กัณฑ์ที่ ๙๖        ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๔

 วันพระ

 

วันนี้เป็นวันพระสุดท้ายของปีพุทธศักราช ๒๕๔๔  เป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้มาทบทวนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาในระยะเวลา ๑ ปี ว่าได้ทำอะไรไปบ้างที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ และได้ทำอะไรไปบ้างที่เป็นโทษกับตัวเราและผู้อื่น ปีหนึ่งๆพระพุทธเจ้าทรงมอบวันพระให้พวกเราถึง ๕๒ วันพระด้วยกัน เป็นมรดกของพระพุทธเจ้าที่มอบให้กับพุทธศาสนิกชน พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเหมือนกับชาวนาผู้มีที่นาเยอะ เวลาชาวนาตายไปก็ทิ้งที่นาเป็นมรดกให้กับลูกหลานไว้ เพื่อจะได้ทำประโยชน์ ทำมาหากิน ลูกๆหลานๆทุกๆคนของพระพุทธเจ้าก็จะได้ที่นาคนละ ๕๒ ไร่ด้วยกัน ลูกหลานแต่ละคนที่ได้รับมรดกคือเนื้อที่นา ๕๒ ไร่ หรือวันพระ ๕๒ วันนี้ จะเอาไปทำประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญากำลังความสามารถของแต่ละคนที่จะกระทำกัน อย่างพวกเรานี้ ในปีนี้เราได้ทำนาหมดทั้ง ๕๒ ไร่หรือเปล่า คือเราได้มาวัดทุกๆวันพระครบ ๕๒ ครั้งหรือเปล่า

การมาวัดทุกๆวันพระเป็นเหตุที่จะนำมาในสิ่งต่างๆที่เราปรารถนากัน คือความสุขและความเจริญ  พระพุทธเจ้าทรงชี้บอกถึงเหตุที่จะนำมาซึ่ง ความสุขและความเจริญในตัวของเรา ว่าเกิดจากการกระทำของเราทางกาย ทางวาจา และทางใจที่เป็นมงคล พระพุทธองค์จึงได้ทรงกำหนดพิธีกรรม การประกอบกิจทางศาสนา ให้ศรัทธาญาติโยมได้มาปฏิบัติที่วัดกันทุกๆวันพระ เป็นการสร้างเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคล เพราะเวลาที่มาวัดในวันพระแต่ละครั้งนั้น จะได้กระทำสิ่งที่เป็นมงคล เริ่มตั้งแต่การบูชาพระรัตนตรัย การทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน การสมาทานและรักษาศีล การฟังเทศน์ฟังธรรม และการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่กำลังสติปัญญาของแต่ละท่าน

กิจกรรมเหล่านี้เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ เพราะเป็นการขัดเกลาชำระจิตใจ  ที่มีมลทินเครื่องเศร้าหมองคือกิเลสตัณหา  ที่มีอยู่ในจิตใจของปุถุชนอย่างเราอย่างท่านทุกๆคนด้วยกัน  ถ้ามีกิเลสตัณหามากอยู่ในใจ ผลก็คือความทุกข์ ความเสื่อมเสียก็จะมีมาก  ถ้าได้ชำระขัดเกลากิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจให้เบาบางลงไป   จิตใจก็จะเป็นจิตใจที่สะอาด เป็นจิตใจที่มีความสุข  มีความสงบ กิจกรรมเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเรา  เป็นกิจที่พระพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะทำให้กับเราได้  พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ  ตนเป็นที่พึ่งของตน พวกเธอทั้งหลายจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามที่ตถาคตได้แสดงไว้ ตถาคตมีเพียงหน้าที่ชี้ทางให้กับพวกเธอ ว่าทางที่ควรจะไปนั้นเป็นอย่างไร ไปทางทิศทางไหนจึงจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ   ตถาคตจึงได้กำหนดให้มีวันพระขึ้นอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เพื่อที่พวกเธอทั้งหลายจะได้เข้ามาสู่พระศาสนา  เพื่อจะได้รับแสงสว่างของพระศาสนาเป็นเครื่องนำทางไป  โดยปกติเวลาที่เราอยู่ในที่มืดยามค่ำคืน  ถ้าเราไม่มีแสงไฟเช่น ไฟฉายไว้ส่องทาง  เราจะมองไม่เห็นทาง   เราจะหลงได้   เราจะเดินไปเหยียบหรือไปทำอะไรที่ทำให้เป็นอันตรายกับตัวเราได้   แต่ถ้ามีแสงสว่างคอยส่องทาง  เราก็จะรู้  เราก็จะเห็นทางที่เราจะเดินไป  จะเห็นว่ามีอะไรกีดขวาง มีอะไรที่เป็นพิษเป็นภัยอยู่หรือเปล่า

สิ่งที่มีความจำเป็นกับพวกเราทุกคนที่ยังมีความมืดบอดอยู่ในจิตใจ  มีอวิชชา ความไม่รู้  มีโมหะความหลงครอบงำจิตใจ  คือแสงสว่างแห่งธรรมเป็นเครื่องนำทางพาเราไป ถ้าเราไม่เข้าหาแสงสว่าง  เราก็จะเป็นเหมือนกับคนตาบอด  ที่เดินคลำทางไป ซึ่งมักจะคลำไป  เดินไปในทางที่ไม่ถูก  นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย นำมาซึ่งความทุกข์  ตรงข้ามกับสิ่งที่เราปรารถนากันทุกคน  คือความสุขความเจริญ   แต่ถ้าเราได้เข้าวัดอยู่อย่างต่อเนื่องทุกๆวันพระ  เท่ากับเรามาเอาแสงสว่างไปเป็นเครื่องนำทาง  ถ้าเรามีแสงสว่างแห่งธรรมนำพาไปแล้ว  ชีวิตของเราจะดำเนินไปได้ด้วยความเจริญรุ่งเรือง ด้วยความสันติสุข  แต่ถ้าไม่มีแสงสว่างแล้ว  เราจะถูกโมหะความหลงครอบงำจิตใจ   ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ   เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  คือเห็นตรงกันข้ามกับความจริง  ทำให้ชีวิตของเราเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ ไม่ประสบกับความสุข ความเจริญที่เราปรารถนากัน

การเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนทุกๆคนที่จะพึงกระทำกัน เหมือนกับลูกที่ดีของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ได้มอบมรดกมาให้เป็นต้นทุนแล้ว ก็ควรจะทำประโยชน์ในมรดกนั้น ให้เกิดเป็นประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นไป พ่อให้นามา ๕๒ ไร่ อย่าเอาไปขายทิ้ง แล้วเอาเงินไปเล่นการพนัน เอาไปเที่ยวเตร่เสียหมด ให้เอามาทำกิน  ถ้าเป็นชาวนาเราก็ไถหว่านปลูกข้าว   พอถึงเวลาเมื่อข้าวงอกขึ้นเต็มที่เราก็จะได้เก็บเกี่ยวผลจากผืนนานั้น เช่นเดียวกับวันพระที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับพวกเรา  ก็เป็นเหมือนกับผืนนา  เป็นเนื้อนาบุญนั่นเอง ให้เราพยายามทำบุญทำกุศลกัน เพราะนี่แหละคือเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง   แต่ด้วยอำนาจของโมหะความหลงครอบงำใจของพวกเราทุกๆคนอยู่ จึงทำให้เราเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นกงจักรเป็นดอกบัวกัน  ทุกวันนี้พวกเราคอยแต่แสวงหาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว มารู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว   เมื่อเวลาเรามีความทุกข์มากๆ ร้องห่มร้องไห้  กินไม่ได้  นอนไม่หลับนั้นแหละ  เป็นเวลาที่เราถึงจะรู้จักว่าสิ่งต่างๆที่เราได้กระทำมานั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข  ความสบายใจเลย  แต่กลับกลายเป็นกองทุกข์อันใหญ่โต  เผาผลาญจิตใจเรา จนกระทั่งบางครั้งบางคราว  ทำให้คนบางคนไม่สามารถที่จะทนอยู่ต่อสู้กับความทุกข์นั้นได้   ถึงกับต้องทำลายชีวิตของตัวเองไป

ก็เป็นความหลงอีกอย่างหนึ่ง  เป็นการสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นอีก   เพราะคนที่คิดว่าฆ่าตัวตายแล้วจะหนีพ้นจากความทุกข์ไปได้ เป็นความเข้าใจผิด  เพราะความทุกข์ไม่ได้อยู่ในกาย  เมื่อฆ่าตัวตายไปก็ทิ้งร่างกายไว้  แต่ใจก็ยังทุกข์อยู่  เพราะต้นเหตุของความทุกข์ก็ยังอยู่ในใจ ก็คือความหลง ความมืดบอดที่ทำให้เกิดมีกิเลส  มีตัณหา  แสวงหาสิ่งต่างๆที่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขและความเจริญให้กับเรานั่นเอง  เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา  ให้พระศาสนาเป็นที่พึ่ง  เป็นแสงสว่างนำพาเราไป  เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ดี   พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายก็ดี  ท่านเป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม  เปรียบเหมือนกับคนที่ตาบอดแต่ได้รักษาตาจนตาสว่าง  แล้วเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตรงกันข้ามกับคนที่ตายังมืดบอดอยู่   ถ้าลองสังเกตดู เวลานั่งหลับตาเราจะไม่เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในศาลาหลังนี้เลย  แต่ถ้าลืมตาเราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง  เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านลืมตาท่านแล้ว ท่านตื่นแล้ว ท่านได้ตื่นจากความไม่รู้ ความหลง อวิชชา โมหะทั้งหลาย ท่านสามารถเห็นสิ่งต่างๆได้ตามความเป็นจริง  เห็นว่าอะไรเป็นทุกข์  เห็นว่าอะไรเป็นสุข   แต่พวกเรายังเป็นเหมือนคนตาบอดอยู่  เราจึงเห็นกลับตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย   เห็นว่ากองทุกข์เป็นความสุขกัน เราจึงสะสมกองทุกข์เข้ามาเผาหัวใจ โดยที่เราไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวก็สายไปเสียแล้ว  เพราะไม่ได้ยึดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำทางนั่นเอง

แต่ถ้าได้เข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ  เราจะได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ซึ่งเปรียบเหมือนกับแสงสว่างที่จะคอยบอกเราว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์และอะไรไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเรานำไปประพฤติปฏิบัติตามแล้ว เราก็จะประสบกับความสุขความเจริญ อย่างเวลามาที่วัด ก็ได้ทำบุญทำทานกัน นี่ก็เป็นบุญ บุญนี้แปลว่าความสุข เป็นเหมือนกับอาหารของใจ เวลาเราทำบุญแล้วใจเราจะมีความสุข  ตรงกันข้ามกับเวลาที่เราไปได้ข้าวของหรือได้อะไรมา  แทนที่ใจเราจะมีความสุข  ใจเรากลับมีความหิวกระหายเพิ่มขึ้น เพราะว่าเมื่อได้สิ่งใดมาแล้วก็จะเกิดความโลภเพิ่มขึ้นมา  อยากจะได้เพิ่มขึ้นไปอีก ความโลภหรือความอยากนี้  เป็นตัวที่สร้างความรู้สึกหิว ความรู้สึกไม่พอให้เกิดขึ้นกับใจของเรา

แต่ในทางตรงกันข้ามเวลาเราเสียสละ  เราให้สิ่งของที่เป็นของๆเราให้กับผู้อื่น  ใจของเราจะมีความสุข เพราะใจของเราจะรู้สึกเบาขึ้น เพราะว่าเราได้ปลดเปลื้องสิ่งที่เราต้องมาคอยกังวล  คอยดูแลรักษาให้ออกไปจากใจเรา  สิ่งของต่างๆที่มีเหลือใช้  เงินทองข้าวของต่างๆนั้น  ถ้าเราไม่มีความจำเป็นมาเก็บไว้ มันก็จะกลายเป็นภาระกับจิตใจของเรา  เราจะต้องคอยดูแลรักษา  ต้องมีความห่วง  มีความกังวล และเวลาเกิดสูญเสียไป  หายไป  โดยที่เรายังไม่ได้ตั้งใจที่จะให้สิ่งนั้นเสียไป สูญไป เราก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา แต่ถ้าเราได้ตั้งใจไว้ว่า  จะเสียสละสิ่งเหล่านี้แล้ว คือไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้อยู่กับเราแล้ว  เรานำไปให้ผู้อื่น   ไปช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะทำให้ใจเราสบายขึ้น เพราะได้ปลดเปลื้องภาระที่เป็นของหนักอก หนักใจ ที่อยู่กับเรา  ให้ออกไปจากใจของเรา

ใจของเราโดยธรรมชาติแล้วไม่มีความจำเป็นกับสิ่งใดทั้งสิ้นในโลกนี้  สิ่งต่างๆที่พวกเราแสวงหากันนอกเหนือจากความจำเป็นคือปัจจัย ๔ แล้ว  ถือว่าเป็นสิ่งที่นำความทุกข์มาให้กับใจมากกว่าให้ความสุข  เพราะว่าความสุขของใจที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความสงบของใจ ใจจะสงบได้ก็ต่อเมื่อใจได้ปล่อยวางสิ่งต่างๆที่ใจไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย  เพราะเวลาใจไปเกี่ยวข้องกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดใจมักจะถูกความหลง หลอกให้หลง  ให้ยึด  ให้ติดกับสิ่งนั้นๆ  โดยคิดว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วจะทุกข์ จะยาก จะลำบาก หรือจะตาย  นี่เป็นความหลงผิดของใจ  คิดว่าการที่จะมีความสุขได้จะต้องมีสิ่งต่างๆมาคอยบำรุงบำเรอทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น ทางกาย จะต้องมีตำแหน่ง จะต้องมีคนคอยมาสรรเสริญเยินยอให้ความเคารพ  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของใจ  เพราะโดยสภาพความจริงแล้ว ใจไม่มีความจำเป็นกับสิ่งเหล่านี้เลย

ใจสามารถมีความสุขได้โดยไม่มีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า พระพุทธองค์ได้ทรงสละทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเราทั้งหลายปรารถนากัน  ไม่ว่าจะเป็นสมบัติข้าวของเงินทอง  ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ คำสรรเสริญเยินยอต่างๆจากคนทั้งหลาย หรือกามสุขนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพร้อมบริบูรณ์แล้ว  ในขณะที่เป็นลูกของกษัตริย์ คือลูกของพระเจ้าแผ่นดิน  แต่กับสิ่งเหล่านั้นในใจของพระพุทธเจ้ากลับไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุข  เพราะพระพุทธเจ้าท่านเป็นปัญญาชนเป็นผู้ฉลาด ท่านสามารถมองทะลุเห็นสิ่งต่างๆที่พวกเรามองไม่เห็นกัน  นั่นก็คือความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น  สิ่งต่างๆที่เรามีกันไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ หรือกามสุข  ล้วนแต่มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ เพราะเป็นของไม่เที่ยงนั่นเอง อยู่กับเราวันนี้แต่อาจจะสูญหายจากเราไปในวันพรุ่งนี้ก็ได้ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้  บังคับให้เป็นของๆเราได้อย่างแท้จริง

นี่เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน มีพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกเท่านั้นที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะท่านขวยขวายศึกษาปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อท่านเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโทษ ไม่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แล้ว  ท่านจึงตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป  แล้วดำรงตนอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่มีทรัพย์สมบัติข้าวของอะไรพิเศษ นอกจากปัจจัย ๔ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการครองชีพเท่านั้นเอง  แต่ภายในใจของท่านนั้นเป็นใจที่มีความอิสระ  เป็นใจที่ไม่มีความกดดันจากกิเลสและตัณหา  ส่วนพวกเรายังเป็นทาสของกิเลสและตัณหาอยู่ เราจึงอยู่เฉยๆไม่ได้   อยู่โดยที่ไม่มีสิ่งต่างๆไม่ได้  เพราะถูกอำนาจของกิเลสตัณหาคอยกดดัน ให้ต้องออกไปหาสิ่งต่างๆมาเลี้ยงใจของเรา  ถ้าไม่ได้เห็น  ไม่ได้ยิน  ไม่ได้ฟัง ไม่ได้สัมผัส ไม่ได้ดมกลิ่นที่เราชอบ  สัมผัสกับรสที่เราชอบแล้ว เราจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถ้าได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้แล้ว   เราจะมีความสุขใจ  แต่เป็นความสุขใจชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  เป็นความสุขใจที่ไม่ได้ให้ความอิ่ม ไม่ได้ให้ความพอ เพราะว่าหลังจากนั้นแล้ว  เราก็จะต้องออกไปแสวงหามาเพิ่มขึ้นไปอีกอยู่เรื่อยๆ

ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดมาก็เป็นอย่างนี้มาตลอด  มีแต่ความพยายามที่จะหาของต่างๆมาบำรุงบำเรอตลอดเวลา  แต่ชีวิตของเราก็ไม่เคยพบกับคำว่าพอ คำว่าอิ่มสักที เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้ใจของเราเกิดความอิ่ม  เกิดความพอขึ้นมา  สิ่งที่จะทำให้ใจเกิดความอิ่ม ความพอขึ้นมาได้  มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือความสงบของใจ ถ้าใจสงบนิ่งแล้วใจจะมีความอิ่ม  มีความพอ  แต่ถ้าใจยังไม่สงบ  ยังไม่นิ่งแล้ว ใจยังจะมีความหิว มีความอยาก มีความโลภอยู่ นี่แหละคือเรื่องราวของพวกเรา คือปัญหาของพวกเรา ที่เกิดจากความไม่รู้จักธรรมชาติของตัวของเราเองว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข อะไรเป็นสิ่งที่ให้เรามีความทุกข์ ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา  ชีวิตของเราก็จะเป็นไปในลักษณะของคนที่วิ่งตะครุบเงา ลองคิดดูซิว่า เราวิ่งตะครุบเงาของเราได้หรือเปล่า เวลาเห็นเงาที่ทอดไปข้างหน้าเรา เราก็เดินตามเพื่อที่จะไปจับเงาที่ทอดอยู่ข้างหน้า พอไปถึงจุดที่เงาตั้งอยู่  เงาก็จะเคลื่อนที่ไปแล้วตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย

นี่คือลักษณะของกิเลสและตัณหา เขาจะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเรายังไม่พอ เรายังต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพิ่มขึ้นมาอีก  เหมือนกับตุ่มน้ำที่มีรอยรั่ว  เติมเท่าไรก็ไม่รู้จักเต็มสักที  เพราะตุ่มมันรั่ว ถ้ารู้ว่าตุ่มรั่ว แล้วอุดรอยรั่วเสีย  หลังจากนั้นเวลาเติมน้ำให้เต็มตุ่มแล้ว น้ำก็จะเต็มอยู่ในตุ่มตลอดเวลา เพราะว่าไม่มีรอยรั่วที่จะทำให้น้ำนั้นพร่องออกจากตุ่มไป ฉันใด  ใจของเราก็เช่นกัน เหตุที่ใจของเรามีความรู้สึกว่าไม่เต็ม ไม่อิ่ม ไม่พอ ก็เป็นเพราะว่าใจของเรามีรอยรั่วอยู่นั่นเอง รอยรั่วของใจก็คือกิเลสตัณหาที่เกิดจากโมหะอวิชชา ความมืดบอด ความลุ่มหลงนั่นเอง เราจึงต้องเข้าพระพุทธเจ้า หาพระพุทธศาสนาทุกๆวันพระ อย่างที่ท่านได้มากระทำกันนี่แหละ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ท่านได้มีแสงสว่างนำพาชีวิตของท่าน ไปสู่จุดที่ท่านปรารถนากัน  นั่นก็คือความอิ่ม  ความพอ  ความสุขที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดจากการที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติศาสนกิจกันอย่างต่อเนื่องทุกๆวันพระ  มีการบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญตักบาตรถวายทาน สมาทานศีลรักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม  เมื่อกลับไปบ้านก็ปฏิบัติธรรมต่อตามแต่ความสามารถ เจริญจิตตภาวนา  ทำจิตให้สงบแล้วก็เจริญวิปัสสนาคือปัญญา ทำความเข้าใจให้ถูกต้องกับสิ่งต่างๆที่เรามาเกี่ยวข้องด้วยว่า สภาพที่แท้จริงของเขานั้นเป็นอย่างไร  เขาเป็นของเที่ยงหรือเป็นของไม่เที่ยง  เป็นสุขหรือเป็นทุกข์   เป็นของๆเราหรือไม่ใช่เป็นของๆเรา

นี่คือสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง ถ้าอยากจะประสบกับความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าทุกๆปีเวลาขึ้นปีใหม่เราก็เข้าวัดกันสักครั้งหนึ่ง  แล้วก็ไปขอพรจากพระ  ขอความสุขความเจริญจากพระ   ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้   เพราะพรคือความสุขความเจริญนั้น เป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา ทางกาย ทางวาจา และทางใจ  ในการที่จะสร้างความสุขความเจริญให้เกิดขึ้น  ด้วยการกระทำทางกายวาจาและใจนั้น เราต้องรู้จักวิธีการกระทำที่ถูกต้อง ถ้าไม่รู้จักเราก็จะไม่สามารถสร้างความสุขความเจริญให้กับตัวเราได้ เราจึงจำเป็นต้องเข้าวัด แต่การเข้าวัดนี้ไม่ได้มาขอพร ไม่ได้มาขอความสุขความเจริญ แต่มาขอแสงสว่างแห่งธรรม มาขอให้ช่วยสอน ช่วยบอก ช่วยชี้ว่าหนทางที่จะพาเราไปสู่ความสุขความเจริญนั้นทำอย่างไร เดินอย่างไร  คือให้คิดอย่างไร  ให้พูดอย่างไร  และให้ทำอย่างไร  เราจึงต้องเข้าวัดด้วยเหตุนี้เอง

แต่การเข้าวัดเพียงปีละครั้งจะไม่พอเพียง เพราะเหมือนกับเวลาเดินในที่มืด เราฉายไฟฉายเพียงแค่แวบเดียว ก็จะมีแสงสว่างเพียงแวบเดียวเช่นกัน หลังจากนั้นก็จะมืดไปอีก พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราทุกคน เข้าวัดกันอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง จึงได้กำหนดวันพระขึ้นอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง แต่ในสมัยนี้เนื่องจากว่าบ้านเมืองของเราได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยอำนาจของความหลงนั่นแหละ เมื่อก่อนนี้เรามีวันหยุดในวันพระและวันโกนกัน ทุกคนก็มีโอกาสได้เข้าวัด ได้ศึกษาได้ทำบุญทำกุศลกัน แต่สมัยนี้บ้านเมืองเรา ด้วยอำนาจของความหลง ทำให้มีความปรารถนาที่จะแสวงหาโลกียทรัพย์มากกว่าอริยทรัพย์ พวกเราก็เลยหลงตามคนที่เขาแสวงหาโลกียทรัพย์กัน เขาหยุดวันเสาร์อาทิตย์กัน เราก็เลยต้องหยุดวันเสาร์อาทิตย์ตามเขาไป จึงทำให้เวลาวันหยุดของเราไม่ตรงกับวันพระ เลยทำให้เราไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวากัน

แต่ถ้าเราเป็นคนฉลาด ถึงแม้ว่าเราจะมีวันหยุดเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์และไม่ตรงกับวันพระก็ตาม เราก็ยังสามารถทำวันเสาร์และวันอาทิตย์ของเราให้เป็นวันพระขึ้นมาได้  เพราะว่าวันพระที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันที่กำหนดไว้ ว่าจะต้องเป็นวันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าวันพระนี้หมายความว่า เป็นวันที่ให้เราเข้าหาพระศาสนากัน ถ้าเราเข้าวัดตามวันพระที่เขากำหนดไว้ไม่ได้ เราก็เข้าวัดในวันที่เรามีเวลาว่าง เช่นวันหยุด ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เราก็ยังสามารถที่จะเข้ามาวัดได้ เพราะว่าในวัด เราก็ยังสามารถปฏิบัติกิจต่างๆที่เขาปฏิบัติกันในวันพระได้ อย่างที่วัดนี้ ทุกๆวันจะมีพระลงมาทำกิจของท่านอย่างนี้เป็นปกติ ญาติโยมก็สามารถทำบุญใส่บาตรได้ สามารถถวายสังฆทานได้ มีการแสดงธรรมเทศนาให้ฟังอยู่ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์เช่นเดียวกับวันพระ

มีอย่างเดียวที่ไม่ได้มีกระทำเหมือนกับในวันพระก็คือ การสมาทานศีล และการให้ศีล แต่การสมาทานหรือการให้ศีลนั้น ก็เป็นเพียงแต่เป็นการบอกให้ทราบเท่านั้นเองว่า ศีลนั้นมีอะไร เพราะว่าศีลเป็นสิ่งที่ให้กันไม่ได้ พระไม่สามารถเอาศีลของพระให้ญาติโยมได้ พระเพียงแต่มีหน้าที่สอนบอกว่าศีลนั้นมีอะไรเท่านั้นเอง สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะได้รู้ว่าศีลคือการประพฤติที่ดีงามนั้นประกอบไปด้วยอะไร แต่พวกเราส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธอยู่แล้ว เราเคยได้ยินได้ฟังมาตลอดตั้งแต่เราเป็นเด็กจนกระทั่งโตในเรื่องศีลทั้งหลายว่ามีอะไรบ้าง ถ้าเราต้องการที่จะรักษาศีล  ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหาพระ  ไปขอพระขอศีลจากท่าน  เราเพียงทำความเข้าใจ ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า  วันนี้เราจะรักษาศีลกี่ข้อก็ว่าไป   ศีล ๕  ศีล ๘  ศีล ๑๐  ก็สุดแท้แต่กำลังศรัทธาของแต่ละท่าน อย่างนี้เราก็สามารถที่จะรักษาศีลได้แล้ว  เราไม่ต้องไปคิดว่าเวลาไม่มีพระแล้ว เราจะไม่สามารถรักษาศีลได้  นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะศีลเป็นความประพฤติที่ดีงามของเรานั่นเอง คือพูดดีทำดี นี่แหละที่เรียกว่าศีล  เป็นการกระทำที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนและผู้อื่น ถ้าเรามีศีลแล้วจิตใจของเราก็จะสงบ จิตใจของเราก็จะสบาย จิตใจของเราก็จะไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจ

ถ้าท่านทั้งหลายไม่สามารถเข้าวัดตามเวลาที่เขากำหนดไว้ให้เป็นวันพระได้  ก็ขอให้ท่านกำหนดวันใดวันหนึ่ง ที่ท่านมีเวลาว่างเว้นจากภาระกิจการงานของท่าน เช่นวันเสาร์และวันอาทิตย์  และขอให้ท่านเข้ามาวัดเถิด เพราะว่านี่แหละเป็นการกระทำที่ฉลาด  เป็นการกระทำที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ท่านปรารถนากัน  คือความสุขความเจริญ  เพราะความสุขความเจริญเป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้กันได้ หรือขอจากกันได้  เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องทำกันเอง พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญ เราก็ต้องสร้างเหตุที่จะทำให้เกิดความสุขความเจริญนั่นเอง เหมือนกับชาวนาชาวไร่  ถ้าต้องการผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ต้องปลูกต้นไม้ชนิดนั้น ที่จะให้ผลไม้ชนิดนั้นออกมา เช่น ต้องการทุเรียน  ก็ต้องปลูกต้นทุเรียน  ต้องการส้ม ก็ต้องปลูกต้นส้ม แต่ถ้าไปนั่งภาวนาจุดธูป ๓ ดอกที่ศาลพระภูมิ  ขอให้พระภูมิส่งเงาะ  ส่งทุเรียน  ส่งส้มมาให้  ก็จะต้องขอไปจนวันตาย  แต่ก็จะไม่ได้สิ่งเหล่านั้น เพราะไม่ใช่เหตุนั่นเอง

เช่นเดียวกับความสุขและความเจริญนั้น เกิดขึ้นจากการกระทำของเราทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องนำพาเราไป ถ้าเราเข้าหาพระธรรมคำสอน  ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามแล้ว เชื่อได้เลยว่าชีวิตของเราจะประสบแต่ความสุขและความเจริญด้วยกันทุกๆคน ความสุขความเจริญนี้ขอเน้นหน่อยว่าไม่ได้หมายความว่าจะต้องร่ำรวย  จะต้องมีตำแหน่งสูงๆ  จะต้องมีคนสรรเสริญเยินยอ  แต่ความสุขความเจริญที่แท้จริงคือใจที่มีความสงบ  มีความอิ่ม  มีความพอ  ไม่มีความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำความชั่ว ความเลวร้ายทั้งหลาย นี่ต่างหากคือความสุขและความเจริญจึงขอให้ท่านทั้งหลาย จงระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำเอามรดกที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับเราก็คือวันพระนี้มาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเราตามกำลังแห่งศรัทธา ความเชื่อ  สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ขันติ ความอดทน แล้วพรอันประเสริฐทั้ง ๔ ประการ คือความเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้