กัณฑ์ที่
๘๔
แว่นส่องใจ
การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการเสริมสติปัญญาบารมี
ความฉลาด
ความรู้จริงเห็นจริงให้เกิดขึ้น
พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุและผล
เหตุกับผลเป็นของคู่กัน
ผลจะเกิดขึ้นได้
จะต้องมีเหตุ
เหตุเป็นตัวนำ ผลเป็นตัวตาม
เหตุดี ผลที่ตามมาก็ดี
เหตุไม่ดี
ผลที่ตามมาก็ไม่ดี เวลาจะแก้
จึงไม่ไปแก้ที่ผล ถ้าไม่พอใจผลที่ได้รับ
ต้องไปแก้ที่เหตุ
เพราะเหตุเป็นต้น เป็นตัวนำ
ผลเป็นตัวตาม
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา
ถ้าปลูกส้มไว้
แต่ปีนี้ส้มขายไม่ดี
ก็อยากจะให้ส้มเปลี่ยนเป็นผลไม้อย่างอื่น
จะไปเปลี่ยนส้มให้กลายเป็นทุเรียน
เป็นเงาะไม่ได้
ต้องปลูกต้นเงาะหรือต้นทุเรียนขึ้นมาใหม่
ถึงจะได้ผลทุเรียนหรือผลเงาะตามมา
เพราะผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ
ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ก็เป็นผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต
เมื่อทำแล้ว
ก็ส่งผลให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง
เป็นคนฉลาดบ้าง
ไม่ฉลาดบ้าง
มีความร่ำรวยบ้าง ไม่รวยบ้าง
เป็นคนมีรูปร่างหน้าตาสวยงามบ้าง
ไม่สวยงามบ้าง เหล่านี้ก็เป็นผลทั้งนั้น
เป็นสิ่งที่แก้กันไม่ได้
เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
เพราะเหตุที่ทำมาในอดีตเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าต้องการให้ผลที่ดีกว่านี้
เลิศกว่านี้
ก็ต้องสร้างเหตุใหม่ขึ้นมา
สร้างเหตุใหม่ที่ดีกว่าเก่า
แล้วผลที่จะตามมาต่อไปในอนาคต
ก็จะเป็นผลที่ดีกว่านี้
เป็นผลที่ทุกคนปรารถนากัน
นี่คือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงสอนเรื่องเหตุและผล
สอนให้สร้างเหตุที่ดี
เพื่อผลที่ดีที่จะตามมาต่อไปในอนาคต
แต่ทำไมจึงไม่สามารถสร้างเหตุที่ดีได้
สร้างได้บ้างก็เป็นครั้งเป็นคราว
แต่ไม่สามารถที่จะสร้างเหตุที่ดีที่งามไปได้ตลอด
อันนี้ก็มีเหตุ
เหตุนี้คือความมืดบอด
ความไม่รู้จริงของใจ
เปรียบเหมือนกับคนที่ตาไม่ดี
เวลาคนตาไม่ดีไปหาหมอ
หมอจะต้องตรวจดูว่าตามีปัญหาอะไร
ถ้าสายตาสั้น
หมอก็จะตัดแว่นให้ถูกกับสายตาสั้น
สายตายาวหมอก็ทำแว่นอีกแบบหนึ่ง
เพื่อจะได้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ชัดเจนตามความเป็นจริง
ฉันใดใจของพวกเราก็เปรียบเหมือนกับคนที่ตาไม่ดี
ใจเป็นเหมือนตาคน ถ้าใจมองเห็นผิดแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผิดไปหมด
เหมือนกลับตาลปัตร คือ
เวลาพระใช้ตาลปัตร
วิธีที่ถูกต้องต้องหันตาลปัตรด้านหน้าออกไปทางญาติโยม แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ตาลปัตร
ก็จะหันอีกด้านหนึ่งออกไป
ก็เลยปล่อยไก่
เหมือนกับการใส่เสื้อผ้า
ที่มีทั้งด้านในและด้านนอก
ถ้าหลับหูหลับตาใส่ไป บางทีก็เอาข้างในออกไปข้างนอก
เอาตะเข็บออกมาโชว์
เป็นการใส่เสื้อผ้าที่ผิด
เพราะไม่ดูให้ดี หรือไม่รู้วิธีใส่ที่ถูกนั่นเอง
ก็เลยทำให้ทำในสิ่งที่ผิด
ฉันใดการกระทำที่ไปในทางที่ผิด
ก็เกิดจากการเห็นผิดของใจ มิจฉาทิฏฐิ
มองกลับตาลปัตร มองตรงกันข้ามกับความจริง
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นสุขเป็นทุกข์
เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง
เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเราว่าเป็นของของเรา
เห็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมบังคับได้
ว่าสามารถควบคุมบังคับได้
เห็นดีเป็นชั่ว ชั่วเป็นดี
นรกเป็นสวรรค์
สวรรค์เป็นนรก
เหมือนกับคนโบราณที่เห็นโลกแบน
เป็นเหมือนแผ่นกระดาน แต่คนสมัยใหม่
นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า
โลกไม่แบน แต่กลม
เราสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งจนกลับมาถึงจุดเดียวกันโดยที่ไม่ต้องย้อนกลับมาทางเดิม
เช่นเดินไปทิศตะวันออก
เดินไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็จะเดินกลับมาถึงจุดเดิม
เพราะความกลมของโลก
เวลาเห็นขอบทะเลชนขอบฟ้า
เวลานั่งเรือออกไปก็ไม่กลัวว่าเรือจะหลุดออกไปจากขอบทะเล
เพราะโลกกลม จะโค้งไปเรื่อยๆ
โค้งไปเรื่อยๆแล้วในที่สุดก็จะกลับมาสู่จุดเดิม
เวลาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม
พระพุทธองค์ทรงไม่ได้ไปทำอะไรให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไป
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ยังเป็นเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือใจของท่าน
ใจของท่านได้พลิกกลับมา
จากการมองเห็นผิดเป็นถูก
พลิกกลับตาลปัตร
แทนที่จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ก็เห็นกงจักรเป็นกงจักร
เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว
เห็นดีเป็นดี
เห็นชั่วเป็นชั่ว เห็นสุขเป็นสุข
เห็นทุกข์เป็นทุกข์ ทรงเห็นสัจจธรรม
ความจริง
ทั้งภายนอกและภายใน
ภายในทรงเห็นจิตของทุกๆคน
ปรารถนาความสุขไม่ต้องการความทุกข์ด้วยกันทุกคน แต่ไม่รู้ว่าความสุขของจิตอยู่ที่ไหน เพราะความมืดบอด
ความหลง เลยคิดว่าความสุขอยู่ข้างนอก
จึงไปหาความสุขจากภายนอก
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะความสุขของจิตที่แท้จริง
อยู่ที่ความสงบนิ่งของจิต
ถ้าจิตมีความสงบนิ่ง
จิตก็จะมีความสุข มีความพอ
นี่เป็นสัจจธรรมความจริงที่ทรงได้ตรัสรู้เห็น
ภายนอกทรงเห็นว่า
ความสุขที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆที่มีอยู่ภายนอก
แสวงหาได้มาเท่าไรก็จะไม่พบกับความสุข
ความอิ่ม ความพอ
กลับจะมีแต่ความทุกข์วุ่นวายใจอยู่เรื่อยๆ
ถ้าไปยึดไปติดกับของภายนอก
เพราะสิ่งภายนอกที่เรียกว่าสภาวธรรม
ได้แก่ ลาภ
ยศ สรรเสริญ
กามสุข
หรือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
หรือ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย หรือ
รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น
เป็นไตรลักษณ์
คือ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา
อนิจจัง
หมายถึงว่าเป็นของไม่เที่ยง
มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอยู่เสมอ
อนัตตา ไม่มีตัวตน
ไม่ใช่ของๆเรา
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้
ถ้าหลงแล้วก็จะไปยึดไปติด
อยากให้อยู่ไปนานๆ
อยากให้เป็นไปตามความต้องการ
ทุกข์ก็จะเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นจึงเรียกว่าไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นสิ่งที่คนฉลาดควรจะถอยออกห่าง
เปรียบเหมือนกับอสรพิษ
งูเห่า งูจงอาง
นี่เวลาเห็นงูเลื้อยเข้าหา
จะไม่วิ่งเข้าหา
แต่จะถอยทันที
ด้วยความกลัว
เพราะรู้ว่าถ้าเข้าใกล้แล้วจะต้องถูกกัด
ถ้าไม่ตายก็ต้องเจ็บปวดทรมานอย่างยิ่ง
ฉันใดสภาวธรรมทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข ไม่ว่าจะเป็นขันธ์
๕ คือ รูป
เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ
ของเราก็ดี ของผู้อื่นก็ดี เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน
อย่างคนเรานี่
ก็เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่
เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา
ต้องมีการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมดา
เป็นธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลาย
ถ้าไม่รู้ก็จะไปยึดไปติดทันที
มีอะไรก็อยากจะให้มีไปนานๆ
อยู่กับเราไปนานๆ อย่างเช่นร่างกายของเรา
ก็อยากจะให้มีอายุยืนยาวนาน
ถ้าไม่ตายได้ ก็ยิ่งดีใหญ่
ทุกวันนี้ก็ยังมีความพยายามแสวงหาวิธี
จะทำอย่างไรไม่ให้ตาย
ทำให้อยู่กันไปตลอด แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถที่จะทำไม่ให้ตาย
ทำไม่ให้แก่ ทำไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้
ยังไม่มีใครสามารถที่จะแก้ได้
เพราะความจริงแล้วแก้ไม่ได้
เป็นธรรมชาติของสภาวธรรมเขา
เขาเป็นอย่างนี้
มีการเกิด มีการแก่
มีการเจ็บ
มีการตายเป็นธรรมดา
ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
ก็จะถูกความเห็นผิด คือโมหะ
ความหลง
อวิชชา
ความไม่รู้ครอบงำใจ
แล้วทำให้มีความกังวลใจ
มีความอยากต่างๆ
คืออยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
ไม่ยากจน ไม่สูญเสียลาภ
ไม่สูญเสียยศ ไม่ให้คนนินทา
ไม่สูญเสียกามสุข เป็นสภาพของใจที่ยังมืดบอด
ยังมีความลุ่มหลงอยู่
แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ
ชำระขับไล่ความมืดบอดให้ออกไปจากจิตจากใจแล้ว
ก็จะเป็นจิตที่เหมือนจิตของพระพุทธเจ้า
ของพระอรหันต์ เป็นจิตที่มีแต่ธรรมเป็นเครื่องนำพาไป ธรรมก็คือความเห็นอันถูกต้องนั่นเอง
เห็นผิดเป็นผิด
เห็นถูกเป็นถูก
เห็นตามความจริง
เห็นสภาวธรรมทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ควบคุมไม่ได้
ยึดครองไม่ได้
อยากให้เป็นไปตามใจไม่ได้ เมื่อเข้าใจหลักนี้แล้ว
ก็จะปล่อยวาง
เมื่อปล่อยวางแล้ว
ก็จะเข้าสู่ความสงบนิ่ง
ความสุข ความอิ่ม ความพอ
ก็จะเกิดขึ้น
เกิดขึ้นจากการมีความเห็นอันถูกต้อง
ศาสนาจึงเป็นเหมือนหมอตา
จักษุแพทย์
รักษาคนที่ตาไม่ดีให้เป็นคนตาดี
ถ้าสายตาสั้นก็ตัดแว่นสายตาสั้นให้ใส่
ถ้าสายตายาวก็ตัดแว่นสายตายาวให้ใส่
เมื่อใส่แว่นเข้าไปแล้วก็จะมองเห็นภาพชัดเจน
จะเห็นผู้หญิงเป็นผู้หญิง
ผู้ชายเป็นผู้ชาย
เด็กเป็นเด็ก
เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเปรียบเหมือนกับแว่น
แว่นส่องใจ
แว่นดวงใจ
ถ้ามีธรรมแล้ว
จะทำให้จิตมีความเห็นที่ถูกต้อง
เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
ก็จะประพฤติตนไปในทางที่ถูกต้องดีงาม
ทำไมการทำความดีจึงเป็นเรื่องยากเย็น
ก็เพราะความเห็นผิดนั่นเอง
เห็นว่าการทำความชั่วเป็นสิ่งที่ดี
ก็เลยทำความชั่วกัน
เห็นว่าทำความชั่วแล้วมีความสุขความเจริญ
เพราะเห็นว่าทำความชั่วแล้วไม่มีผลตามมานั่นเอง
ซึ่งเป็นความเห็นผิด
ถ้าได้พบพระศาสนา
ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วปฏิบัติตาม ก็จะค่อยๆมีความเห็นที่ถูกต้องเกิดขึ้นมา
เห็นบาปเป็นบาป
เห็นบุญเป็นบุญ
เห็นคุณเป็นคุณ
เห็นโทษเป็นโทษ
เห็นว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเป็นสิ่งที่ดี
นำพาผู้ปฏิบัติไปสู่ความสุขความเจริญได้อย่างแท้จริง
หน้าที่ของคนไข้เมื่อไปหาหมอแล้ว
ก็ต้องเชื่อฟังหมอ หมอตัดแว่นให้ใส่ก็ต้องใส่
เมื่อใส่แว่นแล้วก็จะเห็นทุกอย่างชัดเจนถูกต้องตามความเป็นจริงฉันใด
เมื่อพบพระศาสนาแล้ว
ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนแล้ว
ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ
ธรรมที่ทรงสอนให้เจริญอยู่เสมอเพื่อทำความเห็นให้ถูกต้อง
คือให้เจริญอยู่เสมอๆว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
เราต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง
เรามีกรรมเป็นของๆตน
มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่ง
จักทำกรรมอันใดไว้
ดีหรือชั่ว
จักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ธรรมทั้ง ๕
ประการนี้เป็นสัจธรรม
เป็นความจริงที่ควรจะเจริญอยู่เรื่อยๆ
สอนใจอยู่เรื่อยๆ
เพราะเป็นความเป็นจริงที่แก้ความเห็นผิด
มิจฉาทิฏฐิ หลังจากที่ได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ควรนำเอามาคิดเอามาใคร่ครวญอยู่เสมอๆ
สอนใจอยู่เสมอๆ
วันหนึ่งๆเวลาว่างๆ
อย่าไปคิดเรื่องอื่น
ขอให้เจริญธรรมทั้ง ๕ นี้
แล้วจิตจะค่อยๆ
ขยับเข้าสู่ความจริง
ยอมรับความจริง
ยอมรับความแก่
ยอมรับความเจ็บไข้ได้ป่วย
ยอมรับความตาย
ยอมรับความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง
ยอมรับกรรม
แล้วจะทำแต่กรรมดีต่อไป
จะไม่ทำกรรมชั่ว
เพราะรู้ว่าเมื่อทำบาปแล้วผลของบาปก็จะตามมา
สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับตนเอง
จะทำแต่ความดี
แล้วผลของความดีคือความสุขความเจริญก็จะตามมา
การที่จะทำให้จิตยอมรับสัจจธรรมทั้ง
๕ นี้ได้
จิตต้องเข้าสู่ความสงบ
ในเบื้องต้นจึงต้องทำจิตให้สงบเสียก่อน
เหมือนกับแพทย์
เวลาจะผ่าตัดคนไข้
ในเบื้องต้นต้องวางยาสลบให้คนไข้อยู่นิ่งๆก่อน
ไม่เช่นนั้นแล้วจะผ่าตัดไม่ได้
การผ่าตัดจิตให้มีความเห็นที่ถูกต้องก็เช่นกัน
ต้องทำให้จิตนิ่งเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นแล้ว อคติ
๔ ที่มีอยู่ในจิต คือ รัก
ชัง หลง กลัว
จะคอยขัดขวางไม่ให้เจริญสัจจธรรมทั้ง
๕ นี้ได้
จึงต้องเจริญสมาธิเสียก่อนเพื่อทำจิตให้สงบนิ่ง
วิธีที่จะทำให้จิตสงบเรียกว่าการทำสมาธิ
สมถภาวนา
คือการหยุดใจนั่นเอง
เหมือนกับการขับรถยนต์
เวลาต้องการให้รถยนต์หยุด
ก็ต้องเหยียบเบรก
ต้องผ่อนคันเร่ง
จิตก็เช่นกัน เวลาจะทำจิตให้สงบนิ่ง
ก็ต้องเบรกจิต เบรกด้วยสติ
สติเป็นเบรกของจิต
ถ้ามีสติแล้วจะสามารถดึงจิตให้อยู่นิ่งได้
แต่ถ้าไม่มีสติแล้ว
จิตก็จะลอยไปเรื่อยๆ
เหมือนกับเรือที่ลอยอยู่ในน้ำ
ถ้าไม่ให้เรือลอยไป
ก็ต้องผูกไว้กับหลัก
ผูกไว้กับเสา หรือทอดสมอ
เรือถึงจะไม่ลอยไปตามกระแสน้ำ
จิตก็เหมือนกัน
จะไม่นิ่งถ้าไม่มีอะไรคอยรั้งดึงไว้
ไม่ผูกไว้จิตก็จะลอยไปเรื่อยๆตามกระแสของอารมณ์
และเมื่อปล่อยให้ลอยไปตามกระแสของอารมณ์แล้ว จิตจะไม่มีพลัง
ไม่มีกำลังที่จะยืนอยู่บนความเป็นจริงได้
จะไม่ยอมรับความจริง
เพราะมีอคติครอบงำจิต
อคติก็คือความรัก ความชัง
ความหลง ความกลัว
ซึ่งมีอำนาจผลักดันให้จิตปฏิเสธสัจจธรรมความจริง
ทำให้อยากไม่แก่ ไม่เจ็บ
ไม่ตาย
ไม่พลัดพรากจากสิ่งต่างๆที่รักที่ชอบ
ทำให้กล้าทำกรรมชั่ว
เพราะจิตไม่มีพลังที่จะต่อต้านอคติทั้ง
๔ ที่ครอบงำจิตอยู่
แต่ถ้าจิตมีสติคอยรั้งไว้
ไม่ให้จิตไหลไปตามกระแสของอคติ
๔ แล้ว ต่อไปอคติ
๔
จะไม่สามารถฉุดกระชากลากจิตให้ไปกระทำความชั่วได้
เพราะรู้แล้วว่าอะไรดี
อะไรชั่ว ที่ยังหักห้ามใจไม่ได้
ทั้งๆที่รู้ว่าการโกหกไม่ดี
ก็ยังโกหกกัน ลักทรัพย์ไม่ดี
ก็ยังลักทรัพย์กัน
ฆ่าสัตว์ไม่ดี
ก็ยังฆ่าสัตว์กัน
ประพฤติผิดประเวณีไม่ดี
ก็ยังทำกัน
เสพสุรายาเมาไม่ดี
ก็ยังทำกัน เพราะเหตุใด
เพราะจิตยังถูกอคติ
คือความรัก ความชัง ความหลง
ความกลัว ฉุดลากพาไป
เหมือนเรือที่จอดแล้วไม่ได้ทอดสมอ
หรือไม่ได้ผูกไว้กับหลัก
ก็จะถูกกระแสน้ำลากพาไป
จึงต้องสร้างสมาธิ
คือความนิ่งของจิตให้เกิดขึ้น
ด้วยการผูกจิตไว้กับหลักกับเสา
อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยการมีสติ
ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
ที่เป็นอารมณ์ของภาวนาหรือกรรมฐาน
ซึ่งมีอยู่หลากหลายอารมณ์ด้วยกัน
ส่วนใหญ่ที่ใช้กันคือการสวดมนต์
การสวดมนต์เป็นการผูกจิตให้อยู่กับบทสวดมนต์
ไม่ให้ลอยไปคิดเรื่องไปเที่ยว
ไปกินเหล้า ไปเล่นการพนัน
ไปหากามสุขต่างๆ
ไปคิดถึงเรื่องราวที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
ถ้าสวดมนต์ด้วยสติ
คือให้ใจรู้อยู่กับการสวดมนต์
สวดไปเรื่อยๆ
อย่าให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ
แล้วจิตจะค่อยๆสงบ จะค่อยๆ
เย็น จะค่อยๆนิ่ง จะค่อยๆมีพลังที่จะต้านอคติทั้งหลายที่มีอยู่ในจิต
ที่คอยฉุดลากจิตให้ไปกระทำสิ่งต่างๆที่ไม่ควรทำ
นี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง
จึงมีพิธีทำวัตรสวดมนต์
เป็นธรรมเนียมของพุทธศาสนิกชน
ที่ทุกเช้า
ทุกเย็นจะไหว้พระสวดมนต์กัน
เพื่อเป็นเครื่องผูกจิตไว้
ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของความชั่วทั้งหลาย
หรือจะพัฒนาการปฏิบัติขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็ได้
แทนที่จะสวดมนต์
ก็เจริญอานาปานสติ
เจริญพุทธานุสติ
อานาปานสติคือการมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก
พุทธานุสติ คือการบริกรรม
พุทโธๆ
ถ้าเจริญธรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
จิตจะค่อยๆนิ่ง ค่อยๆสงบ
บางครั้งอาจจะรวมลงเป็นสมาธิเลยก็ได้
รวมลงเป็นหนึ่ง
เป็นเอกัคคตารมณ์
จิตเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เดียว
สักแต่ว่ารู้
สงบนิ่ง
ไม่กลิ้งไปกลิ้งมา
เปรียบเหมือนกับลูกกอล์ฟ
ที่ถูกตีลงไปในหลุมแล้วจะไม่กลิ้งไปไหน
แต่ถ้ายังไม่ลงหลุม
ก็จะกลิ้งไปกลิ้งมาได้
ฉันใดจิตก็เช่นกัน
ถ้าสามารถบริกรรมพุทโธๆๆ
ให้มีสติรู้อยู่กับพุทโธๆๆ
หรือกำหนดด้วยลมหายใจเข้าออก
ให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก
โดยไม่ให้ไปคิดอะไร
ถ้าทุกอย่างพร้อม
จิตก็จะเข้าสู่สมาธิ
คือรวมเป็นหนึ่ง
ที่เรียกว่าเอกัคคตารมณ์
ในขณะนั้นจะมีความสุข
มีความสงบนิ่ง เป็นอุเบกขา
ไม่มีอะไรมาขยับจิตได้
จิตจะไม่สนใจกับอะไร
จิตอาจจะอยู่ในสมาธิได้เป็นชั่วโมงๆ
หรือนานกว่านั้น
ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิ
สมาธิจึงเป็นธรรมที่จะต้องสร้าง
ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นมาให้ได้
เพราะจะเป็นกำลังต่อต้านอคติทั้ง
๔ กับความชั่วทั้งหลาย
ที่คอยฉุดลากจิตให้ไปสู่ที่ต่ำ
ที่ไม่ดี
จิตจะมีกำลังที่จะรับกับสภาพความเป็นจริง
กับสภาวธรรมทั้งหลาย
ว่าเป็นอย่างนี้แหละ อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง
ควบคุมไม่ได้ ถ้าปล่อยวางได้
ก็จะไม่ทุกข์กับเขา
ร่างกายจะเป็นอย่างไร
ก็ให้เป็นไปตามความเป็นจริงของเขา
ดูแลรักษาเท่าที่จะทำได้
ให้อาหาร ให้ยา ให้เสื้อผ้า
ให้ที่อยู่อาศัย
แต่ไปหยุดความแก่ไม่ได้
หยุดความเจ็บไข้ไม่ได้
หยุดความตายไม่ได้
หยุดการพลัดพรากจากกันไม่ได้
เมื่อปล่อยวางแล้ว
จะไม่ทุกข์
จะเป็นเหมือนกับพระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวก
เพราะมีความเห็นที่ถูกต้อง
มีแว่นส่องใจสวมใส่
ทำให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความเป็นจริง
เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มีอยู่ก็มีไป
แต่จะไปก็ไม่เสียดาย
ใจพร้อมอยู่แล้ว
ว่าในที่สุดชีวิตก็ต้องหมดสิ้นไป
ไม่มีใครไม่ตาย
มาแล้วในที่สุดก็ต้องไป
แต่จะอยู่ดีไปดี
หรืออยู่แบบไม่ดีไปไม่ดี
ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีแว่นส่องใจใส่หรือเปล่า
ถ้ามีแว่นตาแห่งธรรมคือความเห็นชอบ
ความเห็นที่ถูกต้อง
ก็จะอยู่อย่างมีความสุข
อยู่อย่างมีความสบายใจ
เพราะจะอยู่โดยไม่โลภ
ไม่โกรธ ไม่หลง เพราะเหตุใด
เพราะปล่อยวาง
ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ
สิ่งต่างๆจะเป็นไปอย่างไร
ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง
ไม่อยากให้เป็นไปตรงกันข้าม
น้ำตาลจะหวานก็ให้หวานไป
เกลือจะเค็มก็ให้เค็มไป
ร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตาย
ก็ให้เขาเป็นไป
ใครจะอยู่กับเราก็อยู่ไป
ใครไม่อยากจะอยู่กับเรา
ก็ให้เขาไป เท่านั้นแหละ คือปล่อยไปตามธรรมชาติ
แล้วเราจะไม่ทุกข์กับอะไร
จะมีแต่ความสุข
เพราะตามความเป็นจริงแล้ว
ความสุขอยู่ที่ตัวเราเอง
อยู่ที่ใจของเรา
เราอยู่ได้คนเดียว
มีความสุขได้ ไม่ต้องมีอะไร
เราก็มีความสุขได้
และเป็นความสุขที่เลิศที่ประเสริฐกว่าความสุขอันใดทั้งสิ้นในโลกนี้
จึงขอฝากเรื่องราวของพระธรรมคำสอน
ที่ได้แสดงไว้ในวันนี้
ที่สอนเรื่องเหตุเรื่องผล
สอนให้เห็นถึงสภาพของความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย
ว่าเป็นอย่างไร
เพื่อจะได้มีความเห็นที่ถูกต้อง
เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
จะได้ปล่อยวาง
แล้วจะมีแต่ความสุขใจ
เพราะจะไม่ทุกข์กับอะไร
นี่แหละคือบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
คือการทำความเห็นให้ถูกต้อง
เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้
เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้วต้องไปในที่สุด
ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วเราก็จะปล่อยวาง
ปล่อยวางแล้ว
เราก็จะมีแต่ความสบายใจ
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้