กัณฑ์ที่ ๙๓     ๒๓     พฤศจิกายน  ๒๕๔๔

สังขาร

 

ในวาระสุดท้าย ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ได้ทรงประทานพระปัจฉิมโอวาท คำสั่งสอนครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นการเตือนสติให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  เป็นคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า สังขาร และคำว่า  ไม่ประมาท    สังขารมีอยู่ ๒ ชนิด คือ สังขารร่างกาย และ สังขารความคิดปรุงแต่ง สังขารทั้ง ๒  เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทรงสอนให้ทำความเข้าใจอยู่เสมอ ไม่ให้หลง ไม่ให้ลืม ไม่ให้เผลอสติ  ให้รู้อยู่เสมอว่าสังขารทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นของไม่เที่ยง  สังขารร่างกายนี้ไม่อยู่ไปตลอด  เกิดแล้วต้องตายเป็นธรรมดา  นี่คือสภาพของร่างกายของทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้  ถ้าไม่คอยตักเตือนสอนตัวเราเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของสังขารร่างกาย ว่าเกิดมาแล้วจะต้องตาย จะทำให้เรามีความหลงอยู่กับชีวิต   หลงอยู่กับการกินอยู่  กับการกระทำอะไรต่างๆไปวันๆหนึ่ง  โดยไม่คำนึงถึงว่าสักวันหนึ่งสิ่งต่างๆที่เรากระทำกัน ที่เรามีอยู่กัน จะต้องหมดไป  คือให้รู้ว่าชีวิตของเรามีขอบมีเขต  สักวันหนึ่งเราจะต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่แล้วเดินทางต่อไป

จึงไม่ควรที่จะหลงกับสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ คือสมบัติข้าวของเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของเรา  เมื่อเราตายไปแล้ว เราไม่สามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปได้ เหมือนคนบ้าหอบฟาง  หอบฟางไปจะมีประโยชน์อะไร ฉันใด  ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ก็เปรียบเหมือนกับฟาง เมื่อเราตายไปแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายอะไรกับดวงวิญญาณที่จะต้องไปเกิดอีกต่อไป   สิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของเราที่เราสามารถนำเอาติดตัวไปได้ คือบาป และบุญต่างหาก  บุญเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยส่งเราไปสู่ที่ดีข้างหน้า  ส่วนบาปเป็นเหตุที่ส่งเราไปสู่ที่ต่ำ ที่เลว ที่เสื่อม นี่ต่างหากคือสมบัติที่แท้จริงของเรา  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คือ ไม่ให้ไปหลงกับทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของ ซึ่งเปรียบเหมือนกับฟาง  ถ้าไปหลงสะสมสิ่งเหล่านี้  ก็เปรียบเหมือนคนบ้าหอบฟาง ไม่มีประโยชน์อะไร ฟางเอาไปทำไม ทำไมไม่เอาสมบัติที่แท้จริงไปกับเรา  เรายังต้องเดินทางไปอีกไกล  ภพชาตินี้เปรียบเหมือนกับที่หยุดพัก ที่สะสมเสบียง เพื่อที่จะได้เดินทางต่อไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  การพ้นทุกข์ การที่ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก  คือพระนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ไปถึง  นั่นแหละเป็นที่อันประเสริฐ เป็นที่ปลอดจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เป็นบรมสุขที่เรียกว่าปรมังสุขัง  นั่นแหละคือจุดหมายปลายทางที่ทุกๆคนแสวงหากัน  ปรารถนากัน

แต่เพราะความหลงเรากลับไปเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เราก็เลยมัวกอดอยู่กับความทุกข์  ทำให้ทุกข์อยู่ร่ำไป  เหมือนกับเห็นงูเป็นปลาไหล  งูมีพิษ แต่ปลาไหลไม่มีพิษ แต่เรากลับไปเห็นงูพิษเช่นงูเห่าเป็นปลาไหล เราก็ไปจับไปลูบไปกอดมัน ก็เลยโดนมันกัดอยู่เรื่อยๆ    อย่างชีวิตของพวกเราก็มีความทุกข์ด้วยกันทุกคน  ไม่มีใครสามารถปฏิเสธว่าตนเองไม่มีความทุกข์ได้   คือความทุกข์ทางด้านจิตใจที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น  ที่ทำให้เกิดความห่วง ความอาลัยอาวรณ์ ความเสียดาย  เพราะความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบนั่นเอง เราไปรักไปชอบกับสิ่งที่เป็นของไม่เที่ยง   กับสิ่งที่ไม่ใช่เป็นของที่เราสามารถควบคุมให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้  เราจึงประสบกับความผิดหวังอยู่เสมอ   ประสบกับความเศร้าโศกเสียใจอยู่เสมอ  เพราะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบอยู่เสมอ

เพราะนี่คือธรรมชาติของโลกนี้  โลกนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข บุคคล สัตว์ วัตถุสมบัติต่างๆ  ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนไปตามสภาพของเขา   เขามาแล้วสักวันหนึ่งเขาก็ต้องจากเราไป  ถ้าเขาไม่จากเราไปก่อน  เราก็ต้องจากเขาไปก่อน  นี่คือธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ที่เราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราจึงไม่เคยพบกับความสุขที่แท้จริง  ชีวิตของเราจึงเป็นชีวิตที่มีแต่ความสุขกับความทุกข์สลับกันไป ลุ่มๆดอนๆ  และจะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป ถ้าตราบใดเรายังยุ่งอยู่กับการสะสมลาภ ยศ สรรเสริญ และกามสุขเหล่านี้อยู่  ถ้าไม่ศึกษาทำความเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกงจักรไม่ใช่เป็นดอกบัว   เป็นความทุกข์ไม่ใช่เป็นความสุข  เพราะเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา  เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปราศจากตัวตน  เป็นเราหรือเป็นของๆเรา ถ้าทำความเข้าใจได้แล้ว  เราจะปล่อยวางได้    พระพุทธองค์จึงสอนให้พวกเราจงพยายามปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะได้เกิดปัญญาขึ้นมา  ห้มีดวงตาเห็นธรรม ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ปราศจากตัวตน  และการจะเห็นธรรมนี้ได้จะต้องอาศัยการปฏิบัติธรรม  เช่นการเจริญสมาธิและปัญญา  การปฏิบัติธรรมจะเป็นเหตุทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา   นี่แหละคือประโยชน์ส่วนตนที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรากระทำกัน  แทนที่จะมัวเสียเวลากับการสะสมลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริงของเรา   ให้มีพอเพียงกับการดูรักษาชีวิตอัตภาพ ให้อยู่ไปได้วันๆหนึ่งก็พอแล้ว   เพื่อจะได้เอาชีวิตอัตภาพร่างกายนี้มาทำภารกิจที่แท้จริง คือการปฏิบัติธรรม  เพื่อทำให้เรามีดวงตาเห็นธรรม

เพราะเมื่อมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว เราก็จะสามารถตัดสมุทัยคือต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายได้  คือตัณหาทั้ง ๓   ได้แก่ กามตัณหา  ภวตัณหา และวิภวตัณหา ความอยากในกาม  ความอยากมีอยากเป็น  ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น นี่คือสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา  เมื่อเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว เราจะเห็นว่า ความอยากเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา  อยากอะไร ได้มาเท่าไร ก็ไม่เกิดความอิ่ม เกิดความพอ  แต่ในทางตรงกันข้าม  การไม่อยากนี่ต่างหากที่จะทำให้เกิดความอิ่ม เกิดความพอ เกิดความสุขขึ้นมาได้  เพราะโดยธรรมชาติของใจแล้ว ไม่ต้องมีอะไรก็มีความสุขได้  ใจเปรียบเหมือนตุ่มน้ำที่มีน้ำเต็มตุ่มแล้ว  ไม่จำเป็นจะต้องตักน้ำเทเข้าไปในตุ่มอีก  เพราะเทเข้าไปเท่าไรก็จะล้นออกมา ไม่เกิดประโยชน์อะไร ฉันใด  ความอยากก็ไม่เกิดประโยชน์กับใจของเราเลยแม้แต่น้อย  แต่กลับเป็นโทษเสียอีก  เพราะเมื่อเกิดความอยากแล้วก็ทำให้ใจไม่มีความสงบ  เมื่อไม่มีความสงบ ความอิ่ม ความพอก็หายไป  เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่พอ ต้องอยากอยู่เรื่อยๆ

เราอยากกันมานานแค่ไหน เราไม่สามารถคำนวณนับได้  เพราะภพชาติที่เราผ่านมามีมากมายก่ายกองเสียจนนับไม่ถ้วน  พระพุทธองค์ทรงแสดงเปรียบไว้ว่า น้ำตาที่เราหลั่งในแต่ละภพแต่ละชาติ ที่เกิดจากความทุกข์ เกิดจากความเศร้าโศกเสียใจนั้น เมื่อมารวมกันแล้ว   มีมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก  คิดดูก็แล้วกันว่าจะต้องมีภพชาติมากน้อยเท่าไร  จึงจะสามารถหลั่งน้ำตาให้มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร  นั่นแหละคือจำนวนภพชาติของเรา  ที่เราเวียนว่ายตายเกิดผ่านมาด้วยอำนาจของตัณหาทั้ง ๓ นี้ ทำให้เราต้องวิ่งไปหาสิ่งต่างๆอยู่เสมอ  และตราบใดเรายังไม่ตัด ไม่ระงับ ไม่ดับตัณหาทั้ง ๓ นี้ มันก็จะฉุดลากเราไปสู่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย สู่ภพชาติต่างๆไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด เพราะขาดปัญญาหรือดวงตาแห่งธรรมนั่นเอง  ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงของใจว่า  ใจเป็นใจที่สมบูรณ์แล้ว มีครบบริบูรณ์แล้วทุกอย่าง  แต่ใจถูกกิเลส ตัณหา อวิชชา โมหะความหลง หลอกให้ใจออกไปหาสิ่งต่างๆภายนอก  โดยสร้างความรู้สึกว่ายังขาดตกบกพร่อง  จึงต้องวิ่งออกไปหากามตัณหา ความอยากในกามสุข ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหาความกลัว  กลัวอะไร ก็กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย กลัวการพลัดพรากจากสมบัติข้าวของเงินทอง สิ่งต่างๆที่กิเลสหลอกให้ออกไปหามา  ให้ไปหลงไปยึดไปติด ทั้งๆที่เวลามาเกิดในโลกนี้ก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาเลย  มาแต่ตัวเปล่าๆ และเมื่อตายไปก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปเลย

ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็มีแต่ความยึดติดกับสิ่งต่างๆ กลัวจะหมดไป  กลัวคนอื่นจะแย่งไป  กลัวคนอื่นจะขโมยไป  ก็เลยมีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ กับการดูแลรักษาทรัพย์สมบัติข้าวของต่างๆที่หามาได้จากอำนาจของความหลง จากอำนาจของกิเลสตัณหา  ที่สร้างความทุกข์ให้กับเรามาตลอด  และจะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด  กี่ภพกี่ชาติ วนไปเวียนมากี่ครั้ง ก็จะเป็นอย่างนี้ เป็นแบบคนบ้าหอบฟาง  ไปยึดไปติดกับฟางที่เป็นของไม่มีคุณค่า แทนที่จะมาหาสมบัติ หาประโยชน์ที่แท้จริงของเรา นั่นก็คือการปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลสตัณหา โมหะอวิชชาที่เป็นเหตุทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิด ต้องหลงอยู่กับสิ่งเหล่านี้มา  ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน  นี่คือปัญหาของพวกเรา  พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้รู้ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่ง  เพราะภพภูมิของมนุษย์เท่านั้น ที่จะสามารถปฏิบัติตน พัฒนาตนให้ไปถึงจุดที่สูงสุดได้อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้พัฒนา ได้ปฏิบัติกัน  ไม่มีภพชาติไหนที่จะสามารถทำให้เกิดพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ขึ้นมาได้ นอกจากภพชาติของมนุษย์เท่านั้น

จึงเป็นบุญวาสนาของเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์  เพราะการที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ไม่ใช่เป็นของง่าย   ต้องสะสมบุญบารมีมาอย่างมากมายก่ายกองเลยทีเดียว ถึงจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์   เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วทำไมจึงปล่อยให้ความเป็นมนุษย์หมดไปโดยเปล่าประโยชน์  ทำไมไม่เอาชีวิตมนุษย์นี้มาสร้างอริยทรัพย์ สร้างสมบัติที่แท้จริงให้กับตัวเรา  ด้วยการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  และปฏิบัติตามในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  นี่แหละคืองานของเรา  ถ้าเราฉลาด เราจะรู้ว่าหน้าที่ของเราไม่ใช่มาสร้างตัวเองให้ร่ำรวย  สร้างตัวเองให้เป็นคนที่มีตำแหน่งสูงๆ เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  นี่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา  ไม่ใช่งานของเรา หน้าที่ของเราคือกำจัด กิเลสตัณหา โมหะอวิชชาต่างหาก เพราะถ้าสามารถกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดออกไปจากใจได้แล้ว  ใจก็จะหมดปัญหา ใจจะเป็นอิสระ วิมุตติ หลุดพ้น คือหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง  หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่ไม่เกิดเท่านั้นถึงจะไม่มีความทุกข์  นี่คือความจริง   ถ้าตราบใดยังมีการเกิดอยู่  ตราบนั้นก็ยังต้องมีการแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  การประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่ปรารถนากัน  นี่คือสภาพของทุกโลก ทุกภพ ทุกชาติ

ถ้าพวกเราปรารถนาความสุขความเจริญที่แท้จริง  ต้องการพ้นจากความทุกข์แล้ว  เราต้องน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาศึกษาและปฏิบัติตาม  ถ้ายังไม่รู้เราก็ต้องเข้าวัดบ่อยๆ พระพุทธเจ้าสอนให้เราเข้าวัดอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งหนึ่ง   อาทิตย์หนึ่งจะมีวันพระหนึ่งครั้ง  ไม่ใช่ปีหนึ่งจะเข้าวัดสักครั้งหนึ่ง  มาอยู่วัด ๓ วัน ๗ วัน  ถ้าอย่างนี้แล้วหาความสุขความเจริญไม่ได้ มันน้อยไป  อย่างน้อยต้องเข้าวัดทุกๆ อาทิตย์  มาฟังเทศน์ฟังธรรมให้รู้ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ผิด  อะไรเป็นกงจักร อะไรเป็นดอกบัว  ถ้าไม่เข้าวัดแล้วเราจะไม่รู้เรื่องเหล่านี้   เพราะคนที่อยู่นอกวัดก็เป็นเหมือนกับพวกเรา  คือเป็นพวกหูหนวกตาบอดด้วยกันทั้งนั้น ไม่รู้จักเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องบาป บุญ คุณ โทษ เรื่องกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิด นี่เป็นความจริง 

พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้ชาวพุทธเข้าวัดอยู่เสมอ   เพื่อจะได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะได้มีปัญญาแยกแยะว่าการกระทำของเราเป็นไปในทิศทางไหน  สร้างประโยชน์ให้กับเราหรือสร้างโทษให้กับเรา  ส่วนใหญ่คนที่ไม่เข้าวัด เราจะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับตัวเขา  มีแต่จะสร้างโทษให้กับตัวเขา   คนที่ไม่ชอบเข้าวัดมักจะชอบกินเหล้าเมายา ชอบเล่นการพนัน ชอบเที่ยวตอนกลางคืน ชอบความเกียจคร้าน ชอบลักเล็กขโมยน้อย ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ชอบประพฤติผิดประเวณี ชอบพูดโกหก พูดปดมดเท็จ ซึ่งเป็นลักษณะของพวกหูหนวกตาบอด  ไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นคุณ  ทำไปแล้วมีแต่จะนำไปสู่ความหายนะ ความเสื่อมเสีย ในปัจจุบันก็มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวายใจ ตายไปก็ต้องไปสู่อบาย  นี่คือผลของการกระทำความชั่ว การกระทำบาป ซึ่งในสายตาของผู้ที่มีความหลงก็จะกลับเห็นว่าเป็นดอกบัว  คือเห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เห็นบาปว่าเป็นบุญนั่นเอง

แต่คนที่เข้าวัดเข้าวา จะได้ยินได้ฟังเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ นรก และสวรรค์ ก็จะมีปัญญาแยกแยะได้  จึงพยายามทำแต่สิ่งที่ดี ละการกระทำความชั่ว ละอบายมุขทั้งหลาย เพราะรู้ว่าการทำอย่างนี้เป็นการสร้างเหตุที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ  ในปัจจุบันก็อยู่ด้วยความสงบสุข  เมื่อตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ ไปสู่ภพที่ดีที่งาม คืออย่างน้อยก็ได้เป็นมนุษย์ ไม่เช่นนั้นก็เป็นเทพ เป็นพรหม หรือเป็นพระอริยบุคคล  นี่คือผลของการประกอบคุณงามความดีสร้างบุญสร้างกุศล นี่คือหน้าที่ของเราที่พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงว่าจงยังประโยชน์ส่วนตนให้ถึงพร้อม  เมื่อเราได้ทำประโยชน์ส่วนตนให้ถึงพร้อมแล้ว เราก็จะอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ต่อไป  คืออบรมสั่งสอนคนอื่นให้รู้จักเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เหมือนกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  หลังจากที่ท่านได้เสร็จภารกิจของท่านแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมสร้างบุญสร้างกุศลจนครบบริบูรณ์แล้ว ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว  เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็เอาเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตท่าน อบรมสั่งสอนผู้อื่น พวกหูหนวกตาบอดทั้งหลายให้ได้รู้จักเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์  เพื่อที่จะได้ปลดเปลื้องตัวเขาให้พ้นจากความผิด ความหลง ความมึนเมาทั้งหลาย  เพื่อเขาจะได้ประสบกับความสุขความเจริญที่แท้จริง   นี่คือความหมายของคำว่าจงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  

ความไม่ประมาทหมายถึงให้มีสติระลึกถึงชีวิตของเราว่า เป็นของไม่เที่ยง จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ไปกำหนดการตายไม่ได้ว่า  จะตายตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น วันนี้ พรุ่งนี้ สิบปีข้างหน้า หรือห้าสิบปีข้างหน้า  ความตายไม่ฟังใคร  เมื่อถึงเวลาแล้วก็จะปรากฏขึ้นมา ท่านจึงสอนให้เจริญมรณานุสติ อยู่เสมอ  ให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ  เพื่อความไม่ประมาท  เพราะเมื่อระลึกถึงความตายอยู่เสมอแล้ว จะได้รู้ว่าชีวิตเป็นของไม่แน่นอน อาจจะไปเย็นนี้ก็ได้ อาจจะไปตอนกลางวันนี้ก็ได้  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จึงไม่ควรปล่อยความเป็นมนุษย์ของเราที่มีประโยชน์อย่างมาก  สามารถทำอะไรได้มาก ให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องรีบขวนขวายทำประโยชน์  อย่าไปผลัดวันประกันพรุ่ง ไว้รอพรุ่งนี้ค่อยทำบุญก็ได้ หรือรอให้แก่ก่อนแล้วค่อยเข้าวัดก็ได้ ตอนนี้เรายังหนุ่มเรายังสาวอยู่ ขอเที่ยวขอเล่นให้พอเสียก่อน  คิดอย่างนี้เป็นความประมาท  เพราะว่าคนเราตายได้ทุกอายุ  อายุ ๑ ขวบก็ตายได้  ๒ ขวบก็ตายได้  ๑๐ ๒๐ ๓๐ ๔๐ ๕๐ ขวบ ก็ตายได้ทั้งนั้น เวลาไหนไม่มีใครไปกำหนดได้  ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะได้มีความกระตือรือร้น ไม่ไปผลัดวันประกันพรุ่ง  จะรีบขวนขวายสร้างแต่บุญ สร้างแต่กุศลเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะสายไป

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์โดยถามพระอานนท์ว่า อานนท์วันหนึ่งๆ เธอระลึกถึงความตายมากน้อยแค่ไหน  พระอานนท์ทูลตอบพระพุทธเจ้าว่า  เกล้ากระผมเจริญมรณานุสติในตอนเช้าบ้าง ตอนกลางวันบ้าง ตอนเย็นบ้าง ตอนค่ำบ้าง ฯลฯ พระพุทธเจ้าทรงบอกพระอานนท์ว่า เธอยังตั้งอยู่ในความประมาท การพิจารณาความตายเพียงแค่ตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น ตอนค่ำ ฯลฯ ยังไม่เพียงพอ เธอยังประมาทอยู่  ถ้าเธอจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว เธอจะต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกเลยทีเดียว   หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกก็ตาย  หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย คิดอย่างนี้แล้วจะทำให้รู้ว่าชีวิตของเรานี้สั้นมากและไม่มีความหมายอะไร พอที่จะไปบ้าสะสมทรัพย์สมบัติเงินทอง ข้าวของ บริษัทบริวารต่างๆไปทำไม เวลาไปก็เอาติดตัวไปไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว  นอกจากเอาไปไม่ได้แล้วบางทีเรายังต้องแบกเวรกรรมไปอีกด้วย เพราะการสะสมข้าวของเงินทองสมบัติต่างๆถ้าหามาโดยมิชอบ  ก็ต้องไปสร้างเวรสร้างกรรม ทำบาปทำกรรม เพื่อที่จะได้สิ่งเหล่านี้มา  ดังที่เห็นเขาทำกัน อุตส่าห์ร่ำรวยขึ้นมาเพราะคดโกงเขา โกหกหลอกลวงเขา กินบ้านกินเมืองเขามา  หลงไปสะสมสิ่งเหล่านี้โดยหารู้ไม่ว่าตนเองกำลังสะสมกองทุกข์อันใหญ่โต  สะสมบาปอันใหญ่โต  เมื่อตายไปแล้วตัวเองจะต้องไปใช้กรรมขนาดไหนกลับไม่รู้  เพราะอะไร  ก็เพราะว่าเป็นพวกหูหนวกตาบอดนั่นเอง ฟังธรรมไม่เข้าใจ  มีพระพุทธเจ้า มีพระพุทธศาสนาอยู่ประจำบ้านประจำเมืองก็ตาม  แต่หาได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าไม่

ก็เพราะความมืดบอดของจิตใจ  ที่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหาโมหะอวิชชานั่นเอง  พวกนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ของการเป็นมนุษย์ เรียกว่ามาสว่างคือบุญได้ส่งมาให้เกิดมาเป็นมนุษย์   แทนที่จะเอาชีวิตของความเป็นมนุษย์มาสร้างประโยชน์  กลับเอาความมืดมาปกปิดจิตใจแล้วก็ทำแต่บาปแต่กรรม  เมื่อตายไปก็ต้องไปมืดนั่นเอง  พวกที่ไปมืดก็ต้องไปสู่อบาย  นี่เป็นเพราะว่าไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  เวลาเข้าวัดก็เข้าวัดแบบคนมืดบอดเข้า  จุดธูปเทียนบูชาพระแล้วก็นั่งขอพระช่วยบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้  ไม่เคยสนใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลยว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ เป็นอย่างไร   พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน พวกเธอทั้งหลายต้องสร้างบุญสร้างกุศล พวกเธอถึงจะได้รับความสุขความเจริญ พวกเธอจะมานั่งจุดธูปเทียนแล้วมาขอเราให้เราเสกให้เราเป่าให้เธอเป็นผู้วิเศษ เป็นคนร่ำรวยขึ้นมานั้น มันขัดกับหลักของความเป็นจริง  ขัดกับหลักธรรม 

เพราะว่ากรรมเป็นเหตุที่ทุกๆคนจะต้องทำกัน  ขึ้นอยู่ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่วเท่านั้น  ถ้าทำกรรมดีผลดีก็ตามมา  ถ้าทำกรรมชั่ว ผลชั่ว ผลร้ายก็ตามมา  ไม่มีใครจะละเมิดกฎนี้ไปได้  ไม่ใช่ทำบาปทำกรรมแล้วมากราบพระขอให้พระช่วย  พระช่วยไม่ได้เพราะหลักของ อัตตาหิ อัตโน นาโถ คือ ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง ตนต้องช่วยตนเอง  ถ้าตนไม่ปรารถนาความทุกข์ความหายนะ ความเสื่อมเสียแล้ว ก็อย่าไปทำบาป อย่าไปทำกรรม อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรม  ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญ  ก็ขอให้ตั้งใจทำแต่บุญและกุศล ทำอย่างต่อเนื่อง และพยายามทำอย่างสม่ำเสมอ แล้วความสุขความเจริญจะตามมาเอง เพราะเป็นผลของการทำบุญและกุศลนั้นเอง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้