กัณฑ์ที่ ๘๗      ๑๗ กันยายน ๒๕๔๔

การฟังธรรม

 

การได้เข้าวัดทำบุญทำทาน ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เป็นการกระทำที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง  เพราะว่าการฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญแก่จิตใจ ถ้าเปรียบเทียบจิตใจเป็นต้นไม้ ธรรมะก็เป็นเหมือนกับน้ำ ถ้าต้นไม้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ ต้นไม้ก็จะไม่เฉาตาย แต่จะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ไปในที่สุด โดยมีน้ำเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง  จิตใจก็เช่นกัน จะมีความสุข มีความเจริญได้ก็ต้องมีธรรมะ แสงสว่างแห่งธรรม เป็นเครื่องนำพาไป เพราะว่าชีวิตเปรียบเหมือนกับการเดินทาง จุดหมายปลายทางคือความสุขความเจริญ ไม่มีใครอยากจะไปสู่ที่มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสีย ทุกๆคนอยากจะมีแต่ความสุขความเจริญด้วยกันทั้งนั้น แต่เหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ ก็เป็นเพราะว่าใจยังมืดบอดอยู่

เปรียบเหมือนกับคนตาบอดที่มองไม่เห็นทาง ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่จะพาให้ไปสู่ที่ดีที่งาม ไปสู่ที่สุขที่เจริญ เปรียบเหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืด เวลาอยู่ในที่มืดจะไม่เห็นสิ่งต่างๆ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้ามีแสงสว่างอย่างเช่นตอนกลางวันมีแสงของพระอาทิตย์ ไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก เพราะเห็นทาง สามารถหลีกสิ่งที่เป็นภัยเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าอยู่ในที่มืดจะมองไม่เห็นว่า อะไรเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย จึงต้องอาศัยแสงสว่างในที่มืด ยามค่ำคืนต้องจุดเทียน มีไฟฉายหรือมีไฟฟ้าไว้ใช้ ถึงจะสามารถเห็นสิ่งต่างๆได้ เหมือนกับเห็นสิ่งต่างๆที่เห็นในตอนกลางวัน  ใจของปุถุชนอย่างเราอย่างท่าน ก็เป็นเหมือนกับคนที่ยังมีความมืดบอดอยู่ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเหตุของความสุข อะไรเป็นเหตุของความทุกข์ เมื่อไม่รู้ก็เลยทำไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เหมือนกับเวลาไปจับปลา มองไม่เห็นตัวปลาในน้ำ ก็ต้องใช้สุ่ม สุ่มเข้าไป ถึงเรียกว่าสุ่มสี่สุ่มห้า ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะมองไม่เห็นตัวปลา แต่ถ้าน้ำใสจนเห็นตัวปลา การจับปลาก็จะง่าย ฉันใดใจของเราก็เช่นกัน ถ้าใจมีแสงสว่างแห่งธรรมพาชี้ทางไป ก็จะเดินทางไปได้โดยราบรื่นสะดวกปลอดภัย ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการไปให้ถึงกัน

การฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกับชีวิตจิตใจ พระบรมศาสดาทรงปรารภไว้ว่า อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งควรจะได้ยินได้ฟังธรรมกันสักครั้งหนึ่ง จึงได้กำหนดวันพระขึ้นมา เพื่อเราจะได้ปล่อยวางภารกิจการงานต่างๆ การทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เข้าวัดทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะว่าเมื่อได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จะได้ขจัดความไม่รู้ ความสงสัยที่มีอยู่ภายในใจ ทำความเห็นให้ถูกต้อง ทำจิตใจให้มีความสงบร่มเย็นเป็นสุข เหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืด จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้า เป็นพิษเป็นภัยหรือไม่ เพราะว่ามองไม่เห็น ฉันใดเรื่องต่างๆที่เรายังไม่เข้าใจ เช่นเรื่องสวรรค์ เรื่องนรก เรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ถ้ายังไม่รู้ ก็จะสงสัยว่ามีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือเปล่า นรกมีจริงหรือเปล่า กรรมมีหรือไม่ ตายไปแล้วจะต้องไปเกิดหรือไม่อย่างนี้เป็นต้น เป็นสิ่งที่เรายังสงสัยกันอยู่ เพราะตาของเราไม่สามารถมองข้ามภพข้ามชาติได้ ไม่สามารถมองเห็นนรก มองเห็นสวรรค์ได้ เพราะต้องใช้ตาทิพย์ดู ต้องมีปัญญา มีแสงสว่างแห่งธรรมจึงจะเห็นได้ จึงต้องฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ เมื่อได้ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆแล้ว ก็จะรู้ จะเข้าใจ แล้วความสงสัยในเรื่องต่างๆก็จะค่อยๆหมดไป แล้วก็จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่ดี อะไรคือบาป อะไรคือบุญ แต่ถ้าไม่ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะไม่รู้

ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฟังแล้ว จะไม่รู้อย่างแท้จริงว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็จะเกิดความเห็นผิดขึ้นมา แทนที่จะมีความเห็นที่ถูกต้องคือมี สัมมาทิฏฐิ ก็จะมีความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ เห็นกลับตาลปัตร เห็นตรงกันข้ามกับความจริง เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นบาปเป็นบุญ เห็นบุญเป็นสิ่งที่ไม่มีในโลกอย่างนี้เป็นต้น คนเราจึงขยันทำบาปกัน ทุกวันนี้ในสังคมจะเห็นได้ว่าคนจะไม่มีความเกรงกลัวบาปเลย เวลาเปิดหนังสือพิมพ์ขึ้นมาดู จะมีแต่เรื่องฆ่าฟัน ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมาเป็นประจำ และเมื่อทำไปแล้วก็มีปัญหาตามมา มีเรื่องมีราวกัน จนในที่สุดก็ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง หรือถูกประหารชีวิตไปในที่สุด

เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในใจของผู้ที่มีความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความสุข รู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์ เมื่อรู้แล้วก็จะทำแต่สิ่งที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ  ส่วนการกระทำที่ทำไปแล้วทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ความเดือดร้อนขึ้นมา ความเสื่อมเสียขึ้นมา ก็จะละเว้น ไม่กระทำ เช่นละเว้นจากการเสพสุรายาเมา เที่ยวค่ำคืน เล่นการพนัน คบคนไม่ดีเป็นมิตร ความเกียจคร้าน เหล่านี้เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย เรียกว่าอบายมุข ทวารสู่อบาย เมื่อยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขแล้ว ขั้นต่อไปก็จะถูกฉุดเข้าสู่อบาย คือการกระทำบาปนั่นเอง  เช่นไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เพราะว่าเมื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว แต่ไม่สามารถหามาได้ด้วยความสุจริต ก็จะไม่หยุดอยู่ตรงนั้น  แต่จะก้าวล่วงล้ำเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือเมื่อไม่มีทรัพย์ที่จะซื้อของที่เราต้องการ เราก็จะไปโกหกผู้อื่น  หลอกลวงผู้อื่นเพื่อที่จะเอาเงินจากเขามา  ถ้าโกหกหลอกลวงไม่ได้ ก็จะไปขโมยมา  เมื่อขโมยมาไม่ได้ ก็จะไปจี้ไปปล้น  เมื่อมีการขัดขวางมีการต่อสู้กัน ก็ต้องทำลายชีวิตของผู้อื่น

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะความเห็นผิด เห็นว่าการเสพพวกอบายมุขเป็นความสุขนั่นเอง  แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์  เมื่อเสพเข้าไปแล้ว  จะติดสิ่งเหล่านี้  แล้วจะต้องหาเงินหาทองมาเพื่อที่จะได้สิ่งเหล่านี้ เมื่อหาเงินทองโดยสุจริตไม่ได้ ก็ต้องหาด้วยความทุจริต ด้วยการกระทำบาป เมื่อกระทำบาปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือความเดือดร้อนใจ  ไหนจะต้องคอยหลบหลีกเจ้าหน้าที่  เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับก็ต้องเข้าคุกเข้าตะราง  ถ้าโทษหนักก็ต้องถึงกับประหารชีวิต  ตายไปแล้วยังต้องไปใช้กรรมต่ออีก เพราะว่าเมื่อได้กระทำบาปแล้วก็ต้องไปสู่อบาย ไปเกิดในอบายทั้ง ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี่คือที่เกิดของผู้ที่กระทำบาปทั้งหลาย  แต่ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็จะเกิดความกลัวบาปขึ้นมา จะไม่กล้ากระทำบาป  จะพยายามละเว้นจากการเกี่ยวข้องกับพวกอบายมุขทั้งหลาย  เมื่อไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขแล้ว  เงินทองก็จะไม่สูญหมดไป  เงินทองที่มีอยู่ก็จะพอเพียงกับการใช้จ่าย  จึงไม่ต้องไปทำบาป ไม่ต้องไปทำผิดศีลข้อหนึ่งข้อใด

นี่คือผลที่ได้รับจากการฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นประโยชน์  เพราะจะสอนให้รู้จักว่าอะไรคือเหตุที่นำมาซึ่งความสุข อะไรคือเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ แล้วเราก็จะพยายามทำแต่เหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข  สุขนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำคุณงามความดี เช่นการทำบุญให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่น   เวลาช่วยเหลือผู้อื่น เท่ากับให้ความสุขกับผู้อื่น เมื่อผู้อื่นมีความสุข เราเห็นผู้อื่นเขามีความสุขที่เกิดจากการกระทำของเรา เราก็มีความสุขใจขึ้นมา  เราก็มีความอิ่มใจขึ้นมา  เมื่อเรามีความอิ่มแล้ว เราก็ไม่หิวกระหาย จึงไม่ต้องออกไปหาความสุขจากสิ่งภายนอก เช่นไปเที่ยวเตร่ ไปหาความสุขจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ที่เรียกว่ากามสุข  เมื่อไม่ต้องไปหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้  เงินทองที่มีอยู่ก็ไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์  สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับการดำรงชีพของเรา  เงินทองของเราก็จะมีเหลือมาก  เราก็จะอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น  ไปโกงผู้อื่น เพื่อที่จะหาเงินหาทองมาใช้  เพราะว่าใจของเรามีความอิ่มนั่นเอง  เวลาทำบุญแล้ว บุญจะไประงับโมหะความหลง ความเห็นแก่ตัว ไประงับความโลภ ความอยาก จึงทำให้เกิดความอิ่มใจขึ้นมา

เมื่อมีความอิ่มใจแล้ว อยู่บ้านเฉยๆก็อยู่ได้ อยู่บ้านเปิดวิทยุ เปิดเทปฟังธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ กลับมีความสุขมากกว่าออกไปเที่ยวเตร่ ใช้เงินใช้ทองซื้อข้าวซื้อของ เมื่อไม่ต้องใช้เงินทองเพื่อซื้อความสุข ก็จะมีเงินทองเหลือใช้ ไม่ต้องไปกระทำความไม่ดีทั้งหลายเพื่อหาเงินทองมาใช้ ก็สามารถทำแต่ความดี  เมื่อทำความดีแล้ว ผลของความดีก็จะกลับมาหาเรา  เวลาเราช่วยเหลือผู้อื่น เขาก็จะมีความเคารพนับถือ ชื่นชมยินดีในตัวเรา  ต่อไปในอนาคตถ้าเกิดเรามีความยากลำบาก ตกทุกข์ได้ยาก บุญที่เรากระทำในวันนี้ก็จะมาช่วยเรา  คนที่เราเคยช่วยเหลือเขา  เมื่อเขารู้ว่าเราเดือดร้อน ถ้าเขาช่วยเหลือเราได้เขาก็จะต้องมาช่วยเหลือเราอย่างแน่นอน   นี่คือประโยชน์ของการฟังเทศน์ฟังธรรม ทำให้ได้รู้เรื่องราวต่างๆ ที่โดยปกติแล้วจะไม่ได้ยินได้ฟัง 

ถ้าไม่ได้ฟังธรรมะแล้ว  ส่วนใหญ่ก็จะฟังแต่เรื่องราวที่ยั่วยุให้เกิด โลภ โกรธ หลง คนเราส่วนใหญ่เวลาคุยกัน จะคุยแต่เรื่องเงินทอง ได้มากน้อยแค่ไหน  ได้ลาภ ได้ยศกันมากน้อยแค่ไหน  แล้วจะได้เอาไปใช้  เอาไปเที่ยวกันอย่างไร  สิ่งเหล่านี้เมื่อฟังไปแล้วจะทำให้เกิดกิเลส เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยาก แทนที่จะทำให้สงบใจ อิ่มใจ กลับทำให้เกิดความหิว ความกระหาย ความอยากขึ้นมา  เมื่อเกิดความหิว ความกระหาย ความอยากแล้ว ก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้ อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องออกไปข้างนอก ไปเสียเงินเสียทอง ไปใช้เงินทองเสียก่อน จึงจะกลับบ้านได้  โบราณเขากล่าวไว้ว่า เวลาออกไปเที่ยวข้างนอก เหมือนไก่บิน เวลากลับบ้านใช้เงินทองหมดแล้ว เหมือนห่ากิน เวลาออกข้างนอกก็เหมือนไก่จะบิน ดีอกดีใจ  แต่เวลากลับบ้านสังเกตดูซิคอพับกลับมา บางคนเมาเหล้ากลับมาอย่างไม่รู้สึกตัว นี่หรือคือความสุข

ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องเสียเงินเสียทอง  เพราะความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบของจิตใจ เกิดขึ้นได้ด้วยการระงับดับกิเลสตัณหา ความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ถ้าไม่ระงับดับกิเลสตัณหา ความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว  ต่อให้ได้ไปเที่ยวมามากเท่าไร ใช้เงินมากเท่าไรก็ตาม ก็ยังจะไม่มีความสุข เพราะว่าใจไม่สงบ ใจไม่นิ่ง ใจไม่พอ  ใจยังอยากอยู่เรื่อยๆ ได้อะไรมาเท่าไรก็ไม่พอ ยังอยากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าได้ทำใจให้สงบแล้ว  ใจจะอิ่ม ใจจะพอ  จะไม่หิวกับอะไร จะไม่อยากกับอะไร  วิธีที่จะทำให้ใจสงบ ให้นิ่งได้ ก็ต้องชำระกิเลสตัณหา ความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ และวิปัสสนา เจริญปัญญา ความรู้ที่จะช่วยทำให้ปล่อยวางสิ่งต่างๆทั้งหลาย เพราะถ้ารู้แล้วว่าสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกที่เราปรารถนากัน ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ หรือกามสุขนั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข ทำไมถึงเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นของไม่เที่ยง ของอันใดที่เป็นของไม่เที่ยง ย่อมนำความทุกข์มาให้กับเรา 

เวลาที่คนเขาร้องห่มร้องไห้กัน  เขาร้องห่มร้องไห้เพราะอะไร  เพราะเขาสูญเสียสิ่งที่เขารักไป  ทำไมต้องสูญเสียสิ่งที่รักไป ก็เพราะสิ่งที่เขารักนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ไม่อยู่กับเขาไปตลอด  มีมาได้แล้วสักวันก็ต้องไปได้  เป็นของที่ไม่อยู่กับที่ ไม่คงเส้นคงวา เป็นอนัตตา  คือเป็นสภาวธรรม  เป็นธรรมชาติ เหมือนกับลมกับแดดกับฝน  สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถที่จะไปบังคับ ไปควบคุม ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้  ถ้าไปหลง ไปยึด ไปติดกับสิ่งเหล่านี้แล้ว จะหาความสงบไม่ได้  จะหาความสุขไม่ได้  จะหาความพอไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้เรามีความพอ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไตรลักษณ์ มีคุณลักษณะอยู่ ๓ ลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา ไม่สามารถควบคุมบังคับสิ่งเหล่านี้ให้อยู่กับเราไปได้ตลอด  จะต้องจากเราไป ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าเราฉลาด เรารู้ ก็จะไม่ไปยึดไปติด เวลาเขาจากเราไป หรือเปลี่ยนแปลงไปเราก็จะไม่ทุกข์  แต่ถ้าไปยึดไปติดว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องอยู่กับเราไปตลอด  ต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอด  แล้วถ้าเกิดเวลาเขาไม่เป็นไปอย่างนั้น ก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา

นี่คือความทุกข์ใจ ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆภายนอกใจ แต่เกิดขึ้นจากใจที่ไม่ยอมรับกับสภาพต่างๆที่มีอยู่เป็นอยู่ต่างหาก  ถ้าทำใจยอมรับกับสภาพต่างๆที่มีอยู่เป็นอยู่ในโลกนี้ได้ก็จะไม่ทุกข์ใจ  เช่นวันนี้ฝนไม่ตก ถ้าไม่ไปอยากให้ฝนตกก็จะไม่เดือดร้อนใจ  แต่ถ้าอยากให้ฝนตกแล้วไม่ตก ก็จะเดือดร้อนใจ  หรือถ้าไม่อยากให้ฝนตกแล้วฝนกลับตกก็จะเดือดร้อนใจเช่นกัน ความทุกข์ใจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอกใจ  ความทุกข์ใจขึ้นอยู่กับใจต่างหาก  ขึ้นอยู่กับใจที่จู้จี้จุกจิก ไม่รู้จักคำว่าพอ ไม่รู้จักคำว่าสันโดษ คือยินดีตามมีตามเกิด ตามสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่  วันนี้ร้อนก็รับได้ วันนี้หนาวก็รับได้ วันนี้ฝนตกก็รับได้  ถ้าใจรับได้ใจจะไม่ทุกข์   ใจทุกข์เพราะเวลาใจไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด แทนที่จะปรับใจให้ยอมรับสิ่งนั้นๆ กลับไปแก้สิ่งนั้นให้ถูกกับใจ ถ้าแก้ได้ก็ดีไป ถ้าแก้ไม่ได้ก็ทุกข์ไป  เห็นเขาทำอะไรที่ไม่ถูกใจเรา ก็ต้องไปต่อว่าเขา ว่าคุณทำไมถึงทำอย่างนี้ ทำไมคุณไม่ทำอย่างนั้น  ถ้าเขาไม่ฟังเรา ก็จะต้องทะเลาะกัน ทุบตีกัน เพื่อบังคับเขาให้ทำตามที่เราต้องการ  นี่เป็นวิธีแก้ที่ผิด  เพราะว่าความทุกข์เกิดจากใจที่ไม่ฉลาด  ไม่ปล่อยวาง ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง

ถ้าแก้ปัญหาที่ใจ คือยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าอะไรจะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป  อันไหนแก้ไขได้ ดูแลรักษาได้ ก็แก้ไขดูแลรักษาไป  ถ้าแก้ไขดูแลรักษาไม่ได้ ยอมรับสภาพดีกว่า แล้วใจจะสงบ ความไม่สบายใจก็จะหายไป เช่นสามีหรือภรรยา คนที่เรารัก ประพฤติตนไม่ถูกใจเรา ไม่เป็นไปดังที่เราต้องการ ก็ไปโกรธเขา แล้วก็ไปว่าเขา แล้วก็พยายามบังคับให้เขาทำตามที่เราต้องการ แทนที่เขาจะทำตามที่เราต้องการ เขากลับมีอารมณ์ตอบโต้กลับมา โกรธเรามากขึ้นไปเสียอีก ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ มีการต่อต้าน  แทนที่จะทำตามที่เราต้องการ กลับทำในสิ่งที่เราไม่ต้องการ  ทำให้เราทุกข์ใจมากขึ้นไปอีก  แล้วในที่สุดก็อยู่ด้วยกันไม่ได้  ต้องแยกทางกันไป  หรือทำร้ายร่างกายกันก็มี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากการทำใจไม่ได้  ไม่ยอมรับความจริงของชีวิตว่าเป็นอย่างนี้  แต่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น 

ถ้ามีสติปัญญา  ยอมรับความจริง  เวลาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  จะบอกตัวเราว่าความทุกข์ใจมันอยู่ในใจเรานะ  มันเกิดจากความจู้จี้จุกจิกของเรา  มันเกิดจากความต้องการของเรา  คือเกิดจากตัณหาความอยากของเราเอง  อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  เมื่อไม่เป็นไปดังที่ต้องการ ก็เกิดความหงุดหงิดใจ เกิดความไม่สบายใจ ต้องการให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามที่เราต้องการ  แต่พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นสภาวธรรม คือเป็นธรรมชาติ  แม้แต่คนก็เป็นสภาวธรรม  ร่างกายของคนก็มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ใจก็เป็นธาตุรู้ เป็นธรรมชาติทั้งนั้น ไม่มีตัว ไม่มีตน  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป พระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า แล้วก็ตกตอนเย็น  ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนี้ ถ้ายอมรับสิ่งต่างๆเหล่านี้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว  เราก็จะไม่ไปยุ่งกับเขา ถ้าจะแก้ไขอะไร ก็แก้ไขพอประมาณ เท่าที่ทำได้ เท่าที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆแล้ว ก็ปล่อยเขาไปเถิด แล้วจะสบายใจ จะไม่เดือดร้อนใจ ไม่วุ่นวายใจ จะมีความสุข มีความสบาย เพราะความจำเป็นของชีวิตมีไม่มาก เพียงปัจจัย ๔ เท่านั้นเอง คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

ส่วนความสุขของใจนั้น เกิดจากการชำระกิเลสตัณหา ชำระความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ทั้งหลายให้หมดไป  และการที่จะชำระความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้มันหมดไปจากใจได้ ต้องอาศัยการฟังเทศน์ฟังธรรมในเบื้องต้น เมื่อฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จะรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่จะต้องทำก็มีอยู่ ๓ อย่าง คือ .ทำบุญให้ทาน ๒. รักษาศีล ๓. เจริญจิตตภาวนา ทำจิตให้สงบแล้วก็เจริญวิปัสสนา ให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นว่าเป็นอย่างนั้นแล้วจะได้ปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้ว ใจจะสงบ ใจจะอิ่ม ใจจะพอ  เราก็ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรอีกต่อไป เรื่อง ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ก็จะไม่มีความสำคัญกับเรา  เพราะเรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความทุกข์  เวลามีแล้วกลับไม่พอ กลับอยากได้เพิ่มขึ้นไปอีก  เวลามีก็กลัวจะหมด กลัวจะสูญหาย เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ให้กับเราทั้งนั้น  ถ้ามีปัญญา มีธรรมะแล้ว จะต้องจำ ๓ คำนี้ไว้เสมอ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ถ้าจำ ๓ คำนี้ได้แล้ว จะไม่กล้าไปอยากมีอะไร อยากเป็นอะไร อยากกับอะไรทั้งสิ้น  เพราะมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ความสุข  เมื่อปล่อยวางแล้วใจจะสงบ ใจจะสบาย  วันๆหนึ่งไม่ต้องทำอะไรหรอก  นั่งเฉยๆก็มีความสุขแล้ว  กินข้าววันละมื้อก็อยู่ได้แล้ว  ทีวีก็ไม่ต้องดู หนังก็ไม่ต้องดู  ไม่เห็นจะต้องมีอะไรเลยชีวิตของคนเรา ความสุขมันอยู่ที่ใจที่สงบ ที่ใจไม่สงบกันก็เพราะไม่ได้ฟังธรรมของพุทธเจ้า เลยไม่รู้วิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  ก็เลยไปหลงหาแต่ยาพิษมาใส่ใจ หาลาภ หายศ หาสรรเสริญ หากามสุข หามาได้เท่าไรแทนที่จะมีสุข กลับมีแต่ความทุกข์   ทุกข์ที่เกิดจากความหิว เกิดจากความกระหาย เกิดจากความไม่อิ่มไม่พอนั่นเอง

จึงขอให้น้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจของเรา ให้เชื่อว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นความจริง เป็นสวากขาโต ภควตาธัมโม เป็นธรรมที่ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว  คำว่าชอบคือถูกต้องตามหลักความจริง  สิ่งที่ทรงสอน คือให้กระทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม  ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง และชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง  ด้วยการตัด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจ  นี่แหละคือวิถีทางที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญอย่างแท้จริง  วิธีอื่นจะไม่ให้ความสุขกับเรา  ถึงแม้จะมีสมบัติกองเท่าภูเขา  ใจยังจะต้องทุกข์ ยังต้องกังวล  ยังต้องเศร้าโศกเสียใจอยู่  เพราะเงินทองกองเท่าภูเขาไม่สามารถดับความทุกข์ในใจได้  สิ่งที่จะดับความทุกข์ในใจได้นั้น มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นเอง ก็คือธรรมของพระพุทธเจ้าที่ไม่มีใครหยิบยื่นให้เราได้  แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ไม่สามารถหยิบยื่นให้กับเราได้  เสกหรือเป่าให้เรามีธรรมเกิดขึ้นมาในใจได้  เป็นสิ่งที่เราจะต้องปลูกฝัง สร้างขึ้นมา  เหมือนกับต้นไม้ที่จะต้องปลูก  ต้องคอยดูแลรักษาด้วยการรดน้ำพรวนดิน คอยใส่ปุ๋ย คอยป้องกันไม่ให้แมลงต่างๆมาทำลายฉันใด  ใจของเรา เราก็ต้องรักษา ด้วย ทาน ศีล ภาวนา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้