กัณฑ์ที่ ๙๘      ๒๑ มกราคม ๒๕๔๕

สรณธรรม

 

พวกเราเป็นพุทธศาสนิกชน มีความศรัทธา ความเชื่อ  ปสาทะ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  เวลาที่มีคนถามเราว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้คืออะไร  ธรรมที่พวกเราทั้งหลายยึดถือเป็นสรณะคืออะไร  ถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชนเราควรจะตอบได้    ถ้าเรายังตอบคำถามนี้ไม่ได้     ก็แสดงว่าเรายังเป็นเพียงพุทธ ศาสนิกชนแต่ชื่อ มีแต่เปลือกแต่ไม่มีเนื้อ  ถ้ายังไม่ทราบก็ถึงเวลาแล้วที่ควรจะศึกษาทำความเข้าใจว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้คืออะไร  ธรรมที่พวกเรายึดถือเป็นสรณะคืออะไร   ธรรมที่เรากล่าวถึงกันอยู่เป็นประจำว่า ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ก็คือพระอริยสัจ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง  เป็นธรรมที่ไม่มีใครรู้มาก่อน นอกจากพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในอดีต ที่ได้ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔  แล้วทรงนำมาสั่งสอนให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อเวลาผ่านไปพระอริยสัจ ๔  ก็ค่อยๆเลือนลางหายจากไป เพราะไม่มีใครสนใจที่จะศึกษาปฏิบัติตาม ทำให้พระอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆประกาศสอนให้แก่สัตว์โลกสูญหายจากโลกไป 

พอมาถึงสมัยที่พระพุทธเจ้าของเราได้มาประสูติ และออกแสวงหาธรรมนี้  ก็ไม่มีใครในโลกนี้ที่รู้จักพระอริยสัจ ๔ กัน    ทรงไปศึกษาตามสำนักต่างๆ เพราะความปรารถนาที่อยากจะพบธรรมนี้  เพราะว่าถ้าผู้ใดได้พบกับธรรมนี้แล้ว  สามารถปฏิบัติถึงธรรมนี้ได้แล้ว ผู้นั้นจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ซึ่งเป็นกองทุกข์อันใหญ่หลวง ที่สัตว์โลกทุกๆชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องประสบกัน  จะต้องทุกข์กัน มีพระพุทธเจ้าของเราเท่านั้นที่ฉลาดพอที่จะเห็นถึงปัญหานี้ คือปัญหาของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งหลาย  การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาทั้งหลาย  เหล่านี้เป็นปัญหาที่ใหญ่โตของพวกเราทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้  แต่เป็นปัญหาที่มีคำตอบ  เป็นปัญหาที่แก้ได้  และธรรมที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือพระอริยสัจ ๔ นี่เอง  มีพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกที่ทรงบรรลุถึง ด้วยวิริยะ ความอุตสาหะพยายาม ขันติ ความอดทน ปัญญา ความฉลาด  ที่ได้พยายามศึกษาทั้งจากผู้อื่น และแสวงหาด้วยพระองค์เอง   ในเมื่อผู้อื่นไม่สามารถชี้บอกได้ว่า ธรรมที่จะทำให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดคืออะไร 

ในเบื้องต้นก็ทดลองไปแบบผิดๆถูกๆ คิดว่าการจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้จะต้องไม่แสวงหาความสุขทางร่างกาย   คือจะต้องปล่อยวางร่างกาย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับร่างกาย คนเรามักจะใช้ร่างกายแสวงหากามสุขกัน  เวลาไปเที่ยว ไปดูหนังดูละคร ไปกินเลี้ยง  ไปสนุกสนานเฮฮากัน จำต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ  พระพุทธองค์จึงคิดว่าการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้จะต้องไม่หาความสุขจากร่างกาย แม้แต่ความสุขที่เกิดจากการรับประทานอาหาร  พระพุทธองค์จึงทรงอดพระกระยาหาร  ทรงคิดว่าการอดพระกระยาหารแล้วจะทำให้พ้นทุกข์  ก็ทรงอดถึง ๔๙ วัน  แต่ก็ยังเห็นว่าจิตใจยังมีความทุกข์อยู่ จิตใจยังไม่สงบยังไม่นิ่ง  จิตใจยังมีความห่วง มีความกังวลกับเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่นั่นแหละ  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทรงรู้ว่าการทรมานกายเฉยๆ ไม่ใช่วิถีทางที่จะทำให้หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้  เพราะปัญหาของความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย  แต่อยู่ที่จิตใจ  ใจที่ไปหลงติดอยู่กับร่างกาย ด้วยอวิชชา ความไม่รู้ถึงความจริงว่าทุกข์เกิดจากอะไรนั่นเอง  พระพุทธองค์จึงทรงหยุดการอดพระกระยาหารกลับมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ  แล้วก็เร่งความเพียรทางจิตใจ ตั้งใจภาวนาศึกษาหาความรู้ภายในใจของตน ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้ใจมีความทุกข์ อะไรเป็นเหตุที่ทำให้ใจไม่ทุกข์ได้  นั่นแหละจึงเป็นเหตุ ที่ทำให้พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ขึ้นมา 

พระอริยสัจ ๔  คือความจริงที่ประเสริฐ  ๔ ประการ ผู้ใดสามารถปฏิบัติเข้าถึงความจริงทั้ง ๔ ประการนี้ได้  ผู้นั้นจะเป็นผู้ประเสริฐ  ประเสริฐเพราะเป็นผู้อยู่เหนือความทุกข์  อยู่เหนือความดิ้นรน  อยู่เหนือความแสวงหา  สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความสงบสุข  ไม่เบียดเบียนสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  นี่แหละคือพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้  เป็นธรรมที่ทำให้สมณโคดม กลายจากปุถุชนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองโดยชอบ เป็นผู้สิ้นกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง  สิ้นตัณหาคือความอยากทั้ง ๓ ได้แก่ กามตัณหา ความอยากในกาม  ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหา ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น  นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ขึ้นมา  ความจริงนี้เมื่อทรงรู้แล้วก็ทำให้พระพุทธเจ้าหลุดพ้นจากความทุกข์  เพราะเมื่อทรงเห็นพระอริยสัจ ๔ แล้ว ก็จะเห็นทั้งเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์  และเห็นเหตุที่ทำให้ความทุกข์นั้นดับไป 

พระอริยสัจ ๔ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ๒ คู่  คือ ๑. ฝ่ายผูกมัด   ๒. ฝ่ายปลดเปลื้อง    ฝ่ายผูกมัดได้แก่ ทุกข์ กับ สมุทัย เป็นพระอริยสัจข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒   ฝ่ายปลดเปลื้องได้แก่ นิโรธ กับ มรรค เป็นพระอริยสัจข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔   ทุกข์เป็นผลที่เกิดจากสมุทัย  สมุทัยเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือตัณหาทั้ง ๓  กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เมื่อมีตัณหา ก็จะมีทุกข์  เช่นทุกข์ที่เกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย  เมื่อมีตัณหาจิตก็จะต้องไปเกิด  เมื่อเกิดแล้วก็จะต้องแก่ เจ็บ ตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา เป็นความทุกข์ที่เกิดจากตัณหาคือความอยาก ไม่ยอมรับความจริงว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ด้วยกันทุกคน  ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทุกคน  ต้องตายด้วยกันทุกคน ต้องพลัดพรากจากกันด้วยกันทุกคน เพราะอวิชชาความไม่รู้ จึงทำให้มีวิภวตัณหาความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากของรักของชอบ  ไม่อยากพบกับสิ่งที่ไม่ชอบ   เป็นเหตุให้มีความทุกข์ขึ้นมา  ถ้าไม่มีวิภวตัณหา คือเฉยๆ แก่ก็ได้ เจ็บก็ได้ ตายก็ได้ พลัดพรากจากกันก็ได้  ประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบก็ได้ ก็จะไม่มีความทุกข์  แต่นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้มาก่อน  แม้แต่พระพุทธองค์เองก่อนที่จะมาตรัสรู้ธรรมนี้ พระองค์เองก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน  พระองค์เองก็มีตัณหาทั้ง ๓ อยู่ในใจเหมือนกัน  มีความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายเหมือนกัน  อยากจะมีแต่ความสุขความเจริญ มีความร่ำรวย มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีกามสุข  แต่สิ่งเหล่านี้ด้วยอวิชชาคือความไม่ทราบถึงโทษของมัน  โดยไม่ทราบว่าตัณหาความอยากเหล่านี้คือต้นเหตุของความทุกข์ 

ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าตนไม่มีตัณหาทั้ง ๓ นี้  ไม่มีใครพูดได้ว่าไม่มกามตัณหาคือความอยากในกามแล้ว  ยังอยู่บ้านเฉยๆกันไม่ได้ ยังต้องออกไปเที่ยวกัน  ออกไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเลี้ยงจิตใจ มาเลี้ยงกามตัณหา  ยังมีความอยากมีอยากเป็นอยู่  ยังอยากจะมีอยากจะเป็นสามีเป็นภรรยาอยู่ ยังอยากให้คนยกย่องสรรเสริญเคารพนับถืออยู่  เป็นความอยากที่ยังมีอยู่ในใจ  จึงทำให้ใจยังมีความทุกข์อยู่ นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้หลังจากที่ได้ทรงลองผิดลองถูกมา ในที่สุดก็มาเจอความจริงนี้เข้า  คือพระอริยสัจข้อที่ ๓  ได้แก่นิโรธ การดับทุกข์   ทุกข์ดับเพราะอะไร  ดับเพราะละตัณหาทั้ง ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา วิธีที่จะละตัณหาทั้ง ๓ ได้ก็คือมรรค พระอริยสัจข้อที่ ๔  ถ้ามีมรรคแล้ว ก็จะสามารถละสมุทัยคือตัณหาทั้ง ๓ ได้  มรรคคืออะไร    มรรคก็คือปัญญาความรู้ที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องตามความจริง  คือความเห็นว่าความทุกข์เกิดจากตัณหาทั้ง ๓ นี้   ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็จะสามารถละตัณหาทั้ง ๓ ได้  นี่แหละคือพระอริยสัจทั้ง ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุถึง  เมื่อบรรลุถึงแล้วก็ทำให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา กลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา  ดังที่ได้ทรงขนานนามพระองค์ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระอรหันต์คือผู้ที่ได้ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดปราศจากตัณหาทั้ง ๓   สัมมาสัมพุทธเจ้าคือผู้ที่ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ได้ด้วยตนเอง  

นี่คือหัวใจของพระศาสนา หัวใจของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นสรณธรรม คือ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ เป็นที่พึ่งของเรา  พระพุทธศาสนาคือการประกาศพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ที่ได้ทรงประกาศสั่งสอนพุทธศาสนิกชนตลอด ๔๕ พรรษา มีพระอริยสัจ ๔ เป็นหัวใจ  ธรรมทุกบททุกบาทล้วนออกมาจากพระอริยสัจ ๔  เพราะธรรมทุกประเภทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเกี่ยวข้องกับพระอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น คือเกี่ยวกับทุกข์ สมุทัยเหตุของทุกข์ นิโรธความดับทุกข์ และมรรควิธีการดับทุกข์  เป็นพระอริยสัจที่มีอยู่ในจิตใจของสัตว์โลกทุกๆชีวิต   ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพรหม เทพ มนุษย์ เดรัจฉาน อสุรกาย เปรต สัตว์นรก ล้วนมีพระอริยสัจอยู่ในจิตใจด้วยกันทั้งสิ้น ทุกสัตว์ ทุกบุคคล  ทุกชีวิต  ต่างกันตรงที่ว่าจะมีอริยสัจข้อไหนมากกว่ากันเท่านั้นเอง   ถ้ามีอริยสัจฝ่ายดี ฝ่ายปลดเปลื้อง คือมรรควิธีการดับทุกข์กับนิโรธคือความดับทุกข์ ก็จะเป็นผู้ประเสริฐอย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ ผู้มีแต่มรรคกับนิโรธ  ใจของท่านจึงไม่มีความทุกข์อยู่เลย  ส่วนพวกสัตว์นรกเป็นพวกที่มีมรรคกับนิโรธน้อยมาก  แต่มีสมุทัยกับทุกข์มาก   ถ้ามีความอยากมากเท่าไรความทุกข์ก็จะมีมากเท่านั้น  ทำให้ต้องไปก่อกรรมทำเวรมาก จึงต้องเกิดเป็นสัตว์นรก  ถ้าสร้างแต่คุณงามความดี  ตัดตัณหาทั้ง ๓ ได้  ใจก็จะประเสริฐ กลายเป็นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์  ขึ้นมา

พวกเราส่วนใหญ่อยู่ตรงกลาง ประมาณ ๕๐/๕๐ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วผสมกันไป จึงยังไม่ได้ไปจุดสูงสุด  ยังไม่ได้ลงไปจุดต่ำสุด   ภพภูมิของมนุษย์อยู่ตรงกลางๆ ๕๐/๕๐  คือมีทั้งธรรมฝ่ายดีและธรรมฝ่ายชั่ว  ผลัดกันต่อสู้กัน  ถ้าปรารถนาที่จะหนีให้พ้นจากความทุกข์ จึงต้องหมั่นสร้างธรรมฝ่ายดีขึ้นมาภายในใจ  คือพยายามสร้างมรรคให้มากๆ  เพราะมรรคเป็นเครื่องมือละตัณหา   เมื่อละตัณหาได้  นิโรธความดับทุกขก็จะปรากฏขึ้นมา   การปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ ของปุถุชนเพื่อที่จะดับทุกข์ในใจจึงต้องอาศัยการเจริญมรรคให้มากเป็นหลัก  เพราะมรรคจะทำหน้าที่กำหนดรู้ทุกข์  ละตัณหา ทำนิโรธให้แจ้ง   ในใจของเรามีธรรมและอธรรมต่อสู้กัน  ถ้าธรรมมีกำลังมากกว่า อธรรมก็จะดับ   ถ้าธรรมมีกำลังน้อยกว่า อธรรมก็จะโผล่ขึ้นมา  ถ้ามีธรรมทุกข์ก็ดับ  ถ้ามีอธรรมก็จะมีทุกข์ เช่นเดียวกับร่างกายของเรา  ที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี  ส่วนที่ไม่ดีคือพวกเชื้อโรคทั้งหลาย   ถ้าเชื้อโรคมีกำลังมากกว่าร่างกาย เราก็จะต้องไม่สบาย  เราจึงต้องรับประทานยาเพื่อทำลายเชื้อโรค   เมื่อยามีกำลังมากกว่า ก็จะสามารถทำลายเชื้อโรคได้ โรคภัยไข้เจ็บก็จะหายหมดไปฉันใด เรื่องของมรรคก็เช่นกัน  มรรคเปรียบเหมือนกับยา   เป็นธรรมโอสถ ยารักษาโรคใจ  คือความทุกข์ใจ  เชื้อโรคของใจที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจก็คือตัณหาความอยาก เป็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์    ทุกข์จะดับได้จึงต้องมีธรรมโอสถเข้าไปสลายความอยาก 

ถ้าต้องการพ้นทุกข์ ก็ต้องนำธรรมโอสถเข้าสู่ใจ ด้วยการศึกษา การได้ยินได้ฟังธรรม  เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรคือมรรค เมื่อรู้แล้วก็นำมรรคมาปฏิบัติ มาเจริญให้เต็มที่  เมื่อได้ปฏิบัติแล้วธรรมจะเข้าสู่ใจ เพื่อสลายตัณหาคือความอยากให้ค่อยๆหมดไปจนหมดไปในที่สุด มรรคมีองค์ ๘  เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา  ทางสายกลาง   เป็นวิธีปฏิบัติดำเนินชีวิตไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง  คือไม่อยู่ทางด้านกามสุขหรืออยู่ทางด้านการทรมานตนโดยใช่เหตุ  อยู่ระหว่างกึ่งกลางของทั้ง ๒ นี้ คือไม่ให้แสวงหาความสุขจากกามคุณทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  และไม่ดับทุกข์ด้วยการทรมานร่างกายที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร  แต่ให้เจริญมรรคที่มีองค์ ๘ คือ  . สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ   . สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ   . สัมมาวาจา เจรจาชอบ    . สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ   . สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ           .สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ   . สัมมาสติ  สติชอบ   . สัมมาสมาธิ การตั้งมั่นของจิตชอบ มรรคเป็นธรรมที่จะต้องเจริญให้มาก  จะต้องปฏิบัติให้มาก

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปคือปัญญา  จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้  การศึกษา เข้าหาผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆสาวก เพื่อฟังพระธรรมคำสอน หรือศึกษาพระธรรมคำสอนที่ได้จารึกไว้ในพระไตรปิฎก หมั่นศึกษาแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นมา  แล้วจะรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป   เมื่อปฏิบัติก็จะได้ปัญญาที่ตัดกิเลส ตัดตัณหา ตัดความอยากได้  เราจึงต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องดำเนินชีวิตของเราไปในทิศทางใด ต้องประพฤติตนอย่างไรเพื่อจะได้มีแต่ความสุขความเจริญ คือต้องมีสัมมาวาจา ไม่พูดปดมดเท็จ  มีสัมมากัมมันโต การกระทำชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี  มีสัมมาอาชีโว อาชีพที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  ไม่ทำร้ายชีวิตของผู้อื่น  เช่นไม่ค้าขายศาสตราวุธต่างๆ ที่เป็นเครื่องทำลายชีวิตของผู้อื่น เช่นปืนผาหน้าไม้ เบ็ดไว้ตกปลา กับไว้ดักสัตว์ หรือพวกสารเคมียาพิษที่ไว้ใช้ฆ่าแมลง  ไม่ค้าขายของมึนเมา  เช่นสุรายาเมา ยาเสพติด ไม่ค้าขายสิ่งที่มีชีวิต เช่นค้าเป็ด ค้าไก่ ค้าวัว ค้าควาย 

มีสัมมาวายาโม ความเพียรชอบ  คือมีความขยันหมั่นเพียรในการทำความดีละความชั่ว  เช่นขยันทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ขยันศึกษาเล่าเรียนหาความรู้  ขยันทำบุญทำทาน  ขยันรักษาศีล  ขยันปฏิบัติธรรม  เรียกว่าสัมมาวายาโม สัมมาสติ คือการให้มีสติอยู่กับตัวอยู่เสมอ  ให้รู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร มีความเห็นชอบหรือเปล่า   ผิดหรือถูกอย่างไร เราต้องรู้   เพราะว่าความคิดเป็นตัวที่จะสั่งให้ไปทำไปพูด   ถ้าเป็นความคิดที่ถูกที่ดี ก็จะไปทำไปพูดในสิ่งที่ถูกที่ดี   ถ้าเป็นความคิดที่ผิดที่ไม่ดี ก็จะทำให้ไปทำไปพูดในสิ่งที่ไม่ดี   ถ้าไม่มีสติเราก็จะไม่รู้ว่ากำลังทำกำลังพูดอะไรอยู่  อย่างคนที่เสพสุรายาเมาเข้าไปแล้ว ก็จะไม่มีสติ จะไม่รู้สึกตัวว่ากำลังคิดอะไร เมื่อไม่รู้สึกตัวว่ากำลังคิดอะไร ก็มักจะไปพูดไปทำในสิ่งที่ไม่ดี   เราจึงไม่ค่อยชอบคนที่กินเหล้าเมายาเท่าไร   เพราะว่าการกระทำของเขา วาจาของเขาจะไม่เรียบร้อยไม่สวยงาม ไม่ดีงาม มักสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะว่าไม่มีสตินั่นเอง 

เราจึงต้องมีสติ   และการที่จะมีสติก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก  เราสามารถมีสติได้ตลอดเวลาที่เราตื่น  เพียงแต่เราต้องมีความตั้งใจ บอกกับตัวเราเองว่า  เราต้องมีสตินะ  เราต้องดูใจ ดูกาย ดูวาจาของเราทุกขณะ ก่อนที่เราจะทำอะไร ต้องรู้เสียก่อนว่าเรากำลังจะทำอะไร  เช่นขณะนี้เรากำลังนั่งอยู่  เราต้องให้มีสติรู้ว่าเรากำลังนั่งอยู่  และเมื่อเราจะลุกขึ้น เราต้องรู้ว่าเรากำลังจะลุกขึ้น  เราจะไปไหน เราต้องรู้ว่าเราจะไปไหน  เราจะพูดอะไร เราต้องรู้ว่าเรากำลังพูดอะไร  นี่คือลักษณะของการมีสติ   ถ้าเรามีสติแบบนี้แล้ว เวลาเราจะพูดในสิ่งที่ไม่ดีเราก็จะระงับได้   เช่นเวลาเราเกิดความโกรธขึ้นมา เราอยากจะไปว่าคนนั้น  เราก็ต้องบอกว่าไปไม่ได้  ว่าเขาไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ดี  เราควรจะนิ่งเฉยเสีย   หรือว่าเราจะไปทุบไปตีเขา เราก็ต้องรู้ว่าเรากำลังจะทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามีสติเราก็จะรู้  นี่คือลักษณะของสัมมาสติ  เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งสติอยู่เสมอ   ฝึกหัดให้มีสติ   ถามตัวเราเองว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่  เรากำลังคิดอะไรอยู่ ถามตัวเราเองอยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ความคิดของเราลากพาเราไป   บางทีเราทำอะไรเรายังไม่รู้เลย   ทำไปแล้วเรายังมานั่งคิดว่าเมื่อสักครู่ทำไปหรือเปล่า  กินยาไปหยกๆ ยังลืมไปว่าเรากินไปแล้วหรือยัง  นั่นก็เพราะว่าเวลาที่เรากินยา ใจเราไม่ได้อยู่กับการกินยา  เราอาจจะกำลังกินยาอยู่ แต่ใจเรากำลังคิดอยู่ว่าเดี๋ยวจะไปทำอะไรต่อ  ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่าเราไม่มีสติแล้ว  ถ้ามีสติเราจะต้องรู้ว่าขณะนี้เรากำลังกินยา  เรากำลังเอายานี้เข้าปาก เรากำลังเอาน้ำดื่มเข้าไป  ถ้าเป็นอย่างนี้เราถึงจะรู้   แต่ถ้าเราทำอย่างหนึ่ง แล้วคิดไปอีกอย่างหนึ่ง แสดงว่าเราไม่มีสติ 

เราจึงควรเปลี่ยนนิสัยของเราเสีย  เพราะคนเราส่วนใหญ่ยังมีนิสัยแบบไม่มีสติ  คือชอบทำอะไรไปอย่างหนึ่ง แต่คิดไปอีกอย่างหนึ่ง  เช่นขณะที่ฟังธรรมอยู่นี้  หูก็ฟังอยู่ เสียงก็เข้าไปในหู  แต่ใจไม่ได้อยู่กับเสียงนั้นเสียแล้ว  ใจก็ไปคิดถึงเรื่องโน้น เรื่องนี้ แสดงว่าไม่มีสติกับการฟัง  เมื่อไม่มีสติอยู่กับการฟัง การที่เสียเวลานั่งอยู่ที่นี่เกือบครึ่งชั่วโมงก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร  เพราะเสียงเข้าไปในหูซ้ายแล้วออกไปหูขวา ไม่เกิดประโยชน์อะไร   ถ้ามีสติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ยินจะเข้าไปสู่ใจของเรา  เพราะขณะที่เราฟังเราก็จะพิจารณาตามไปด้วย  เมื่อเราพิจารณาตามไปด้วยเราก็จะได้รับประโยชน์ เราจะได้รู้   เพราะว่าเมื่อเราคิดแล้ว เราจะเข้าใจว่าสิ่งที่ท่านแสดงอยู่นั้นเป็นอย่างไร มีเหตุมีผล อย่างไร   เราจึงควรมีสัมมาสติ  คือพยายามตั้งสติอยู่อย่างสม่ำเสมอ  และเมื่อเรามีสัมมาสติแล้ว  ต่อไปเราก็จะมีสัมมาสมาธเกิดขึ้นมา คือมีจิตตั้งมั่นนั่นเอง  คำว่าสัมมาสมาธิก็คือความตั้งมั่นของจิต  ให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่ไหน ก็ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ  คืออย่าให้จิตลอยไปลอยมา ที่ใกล้ที่ไกล  ให้อยู่ปัจจุบัน เราอยู่ตรงนี้ก็ให้ใจเราอยู่ตรงนี้  อย่าให้ใจเราไปในอดีตเมื่อวานนี้ หรือไปในอนาคตพรุ่งนี้  ให้อยู่ตรงนี้  อดีตมันก็ผ่านไปแล้ว อนาคตมันก็ยังมาไม่ถึง  ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าดีหรือชั่ว ใจที่มีสัมมาสมาธิก็จะรู้ทัน ถ้าเป็นความดีก็ส่งเสริมได้ทันที  ถ้าเป็นความชั่วก็จะระงับได้ทันทีเช่นกัน ใจที่มีสัมมาสมาธิ  จะมีความหนักแน่น สามารถต่อต้านกับตัณหาความอยากทั้งหลายได้ จึงทำให้ละตัณหาได้ ทำนิโรธให้แจ้งได้ เพราะได้เจริญมรรคอย่างสมบูรณ์ ไว้คอยกำหนดดูทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ กิจในพระอริยสัจ ๔ คือ  ๑. ทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้ก็ได้กำหนดรู้แล้ว  ๒. สมุทัยที่ต้องละก็ได้ละแล้ว  ๓. นิโรธที่ต้องทำให้แจ้งก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว  ๔. มรรคที่ต้องเจริญให้บริบูรณ์ก็ได้เจริญแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนั้น กิจในพระศาสนาก็เป็นอันเสร็จสิ้นไป วิมุตติการหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงก็คือผลที่ตามมา เป็นการเข้าสู่สรณธรรมที่สูงสุดคือพระนิพพาน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้