอนลงกับพื้น อดอาหารถึง ๗ วัน บิดามารดาอ้อนวอนให้ล้มความตั้งใจ ก็ไม่ยอม พวกเพื่อนๆมาอ้อนวอน ก็ไม่ยอม ในที่สุดพวกเพื่อนๆอ้อนวอนให้บิดามารดาของสุทินนะอนุญาต  ก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ออกบวชประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่ทางวัชชีคาม

ครั้งนั้นแคว้นวัชชี ซึ่งมีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี เกิดทุพภิกขภัย ขาดแคลนอาหาร พระสุทินนะมีญาติเป็นคนมั่งคั่งมาก เมื่อเดินทางไปถึงกรุงเวสาลี ญาติๆทราบข่าวก็นำอาหารมาถวายเหลือเฟือ พระสุทินนะก็ถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง แล้วเดินทางไปกลันทคาม ตำบลบ้านเดิมของตน  ความทราบถึงบิดามารดา บิดาจึงนิมนต์ไปฉัน  มารดาก็นำทรัพย์สมบัติมาล่อเพื่อให้สึก พระสุทินนะไม่ยอมจึงไม่สำเร็จ ต่อมามารดาพระสุทินนะรอจนภริยาของพระสุทินนะ (ตั้งแต่ในสมัยยังไม่ได้บวช) มีระดู ได้กำหนดจะมีบุตรได้ จึงพานางไปหาพระสุทินนะที่ป่ามหาวัน ชวนให้สึกอีก พระสุทินนะไม่ยอม จึงกล่าวว่าถ้าไม่สึกก็ขอพืชพันธุ์ไว้สืบสกุล ครั้งนั้นยังไม่มีการบัญญัติวินัยห้ามเสพเมถุน พระสุทินนะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่พอทำได้ เพื่อให้มีบุตรสืบสกุล จึงเสพเมถุนด้วยภริยาของตน ซึ่งต่อมานางก็ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร  บุตรของพระสุทินนะจึงได้นามว่าเจ้าพืช ภริยาของพระสุทินนะก็ได้นามว่า มารดาของเจ้าพืช ต่อมาทั้งมารดาและบุตรออกบวชได้สำเร็จอรหัตตผลทั้ง ๒ คน  ส่วนพระสุทินนะเกิดความไม่สบายใจขึ้นภายหลัง ถึงขนาดซูบผอม ภิกษุทั้งหลายถาม ทราบความ จึงพากันติเตียนและนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนเรื่องนั้น ทรงติเตียนแล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุเสพเมถุน ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

นี่คือความเป็นมาของการบัญญัติพระวินัย  เมื่อพระศาสนามีความเจริญมีผู้ขอบวชมากขึ้นๆ ก็มีการประพฤติผิดมากขึ้นๆ  เมื่อมีชาวบ้านมาฟ้องพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน หลังจากทรงทราบความแล้ว ทรงวินิจฉัยว่าควรไม่ควร  ถ้าไม่ควรก็ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมา  จนมีถึง ๒๒๗ ข้อด้วยกัน  เพื่อให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่ประชาชนศรัทธาเลื่อมใส เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนทั่วไป เป็นผู้มีศีลมีธรรม  พระสงฆ์อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความเลื่อมใส ความศรัทธาของศรัทธาญาติโยม ผู้ทำนุบำรุงพระสงฆ์ด้วยเครื่องจตุปัจจัยไทยทานทั้งหลาย  เช่น อาหารบิณฑบาต จีวร กุฏิที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  การที่จะรักษาศรัทธาของญาติโยมไว้ พระสงฆ์จึงต้องประพฤติปฏิบัติตนเองให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมความดีงามนั่นเอง 

หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว  ภิกษุทั้งหลายมีความเศร้าโศก แต่มีภิกษุผู้บวชเมื่อแก่อยู่รูปหนึ่งชื่อสุภัททะ กล่าวห้ามไม่ให้เศร้าโศก ควรจะดีใจว่า ต่อไปจะได้ไม่มีใครคอยห้ามทำนั่นทำนี่ อยากทำอะไรก็จะทำได้ พระมหากัสสปปรารภถ้อยคำนั้น จึงเสนอให้ทำสังคายนา คือ ร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย แล้วเลือกพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปเข้าประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ พระอานนท์ได้เสนอให้ที่ประชุมทราบถึงพระพุทธานุญาตที่ให้สงฆ์ ถ้าปรารถนา ก็ถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียได้ ที่ประชุมไม่ตกลงกันได้ว่า แค่ไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย จึงมีมติห้ามถอนสิกขาบทเล็กน้อย เพื่อป้องกันมิให้มีผู้กล่าวได้ว่า สิกขาบทที่สมณโคดมทรงบัญญัตินั้น อยู่ได้ตราบเท่าที่ยังมีศาสดาเท่านั้น จึงมีระยะกาลเหมือนควันไฟ ซึ่งจางหายไปง่าย

ในร้อยปีแรกภายหลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธศาสนามีแบบเดียวคือ ตามที่พระอรหันต์ ๕๐๐ รูปได้ประชุมกันทำสังคายนา ๓ เดือนหลังพุทธปรินิพพาน คือ ร้อยกรองรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดเป็นหมู่ โดยมีพระอานนท์ ซึ่งเป็นผู้ทรงจำพุทธวจนะอย่างดียิ่ง เป็นผู้ทบทวนพระธรรม   พระอุบาลี ซึ่งได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย เป็นผู้ทบทวนพระวินัย แล้วสวดท่องจำกันสืบต่อมา โดยแบ่งสำนักท่องจำเป็นสำนักๆไป ช่วยกันท่องจำต่างภาคต่างตอนสั่งสอนศิษย์สืบมา  เมื่อพ้น ๑๐๐ ปี ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุวัชชีบุตร ลูกหลานชาวแคว้นวัชชีประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป  ถือวินัยย่อหย่อนจากที่บัญญัติไว้รวม ๑๐ ประการ พระเถระที่เห็นแก่ธรรมวินัยจึงประชุมกันทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ชำระเรื่องที่ถือผิดนี้ ประกาศมิให้ประพฤติต่อไป ภิกษุพวกวัชชีบุตรจึงแยกไปตั้งนิกายใหม่ ชื่อมหาสังฆิกะ แปลว่า พวกมาก ซึ่งต่อมาได้แปลรูปเป็นมหายานไปในที่สุด คำว่าเถรวาท ซึ่งแปลว่า วาทะของพระเถระ จึงปรากฏเรียกขานกันมาเมื่อมีนิกายอื่นๆแตกแยกออกไป เพื่อจะได้รู้ว่าอย่างไหนเป็นพระพุทธศาสนาแบบไหน

เมื่อมีการรักษาสิกขาบทไม่เท่ากัน การทำสังฆกรรมจึงต้องแยกกันทำ   เพราะการทำสังฆกรรมจะต้องมีศีลเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นการบวชพระก็ดี การลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ก็ดี  ผู้มีศีลไม่เสมอกันจะทำสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นพระนิกายไหน ก็ยังเป็นพระเหมือนกัน ยังเป็นลูกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เหมือนกับพ่อแม่มีลูกหลายคน สอนลูกให้ประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง แต่ลูกบางคนก็อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกับพ่อกับแม่  ประพฤติไม่ตรงกันบ้าง แตกต่างกันไปบ้าง คนนี้เสพสุรา  คนนั้นเล่นการพนัน อีกคนชอบเที่ยวเตร่  เป็นความแตกต่างระหว่างพี่กับน้อง แต่ความเป็นพี่เป็นน้องกันก็ยังมีอยู่ ความเคารพในบิดามารดาก็มีเหมือนกัน ต่างกันที่การประพฤติปฏิบัติที่มีความแตกต่างกันไปบ้าง 

เดี๋ยวนี้ศาสนาพุทธมีอยู่หลายนิกายด้วยกัน  ทั้งมหายานและเถรวาทในประเทศไทยก็มีอยู่ ๒ นิกายใหญ่ๆ  ทางศรีลังกาก็มีอยู่หลายนิกาย  เพราะการประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติ พระวินัย ศีล ๒๒๗ ข้อมีไม่เสมอเท่าเทียมกันนั่นเอง  เลยทำให้เกิดความแตกต่างกัน  แต่การดำเนินตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเรื่องของกรรมก็ดี เรื่องวิบากก็ดี เรื่องศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี ก็ยังประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน  ความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม  ไม่ว่าจะเป็นมรรค ๘ ก็ดี บารมี ๑๐ ก็ดี   ต่างกันที่การประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติ พระวินัย ศีล ๒๒๗ ข้อของพระสงฆ์เท่านั้นเอง 

ได้แสดงเรื่องราวเหล่านี้มาให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง โดยคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้าง  เพราะว่าบางครั้งบางคราวเวลามีปัญหาเกี่ยวทางธรรมวินัยญาติโยมอาจจะไม่เข้าใจ  ก็อาจจะสงสัยว่าเป็นอะไรกัน  อย่างปัญหาในปัจจุบันนี้ก็มีปัญหาเรื่องของการบวชภิกษุณี  ถ้าตามทางเถรวาทแล้วภิกษุณีสงฆ์ได้หมดไปแล้ว ในเมืองไทยก็ไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์มาก่อนเลย  การจะบวชเป็นภิกษุณีได้จะต้องมีสงฆ์ ๒ สงฆ์เป็นผู้บวชให้  คือจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ และต้องมีภิกษุสงฆ์ด้วย  ในเบื้องต้นต้องบวชกับภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงบวชกับภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง  ถึงจะถือว่าเป็นการบวชที่สมบูรณ์  ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยไม่มีภิกษุณีสงฆ์  จึงบวชเป็นภิกษุณีให้ถูกต้องตามหลักธรรมหลักวินัยในประเทศไทยไม่ได้

ในบางประเทศมีทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์  แต่เป็นของมหายาน   ถ้าอยากจะบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ก็สามารถไปบวชได้ แต่ต้องเป็นมหายาน  จะไปบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ในมหายาน แล้วมาให้พระภิกษุสงฆ์ของเถรวาทบวชซ้ำให้อีกทีเพื่อเป็นการรับรองนั้น ย่อมทำไม่ได้เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงขอฝากเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นความรู้ประดับสติปัญญา เผื่อใครมีความสงสัยหรือไม่เข้าใจ  จะได้ช่วยกันทำความเข้าใจให้ถูกต้อง  โปรดทำความเข้าใจว่าพระภิกษุสงฆ์ไม่มีความคิดรังเกียจเดียดฉันท์ญาติโยมที่เป็นผู้หญิง ที่อยากจะบวชเป็นภิกษุณี  เพียงแต่ว่าตามหลักธรรมหลักวินัยแล้วไม่สามารถจะทำได้  การจะบวชเป็นภิกษุณีหรือไม่ ไม่เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหน เป็นฆราวาสก็ดี เป็นนักบวชก็ดี  ก็สามารถประพฤติปฏิบัติจนบรรลุธรรมกันได้ด้วยกัน บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้  บรรลุถึงพระนิพพานได้ด้วยกันทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นนักบวชหรือไม่เป็นนักบวช  เพศไม่เป็นปัจจัยที่จะกีดขวางการประพฤติปฏิบัติให้สิ้นจากทุกข์ได้ ให้พ้นจากทุกข์ได้ ให้ถึงที่สุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ 

ขอให้ถือการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก  ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการประพฤติปฏิบัติกาย วาจา ใจ  เพื่อชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง  ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือไม่ก็ตาม  เพราะถ้าบวชแล้วแต่ไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง การบวชก็เปล่าประโยชน์  เปลืองข้าวสุกของชาวบ้านเสียด้วยซ้ำไป  ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยแล้ว การบวชก็จะเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับศาสนา  แทนที่จะเป็น ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญให้กับโลก เป็นเนื้อนาบุญให้กับศรัทธาญาติโยม ที่สละเงิน สละทอง ทำนุบำรุงนักบวชเพราะหวังบุญจากท่านเหล่านั้น  แต่ถ้าบวชแล้ว ไม่ประพฤติตามหลักธรรมหลักวินัย   กลับสะสมความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสตัณหา ให้มีมากยิ่งขึ้นๆ ไป  การบวชก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  สู้ผู้ที่ไม่ได้บวชแต่ประพฤติปฏิบัติธรรม ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ชำระกิเลสตัณหาให้หมดออกไปจากจิตจากใจไม่ได้  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้